ยุทธศาสตร์ชาติ ยุทธศาสตร์ใคร ทำไมคนทั่วไปไม่มีส่วนร่วม

เชื่อว่าบางคนคงเริ่มสนใจกับคำว่า "ยุทธศาสตร์ชาติ" มากขึ้น ภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิไปเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา ตาม พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะต้องไปแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านต่างๆ อีกอย่างน้อย 6 ด้าน ด้านละไม่เกิน 15 คน
ทั้งนี้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติที่จะถูกแต่งตั้งขึ้นนี้ จะถือว่าเป็นคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติชุดที่สอง เนื่องจากคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติชุดแรกนั้น ได้มีมติแต่งตั้งไปแล้วตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2558 ซึ่งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติชุดที่สองนี้ จะมีร่างยุทธศาสตร์ชาติที่คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติชุดก่อนไว้เป็นพิมพ์เขียวอีกที
อย่างไรก็ดี เมื่อสำรวจดูผู้ที่จัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติฉบับตั้งต้น หรือ ร่างยุทธศาสตร์ชาติ 2558 ก็ล้วนแล้วแต่เป็นคนสนิทใกล้ชิดหรือคุ้นเคยกับรัฐบาลเป็นอย่างดี นอกจากนี้ กระบวนการรับฟังความคิดเห็นยังเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากผู้ที่ได้เข้าไปแสดงความคิดเห็นนั้นล้วนแต่เป็นผู้แทนหน่วยราชการ นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ หรือตัวแทนเอกชน ภาคประชาชน ไม่มีชื่อคนธรรมดาๆ เข้าร่วมแม้แต่คนเดียว
เฉพาะ "ทหารและคนสนิท" เท่านั้น ที่ได้จัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติฉบับตั้งต้น
จากการตรวจดูรายชื่อของคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 พบว่า มีรายชื่อทั้งหมด 22 คน ซึ่งในจำนวนมีคนที่เป็นคนสนิทใกล้ชิดกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ 2 คน คือ พ.อ.ณัฐวุฒิ ภาสุวณิชยพงศ์ และ พ.อ.นิมิตต์ สุวรรณรัฐ ที่เปรียบเสมือนเป็นมือซ้ายมือขวาคู่ใจของ พล.อ.ประยุทธ์
ถัดมาเป็นกลุ่มคนที่มีตำแหน่งในสภาที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. อย่าง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปประเทศ (สปช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีอยู่ถึง 12 คน ได้แก่ วิลาศ อรุณศรี, อำพน กิตติอำพน, สมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ, อนุสิษฐ คุณากร, ดิสทัต โหตระกิตย์, พล.อ.ชูศักดิ์ เมฆสุวรรณ์, สุพันธุ์ มงคลสุธี, อิสระ ว่องกุศลกิจ, บุญทักษ์ หวังเจริญ, พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร, พล.อ.สกล ชื่นตระกูล, พล.อ.จีระศักดิ์ ชมประสพ
ส่วนที่เหลือก็เป็นบุคคลที่รับตำแหน่งอื่นๆ ในยุค คสช. เช่น ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารราชแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) และพวกข้าราชการประจำ ได้แก่ ปรเมธี วิมลศิริ, สุวิทย์ เมษินทรีย์, ประสาร ไตรรัตน์วรกุล, ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์, พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์  รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานฯ, รังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ , รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และธีระพงศ์ วงศ์ศิวะวิลาส 
เรียกได้ว่า ผู้ที่จะมาทำหน้าที่ร่างยุทธศาสตร์ชาติฉบับตั้งต้นเป็นคนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไว้ใจ เป็นอย่างยิ่ง
นอกจากนี้ หากแบ่งตามกลุ่มอาชีพจะพบว่า มีสัดส่วนของคนที่มาจากกลุ่มทหาร 8 คน ข้าราชการ 9 คน กลุ่มธุรกิจ 3 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คน
อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่ 30 มิถุนายน 2558 จนถึงปัจจุบัน มีบางตำแหน่งที่ถูกเปลี่ยนตัวบุคคลไปบ้าง ซึ่งเป็นกลุ่มที่เป็นคณะกรรมการโดยตำแหน่ง เช่น ธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส ที่ขึ้นมาทำหน้าที่เป็นรองประธาน แทน อำพน กิตติอำพน เกษียณอายุราชการ หรือ สมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลังใหม่ที่มาแทน รังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ หรือพลเอกทวีป เนตรนิยม เลขาธิการ สมช. คนใหม่ หรือ เจน นำชัยศิริ และ กลินท์ สารสิน และปรีดี ดาวฉาย ที่ขึ้นมาเป็น ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศ ประธานสมาคมธนาคารไทยตามลำดับ ซึ่งในจำนวนนี้ก็ล้วนมีสัมพันธ์ใกล้ชิดหรือรับตำแหน่งแต่งตั้งจาก คสช. ด้วยเช่นกัน
รับฟังความคิดเห็นทั่วประเทศเพียง 5 ครั้ง มีแต่ข้าราชการกับผู้ทรงคุณวุฒิ?
จากข้อมูลเกี่ยวกับการเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างยุทธศาสตร์ชาติที่ สศช.ส่งมาให้ พบว่า มีการจัดรับฟังความคิดเห็นเพียงแค่ 5 ครั้งทั่วประเทศ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดกระบี่ จังหวดชลบุรี และจังหวัดขอนแก่น
โดยมีตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมมีทั้งสิ้น 137 แห่ง แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคสื่อมวลชน ทั้งนี้ สัดส่วนของกลุ่มที่เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นมากที่สุดคือ กลุุ่มภาครัฐคิดเป็น 34 เปอร์เซ็น ถัดมาเป็น ภาคประชาสังคมและสื่อมวลชน อย่างละ 24 เปอร์เซ็น และภาคเอกชน 18 เปอร์เซ็น
อย่างไรก็ดี จากข้อมูลที่ได้รับมาระบุว่า ผู้เข้าร่วมเป็นผู้แทนหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องโดยตรง หรือเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ หรือนักวิชาการที่มีความรู้เฉพาะทาง ผู้แทนจากภาคเอกชนหรือภาคประชาชนที่ประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อน รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่มีความรู้ ความชำนาญ ซึ่งนั่นหมายความว่า ผู้ที่จะเข้าร่วมได้ต้องมี "คุณสมบัติพื้นฐาน" ที่คณะจัดทำร่างต้องการ และเป็นการตัดโอกาสประชาชนทั่วไปไม่ให้เข้าไปมีส่วนร่วมนั้นเอง
อาจไม่มีการรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม กฎหมายเปิดช่องให้ลักไก่
นอกจากการรับฟังความคิดเห็นทั่วประเทศที่มีเพียง 5 ครั้ง และขาดคนธรรมดาทั่วไปเข้าไปมีส่วนร่วมแล้ว ตาม พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ในมาตรา 28 ยังกำหนดอีกว่า การรับฟังความคิดเห็นที่ได้ทำไปแล้วก่อนหน้านี้ ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 มิถุนายน 2558 ให้ถือเป็นการรับฟังที่ทำเสร็จไปแล้ว ซึ่งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติมีสิทธิที่จะเลือกว่าจะเปิดรับฟังความคิดเห็นอีกหรือไม่ก็ได้
 
นั่นเท่ากับว่า ประชาชนจะมีสิทธิเข้าไปมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นได้เฉพาะขั้นตอนเกือบสุดท้ายแล้ว ตามมาตรา 8 (2) ที่กำหนดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเมื่อจัดทําร่างยุทธศาสตร์ชาติด้านต่าง ๆ แล้วเสร็จเบื้องต้นเพื่อนํามาแก้ไขปรับปรุง ทั้งนี้ วิธีการดังกล่าว คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติจะเป็นคนกำหนด ซึ่งก็ต้องมาจับตากันอีกครั้งว่า ประชาชนจะมีส่วนร่วมได้มากน้อยแค่ไหน