คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 1: ตั้งคนหน้าเดิมซ้ำไปมา ซ้อนตำแหน่ง เพื่อสืบทอดอำนาจ

ตลอดระยะเวลามากกว่าสามปีของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เข้ามาบริหารประเทศ คสช.ได้สร้างกลไกทางการเมืองต่างๆ เพื่อเข้ามาทำหน้าที่วางแผนขับเคลื่อนประเทศไปในทิศทางที่คสช.เห็นว่าจะไม่ทำให้ประเทศไทยกลับไปล้มเหลวแบบเดิม กลไกต่างๆ ถูกเปรียบเป็นดั่งแม่น้ำห้าสายบ้าง หรือเป็นลำห้วยบ้าง ซึ่งลำน้ำสายต่างๆ ใช้ทรัพยากรของประเทศไปอย่างมหาศาล จนถึงตอนนี้ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงไปทางไปในทางที่ดีขึ้นจากคสช. นอกจากเพียงแค่ตั้งหน่วยงานหรือกรรมการต่างๆ ขึ้นมา สร้างความหวังอย่าลมๆ แล้งๆ เท่านั้น
ณ ตอนนี้ คสช.ได้สร้างลำน้ำสายใหม่ ชื่อว่า “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ” มีกรรมการไม่เกิน 35 คน ซึ่งจะมีบทบาทกับประเทศนี้ไปอีก 20 ปีข้างหน้า จากการสำรวจที่มาที่ไปของกรรมการยุทธศาสตร์ จำนวน 29 คน พบว่ากรรมการส่วนใหญ่ล้วนเคยมีส่วนร่วมในการทำงานกับคสช.มาแล้วทั้งสิ้น โดยพวกเขาถูกแต่งตั้งไปทำหน้าที่ในหน่วยงานหรือเป็นกรรมการชุดต่างๆ ที่คสช.ตั้งขึ้น เช่น รัฐมนตรี (รมต.) สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารราชแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) หรืออดีตสมาชิกสภาปฏิรูป รวมทั้งเป็นกรรมการปฏิรูปประเทศชุดต่างๆ ที่คสช.เพิ่งตั้งขึ้นเมื่อช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา 
หก รัฐมนตรีคสช. นั่งคุมประเทศยาวถึงปี 2565
คณะรัฐมนตรี (ครม.) ของคสช. ดำรงตำแหน่งมากที่สุดในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คือจำนวนแปดคน โดยมีสองคนที่เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้หากมีการเลือกตั้งในปี 2561 จริงตามโรดแมป และหลังจากนั้นรัฐสภาไม่เลือกพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะหลุดจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และนายกรัฐมนตรีคนใหม่จะเข้าดำรงตำแหน่งแทน เช่นเดียวกับพล.อ.ประวิตร ที่ตำแหน่งของเขาจะคงอยู่หรือไปขึ้นอยู่กับการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง
ขณะที่รัฐมนตรีอีกจำนวนหกคน คือ 1) พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี 2) วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี 3) สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี 4) สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 5) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย  และ 6) อุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม ซึ่ง ครม. ของพวกเขาเองได้แต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และพวกเขามีวาระการดำรงตำแหน่งถึงห้าปี กล่าวคือแม้ ครม. ชุดที่พวกเขาดำรงตำแหน่งจะสิ้นสุดลงแต่พวกเขาจะยังคงเป็นกรรมการยุทธศาสตร์ไปจนถึงปี 2565
สำหรับการตั้งรัฐมนตรีเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิถึงหกคนนั้น วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีที่จัดทำรายชื่อบุคคลให้ ครม. พิจารณา กล่าวว่า ในระยะเริ่มต้น หลายอย่างยังไม่เข้าที่เข้าทาง จึงให้ตั้งแบบนี้ไปก่อน เพราะแต่ละคนเป็นคนที่ทำยุทธศาสตร์ชาติหกด้านมาก่อน เหมือนเป็นเจ้าของเรื่องอยู่ก่อนแล้ว ก็จะให้มาทำต่อช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เมื่อผ่านไปสักระยะการจะลาออก หรือ ปรับเปลี่ยนตัวบุคคลไม่ยากอะไร
ผบ.เหล่าทัพ ควบกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและส.ว.แต่งตั้ง
ฝ่ายความมั่งคงที่ประกอบด้วยข้าราชการทหาร และตำรวจ ถูกจัดสรรเก้าอี้มากที่สุดในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติถึงเจ็ดที่นั่ง ประกอบด้วย 1) ปลัดกระทรวงกลาโหม 2) ผู้บัญชาการทหารสูงสุด 3) ผู้บัญชาการทหารบก 4) ผู้บัญชาการทหารเรือ 5) ผู้บัญชาการทหารอากาศ 6) ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ 7) เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ทั้งนี้ควรกล่าวเพิ่มเติมว่าบรรดาผู้บัญชาการทหารและตำรวจ (หมายเลข 1) – 6)) จะมีบทบาทสำคัญหลังการเลือกตั้งคือการได้เป็นสมาชิกวุฒิสภาโดยตำแหน่งควบกับกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ
ทั้งนี้สิ้นเดือนกันยายน 2560 จะมีบุคคลในฝ่ายความมั่นคงสี่ตำแหน่งจะเกษียณอายุราชการ ซึ่งหมายถึงพวกเขาก็จะหมดบทบาทในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คือ  1) พลเอกชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม 2) พลเอกสุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด 3) พลเรือเอกณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ และ 4) พลเอกทวีป เนตรนิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ อย่างไรก็ตามเวลาที่เหลือก่อนเกษียณพวกเขาจะมีส่วนในการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ดังนั้นอาจไม่ต้องแปลกใจถ้าบรรดาทหารเกษียณเหล่านี้จะแต่งตั้งตัวเองในคณะกรรมการชุดใหม่ที่พวกเขากำลังจะแต่งตั้งขึ้น ซึ่งต้องทำให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน
สำหรับผู้ที่จะเข้ามาสานต่อในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติแทนตำแหน่งที่เกษียณอายุราชการไป คือ 1) พลเอกเทพพงศ์ ทิพยจันทร์ เป็นปลัดกระทรวงกลาโหม 2) พลเอกธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด 3) พลเรือเอกนริส ประทุมสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารเรือ และ 4) พลเอกวัลลภ รักเสนาะ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ
สนช.สิบคนนั่งคุมยุทธศาสตร์ชาติ ส่วนใหญ่เป็นผบ.เหล่าทัพด้วย
ในบรรดากรรมการโดยตำแหน่ง 17 คน มีสองที่นั่งที่กำหนดโควต้าให้กับตัวแทนจากรัฐสภา คือ ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติคนที่หนึ่ง และสองตามลำดับ ซึ่งปัจจุบันที่ยังไม่มีการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร และยังไม่มีการแต่งตั้งวุฒิสมาชิกเกิดขึ้น ประธานสนช. คือ พรเพชร วิชิตชลชัย จะทำหน้าที่แทนในส่วนนี้ของรัฐสภา
จากข้อมูลพบว่าจากกรรมการยุทธศาสตร์ชาติทั้งหมด 35 คน มีถึง 10 คน ควบตำแหน่งสมาชิกสนช. (รวมประธาน สนช.) คือบรรดาตัวแทนฝ่ายความมั่นคงทั้งเจ็ดคน แม้จะมีสี่คนที่จะเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายน 2560 แต่คนที่มารับตำแหน่งแทนก็ยังควบตำแหน่งสมาชิก สนช.ด้วยเช่นกัน (ยกเว้น พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ)
นอกจากนี้ในบรรดากลุ่มภาคธุรกิจชั้นนำที่เป็นกรรมการโดยตำแหน่งจำนวนหกคน มีจำนวนสองคน ที่เป็นสมาชิกสนช. คือ เจน นำชัยศิริ ในฐานะประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ ปรีดี ดาวฉาย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย
ขณะที่อีกสามคนก็เคยได้รับร่วมงานกับคสช.มาก่อน คือ พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ในฐานะประธานกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เคยเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กลินท์ สารสิน ในฐานะประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เคยเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ก็เป็นที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของ ป.ย.ป.
ส่วน อิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก ในฐานะประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ยังไม่ปรากฎว่าเคยได้รับตำแหน่งใดๆ จากคสช. มาก่อน 
ดึงที่ปรึกษาป.ย.ป.เป็นกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ
การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของคสช. ไม่ได้กำลังจะเริ่มต้นขึ้นหลังจากมีแต่งตั้งคณะกรรมยุทธศาสตร์ชาติชุดนี้ เพราะย้อนกลับไปวันที่ 30 มิถุนายน 2558 ครม.ของพลเอกประยุทธ์ เคยมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ อย่างน้อยจำนวน 22 คน เพื่อทำหน้าที่จัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติเบื้องต้น ซึ่งมีสองคน จาก 22 คน ได้กลับเข้ามาทำหน้าที่ต่อในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คือ สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ในฐานะประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และหากย้อนกลับไปในเดือนมกราคม 2560 คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2560 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง สาระสำคัญของคำสั่งฉบับนี้ คือการตั้ง “คณะกรรมการบริหารราชแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง” โดยมีชื่อย่อว่า “ป.ย.ป.” ซึ่งเหตุผลสำคัญของการประกาศคำสั่งคือการเตรียมการปฏิรูปและการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
คำสั่งนี้ได้ให้อำนาจพล.อ.ประยุทธ์ สามารถแต่งตั้งที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิได้ โดยมีที่ปรึกษาฯ จำนวนหกคน ได้รับตำแหน่งเป็นกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คือ 1) เทียนฉาย กีระนันทน์ อดีตประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) 2) ศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังค์ถัด (UNCTAD) 3) กานต์ ตระกูลฮุน กรรมการบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส 4) ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ 5) บัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย และ 6) ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ โดยห้าคนแรกจะมีวาระการทำงานถึงห้าปี
สี่คนนั่งควบกรรมการปฏิรูปประเทศ
นอกจากนี้การจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ต้องดำเนินการไปคู่ขนานกับการปฏิรูปประเทศ ซึ่งกลางเดือนสิงหาคม 2560 เพิ่งมีการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศชุดต่างๆ ทั้งนี้พบว่าจากรายชื่อกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 29 คน ณ ขณะนี้ มีสี่คนที่ได้รับการแต่งตั้งจากคสช.เป็นกรรมการปฏิรูปประเทศ ในด้านต่างๆ คือ 1) กานต์ ตระกูลฮุน และ 2) บัณฑูร ล่ำซำ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน 3) ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศษฐกิจ และ 4) พลเดช ปิ่นประทีป กรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ซึ่งสามคนแรกเคยได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาของป.ย.ป.ดังกล่าวไปก่อนหน้า
สามปีกว่าของการขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้าของคสช. ไม่มีอะไรมากกว่าการตั้งองค์กร หรือคณะกรรมการชุดต่างๆ ขึ้นมาใหม่ แล้วนำคนของตัวเองเข้าไปนั่งซ้อนกันไปซ้อนกันมา ซึ่งกรรมการที่ถูกแต่งตั้งในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติส่วนใหญ่คือคนที่คสช.แต่งตั้งเขาไปทำหน้าที่ต่างๆ มาก่อนแล้ว เรายังไม่เห็นรูปธรรมของการพัฒนาประเทศจากคนพวกนี้ รูปธรรมอย่างเดียวคือชัดเจนว่าการมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ จะเป็นเครื่องการันตีว่าคสช.จะยังคงสืบทอดอำนาจต่อไปได้หลังการเลือกตั้ง และการรัฐประหารครั้งนี้จะไม่เสียของ
 
*11 พฤศจิกายน 2560 บทความมีการแก้ไขจำนวนตัวเลขกรรมการยุทธศาสตร์จากเดิม 34 เป็น 35 คน และแก้ไขจำนวนกรรมการยุทธศาสตร์ชาติปัจจุบัน จากเดิม 28 เป็น 29 คน