รอบคอบแค่ไหน! เมื่อประกาศ/คำสั่ง ของ คสช. ต้องแก้คำผิดไปแล้ว 9 ครั้ง แก้เนื้อหาไปแล้ว 24 ครั้ง

 
 
 
 
กว่าสามปีที่ถืออำนาจการปกครองอยู่ในมือแบบเบ็ดเสร็จ คสช. อาศัยฐานะผู้ปกครองสูงสุด และอาศัยอำนาจรัฐธรรมนูญ 2557 (ฉบับชั่วคราว) ออกประกาศและคำสั่ง คสช. และใช้อำนาจมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. จำนวนมากในระยะเวลาอันรวดเร็ว
 
ความรวดเร็วทำให้เกิดคำถามถึงความละเอียดรอบคอบทั้งในแง่เนื้อหาและกระบวนการ หลักฐานที่ชัดเจนที่สุดของความไม่รอบคอบเพียงพอ คือ ประกาศและคำสั่งที่ออกมาปรากฏข้อผิดพลาดหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการระบุชื่อตำแหน่ง ยศ เหล่าทัพ และองค์กรผิดไป หรือการออกคำสั่งอย่างไม่คำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งคำสั่งบางฉบับมีเนื้อหาล้าสมัย ไม่ตอบสนองสถานการณ์ปัญหาที่เปลี่ยนแปลงเร็ว จนนำไปสู่การแก้ไขในเวลาต่อมา
 
 
+++คสช. ต้องแก้ไขคำผิดในคำสั่ง อย่างน้อย 9 ครั้ง+++
 
ที่ผ่านมา คสช. ต้องแก้ไขคำผิดในคำสั่งที่ออกมาแล้วไม่น้อยกว่า 9 ครั้ง แบ่งเป็น แก้ไขคำสั่ง คสช. 4 ครั้ง และคำสั่งหัวหน้า คสช. 5 ครั้ง วิธีการแก้ไขคำผิดในคำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. คือ การประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อแก้ไขคำผิด โดยไม่ได้ออกเป็นคำสั่งฉบับใหม่ ไม่ได้ผ่านการลงนามของหัวหน้า คสช. ดังนี้
 
ครั้งที่ 1 อ้างอิงอำนาจมาตรา 44 ไม่ครบ
 
 
 
วันที่ 17 พฤษภาคม 2558 ราชกิจจานุเบกษาประกาศแก้ไขคำผิดในคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 16/2558 เรื่อง  มาตรการแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบ และการกําหนดกรอบอัตรากําลังชั่วคราวที่ออกเมื่อวันที่ 15  พฤษภาคม 2558 โดยคําสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 16/2558 ระบุอำนาจในการออกคำสั่งเพียงว่า หัวหน้า คสช. อาศัยมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวเท่านั้น ทั้งที่ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดให้หัวหน้า คสช. มีอำนาจสั่งการใดๆ ได้จะต้องประกอบกับความเห็นชอบของ คสช. ด้วย
 
โดยที่การออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับก่อนหน้านั้น ทุกฉบับเท่าที่เปิดเผยก็จะอ้างอิงการใช้อำนาจตามมาตรา 44 อย่างรัดกุมยกเว้นฉบับที่ 16/2558 ดังนั้น การออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับนี้จึงอาจผิดพลาดในเรื่องการอ้างอิงอำนาจให้ครบถ้วน นำไปสู่การแก้ไขเพิ่มเติมให้สมบูรณ์หลังจากออกคำสั่งไปแล้ว 3 วัน
 
 
ครั้งที่ 2 เขียนชื่อตำแหน่งที่จะถูกไล่ออกผิด
 
 
 
วันที่ 7 กรกฎาคม 2559 ราชกิจจานุเบกษาประกาศแก้ไขคำผิดในคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 34/2559 เรื่อง  การกําหนดตําแหน่งและแต่งตั้งข้าราชการให้ดํารงตําแหน่ง ที่ออกเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2559 โดยสั่งให้บุคคลตามข้อ 1 และข้อ 2 ที่ระบุว่า ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดพ้นจากตำแหน่ง แต่ตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดฯไม่มีระบุถึง 2 ตำแหน่งที่กล่าวมา มีเพียงตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และรองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด จึงเป็นเหตุให้ต้องแก้ไขชื่อเรียกตำแหน่งให้สอดคล้องกับพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดฯ หรือชื่อตำแหน่งที่ใช้จริงในองค์กรดังกล่าว การแก้ไขเกิดขึ้นหลังจากออกคำสั่งไปแล้ว 3 วัน
 
 
ครั้งที่ 3 ระบุเลขข้อที่อ้างถึงผิด
 
วันที่ 5 เมษายน 2560 ราชกิจจานุเบกษาประกาศแก้ไขคำผิดในคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 23/2560 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาความต่อเนื่องของผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่ออกมา ในส่วนของการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่แบ่งเป็นตําแหน่งเป็นตุลาการที่จะต้องได้รับการคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา หรือที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดในข้อ 7 และการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจากผู้ทรงคุณวุฒิในข้อ 8
 
 
ส่วนที่มีปัญหาต่อมาอยู่ในข้อ 9 ซึ่งอธิบายถึงกระบวนการคัดเลือกตุลาการศาลจาก “ผู้ทรงวุฒิ” แต่กลับระบุว่า ให้มีคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผู้ทรงคุณวุฒิ “ตามข้อ 7” ซึ่งขัดต่อเนื้อความของข้อ 7 เพราะข้อ 7 เป็นการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาและศาลปกครอง และไม่ใช่ผู้ทรงคุณวุฒิ ทำให้ต่อมาต้องแก้ไขคำผิดในข้อ 9 เปลี่ยนจาก ให้มีคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผู้ทรงคุณวุฒิ “ตามข้อ 7” ให้เป็น ให้มีคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผู้ทรงคุณวุฒิ “ตามข้อ 8” ซึ่งการแก้ไขข้อมูลดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากออกคำสั่งผิดไป 35 วัน
 
 
ครั้งที่ 4 แก้ความสับสนในเรื่องปี พ.ศ.
 
วันที่ 23 ธันวาคม 2560 ราชกิจจานุเบกษาประกาศแก้ไขข้อความคลาดเคลื่อนในคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 เรื่อง การดําเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งออกเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2560 โดยแก้ไขมาตรา 141(2) ของพ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ที่ระบุให้สมาชิกพรรคการเมืองที่มีคุณสมบัติตามที่พ.ร.ป.กำหนด ชำระค่าบำรุงพรรคการเมืองและให้พรรคการเมืองแจ้งต่อคณะกรรมการ “พร้อมด้วยหลักฐานการชำระค่าบำรุงพรรคการเมืองสำหรับปีที่พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯใช้บังคับภายใน 15 วัน” ซึ่งราชกิจจานุเบกษาประกาศแก้ไขตัดคำว่า “สำหรับปีที่พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ใช้บังคับ” ทำให้จากเดิมที่ต้องส่งหลักฐานการชำระค่าบำรุงพรรคของปี 2560 เป็นการส่งหลักฐานในปีใดก็ได้ ซึ่งจากบริบทของมาตรา 141(2) ก็อาจจะเห็นได้ว่า เป็นการกำหนดให้ส่งหลักฐานการชำระค่าบำรุงพรรคในปี 2561 การแก้ไขข้อมูลดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากการออกคำสั่งไปแล้ว 1 วัน
 
เขียนชื่อ ยศ ตำแหน่ง ข้าราชการผิด ต้องแก้ 5 ครั้ง
 
นอกจากการแก้ไขคำผิดในคำสั่งหัวหน้า คสช. 4 ฉบับที่กล่าวไปแล้วยังมีการแก้ไขคำผิดในคำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้าคสช.รวมอีก 5 ฉบับโดยเป็นการแก้ไขชื่อสกุล, ยศและตำแหน่งที่ระบุผิดพลาดไปดังนี้
 
ครั้งที่ 5 วันที่ 2 สิงหาคม 2559 ราชกิจจานุเบกษาประกาศแก้ไขคำผิดในคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 43/2559  เรื่อง ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติมครั้งที่ 7 ที่ออกเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2559 โดยเป็นการแก้ไขยศของเจ้าหน้าที่ที่ถูกตรวจสอบในบัญชีแนบท้ายจาก ว่าที่ร้อยตรี  ให้เป็น ว่าที่เรือตรี การแก้ไขเกิดขึ้นหลังจากออกคำสั่งไปแล้ว 12 วัน
 
ครั้งที่ 6 วันที่ 7 ตุลาคม 2559 ราชกิจจานุเบกษาประกาศแก้ไขคำผิดในคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 52/2559 เรื่อง ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติมครั้งที่ 7 ที่ประกาศไปเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2559 โดยเป็นการแก้ไขตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ที่ถูกตรวจสอบในบัญชีแนบท้าย จาก “นักวิชาการขนส่งทางน้ำชํานาญการสํานักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาตราด” เป็น “นักวิชาการขนส่งชํานาญการ สํานักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขานนทบุรี” การแก้ไขเกิดขึ้นหลังจากออกคำสั่งไปแล้ว 36 วัน
 
 
ครั้งที่ 7 วันที่ 27 ตุลาคม 2560 ราชกิจจานุเบกษาประกาศแก้ไขคำผิดในคำสั่งคสช.ที่ 6/2560 เรื่อง แต่งตั้งผู้ปฏิบัติงานใน คสช. ที่ประกาศไปเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2560 โดยแก้ไขยศของผู้ปฏิบัติงานใน คสช. ให้ตรงตามจริงจาก “พลตำรวจเอก” เป็น “พลเอก” การแก้ไขเกิดขึ้นหลังจากออกคำสั่งไปแล้ว 3 วัน
 
ครั้งที่ 8 วันที่ 29 พฤศจิกายน 2560 ราชกิจจานุเบกษาประกาศแก้ไขคำผิดในคำสั่งคสช.ที่ 6/2560 อีกครั้งหนึ่งโดยแก้ไขยศของผู้ปฏิบัติงานใน คสช. ให้ตรงตามจริงจาก “พลตำรวจเอก” เป็น “พลตำรวจโท” การแก้ไขเกิดขึ้นหลังจากออกคำสั่งไปแล้ว 36 วัน
 
ครั้งที่ 9 วันที่ 25 ธันวาคม 2560 ราชกิจจานุเบกษาประกาศแก้ไขคำผิดในคำสั่งคสช.ที่ 124/2557 เรื่องแต่งตั้งผู้ปฏิบัติงานใน คสช. ที่ประกาศไปเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2560 โดยแก้ไขชื่อและสกุลของผู้ปฏิบัติงานใน คสช. 2 นาย คือ จาก “พลเรือเอก ประจบ ปรีชา” ให้แก้เป็น “พลเรือเอก บรรจบ ปรีชา” และ “พลตํารวจตรี ลิขิต สุทธะ” ให้แก้เป็น “พลตํารวจตรี ลิขิต สุทธะพินทุ” การแก้ไขเกิดขึ้นหลังจากออกคำสั่งไปแล้ว 14 วัน
 
 
+++คสช. ต้องแก้ไขเนื้อหาในประกาศ/คำสั่ง ไม่น้อยกว่า 24 ครั้ง+++
 
การออกประกาศและคำสั่งคสช.และมาตรา 44 มีลักษณะที่ตอบสนองความต้องการของคสช.หรือรัฐในช่วงเวลาขณะหนึ่งเท่านั้น หลายครั้งเมื่อบริบทในสังคเปลี่ยนแปลงไป หรือมีความรู้หรือเหตุการณ์ใหม่ๆ เกิดขึ้น ประกาศ/คำสั่ง ที่มีสถานะเป็นกฎหมายก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย ดังนั้นตลอดระยะเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมาการออกคำสั่งของ คสช. จึงมีลักษณะของการ “ออกไปแก้ไป” โดยจากการรวบรวมข้อมูลพบว่า คสช. ต้องออกประกาศและคำสั่งมาเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมประกาศและคำสั่งของตัวเอง ไม่น้อยกว่า 24 ครั้ง
 
ครั้งที่ 1-4 ประกาศเคอร์ฟิวแล้วต้องแก้ไข ผ่อนปรนทีละนิด
 
วันที่ 26 พฤษภาคม 2557 คสช.ออกประกาศฉบับที่ 42/2557 เรื่อง แก้ไขห้วงเวลา ห้ามออกนอกเคหะสถาน โดยให้เหตุผลว่า เพื่อลดผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน จากเดิมที่ประกาศคสช.ฉบับที่ 3/2557 ประกาศเคอร์ฟิว กำหนดห้ามออกจากเคหะสถานตั้งแต่เวลา 22.00-05.00 น. เปลี่ยนเป็นเวลา 01.00-04.00 น. แทน การแก้ไขครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 4 ในรอบ 5 วัน นับแต่ประกาศคสช.ฉบับที่ 3/2557 ซึ่งเป็นประกาศแรกเริ่มได้ประกาศออกมาในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
 
การแก้ไขครั้งแรกเกิดขึ้นในวันเดียวกับที่ คสช. ออกประกาศ ฉบับที่ 3/2557 โดยแก้ไขผ่านการออกประกาศ คสช. ที่ 8/2557 ผ่อนปรนให้บุคคลที่จำเป็นต้องเดินทางในเวลาต้องห้ามสามารถเดินทางได้ ครั้งที่ 2 ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 คสช.ออกคำสั่งคสช.ที่ 4/2557 อนุญาตให้พนักงานของบริษัทจีโฟร์เอส  แคช  โซลูชั่นส์  (ประเทศไทย) จำกัด ที่ทำหน้าที่ในการขนส่งทรัพย์สินสามารถเดินทางในเวลาต้องห้ามและพกพาอาวุธได้ และครั้งที่ 3 ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 คสช.ออกคำสั่งคสช.ที่ 17/2557 อนุญาตให้ผู้ประกอบการธุรกิจการขนส่งสินค้าทางบก, ทางน้ำและทางอากาศสามารถขนส่งสินค้าในเวลาต้องห้ามได้
 
ครั้งที่ 5 แก้ไขคุณสมบัติผู้ว่า สตง.
วันที่ 30 มิถุนายน 2557 คสช.ได้ออกประกาศ ฉบับที่ 76/2557 แก้ไขเนื้อหาประกาศ คสช. ที่ 71/2557 เรื่อง การสรรหาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ออกเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2557 โดยแก้ไขเพิ่มเติมคุณสมบัติของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน 2 ข้อ คือ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินต้องเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพบัญชี หรือเป็นผู้มีประสบการณ์ด้านการตรวจเงินแผ่นดินอย่างใดอย่างหนึ่ง และต้องเคยเป็นข้าราชการไม่ต่ำกว่าระดับ 10 หรือเทียบเท่า หรือเป็นหรือเคยเป็นข้าราชการไม่ต่ํากว่าตําแหน่งผู้บริหารระดับสูงหรือเทียบเท่าอย่างใดอย่างหนึ่ง การแก้ไขเพิ่มเติมเกิดขึ้นหลังออกประกาศไปแล้ว 4 วัน
 
ครั้งที่ 6 ตรวจทุกอันไม่ไหว! เปลี่ยนคำสั่งที่ให้โครงการรัฐวิสาหกิจเกิน 100 ล้านบาท ต้องรายงาน คสช. ทุกเรื่อง
 
วันที่ 4 กรกฎาคม 2557 คสช.ออกประกาศ ฉบับที่ 78/2557 แก้ไขเนื้อหาประกาศ คสช.ที่ 75/2557 เรื่อง ผู้รักษาการประธานกรรมการในคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจ และการขออนุมัติ โครงการใหม่หรือการทําธุรกรรมที่มีวงเงินเกินหนึ่งร้อยล้านบาทของรัฐวิสาหกิจ ที่ออกเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2557 โดยยกเลิกเงื่อนไขการขออนุมัติโครงการใหม่หรือการทำธุรกรรมของรัฐวิสาหกิจที่มีวงเงินเกินหนึ่งร้อยล้านบาท โดยให้เหตุผลว่า เพื่อความคล่องตัวและเหมาะสมยิ่งขึ้น จากเดิมที่กำหนดขอบเขตอย่างกว้างว่า การลงทุนหรือริเริ่มโครงการใหม่และธุรกรรมการเงินของรัฐวิสาหกิจทุกชนิดที่มีวงเงินเกินหนึ่งร้อยล้านบาทจะต้องรายงานตรงต่อ คสช. ก่อน ให้เปลี่ยนเป็น การลงทุนหรือริเริ่มโครงการใหม่ที่มีวงเงินเกินหนึ่งร้อยล้านบาท และธุรกรรมการเงินที่มีวงเงินเกินหนึ่งร้อยล้านบาท ซึ่งไม่ใช่การใช้จ่ายทางการเงินตามปกติ จะต้องทำรายงานต่อ คสช. โดยจะต้องเสนอไปยังสํานักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจก่อน และรวบรวมให้ คสช. อีกครั้ง การแก้ไขเพิ่มเติมเกิดขึ้นหลังออกประกาศไปแล้ว 5 วัน
 
ครั้งที่ 7 แก้ไขเปิดให้สื่อวิจารณ์ คสช. ได้บ้าง
 
วันที่ 21 กรกฎาคม 2557 คสช. ออกประกาศ ฉบับที่ 103/2557 แก้ไขประกาศ คสช. ที่ 97/2557 เรื่อง การให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของคสช.และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ โดยแก้ไขข้อกำหนดจากเดิมที่ห้ามสื่อวิพากษ์วิจารณ์ คสช. อย่างกว้างๆ เป็นห้ามการวิพากษ์วิจารณ์โดยมีเจตนาไม่สุจริต เพื่อทําลายความน่าเชื่อถือของ คสช.ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ ซึ่งเป็นการจำกัดเสรีภาพอย่างร้ายแรงก่อให้เกิดกระแสคัดค้านจากคนในวงการสื่อสารมวลชนอย่างมาก การแก้ไขเพิ่มเติมเกิดขึ้นหลังออกประกาศไปแล้ว 4 วัน
 
 
ครั้งที่ 8-10 เพิ่มเติมกรรมการในคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ
 
วันที่ 22 เมษายน 2558  คสช. ออกคำสั่งที่ 6/2558 แก้ไขคําสั่ง คสช. ที่ 45/2557 เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ที่ออกเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2557  โดยครั้งนี้เพิ่มเติมคณะกรรมการเป็น 22 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้แทนจากฝ่ายความมั่นคง โดยมีผู้แทนจากส่วนราชการที่ไม่เกี่ยวข้องกับฝ่ายความมั่นคง 7 คนจาก 22 คน การแก้ไขครั้งนี้ถือเป็นการแก้ไขครั้งที่ 3 เกิดขึ้นหลังการแก้ไขคำสั่งครั้งที่ 2 ไปแล้ว 182 วัน
 
คำสั่งแรกเริ่ม คือ คําสั่ง คสช. ที่  45/2557  โดยคณะกรรมการที่ถูกแต่งตั้งตามคำสั่งนี้มีทั้งสิ้น 18 คน ประกอบด้วยผู้แทนจากส่วนราชการที่ไม่เกี่ยวข้องกับกองทัพหรือฝ่ายความมั่นคง 6 คนจาก 18 คน ก่อนจะมีการแก้ไขครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2557 คสช. ออกคำสั่งคสช.ที่ 122/2557 แก้ไขเพิ่มเติมคําสั่ง คสช. ที่  45/2557 แก้ไขตำแหน่งคณะกรรมการและข้อกำหนดบางประการ ในส่วนของคณะกรรมการมีผู้แทนจากส่วนราชการที่ไม่เกี่ยวข้องกับกองทัพหรือฝ่ายความมั่นคง 7 คนจาก 18 คน การแก้ไขเพิ่มเติมเกิดขึ้นหลังออกคำสั่งไปแล้ว 120 วัน
 
และครั้งที่ 2 วันที่ 22 ตุลาคม 2557 คสช.ออกคำสั่งที่ 123/2557 แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่ง คสช. ที่ 122/2557 เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) โดยเพิ่มเติมคณะกรรมการจาก 18 ตำแหน่งเป็น 21 ตำแหน่ง คณะกรรมการ 3 ตำแหน่งที่เพิ่มเติมขึ้นมา คือ เจ้ากรมจเรทหารบกและผู้แทนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 2 คน โดยมีผู้แทนจากส่วนราชการที่ไม่เกี่ยวข้องกับกองทัพหรือฝ่ายความมั่นคง 7 คนจาก 18 คน การแก้ไขเพิ่มเติมเกิดขึ้นหลังออกคำสั่งแก้ไขครั้งแรกไปแล้ว 31 วัน
 
ครั้งที่ 11 ทำเองไม่ไหว! กระจายอำนาจแต่งตั้งเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย ไม่ต้องผ่านหัวหน้า คสช. ทุกเรื่อง
 
วันที่ 10 เมษายน 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่ง ที่ 5/2558 แก้ไขเนื้อหาเพิ่มเติมในคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ที่ออกเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2558 โดยกำหนดเพิ่มผู้มีอำนาจในการมอบหมายคำสั่งแก่เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย จากเดิมมีเพียงหัวหน้า คสช. เพิ่มเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมาย จากหัวหน้า คสช. ด้วย และขยายขอบข่ายของผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย จากเดิมมีเพียงทหารซึ่งมียศต่ำกว่าร้อยตรี, เรือตรีและเรืออากาศตรี เพิ่มขอบข่ายให้รวมถึง ทหารประจําการ ทหารกองประจําการ และอาสาสมัครทหารพรานด้วย การแก้ไขเพิ่มเติมเกิดขึ้นหลังออกคำสั่งไปแล้ว 10 วัน
 
ครั้งที่ 12 เพิ่มวัตถุประสงค์การคุมราคาล็อตเตอรี่ ให้รัฐเอาเงินไปใช้พัฒนาประเทศได้
 
วันที่ 10 สิงหาคม 2558 หัวหน้า คสช. ออกคําสั่ง ที่ 25/2558 แก้ไขเพิ่มเติมคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 11/2558 เรื่อง  มาตรการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่ออกเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2558 เพิ่มเติมคำว่า เพื่อดําเนินโครงการตามนโยบายของรัฐที่จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม มีวัตถุประสงค์เพื่อให้รัฐสามารถนําเงินกองทุนมาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การแก้ไขเพิ่มเติมเกิดขึ้นหลังออกคำสั่งไปแล้ว 102 วัน
 
ครั้งที่ 13 เลื่อนวันที่คำสั่งมีผลบังคับใช้
 
วันที่ 6 ตุลาคม 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่ง ที่ 36/2558 แก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 29/2558 เรื่อง การเลือกกรรมการแทนตําแหน่งที่ว่างในคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและการดําเนินการเพื่อสรรหาผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ ที่ออกเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2558 โดยเป็นการแก้ไขในส่วนของวันที่คำสั่งมีผลบังคับใช้จากเดิมที่บังคับใช้ในวันที่ 16 กันยายน 2558 ให้เปลี่ยนมาเป็นวันที่ 20 สิงหาคม 2558 แทน ซึ่งกลายเป็นว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ย้อนหลังวันที่คำสั่งออก การแก้ไขเพิ่มเติมเกิดขึ้นหลังออกคำสั่งไปแล้ว 21 วัน
 
ครั้งที่ 14 ย้ายตำแหน่งแล้วคนไม่เอาด้วย เปลี่ยนใจย้ายกลับได้
 
วันที่ 18 ตุลาคม 2558 หัวหน้า คสช. ออกคําสั่งที่ 38/2558 แก้ไขเพิ่มเติมคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 37/2558 เรื่อง การกําหนดตําแหน่งเพิ่มและการแต่งตั้งข้าราชการ ที่ออกเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2558 แก้ไขคำสั่งการโยกย้ายที่เดิมคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 37/2558 สั่งให้ นัฑ ผาสุข ย้ายจากตำแหน่งที่ปรึกษาด้านกฎหมาย สํานักงานเลขาธิการวุฒิสภา ไปเป็น เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร แต่แก้ไขให้ถือว่า นัฑ ผาสุข ไม่เคยพ้นจากตำแหน่งเดิม และไม่เคยได้รับการแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และตามที่คณะกรรมการข้าราชการรัฐสภาได้มีมติเห็นชอบให้นัฑ ผาสุข ดํารงตําแหน่ง รองเลขาธิการวุฒิสภาแล้วนั้น ให้สํานักงานเลขาธิการวุฒิสภา และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องดําเนินการเรื่องต่อไปได้ การแก้ไขเพิ่มเติมเกิดขึ้นหลังออกคำสั่งไปแล้ว 3 วัน
 
การโยกย้ายกลับไปกลับมาครั้งนี้สืบเนื่องจากคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 37/2558 สั่งให้นัฑ ผาสุข ไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแทนจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการฯคนเดิม ซึ่งถูกย้ายเนื่องจากปัญหาการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ไม่แล้วเสร็จ ต่อมากรุงเทพธุรกิจออนไลน์รายงานว่า มีข่าวว่าข้าราชการในสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรนัดกันสวมชุดดำเพื่อแสดงสัญลักษณ์ถึงความไม่พอใจในการโยกย้ายนัฑข้ามห้วยจากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภามาที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ด้านคมชัดลึกรายงานคำสัมภาษณ์ของพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ระบุว่า หลังเกิดกระแสความไม่พอใจต่อการโยกย้าย ตนได้ปรึกษาร่วมกับหัวหน้า คสช. ได้ข้อสรุปว่า เพื่อไม่ให้กระทบความรู้สึกของบุคลากร คสช. จึงได้เปลี่ยนแปลงคำสั่งการโยกย้าย ให้นัฑกลับมาดำรงตำแหน่งเดิม
 
 
ครั้งที่ 15 เปลี่ยนโครงสร้างกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ คสช.
 
วันที่ 7 ตุลาคม 2558 คสช. ออกคำสั่ง ที่ 13/2558 แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่ง คสช. ที่ 2/2558 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ออกเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2558 โดยแก้ไขในส่วนของผู้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เปลี่ยน พลเอกดาว์พงษ์  รัตนสุวรรณ จากกรรมการให้เป็นรองประธานกรรมการแทน และแต่งตั้งบุคคลเพิ่มเติม คือ พลเอกอุดมเดช  สีตบุตร เป็นรองประธานกรรมการ, พลโทณัฐพล  นาคพาณิชย์ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ และเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการ รวมทั้งยกเลิกตำแหน่งกรรมการที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งหัวหน้า คสช. แต่งตั้งจำนวนไม่เกิน 3 คนออกไป การแก้ไขเพิ่มเติมเกิดขึ้นหลังออกคำสั่งไปแล้ว 273 วัน
 
ครั้งที่ 16 เปลี่ยนตัวรองเลขาธิการประจำตัว พล.อ.อุดมเดช
 
วันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 คสช.ออกคำสั่งที่ 17/2558 แก้ไขรายชื่อผู้ปฏิบัติงานใน คสช. ตามคําสั่ง คสช. ที่ 15/2558 เรื่อง แต่งตั้งผู้ปฏิบัติงานในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ออกเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 258 โดยเปลี่ยนตำแหน่งผู้ปฏิบัติงานรองเลขาธิการฯ ประจำตัวของพล.อ.อุดมเดช  สีตบุตร โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้การรักษาความสงบเรียบร้อย และการสนับสนุนภารกิจการบริหารราชการแผ่นดินของ คสช. เป็นไปด้วยความเรียบร้อยการแก้ไขเพิ่มเติมเกิดขึ้นหลังออกคำสั่งไปแล้ว 26 วัน
 
ครั้งที่ 17 การแก้ไขประมงผิดกฎหมาย เรื่องสำคัญต้องผ่านคณะกรรมการปฏิรูปฯ ของพล.อ.ประวิตร
 
วันที่ 20 เมษายน 2559 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งหัวหน้า ที่ 18/2559 แก้ไขเพิ่มเติมคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 10/2558 เรื่องการแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) ที่ออกเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2558 โดยเพิ่มเติมเงื่อนไขการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย(ศปมผ.) ตามกำหนดในคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 10/2558 หากเป็นเรื่องสำคัญตามนโยบายของรัฐบาลและมีผลกระทบอย่างกว้างขวาง ให้ ศปมผ. นําเรื่องดังกล่าวขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการขับเคลื่อน และปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินคณะที่ 5 ก่อนให้นายกรัฐมนตรีสั่งการ 
หรือหากเป็นเรื่องทั่วไปหรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติของหลายหน่วยงานของรัฐทั้งที่ไม่ได้เป็นส่วนราชการ ให้ ศปมผ. เสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินคณะที่ 5 หรือคณะอนุกรรมการที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ หลังจากนั้น ผบ.ศปมผ. จึงจะสามารถดำเนินการต่อไป การแก้ไขเพิ่มเติมเกิดขึ้นหลังออกคำสั่งไปแล้ว 1 ปี 9 วัน
 
ครั้งที่ 18 การบริหารการบินพลเรือน เรื่องสำคัญต้องผ่านคณะกรรมการปฏิรูปฯ ของพล.อ.ประวิตร
 
วันที่ 20 เมษายน 2559 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่ง ที่ 19/2559 แก้ไขเพิ่มเติมคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 27/2558 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการกํากับดูแลและพัฒนาการบินพลเรือนของประเทศไทย ที่ออกเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2558 โดยยกเลิกข้อ 4 ของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 27/2558 ที่กำหนดให้ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน (ศบปพ.) ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ที่ระบุไว้ในคำสั่งดังกล่าว โดยประสานกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและหากเป็นเรื่องสำคัญและมีผลกระทบอย่างกว้างขวางให้นายกรัฐมนตรีผ่านรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลพิจารณาสั่งการ
 
เปลี่ยนเป็น กรณีที่ ศบปพ. ปฏิบัติหน้าที่ตามที่คำสั่งดังกล่าวกำหนด หากเป็นเรื่องสำคัญตามนโยบายรัฐบาลและมีผลกระทบอย่างกว้างขวางให้ขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่  5 ก่อน หรือหากเป็นเรื่องทั่วไปหรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติของหลายหน่วยงานของรัฐทั้งที่ไม่ได้เป็นส่วนราชการ ให้  ศบปพ. เสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินคณะที่ 5 หรือคณะอนุกรรมการที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ หลังจากนั้น ผบ.ศบปพ. จึงจะสามารถดำเนินการต่อไป การแก้ไขเพิ่มเติมเกิดขึ้นหลังออกคำสั่งไปแล้ว 222 วัน
 
สำหรับการแก้ไขคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 18/2559 และ 19/2559 มีความสอดคล้องกันในเนื้อหาที่แก้ไขที่มุ่งให้ดำเนินการผ่านคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินคณะที่ 5 ซึ่งมีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในคณะกรรมการชุดดังกล่าว ที่มีอำนาจในการขับเคลื่อนและปฏิรูปด้านความมั่นคง การลดความเหลื่อมล้้า การเกษตร ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และการแก้ไขปัญหาการดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศ  โดยตั้งขึ้นตามคําสั่งสํานักนายกรัฐมนตรี ที่ 380/2558  ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2558
 
ครั้งที่ 19 สั่งปิดสถานบริการที่ค้ามนุษย์ หรือมีเล่นการพนัน
 
วันที่ 29 กรกฎาคม 2559 หัวหน้า คสช. ออกคําสั่ง ที่  46/2559 แก้ไขเพิ่มเติมคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่  22/2558 เรื่อง มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในทางและการควบคุมสถานบริการหรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการที่ออกเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2558 โดยขยายข้อห้ามเพิ่มเติม คือ สถานบริการใดที่ยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้มีการกระทําความผิดฐานค้ามนุษย์ หรือการพนันในสถานที่ของตน ผู้มีอํานาจสามารถเพิกถอนใบอนุญาต หรือสั่งปิดสถานที่ดังกล่าวเป็นเวลา 5 ปี และหากอยู่ในระหว่างการขอต่ออายุใบอนุญาตจะไม่สามารถต่ออายุใบอนุญาต และไม่ให้ออกใบอนุญาตให้แก่ผู้นั้นเป็นเวลา 5 ปี 
 
 และหากผู้ใดเปิดสถานบริการ ภายในระยะเวลา 5 ปีนับแต่วันที่มีคําสั่งเพิกถอนใบอนุญาตหรือคําสั่งปิด หรือ  เปิดให้บริการสถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสถานบริการหรือสถานประกอบการ ที่ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษาหรือหอพักในบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษา ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนคําสั่ง ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การแก้ไขเพิ่มเติมเกิดขึ้นหลังออกคำสั่งไปแล้ว 359 วัน
 
ครั้งที่ 20 เปลี่ยนตำแหน่งกรรมการคุรุสภา
 
วันที่ 21 มีนาคม 2560 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่ง ที่ 17/2560 แก้ไขเพิ่มเติมคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 7/2558 เรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการคุรุสภา คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครู และบุคลากรทางการศึกษา และคณะกรรมการบริหารองค์การค้าของสํานักงานคณะกรรมการส่งเสริม สวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยแก้ไขตำแหน่งคณะกรรมการคุรุสภา จากผู้อํานวยการสํานักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เปลี่ยนเป็น เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน แทน และให้เลขาธิการคุรุสภาทำหน้าที่เป็นกรรมการและเลขานุการ จากเดิมที่ทำหน้าที่เพียงเลขานุการเท่านั้น
 
และให้คณะกรรมการปัจจุบันภายใต้คำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในการสรรหาและแต่งตั้งเลขาธิการคุรุสภา เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครู และบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) และผู้อํานวยการองค์การค้าของ สกสค. กำหนดให้ดำรงตำแหน่งวาระละ 4 ปี ทั้งคำสั่งนี้ยังเพิ่มเติมไม่ให้คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 7/2558 ยกเลิกหลังจากที่สามารถตั้งรัฐบาลใหม่ได้แล้ว การแก้ไขคำสั่งดังกล่าวเกิดขึ้นหลังคำสั่งออก 704 วันหรือเกือบ 2 ปี 
 
คําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 7/2558 เป็นคำสั่งที่เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของของคุรุสภา, สกสค. และองค์การค้าของสกสค. โดยคำสั่งดังกล่าวส่งผลให้ดร.อำนาจ สุนทรธรรม เลขาธิการคุรุสภา, สมศักดิ์ ตาไชย เลขาธิการคณะกรรมการสกสค. และสมมาตร์ มีศิลป์ ผู้อำนวยการองค์การค้า ของ สกสค. ต้องถูกระงับการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีของสมมาตร์นั้น หลังจากที่คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ตรวจสอบไม่พบความผิดปกติของการใช้จ่ายเงิน และแม้ว่าสมมาตร์จะพ้นจากการข้อกล่าวหาเรื่องการทุจริต แต่เขาถูกประเมินไม่ผ่านงานในตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การค้า ของ สกสค. ในภายหลัง
 
 
ครั้งที่ 21 เพิ่มอำนาจให้บริหาร ป.ย.ป. คล่องตัวขึ้น
 
วันที่ 31 มีนาคม 2560 หัวหน้า คสช. ออกคําสั่ง ที่ 18/2560 แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2560 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง หรือคำสั่งที่รู้จักกันว่าเป็นแต่งตั้งคณะกรรมการ ป.ย.ป. ที่ออกเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2560 โดยแก้ไขให้การจัดตั้งสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรีเป็นหน่วยงานในสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแทน จากเดิมที่เป็นหน่วยงานในสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารนโยบายฯ ปฏิบัติหน้าที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี และเพิ่มอำนาจให้ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารนโยบายฯ สามารถขอยืมตัวข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐอื่นๆ หรือจัดจ้างบุคคลมาปฏิบัติงานในสำนักงานบริหารนโยบายฯ รวมทั้งให้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจัดการบริหารงบประมาณและทรัพยากรในการดำเนินการภายใต้นโยบายของคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.)
 
และให้สํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีสนับสนุนการดําเนินการตามที่กําหนดไว้ในคําสั่งนี้  และให้สามารถรับโอนทรัพย์สินของ สํานักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สํานักงานสภาพัฒนาการเมืองและสํานักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายมาบริหารจัดการ รวมทั้งโอนย้ายข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในสำนักงานดังกล่าวมาบรรจุในสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้ การแก้ไขคำสั่งเพิ่มเติมดังกล่าวเกิดขึ้นหลังคำสั่งออก 73 วัน
 
ครั้งที่ 22 แก้ไขการหากรรมการ สตง. ที่จะหมดวาระ
 
วันที่ 25 ตุลาคม 2560 หัวหน้า คสช. ออกคําสั่ง ที่ 25/2560 แก้ไขเพิ่มเติมคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 23/2560 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาความต่อเนื่องของผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ที่ออกเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 โดยเป็นการแก้ไขเกี่ยวกับการสรรหาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และ ผู้ว่าสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่จะหมดวาระพร้อมกันในเดือนกันยายน 2560 นี้ คำสั่งกำหนดเพิ่มเติมให้ผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระเป็นผู้มีลักษณะต้องห้าม
 
และเมื่อมีกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับพ้นจากตำแหน่ง หรือจะพ้นจากตำแหน่งตามวาระภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ จะต้องคัดเลือกหรือสรรหาบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งดังกล่าวแทนตำแหน่งที่ว่าง หรือให้ครบจำนวนตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ แล้วแต่กรณี ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ การแก้ไขคำสั่งเพิ่มเติมดังกล่าวเกิดขึ้นหลังคำสั่งออก 204 วัน 
 
โดยสรุปคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 23/2560 ถูกแก้ไขสองครั้ง คือ การแก้ไขเพิ่มเติมผ่านคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 25/2560 และการแก้ไขคำผิดผ่านประกาศราชกิจจานุเบกษา
 
ครั้งที่ 23 คนพิการต้องเลือกรับประโยชน์จจากบัตรทอง หรือประกันสังคม เพียงระบบเดียว
 
วันที่ 25 ตุลาคม 2560 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่ง ที่ 45/2560 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 58/2559 เรื่อง การรับบริการสาธารณสุขของคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม ที่ออกเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2559 โดยมีสาระสำคัญคือ ให้คนพิการที่เป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม มีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุข\ตามที่กําหนดไว้ในพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติด้วย จากเดิมที่มีสิทธิจากทั้งสองระบบ เปลี่ยนเป็นให้คนพิการแสดงความประสงค์ว่าจะเลือกใช้สิทธิรับประโยชน์จากระบบใดระบบหนึ่งได้เพียงระบบเดียว โดยให้แสดงความประสงค์เลือกใช้สิทธิหรือเปลี่ยนแปลงสิทธิที่เลือกได้เป็นรายปี และต้องดําเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่คําสั่งนี้มีผลใช้บังคับ
 
โดยค่าใช้จ่ายที่จ่ายให้แก่คนพิการ ให้จ่ายจากกองทุนประกันสังคมและให้งดนำมาตรา 21 ของ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ที่เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของกองทุนประกันสังคม มาใช้บังคับกับการจ่ายเงินดังกล่าว และให้ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การรับบริการสาธารณสุขของคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมและตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ออกตามคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 58/2559 ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับคําสั่งนี้ จนกว่าจะมีหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขจากกระทรวงการคลังกำหนดมีผลใช้บังคับ การแก้ไขคำสั่งเพิ่มเติมดังกล่าวเกิดขึ้นหลังคำสั่งออก 25 วัน 
 
 
ครั้งที่ 24 ต่ออายุผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านอีก 1 ปี
 
วันที่ 9 พฤศจิกายน 2560 หัวหน้า คสช. ออกคําสั่ง ที่  50/2560 แก้ไขเพิ่มเติมคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 59/2559 เรื่อง ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติมครั้งที่ 8 และการปรับปรุงการบริหารงานบุคคลในบางหน่วยงานของรัฐ การแก้ไขคำสั่งฉบับนี้เป็นการต่ออายุการทำงานให้แก่ นที ขลิบทอง ผู้อํานวยการสํานักงานกองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมืองแห่งชาติออกไปอีก 1 ปี สิ้นสุดในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2561 ก่อนหน้านี้คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 59/2559 ระบุให้นที ดำรงตำแหน่งผู้อํานวยการสํานักงานกองทุนหมู่บ้านฯ ต่อไปตั้งแต่วันที่บังคับใช้คือ 29 กันยายน 2559 ถึง 5 พฤศจิกายน 2560 ในคำสั่งระบุเหตุผลการต่ออายุการทำงานครั้งนี้ว่า การดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้านเป็นไปด้วยดีและการสรรหาผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ดังนั้นเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการดำเนินงานจึงให้นที อยู่ในตำแหน่งต่อไปอีกหนึ่งปี การแก้ไขคำสั่งเพิ่มเติมดังกล่าวเกิดขึ้นหลังคำสั่งออก 1 ปี 12 วัน