ร่างยุทธศาสตร์ชาติ ด้านพัฒนาระบบราชการ: ตั้งเป้ารวดเร็ว โปร่งใส เป็นธรรม

แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีทั้งหมดหกด้าน จัดทำโดยคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติทั้งหกคณะที่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นผู้แต่งตั้ง สำหรับการจัดทำ "ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ" รัฐบาล คสช. ได้แต่งตั้ง พงศ์โพยม วาศภูติ เป็นประธานกรรมการ พร้อมกรรมการอีก 12 คน 
24 มกราคม 2561 คณะกรรมการชุดดังกล่าวได้จัดทำร่างเบื้องต้นเสร็จสิ้น และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ฯ ได้จัดรับฟังความคิดเห็นประชาชนจำนวนสี่ครั้งในสี่ภาคสี่จังหวัด เป็นที่เรียบร้อยแล้วเช่นกัน ร่างยุทธศาสตร์ชาติฉบับนี้กำลังถูกแก้ไขเพิ่มเติมก่อนจะถูกเสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติในวันที่ 9 เมษายน 2561
ประเทศไทยต้องมีระบบราชการที่รวดเร็ว โปร่งใส และเป็นธรรม
สำหรับเป้าหมายตามร่างยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาระบบราชการ วาดภาพความฝันให้สังคมไทยไว้ว่า การบริหารราชการแผ่นดินจะต้องมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การพัฒนาอย่างยั่งยืนและสมดุล โดยจะต้องมีการทำงานแบบบูรณาการ ระบบองค์กรเปิดกว้าง เชื่อมโยง ปรับบทบาทความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐ และภาคส่วนอื่น ๆ ในการบริหารจัดการด้วยการเพิ่มบทบาทให้ภาคส่วนอื่น ๆ ร่วมดำเนินการบนพื้นฐานของการมีธรรมาภิบาล มีความรับผิดชอบ ตรวจสอบได้ ปราศจากการทุจริตและประพฤติมิชอบ 
อีกทั้ง ต้องมีขีดสมรรถนะสูง พัฒนาระบบบริหารจัดการบุคลากรภาครัฐที่สามารถจูงใจและดึงดูดให้คนดี คนเก่ง เข้ามาร่วม มีขนาดกระทัดรัด และใช้นวัตกรรมและดิจิทัลในการบริหารจัดการ มีข้อมูลภาครัฐเพื่อให้ทุกภาคส่วนนำไปใช้ต่อยอด สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ นอกจากนี้ ยังต้องปรับปรุงระเบียบกฎหมายให้มีความชัดเจน เป็นธรรม ทันสมัย สอดคล้องกับข้อบังคับสากลหรือข้อตกลงระหว่างประเทศและพัฒนากระบวนการยุติธรรมให้มีความเสมอภาคและเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง 
ตั้งเป้าประชาชนร้อยละ 80 พึงพอใจและมีคุณภาพอยู่แถวหน้าของโลก
เพื่อการบรรลุเป้าหมายตามร่างยุทธศาสตร๋ชาติที่วางไว้ ในร่างยุทธศาสตร์จึงตั้งตัวชี้วัดขึ้นมา 5 ข้อ ได้แก่ 
1) ประชาชนร้อยละ 80 พึงพอใจการให้บริการของภาครัฐ โดยยกระดับงานบริการประชาชนสู่ความเป็นเลิศ ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และโปร่งใส
2) ลดรายจ่ายบุคลากรภาครัฐไม่เกินร้อยละ 30 ด้วยการทำให้ภาครัฐมีขนาดที่เล็กลง ลดความซ้ำซ้อนและปรับภารกิจของหน่วยงานภาครัฐให้เหมาะสม ยุบเลิกภารกิจที่ไม่จำเป็น หรือถ่ายโอนภารกิจให้ภาคส่วนอื่นรับไปดำเนินงาน รวมทั้งลดการแข่งขันกับภาคเอกชน พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ทุก ๆ ภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการบริการสาธารณะอย่างเหมาะสม
3) ได้รับการประเมินจาก International Institute for Management Development (IMD) ว่ามีประสิทธิภาพของภาครัฐอยู่ไม่ต่ำกว่าอันดับที่ 10 ของโลก  ซึ่งการประเมินจะดูจากนโยบายภาครัฐที่เอื้อต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน ได้แก่ การบริหารการเงิน การคลัง นโยบายการคลัง และการดำเนินงานของปัจจัยด้านสถาบัน รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องทางธุรกิจ 
4) มีดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perception index : CPI) อยู่ในลำดับ 1 ใน 20 หรือ ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน ซึ่งประเมินโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International: TI) และประเมินจากแหล่งข้อมูลระดับนานาชาติหลายแหล่ง เช่น Global Insight Country Risk Rating (GI) ที่ดูปัจจัยเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจที่ต้องเกี่ยวกับคอร์รัปชัน การแทรกแซงของเจ้าหน้าที่รัฐในการดำเนินธุรกิจ การให้สินบนและสิ่งตอบแทนสำหรับพิจารณาสัญญาและขอใบอนุญาต เป็นต้น
5) มีดัชนีนิติธรรม (Rule of Law Index) ของ World Justice Project (WJP) ทุกองค์ประกอบอยู่ในระดับสูง ซึ่งจะประเมินจากตัวชี้วัด 9 ตัว เช่น การควบคุมจํากัดอํานาจรัฐบาล การปราบปรามและกําจัดคอร์รัปชั่นของรัฐบาล การเปิดกว้างของรัฐบาลในการให้ตรวจสอบการทํางาน การคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน และประสิทธิภาพการบังคับการกฎหมาย เป็นต้น
แนวการพัฒนา: ลดขนาด มีมาตรฐาน ใช้เทคโนโลยี 
เพื่อให้สังคมไทยเป็นไปตามภาพที่วาดฝันและบรรลุเป้าที่ตั้งไว้ คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติฯ ได้ทำแผนแนวทางการพัฒนาเอาไว้ทั้งสิ้น 8 แนวทาง ได้แก่
1) เป็นภาครัฐที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ตอบสนองความต้องการ และให้บริการอย่างสะดวกรวดเร็ว โปร่งใส โดยปรับรูปแบบและวิธีการดำเนินการของภาครัฐมีลักษณะที่เบ็ดเสร็จ ครบวงจร และหลากหลายรูปแบบตามความต้องการของผู้รับบริการ มีความร่วมมือกับภาคีอื่นๆ กำหนดกฎระเบียบที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจภาคเอกชนทุกขนาด มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ มีระบบการบริหารจัดการข้อมูลที่มีความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานและแหล่งข้อมูลต่าง ๆ นำไปสู่การวิเคราะห์ Big Data
2) เป็นภาครัฐที่บริหารงานแบบบูรณาการโดยมียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายและเชื่อมโยงการพัฒนา โดยภาครัฐต้องยึดแผนยุทธศาสตร์เป็นกลไกลหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ พร้อมกับมีระบบงบประมาณที่ยึดโยงกับทุกภาคส่วนและรักษาวินัยการเงินการคลัง อีกทั้งยังต้องมีระบบติดตามประเมินผล 
3) เป็นภาครัฐที่มีขนาดเล็กลง เหมาะสมกับภารกิจ เปิดกว้าง ส่งเสริมให้ประชาชนและทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ โดยตรวจสอบความซ้ำซ้อนและปรับภารกิจและพันธกิจของหน่วยงานภาครัฐให้สอดคล้องกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติในเชิงบูรณาการ มีการยุบเลิกภารกิจที่ไม่จำเป็น และต้องถ่ายโอนภารกิจให้ภาคส่วนอื่นรับไปดำเนินงาน ที่สำคัญต้องเปิดโอกาสให้ทุก ๆ ภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ในฐานะของหุ้นส่วนการพัฒนา รวมถึงแบ่งการบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นให้มีความชัดเจน ไม่ซ้ำซ้อนกัน
4) เป็นภาครัฐที่มีความทันสมัย ทันการเปลี่ยนแปลง และมีขีดสมรรถนะสูง โดยต้องเป็นองค์กรที่มีขีดสมรรถนะสูง สามารถปฏิบัติงานเทียบได้กับมาตรฐานสากล มีความคล่องตัว ไม่ยึดติดกับโครงสร้างองค์กรและระบบราชการแบบเดิม สามารถยุบ เลิก ปรับเปลี่ยนองค์กรได้ตามสถานการณ์  อีกทั้งต้องทำงานแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ มีความโปร่งใส ยืดหยุ่นและคล่องตัวสูง นำนวัตกรรม เทคโนโลยี ระบบการทำงานที่เป็นดิจิทัล
5) พัฒนาบุคลากรภาครัฐให้เป็นคนดีและเก่ง ยึดหลักคุณธรรม มีจิตสำนึก มีความสามารถสูง มุ่งมั่น และเป็นมืออาชีพในการพัฒนาประเทศ โดยเพิ่มความยืดหยุ่น คล่องตัว ให้กับหน่วยงานภาครัฐในการบริหารทรัพยากรบุคคล และเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกที่มีศักยภาพ เข้ามาทำงานในภาครัฐตามความจำเป็นของภารกิจ รวมทั้งทบทวนและปรับเปลี่ยนระบบค่าตอบแทนที่เป็นธรรมตามลักษณะงาน ความเชี่ยวชาญ ความสลับซับซ้อน และปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานและสร้างค่านิยมในการปฏิบัติงานเพื่อประชาชนและประโยชน์ส่วนรวม
6) เป็นภาครัฐที่มีความโปร่งใส ปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยมีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพและส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ความรู้ ต่อต้าน หรือชี้เบาะแส โดยได้รับความคุ้มครองจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ พร้อมทั้งมีระบบการรับเรื่องร้องเรียนการทุจริต รวมถึงข้าราชการต้องเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินให้ประชาชนทราบ และสามารถจัดการกับผู้กระทำความผิดได้อย่างตรงไปตรงมา เป็นธรรม ปราศจากการแทรกแซง และตรวจสอบได้
7) ภาครัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยต้องออกกฎหมายเท่าที่จำเป็น มีความรอบคอบรัดกุมเพื่อแก้ปัญหาอย่างตรงจุดและสอดคล้องกับข้อบังคับสากลหรือข้อตกลงระหว่างประเทศที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยรวม รวมถึงมีกำหนดวงรอบในการทบทวนปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ ยังต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่เลือกปฏิบัติ นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการเสริมสร้างประสิทธิภาพการใช้กฎหมาย และพัฒนามาตรการอื่นแทนโทษจำคุก เพื่อลดทอนความเป็นโทษทางอาญาที่ไม่จำเป็น 
8) กระบวนการยุติธรรมต้องเคารพสิทธิมนุษยชนและปฏิบัติต่อประชาชนโดยเสมอภาค มีความเป็นกลาง น่าเชื่อถือ โปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยต้องปรับวัฒนธรรมองค์กรและทัศนคติเจ้าหน้าที่ของรัฐให้เคารพและยึดมั่นในหลักประชาธิปไตย เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งเสริมสร้างและพัฒนาวัฒนธรรมของหน่วยงานให้มีความโปร่งใส เป็นกลาง ปราศจากการแทรกแซงหรือครอบงำใดๆ นอกจากนี้ ยังต้องมีการใช้ประโยชน์จากนิติวิทยาศาสตร์และจัดให้มีบริการทางด้านนิติวิทยาศาสตร์เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างมีทางเลือก มีการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในกระบวนการยุติธรรมเพื่อเป็นช่องทางให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมตลอดกระบวนการพิจารณาคดี
ไฟล์แนบ
You May Also Like
อ่าน

ส่องเล่มจบป.เอก สว. สมชาย แสวงการ พบคัดลอกงานคนอื่นหลายจุด

พบว่าดุษฎีนิพนธ์ของ สว. สมชาย แสวงการ มีการคัดลอกข้อความจากหลากหลายแห่ง ซึ่งในหลายจุดเป็นการคัดลอกและวางข้อความในผลงานตัวเอง เหมือนต้นทางทุกตัวอักษร
อ่าน

สมัคร สว.67 แค่กรอกเลือกกลุ่มอาชีพ โดยมีผู้รับรองและพยาน

ผู้สมัคร สว. ไม่ว่าจะเพราะสมัครเพื่ออยากมีส่วนร่วมในกระบวนการหรือสมัครเพื่อไปเป็น สว. สำหรับหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่าเราสามารถสมัคร สว.ในกลุ่มที่ต้องการได้หรือไม่ ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 (ระเบียบ กกต. การเลือกสว.) กำหนดว่า การพิสูจน์ว่าผู้สมัครอยู่กลุ่มอาชีพใด ใช้หลักฐานตามเอกสารสว. 4 คือการมี “ผู้รับรอง”