กฎหมายการชุมนุมสาธารณะกับการปกป้องชุมชน

 

วันที่ 19 มีนาคม 2561 ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีการจัดเวทีเสวนาเรื่อง กฎหมายการชุมนุมสาธารณะกับการปกป้องชุมชน โดยมีผู้เข้าร่วมพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นดังนี้ สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,กรกฎ ทองขะโชค อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ, จันทิมา ธนาสว่างกุล อัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด และสุรชัย ตรงงาม ทนายความจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม

 
 
 
สมชาย ปรีชาศิลปกุล: เสรีภาพในการชุมนุม สิทธิในการกำหนดชะตากรรมของผู้คน
 
สมชาย อธิบายเรื่องเสรีภาพในการชุมนุมว่า การชุมนุมเป็นการใช้เสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นหรือแสดงออกในสิ่งที่พวกเขาต้องการ นอกจากนี้การชุมนุมยังเป็นพื้นที่ประชันขันแข่งกันของเหตุผล ในสังคมประชาธิปไตย หากประชาชนมีความเห็นไม่ตรงกันต้องมาพูดคุยกัน สิ่งที่เผด็จการต่างระบอบประชาธิปไตยคือ เผด็จการคิดว่า เผด็จการไม่ต้องการการถกเถียง เมื่อต้องเผชิญกับการถกเถียงหรือคำถามสิ่งที่เผด็จการทำคือ บอกคนที่มีคำถามว่า ฝ่าฝืนกฎหมาย
 
 
 
สังคมประชาธิปไตยจะมีการเมืองสองส่วน ส่วนหนึ่งคือ การเมืองที่เป็นทางการผ่านกลไกการเลือกตั้งที่สะท้อนความต้องการที่หลากหลาย อีกส่วนหนึ่งคือ การเมืองที่ไม่เป็นทางการหรือที่เรียกว่า การเมืองบนท้องถนน หมายความว่า การใช้ท้องถนนเป็นเวทีของการแสดงความเห็น  ในประเทศเผด็จการบางประเทศเช่นเกาหลีเหนือ การชุมนุมที่ได้รับการยอมรับคือการชุมนุมเพื่อสนับสนุนรัฐบาลประเทศแต่สำหรับประเทศประชาธิปไตย เสรีภาพในการชุมนุมและการเมืองบนท้องถนนไม่ใช่เรื่องแปลก การเมืองด้านที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการจะอยู่คู่กัน โดยการชุมนุมถือเป็นกลไกทางการเมืองชนิดหนึ่ง
 
 
แม้การใช้เสรีภาพในการชุมนุมจะถูกจำกัดได้ แต่ก็เฉพาะในกรณีที่เห็นได้ชัดว่าการใช้เสรีภาพดังกล่าวจะกระทบต่อส่วนร่วมและความมั่นคงของรัฐเท่านั้นและจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อการชุมนุมดังกล่าวจะก่อให้เกิดความรุนแรงอย่างเห็นได้ชัดเท่านั้น เกี่ยวกับเสรีภาพในการชุมนุมตามกฎหมายไทย สมชายระบุว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันรับรองเสรีภาพการชุมนุมไว้ แต่มีกฎหมายสองฉบับที่นำมาใช้จำกัดเสรีภาพในการชุมนุมคือ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 (พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ )และคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 โดยในความเห็นของเขา พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ไม่ได้ถูกบัญญัติขึ้นเพื่อส่งเสริมการชุมนุมสาธารณะ แต่เพื่อทำลายการชุมนุมสาธารณะ
 
 
สมชายระบุด้วยว่า ตำรวจพยายามผลักดันกฎหมายฉบับนี้มานานแล้ว โดยก่อนหน้านี้เมื่อมีการนำเสนอเข้าสู่สภาก็จะถูกตีตกตลอด จนกระทั่งมาสำเร็จเมื่อปี 2558 เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติผ่านกฎหมายฉบับนี้อย่างเป็นเอกฉันท์ในขณะที่ประชาชนผู้ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพตามกฎหมายนี้แทบไม่มีสิทธิมีเสียงตลอดกระบวนการออกกฎหมาย จึงไม่แปลกที่กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ถูกใช้เพื่อส่งเสริม แต่ใช้เพื่อทำลายการชุมนุม
 
 
สำหรับคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง สมชายเห็นว่าการชุมนุมที่จะเป็นความผิดตามคำสั่งนี้คือการชุมนุมที่ไม่ได้สนับสนุนผู้มีอำนาจ โดยเปรียบเทียบว่าการแสดงออกในพื้นที่วิชาการเช่น กรณีการประชุมไทยศึกษาเมื่อปี 2560 หรือการแสดงออกของชาวบ้านกลายเป็นความผิดตามคำสั่งฉบับนี้ ในขณะที่การชุมนุมของพระพุทธอิสระที่หน้าสถานทูตอเมริกากลับไม่ถูกดำเนินการใดๆ
 
 
ในแง่หลักเกณฑ์ในการแยกระหว่างคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 กับพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ สมชายเห็นว่า ทั้งพ.ร.บ.ชุมนุมสาธาณะฯและคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ถูกออกมาโดยที่ไม่ได้มีหลักเกณฑ์ว่าจะแยกจากกันอย่างไร โดยใจกลางของปัญหาคือ ทั้งตัวพ.ร.บ.และคำสั่งเกี่ยวข้องกับ สถานการณ์ทางการเมือง โดยสิ่งที่เกิดขึ้นทุกวันนี้คือ มีนายทหารยศพันเอกนายหนึ่งที่ทำหน้าที่หลักในการเข้าแจ้งความ สมชายตั้งคำถามพร้อมกับข้อน่าสังเกตต่อไปว่า
 
"ถ้าเกิดคุณเป็นตำรวจ คุณจะบอกทหารว่า ไม่ผิดหรือไม่ ไม่ ตำรวจทำสำนวนส่งอัยการและส่งต่อศาล เรื่องนี้เกิดขึ้นได้เพราะภาวะการเมืองมันบีบความยุติธรรม คดีฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 สุดท้ายแล้วจะถูกโทษปรับและรอลงอาญา สะท้อนให้เห็นว่า การดำเนินคดีตามคำสั่งนี้เป็นการปรามและทำให้ประชาชนผู้ใช้เสรีภาพการชุมนุมรุงรังไปด้วยคดี อันถือเป็นการใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง"
 
 
อย่างไรก็ตามสมชายก็ยังมีความหวังว่าหากสถานการณ์เริ่มกลับมาเป็นปกติองค์กรในกระบวนการยุติธรรมก็จะปฏิบัติหน้าที่โดยยึดหลักวิชาและมีความเป็นธรรมมากขึ้นโดยตั้งข้อสังเกตว่า เมื่ออำนาจของคณะรัฐประหารเริ่มอ่อนความชอบธรรม  ตำรวจและอัยการก็เริ่มสั่งไม่ฟ้องคดีการชุมนุมบางคดี องค์กรยุติธรรมเริ่มกลับมาอยู่ในร่องในรอยมากขึ้น สมชายเชื่อว่าแรงกดดันทางสังคมและเครือข่ายภาคประชาสังคมเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้องค์กรในกระบวนการยุติธรรมปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลางและเป็นช่องทางที่จะนำประเทศออกจากสถานการณ์ที่ยุ่งยาก
 
 
กรกฎ ทองขะโชค: พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯมุ่งคุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐแต่ไม่คุ้มครองผู้ชุมนุม
 
 
 
 
กรกฎ เริ่มอภิปรายโดยยกปรากฏการณ์การชุมนุมสองกรณีที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ ได้แก่กรณีการชุมนุมในปี 2548 ของญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์การกราดยิงในมัสยิดกรือเซะในปี 2547 และการชุมนุมที่อำเภอตากใบในปี 2547 ของญาติของผู้ที่ถูกทางการกล่าวหาว่านำปืนของทางราชการไปใช้และตั้งข้อหายักยอกซึ่งผู้ชุมนุมรู้สึกว่าญาติของพวกเขาถูกตั้งข้อกล่าวหาโดยไม่เป็นธรรม แต่ครั้งนั้นกลับมีการสลายการชุมนุมจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตกว่าร้อยคน กรกฎระบุว่าการชุมนุมทั้งสองครั้งสะท้อนเหตุผลว่าทำไมคนต้องออกมาชุมนุม นั่นคือประชาชนมีคำถามต่อภาครัฐหรือรู้สึกว่ามีการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม แต่เหตุการณ์ในกรณีตากใบกลับจบลงด้วยการมีผู้เสียชีวิต
 
 
กรกฎเล่าย้อนไปถึงปรากฎการณ์การชุมนุมในอดีตว่า จากสถิติของกระทรวงมหาดไทย ในสมัยรัฐบาลทักษิณ มีการชุมนุม2200 ครั้งต่อปี สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย มีการชุมนุม 750 ครั้งต่อปี สมัยชวลิต ยงใจยุทธ มีการชุมนุม1200 ครั้งต่อปี สถิตินี้แสดงว่าการชุมนุมเป็นวิถีการที่ประชาชนใช้เรียกร้องให้ผู้มีอำนาจตอบคำถามที่พวกเขาสงสัยหรือต้องการคำตอบ เมื่อไหร่ที่ไม่มีคำตอบก็จะเกิดการรวมกลุ่มกัน ถ้ารัฐทำความเข้าใจกับประชาชนตั้งแต่ต้นและเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมจะไม่เกิดเหตุการณ์บานปลาย
 
 
สำหรับเสรีภาพในการชุมนุมตามกฎหมายปัจจุบัน กรกฎระบุว่ารัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมไว้ชัดเจน แต่ก็มีถ้อยคำกำหนดเงื่อนไขว่า “ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้” พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯจึงเกี่ยวของกับการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพราะพ.ร.บ.ได้กำหนดรูปแบบในการชุมนุม คำถามคือ พ.ร.บ. ฉบับนี้ส่งเสริมหรือคุ้มครองการชุมนุมหรือไม่
 
 
กรกฎเห็นว่า พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯมีปัญหา ส่วนแรกคือ นิยามของ”การชุมนุมสาธารณะ” เช่น การแสดงออกผ่านการยื่นหนังสือกับรัฐบาลจะเป็นการชุมนุมภายใต้กฎหมายนี้หรือไม่ ตำรวจจะคัดค้านการชุมนุมหรือไม่ หากการแสดงออกที่เกิดขึ้นเข้านิยามการชุมนุมก็ต้องแจ้งกับผู้รับแจ้ง
 
 
ในขั้นตอนการแจ้งการชุมนุมก็มีปัญหาว่าผู้ชุมนุมอาจแจ้งการชุมนุมด้วยโทรศัพท์แต่บางครั้งเจ้าหน้าที่ก็ไม่รับ การแจ้งผ่านอีเมล์ก็ไม่แน่ใจว่าเจ้าหน้าที่จะเปิดอ่านไหม กรกฎเห็นว่าตัวพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯเขียนช่องทางการแจ้งการชุมนุมที่ดีไว้แล้วในทางปฏิบัติยังมีช่องโหว่อยู่ เช่นการส่งอีเมล์ไปแล้วจะถือว่าแจ้งการชุมนุมแล้วหรือไม่ โดยเฉพาะในกรณีที่เจ้าหน้าที่ไม่ได้เปิดอ่านหรือไม่มีการตอบกลับอีเมล์
 
 
นอกจากนี้เมื่อแจ้งแผนการชุมนุมไปแล้วภาครัฐจะมาช่วยอะไรในการชุมนุม สิ่งเหล่านี้ถ้ามองเรื่องการคุ้มครองเสรีภาพการชุมนุม เมื่อผู้ชุมนุมบอกภาครัฐหมดแล้วถึงสาระและแผนการชุมนุม ก็จะมีคำถามย้อนกลับมาที่ภาครัฐว่าจะมีบทบาทช่วยเหลืออำนวยความสะดวกการชุมนุมอย่างไรบ้าง
 
 
กรกฎตั้งข้อสังเกตด้วยว่า พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ไม่ได้ระบุถึงระบบของรัฐที่จะมาคุ้มครองผู้ชุมนุม ในอนาคตหากมีการแก้ไขควรพูดถึงความรับผิดของเจ้าหน้าที่รัฐในกรณีที่ดูแลผู้ชุมนุมไม่ได้ ปัจจุบันตัวกฎหมายให้น้ำหนักไปที่การป้องกันคุ้มครองเจ้าหน้ารัฐเป็นหลัก ขณะที่ประกาศของสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ระบุเรื่องการใช้อุปกรณ์ป้องกันตัว โล่ กระสุนยาง ของเจ้าหน้าที่แต่กลับไม่เขียนถึงขั้นตอนการป้องกันผู้ชุมนุมเลย
 
 
จันทิมา  ธนาสว่างกุล: พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯที่ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของการชุมนุม
 
 
จันทิมา ระบุว่า โดยหลักแล้วการชุมนุมหรือการแสดงความคิดเห็นร่วมกันที่เป็นไปโดยสงบปราศจากอาวุธถือเป็นเสรีภาพที่สามารถทำได้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในมุมมองของภาครัฐและคนในสังคมบางส่วน การชุมนุมเองก็เป็นปัญหาและอาจจะสร้างความเดือดร้อนใหมให้กับสังคม หากจะถามว่า พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯจำกัดสิทธิหรือไม่ก็เห็นว่าเป็นการจำกัดสิทธิ เพราะกฎหมายไปกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการใช้สถานที่หรือเงื่อนไขของการชุมนุม ที่จริงแล้วการชุมนุมเป็นเสรีภาพ แต่กฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดเงื่อนไขที่ไม่ใช่เสรีภาพโดยแท้จริง
 
 
 
จันทิมากล่าวต่อไปว่า หลักการและเหตุผลในการจัดทำ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ฉบับนี้ระบุว่าเป็นไปเพื่อจำกัดสัดส่วนไม่ให้การชุมนุมไปกระทบสิทธิของบุคคลที่ไม่ร่วมการชุมนุม เช่น การจัดสรรเรื่องจราจร จันทิมาระบุว่าการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ชุมนุมก็มีบัญญัติไว้ในกฎหมายนี้ด้วย เช่นระบุว่าจะจัดการจราจรอย่างไร แต่ประเด็นดังกล่าวก็ดูจะไม่ใช่สาระสำคัญ ซึ่งหากพิจารณาโดยรวมพ.ร.บ.ฉบับนี้ก็ดูจะเน้นเรื่องการควบคุมความสงบเรียบร้อย หากจะมีการแก้ไขใหม่ควรต้องแก้ไขในหลักการ ไม่ใช่กำหนดเรื่องอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่จะใช้กำลังหรือใช้คำสั่งกับชาวบ้าน
 
 
โดยนอกจากประเด็นหลักการก็ควรจะต้องแก้ไขและกำหนดบทบัญญัติเรื่องขั้นตอนการใช้อำนาจให้ชัดเจนและมีมาตรฐาน เช่น เจ้าหน้าที่จะต้องมีขั้นตอนหรือมาตรฐานอย่างไรในการควบคุมเหตุการณ์ ไม่ใช่ไปเน้นเรื่องเรื่องบทลงโทษของการไม่แจ้งการชุมนุมหรือการกำหนดพื้นที่ต้องห้าม การกำหนดโทษเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมในแง่ของการดำเนินการที่บุคคลจะมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น กฎหมายต้องชัดเจนว่า สิ่งที่คุ้มครองและอำนวยความสะดวกคืออะไร ต้องตอบคำถามว่า รัฐมีหน้าที่อย่างไรกับผู้ชุมนุม ดูแลอย่างไร และหากเกิดการกระทบสิทธิของบุคคลอื่น รัฐจะจัดการอย่างไรหรือมีมาตรฐานอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงและปัญหาของกลุ่มผู้ชุมนุม
 
 
จันทิมาทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า ธรรมชาติของการชุมนุมกับข้อกำหนดตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ดูจะขัดแย้งกันเอง เช่นชาวบ้านเดือดร้อนอยู่ แต่กลับมีข้อกำหนดให้แจ้งการชุมนุมล่วงหน้า 24 ชั่วโมงก่อนการชุมนุมซึ่งในบางครั้งชาวบ้านก็อาจอยู่ในเงื่อนไขที่ไม่สามารถทำได้ และหากมีกรณีที่เจ้าหน้าที่ไม่ให้จัดการชุมนุมแล้วมีการอุทธรณ์คำสั่งชาวบ้านก็ต้องงดการชุมนุมไปก่อนซึ่งโดยธรรมชาติทำได้ยากเพราะเมื่อมีการชุมนุมไปแล้วหากชาวบ้านไม่ได้รับคำตอบหรือไม่มีการคลี่คลายปัญหาก็คงเป็นไปได้ยากที่จะระงับการชุมนุม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ฉบับนี้จึงขัดแย้งและไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงโดยธรรมชาติของการชุมนุมสาธารณะ ผู้ใช้เสรีภาพจึงอาจกลายเป็นผู้กระทำความผิดตามกฎหมายนี้ได้โดยง่าย
 
 
สุรชัย ตรงงาม: พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯคุกคามเสรีภาพการชุมนุมมากกว่าคุ้มครอง
 
 
 
 
สุรชัย เล่าย้อนถึงเหตุการณ์ที่ชาวบ้านจากอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลาเคยฟ้องคดีที่รัฐบาลของทักษิณสลายการชุมนุมต่อศาลปกครอง จนศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาในปี 2555 ว่า เสรีภาพในการชุมนุมเป็นเสรีภาพที่มีความสำคัญเพราะมีที่มาจากเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นสิ่งที่จะขาดเสียมิได้ในสังคมที่ปกครองด้วยระบอบเสรีประชาธิปไตย เพราะการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายเป็นการถกเถียงกันด้วยสติปัญญาเพื่อนำมาซึ่งวิธีการแก้ปัญหาหรือยุติข้อขัดแย้งของสังคมในระบอบเสรีประชาธิปไตย ศาลเห็นว่า การสลายการชุมนุมของตำรวจครั้งนั้นเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
 
 
สำหรับในปัจจุบันก็มีกรณีการเดินมิตรภาพที่เมื่อชาวบ้านถูกจำกัดการใช้เสรีภาพการชุมนุมก็มีการฟ้องคดีต่อศาลปกครองและขอให้ศาลออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะเปลี่ยนเป็นฉบับใหม่แล้วแต่ศาลปกครองสูงสุดก็ยืนยันเสรีภาพการชุมนุมเหมือนกับที่เคยยืนยันในปี 2555 ว่า เป็นสิทธิและเสรีภาพที่สำคัญอีกประการหนึ่งเพื่อที่จะแสดงความคิดเห็น การรวมพลังหรือแสดงให้ฝ่ายปกครองได้รับรู้และแก้ไขปัญหาที่ประสบอยู่ โดยรวมเสรีภาพการชุมนุมเป็นเสรีภาพที่ขาดเสียมิได้ในการเข้าถึงสิทธิชุมชนและในกระบวนการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือที่ดิน
 
 
สุรชัยระบุว่าในยุคคสช.มีการออกกฎหมายสร้างข้อจำกัดในการชุมนุมสาธารณะที่สำคัญสองฉบับคือ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯและคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ซึ่งถือเป็นการใช้กฎหมายซ้ำซ้อนและไม่มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอน ขึ้นอยู่กับว่า รัฐจะนำกฎหมายฉบับไหนมาใช้จัดการกับประชาชน ในทางกฎหมายคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 บังคับใช้ก่อน แต่เมื่อพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯบังคับใช้ โดยลักษณะน่าจะเป็นกฎหมายใหม่ยกเลิกกฎหมายเก่า แต่รัฐยังใช้ซ้ำซ้อนกัน ในถือว่าขัดต่อหลักนิติรัฐและไม่ควรยอมรับการใช้กฎหมายในลักษณะนี้
 
 
สำหรับตัว พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ และแนวปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ   สุรชัยเห็นว่ามีการตีความและบังคับใช้กฎหมายในการจำกัดสิทธิของประชาชนอย่างน้อยห้าประการได้แก่
 
 
หนึ่ง นิยามของ "การชุมนุมสาธารณะ" ที่ตีความอย่างกว้างขวางคือ การชุมนุมของบุคคลในที่สาธารณะ เพื่อเรียกร้อง คัดค้าน แสดงความคิดเห็นเรื่องใดต่อประชาชน หรือบุคคลอื่นเข้าร่วมได้ ไม่ว่าจะมีการเดินขบวนหรือไม่ การนิยามเช่นนี้ส่งผลให้เจ้าหน้าที่สามารถจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นของประชาชน เพราะเพียงแค่การรวมตัวพูดคุยของประชาชนกลุ่มเล็กๆก็อาจถูกตีความว่าเป็นการชุมนุมสาธารณะได้ จึงต้องมีการเขียนนิยามใหม่และระบุจำนวนผู้เข้าร่วมการชุมนุมที่ชัดเจนเพื่อไม่เป็นการสร้างภาระแก่ผู้ใช้เสรีภาพ
 
 
สอง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตีความบังคับใช้ในทางจำกัดและควบคุมมากว่าการอำนวยความสะดวกในการใช้เสรีภาพในการชุมนุม เช่น กรณีการเดิน "เทใจให้เทพา" เมื่อชาวบ้านแจ้งการชุมนุมล่วงหน้าไม่ถึง 24 ชั่วโมงก็ถูกสั่งห้ามและเมื่ออุทธรณ์คำสั่งก็ไม่อนุญา่ตให้จัดการชุมนุม นอกจากนี้หนังสือสรุปการชุมนุมของตำรวจก็มักใช้ถ้อยคำแนะนำที่ไม่ใช่อำนาจตามกฎหมาย เช่น เสนอให้ย้ายที่ชุมนุม ซึ่งเป็นคำที่ไม่แน่นอนในทางกฎหมาย ซึ่งการใช้ถ้อยคำที่ไม่มีอยู่ในกฎหมายและมีความคลุมเครือ ได้สร้างความคลุมเครือให้กับผู้ใช้เสรีภาพการชุมนุมว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้
 
 
สาม ไม่มีหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบอำนาจ ตำรวจอาจจะแจ้งว่า พื้นที่ที่ผู้ชุมนุมต้องการใช้ไม่เหมาะกับการชุมนุม แต่เมื่อมีการอุทธรณ์ไปทางเจ้าหน้าที่ ก็ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ควรจะต้องมีการระบุให้ชัดเจนว่าสิทธิในการอุทธรณ์คำสั่งเจ้าหน้าที่ของผู้ชุมนุมมีอะไรบ้างและต้องทำเมื่อไหร่ เพื่อที่ผู้ชุมนุมสามารถใช้สิทธิในการอุทธรณ์ได้ถูกต้อง แต่ความเป็นจริงเจ้าหน้าที่กลับไม่ได้แจ้งสิทธิอุทธรณ์ตามกฎหมาย ผู้ชุมนุมจึงไม่รู้กระทั่งว่าตัวเองมีสิทธิ
 
 
สี่ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ระบุแต่ความรับผิดชอบของผู้ใช้เสรีภาพการชุมนุมแต่มีมีการระบุความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่อื่นที่ไม่ใช่ตำรวจ ในทางปฏิบัติเช่นการเดินมิตรภาพ WE WALK ก็ไม่เจ้าหน้าที่อื่นที่ไม่ใช่ตำรวจเช่นฝ่ายปกครองเข้ามาจัดการกับผู้ชุมนุมแต่กฎหมายกลับไม่กำหนดความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่เหล่านั้น
 
 
ห้า การถ่วงดุลการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ของผู้ชุมนุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการร้องขอให้ศาลดำเนินการไต่สวนคำสั่งบางอย่างหลายครั้งก็ประสบอุปสรรค์เพราะติดวันหยุดราชการที่ศาลไม่เปิดทำการซึ่งในความเป็นจริงความเดือดร้อนที่ทำให้ประชาชนต้องออกมาชุมนุมไม่ได้หยุดวันเสาร์อาทิตย์ไปด้วย จึงควรมีการแก้ไขข้อกำหนดไม่ให้วันหยุดราชการเป็นอุปสรรคต่อการทำหน้าที่ของศาลในการถ่วงดุลการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่