Thailand Grand Sale: กม.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกฉบับย่นย่อ

28 กันยายน 2560 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติเอกฉันท์ รับหลักการร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือที่เรียกกันย่อๆ ว่า 'ร่าง พ.ร.บ.อีอีซี' โดยหัวใจของกฎหมายดังกล่าวก็คือ การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่บริเวณภาคตะวันออก ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา รวมไปถึงการให้สิทธิประโยชน์และอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ
อย่างไรก็ดี จากการพิจารณาเนื้อในร่างกฎหมายฉบับนี้แล้วพบว่า กฎหมายฉบับนี้เน้นการ 'ลด-แลก-แจก-แถม' สิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้กับนักลงทุน โดยรวมศูนย์อำนาจตัดสินใจเกือบจะทุกเรื่องไปไว้ที่ 'คณะกรรมการนโยบายฯ' และ 'เลขาธิการฯ' นอกจากนี้ เพื่อการพัฒนาพื้นที่ในเขตพัฒนาพิเศษสามารถงดเว้นการบังคับใช้กฎหมายได้หลายฉบับ
'โครงสร้างการบริหาร' ต่อยอดมาจากคำสั่งหัวหน้า คสช.
อาจจะกล่าวได้ว่า ร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 2/2560 เรื่อง การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เพื่อยกระดับให้กลายเป็นกฎหมายปกติ
จะเห็นได้จากตัวโครงสร้างการบริหารของ 'คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก' หรือคณะกรรมการนโยบาย จำนวนไม่เกิน 25 คน ตามมาตรา 10 ก็ยังคงบางตำแหน่งตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ไว้ เช่น ให้ นายกฯ เป็นประธาน และรองนายกฯ เป็นรองประธาน พร้อมกับมีรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ร่วมเป็นคณะกรรมการ และให้เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะกรรมการนโยบายฯ เป็นคณะกรรมการด้วย
แต่มีบางตำแหน่งที่เพิ่มเข้ามา ได้แก่ รมว.กระทรวงดิจิทัลฯ รมว.กระทรวงพลังงาน รมว.กระทรวงพาณิชย์ รมว.กระทรวงวิทย์ฯ รมว.กระทรงสาธารณสุข ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ  ประธานสภาหอการค้า ประธานสภาอุตสาหกรรม ประธานสมาคมธนาคารไทย และเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน นอกจากนี้ ยังลดจำนวนผู้ทรงคุณวุฒิจากไม่เกินหกเป็นไม่เกินห้าคน ทั้งนี้ ผู้ทรงคุณวุฒิมาจากการแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี
รวมศูนย์อำนาจการอนุมัติ/อนุญาต ไว้ที่ 'คณะกรรมการนโยบายฯ' และ 'เลขาธิการฯ'
ในเขตพัฒนาพิเศษ 'คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก' มีอำนาจหน้าที่ในการอนุมัติ อนุญาต ให้สิทธิ หรือให้สัมปทาน ให้กับนักลงทุนในด้านต่างๆ โดยอำนาจหน้าที่จะครอบคลุมกฎหมายถึง 7 ฉบับ ได้แก่
  • ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 (การควบคุมกิจการค้าขายบางประเภท) เช่น ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ การตั้งธนาคาร 
  • กฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย เช่น การก่อสร้างท่าเทียบเรือ เรือจับสัตว์น้ำ
  • กฎหมายว่าด้วยการชลประทานหลวง เช่น การสร้างฝาย เขื่อน ประตูระบายน้ำ สะพานทางน้ำ 
  • กฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการพลังงาน เช่น การขออนุญาตก่อสร้างโรงไฟฟ้า
  • กฎหมายว่าด้วยทางหลวงสัมปทาน เช่น ก่อสร้างถนน 
  • กฎหมายว่าด้วยพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ เช่น พลังงานนิวเคลียร์ วัสดุกัมมันตรังสี เครื่องกำเนิดรังสี
  • กฎหมายว่าด้วยการอื่นใดที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
อีกทั้ง ยังให้อำนาจคณะกรรมการนโยบายฯ สามารถเปลี่ยนแปลง แก้ไข เพิ่มเติมหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามกฎหมายข้างต้นได้ โดยให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ส่วนการดำเนินการหรือกระทำการใดๆ ภายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกที่ต้องได้รับอนุมัติ อนุญาต หรือให้ความเห็นชอบจากหน่วยงานรัฐหรือคณะกรรมการตามกฎหมายต่างๆ ให้เป็นอำนาจของ 'เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก' ตามมาตรา 43 ซึ่งกฎหมายที่เลขาธิการฯ มีอำนาจพิจารณา ได้แก่
  • กฎหมายว่าด้วยการขุดดินและถมดิน เช่น เพื่อขายดิน งานก่อสร้าง ขุดบ่อเก็บน้ำ เลี้ยงปลา ปรับพื้นที่ฯ
  • กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร เช่น บ้านเรือน คลังโกดัง สำนักงาน เขื่อน สะพาน อุโมงค์ หรือเพื่อก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน ซ่อมแซม
  • กฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนเครื่องจักร เช่น เครื่องจักรไอน้ำ เชื้อเพลิง ลม ก๊าซ ไฟฟ้าฯ
  • กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข เช่น เหตุเดือดร้อนรำคาญ สิ่งปฏิกูล ขยะมูลฝอย 
  • กฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง เฉพาะเพื่อการอนุญาตให้คนต่างด้าวตาม ม.53(1) หรือ (2) อยู่ต่อในราชอาณาจักร 
  • กฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์ เช่น การซื้อขาย แลกเปลี่ยน นายหน้า ขนส่ง อุตสาหกรรม จ้างทำของ กู้ยืมเงิน จำนำ จำนอง คลังสินค้า แลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ การรับประกันภัย
  • กฎหมายว่าด้วยโรงงาน เช่น ควบคุมตรวจสอบทุกอย่างที่เกี่ยวกับการประกอบกิจการโรงงาน
  • กฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน เช่น การจำหน่ายที่ดิน 
  • กฎหมายว่าด้วยการอื่นใดตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
นอกจากนี้ ตามมาตรา 9 หากคณะกรรมการนโยบายเห็นว่า กฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศและคำสั่งใดก่อให้เกิดความไม่สะดวก ล่าช้า หรือมีความซ้ำซ้อนหรือเพิ่มภาระให้การดำเนินการใดๆ มีปัญหาหรืออุปสรรค ให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาปรับปรุง หรือออกกฎหมายใหม่ได้อีกด้วย
นักลงทุนไทย-เทศ เช่าที่ดิน 99 ปี ได้ยกเว้นหรือลดหย่อนภาษี ไม่ต้องขอใบอนุญาตทำงาน
เพื่อดึงดูดนักลงทุน กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้ผู้ประกอบการหรือผู้อยู่อาศัยในเขตพัฒนาพิเศษได้รับสิทธิประโยชน์หลายอย่าง ตามมาตรา 48 ของร่างกฎหมาย ได้แก่ สิทธิในการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ของคนต่างชาติ สิทธิในการนำคนต่างชาติเข้ามาและอยู่อาศัยในราชอาณาจักร สิทธิที่จะได้รับการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษี สิทธิในการทำธุรกรรมทางการเงิน และสิทธิประโยชน์อื่นๆ
โดยสิทธิสำหรับการเช่าที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ในเขตพัฒนาพิเศษ  มีข้อกำหนดว่า ห้ามทำสัญญาเช่าเกิน 50 ปี แต่สามารถต่อสัญญาอีกไม่เกิน 49 ปี ทั้งนี้ ไม่ให้นำมาตรา 540 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ.2542 มาใช้บังคับ นั้นหมายความว่า ผู้เช่าไม่ต้องอยู่ภายใต้กำหนดที่ว่าห้ามเช่าอสังหาริมทรัพย์เกินกว่าสามสิบปี รวมไปถึงไม่ต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมที่ดินในกรณีเช่าที่ดินเกินร้อยไร 
ส่วนสิทธิในการนำคนต่างชาติเข้ามา ให้เป็นไปตามที่เลขาธิการฯ อนุญาต และสามารถเกินกว่ากำหนดตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองได้ โดยบุคคลต่างชาติ ที่จะได้รับสิทธิดังกล่าว ได้แก่ ผู้มีความรู้ความสามารถหรือผู้เชี่ยวชาญตามที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด หรือ ผู้บริหารหรือผู้ชำนาญการ หรือ คู่สมรสและบุคคลซึ่งอยู่ในอุปการะของบุคคลข้างต้น 
นอกจากนี้ บุคคลต่างชาติ ที่เป็นผู้มีความรู้ความสามารถหรือผู้เชี่ยวชาญตามที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด หรือ ผู้บริหารหรือผู้ชำนาญการ ไม่จำเป็นต้องขอใบอนุญาตทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 
ส่วนผู้ประกอบกิจการภายในเขตพัฒนากิจพิเศษย่อมมีสิทธิได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน นอกจากนี้ คณะกรรมการนโยบายฯ ยังกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการได้รับประโยชน์เช่นเดียวกับผู้ประกอบการในเขตปลอดอากร คลังสินค้าทัณฑ์บน หรือเขตประกอบการเสรีได้อีกด้วย รวมไปถึงในกรณีที่ต้องการนำเข้า-ส่งออก ได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร อีกทั้งยังได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน และสามารถใช้เงินตราต่างประเทศเพื่อชำระสินค้าหรือบริการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษได้ด้วย
คณะกรรมการนโยบายฯ จะกำหนดพื้นใดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษก็ได้และให้งดเว้นการบังคับใช้กฎหมายบางฉบับ
เพื่อการส่งเสริมเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กฎหมายกำหนดไว้ในมาตรา 40 ว่า คณะกรรมการนโยบายฯ มีอำนาจกำหนดให้พื้นที่ใดเป็นพื้นที่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกก็ได้  โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกต้องดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ ประโยชน์ ผลกระทบ และมาตรการเยียวยา พร้อมกับเผยแพร่ผลการศึกษาและร่างแผนผังบนเว็บไซต์ของสำนักงานเพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ประชาชน และชุมชน ประกอบการพิจารณา
ทั้งนี้ ตามมาตรา 30 ถึง 36 ยังกำหนดอีกว่า ในการจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินและแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคนั้น มิให้นำ 'กฎหมายผังเมือง' มาใช้ หรือในกรณีที่ต้องมีการถมทะเล ก็ให้ได้รับการยกเว้นไม่บังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยและกฎหมายว่าด้วยการประมง 
หรือในกรณีที่จำเป็น ก็สามารถเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินได้มา เพื่อประกอบกิจการอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกำหนดไว้ได้ แต่ถ้าที่ดินนั้นบุคคลอื่นมีสิทธิใช้ประโยชน์อยู่ก่อน ให้สำนักงานจัดหาที่ดินจ่ายค่าชดเชยหรือให้ประโยชน์ตอบแทนอื่นตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมนโยบายฯ กำหนด 
นอกจากนี้ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องได้มาซึ่งที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นเพื่อประโยชน์ในพื้นที่ ให้สำนักงานฯ มีอำนาจ จัดซื้อ เช่า เช่าซื้อ แลกเปลี่ยน เวนคืน ถมทะเล หรือโดยวิธีการอื่น ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการนโยบายฯ กำหนด และให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมทั้งปวง 
งดเว้นบางมาตราของ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ในการจัดทำ EIA
ในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สุขภาพของประชาชนหรือชุมชน (EIA) กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับตั้งแต่คณะกรรมการผู้ชำนาญการที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติรับไว้พิจารณา
ทั้งนี้ ในกรณีที่ไม่มีผู้ชำนาญการศึกษาผลกระทบสำหรับโครงการหรือกิจกรรมใด หรือมีแต่ไม่เพียงพอ ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติอนุญาตให้มีผู้ชำนาญการที่ไม่ต้องมีสัญชาติไทย และไม่ต้องมีคุณสมบัติตาม มาตรา 51 วรรคสอง ของพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมกำหนดไว้ก็ได้