“ร่างกฎหมาย 4 ชั่วโคตร” การเห็นชอบร่างกฎหมาย รับของที่ระลึก เสี่ยงคุกหนัก

ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวม หรือ ชื่อที่เรียกกันเล่นๆ ว่า “กฎหมาย 7 ชั่วโคตร” บ้าง “กฎหมาย 4 ชั่วโคตร” บ้าง หรือ “กฎหมาย 3 ชั่วโคตร” บ้าง การเรียกนี้ตามแต่ว่าร่างฉบับนั้นจะเนื้อหาครอบคลุมญาติของเจ้าหน้าที่รัฐไว้กว้างขวางแค่ไหน สำหรับร่างกฎหมายฉบับนี้มีเป้าหมายในการปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของนักการเมืองและข้าราชการที่มีญาติพี่น้องมาเกี่ยวข้องในการคอรัปชั่น ฉะนั้น ความจริงแล้วร่างกฎหมายฉบับนี้น่าจะถูกเรียกว่า “กฎหมายผลประโยชน์ทับซ้อน” มากกว่าเพราะสะท้อนประเด็นสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ดีที่สุด 
10 ปี แห่งความพยายามผลักดันจนร่างกฎหมาย 4 ชั่วโคตร เข้าวาระเเรกสนช.
ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ฯ ได้รับการผลักดันตั้งเเต่สมัยรัฐประหารปี 2549 โดยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ในปี 2550 ขณะนั้นร่างกฎหมายฉบับนี้ถูกขนานนามว่า “กฎหมาย 7 ชั่วโคตร” แม้ตอนนั้นจะถูกวิจารณ์ว่ากินความคำว่า “ญาติ” ของเจ้าหน้าที่ของรัฐมากเกินไป แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้ก็ผ่านความเห็นชอบจากสนช. อย่างไรก็ตาม วันที่ 5 พฤศจิกายน 2551 ร่างฉบับนี้ก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญตีตกไปด้วยเหตุผลว่า องค์ประชุมของสนช.ไม่ครบองค์ประชุมหรือไม่ถึงกึ่งหนึ่ง 
จนกระทั้งรัฐประหารอีกครั้งในปี 2557 สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ได้นำร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ฯ มาศึกษาอีกครั้งจนผลักดันเป็น “กฎหมาย 3 ชั่วโคตร” แต่สปช.มีอันต้องหมดวาระไปก่อน อย่างไรก็ตามในปี 2559 สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) ได้เข้ามาสานงานต่อและได้หยิบร่างกฎหมายฉบับนี้มาผลักดันอีกครั้งจนคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2560 และเรียกกฎหมายฉบับนี้ว่า “กฎหมาย 4 ชั่วโคตร”  และผ่านการพิจารณาของสนช.วาระแรกเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2560 
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้เสนอมาจากสปท. และเป็นผลงานชิ้นโบแดง ซึ่งเป็นความตั้งใจที่รัฐบาลจะให้ข้าราชการมีความซื่อสัตย์สุจริตปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน โดยจะบังคับใช้กับข้าราชการทุกคน ทุกตำแหน่ง ข้าราชการการเมือง รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือเอกชนที่เข้ามาเป็นคณะกรรมการของรัฐ 
อย่างไรก็ตามก็เสียงวิจารณ์ ว่าร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้นี้ไม่ใช่ของใหม่แต่ คือ มาตรา 100 ตามพ.ร.ป. ป.ป.ช. ในส่วนของผลประโยชน์ทับซ้อน และถ้ากฎหมายนี้ถูกใช้จริงก็จะมีปัญหาที่การดูเจตนา เพราะถ้าตีความอย่างเคร่งครัด เพียงแค่ส่อเจตนาก็อาจจะผิดได้ และถ้าคนจะโกงก็อาจจะหาช่องว่างของกฎหมายได้นี้ได้อยู่ดี ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้อาจถูกนำไปใช้กลั่นแกล้งกันได้และกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองได้อีก
นิยามเจ้าหน้าที่รัฐ ตั้งแต่นักการเมือง ข้าราชการ ถึงกรรมการต่างๆ 
ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ฯ หรือ “กฎหมาย 4 ชั่วโคตร” มีหลักการสำคัญคือ ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องปฏิบัติหน้าที่หรือกระทำการโดยยึดประโยชน์ส่วนรวมของรัฐและประชาชนเป็นสำคัญ และไม่กระทำการอันมีลักษณะเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม โดยเจ้าหน้าที่รัฐ ตามร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดให้เป็นไปตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เช่น
1) ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 
2) ข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นซึ่งมีตำแหน่ง หรือเงินเดือนประจำ 
3) พนักงานหรือบุคคลผู้ปฏิบัติงานในรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐ
4) ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ และรวมถึง
5) กรรมการ อนุกรรมการ ลูกจ้างของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ และบุคคลหรือคณะบุคคลซึ่งใช้อำนาจหรือได้รับมอบให้ใช้อำนาจทางการปกครองของรัฐในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งขึ้นในระบบราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการอื่นของรัฐ
นิยาม คู่สมรส หรือ ญาติพี่น้อง กินความกว้าง 
จุดเด่น ของพ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า “4 ชั่วโคตร” คือ การกำหนดห้ามไม่ให้คู่สมรส และญาติของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคลอื่นโดยอาศัยอิทธิพลของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เข้ามามีส่วนได้เสียไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือบุคคลอื่นซึ่งเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม (มาตรา 5) โดยร่างฉบับนี้กำหนดและนิยามบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐดังนี้ (มาตรา 3) 
1) คู่สมรส (สามี ภรรยา แฟน)
2) บุพการี (พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตายาย) 
3) ผู้สืบสันดาน (ลูก หลาน เหลน)
4) คู่สมรสของบุตร (สามี ภรรยา แฟนของลูก)
5) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
6) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
7) บุตรบุญธรรมหรือผู้รับบุตรบุญธรรม
ทั้งนี้ การกำหนดนิยามดังกล่าวมีความกว้างขวาง จะเห็นความว่าการกำหนดดังกล่าวมิได้หมายถึงความสัมพันธ์ของบุคคลที่มีสถานะทางกฎหมายรับรอบเท่านั้น แต่ยังกินความรวมไปถึงบุคคลอื่นๆ ที่อาจจะเป็นเพียงผู้ใกล้ชิดเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น นิยามของ “คู่สมรส” ที่หมายถึง ผู้ซึ่งอยู่กินฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสกับเจ้าหน้าที่รัฐ หรือการกำหนดให้นิยามญาติของเจ้าหน้าที่รัฐไม่ว่าจะเกี่ยวข้องทั้งทางนิตินัยและพฤตินัยให้ถือว่าเป็นญาติ  
การกำหนดนโยบาย เห็นชอบร่างกฎหมาย เสี่ยงจำคุกสิบปี ปรับสองแสนบาท 
การกระทำแบบไหนของเจ้าหน้าที่รัฐและบรรดาญาติๆ ที่ถือว่าเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนร่วม ถูกกำหนดในมาตรา 5 ของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้  เช่น
1) การกำหนดนโยบายหรือการเสนอให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายซึ่งเอื้อประโยชน์เฉพาะกิจการที่เจ้าหน้าที่รัฐ คู่สมรส บุตร หรือบิดามารดา มีส่วนได้ส่วนเสียเกินกว่าส่วนได้เสียตามปกติที่บุคคลทั่วไปมีอยู่
2) การริเริ่ม เสนอ จัดทำ หรืออนุมัติโครงการของรัฐโดยทุจริตหรือเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อตนเองหรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
3) การใช้ทรัพย์สินของหน่วยงานรัฐที่สังกัด ไปเพื่อประโยชน์ของตนหรือผู้อื่น เว้นแต่ทรัพย์สินนั้นมีราคาเล็กน้อย
4) การใช้ตำแหน่งหรืออำนาจหน้าที่ซึ่งตนมีอยู่ ไปมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจโดยอิสระในการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐในตำแหน่งอื่นไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐคนนั้นกระทำหรือไม่กระทำอย่างได้อย่างหนึ่ง เช่น การให้สัปทานที่เป็นประโยชน์แก่บุคคลใด การแต่งตั้งโยกย้ายเจ้าหน้าที่รัฐ หรือ การดำเนินกระบวนพิจารณา การทำคำพิพากษา เป็นต้น   
สำหรับความผิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ คู่สมรสหรือบุตร ผู้ใดกระทำความผิดจะต้องโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะต้องโทษเป็นสองเท่า (มาตรา 20) หากเปรียบเทียบในประเด็นนี้ ใน “ร่างกฎหมาย 7 ชั่วโคตร” ของสนช.ปี 2550 และ “ร่างกฎหมาย 3 ชั่วโคตร” ของสปช. ปี 2558 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 40,000 ถึง 400,000 บาท และถ้าเป็นนักการเมืองมีโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ถึง 15 ปี หรือ ปรับตั้งแต่ 80,000 บาท ถึง 600,000 บาท นับว่ามีความรุนแรงกว่าฉบับปัจจุบันมาก
ห้ามญาติพี่น้องเจ้าหน้าที่รัฐรับของที่ระลึก
นอกจากนี้ยังกำหนดห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ คู่สมรสและญาติรับของขวัญ ของที่ระลึก เงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ที่มีผู้มอบให้ในโอกาสที่เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติงานตามตำแหน่งหน้าที่ของตน (มาตรา 7) สำหรับ “ประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้” หรือที่อาจจะเรียกกันง่ายๆ ว่า สิ่งที่เข้าข่ายการจ่ายสินบนหรือจ่ายใต้โต๊ะเจ้าหน้าที่รัฐถูกระบุไว้อย่างละเอียดถึง 15 ข้อ เช่น (มาตรา 3)
1) การปลดหนี้ หรือการลดหนี้ให้เปล่า
2) การให้ยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ย
3) การขายหรือการให้เช่าซื้อทรัพย์สินต่ำกว่ามูลค่าที่เป็นจริงตามที่ปรากฎในท้องตลาด
4) การให้ใช้บริการโดยไม่คิดค่าใช้บริการ หรือคิดค่าใช้บริการน้อยกว่าที่คิดกับบุคคลอื่น โดยปกติทางการค้า
5) การให้บริการวิชาชีพอิสระ เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล สถาปนิก วิศวกร กฎหมาย หรือบัญชีโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายหรือคิดค่าใช้จ่ายน้อยกว่าที่คิดกับบุคคลอื่น โดยปกติทางการค้า
ทั้งนี้ เว้นแต่เป็นสิ่งที่อาจได้รับตามกฎหมายหรือเป็นสิ่งที่ได้รับตามจำนวนที่สมควรตามเทศกาลหรือวันสำคัญ หรือการให้ความช่วยเหลือตามมารยาทที่ถือปฏิบัติในสังคม หรือตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ประกาศกำหนด (ปปช.กำหนด 3,000 บาท) ทั้งนี้เจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งคู่สมรสและญาติ ที่ได้รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่ไม่มีสิทธิได้รับ ต้องรายงานและส่งมอบสิ่งนั้นให้หน่วยงานตนสังกัดภายในระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน (มาตรา 7) หากไม่แจ้งรายงานหรือไม่ส่งมอบทรัพย์สินภายในเวลาที่กำหนด มีโทษจำคุกไม่เกินสามปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 21) 
ข้าราชการต้องเกษียณอายุเกิน 2 ปีถึงจะไปทำงานเอกชนได้
ประเด็นสำคัญซึ่งเป็นที่กังวลของสมาชิกสนช.หลายท่าน คือการห้ามมิให้เจ้าหน้าที่รัฐซึ่งพ้นตำแหน่งไม่เกินสองปี เข้าไปดำรงตำแหน่งในธุรกิจเอกชนซึ่งเคยอยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่ของตน และรับเงินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้จากธุรกิจเหล่านี้ (มาตรา 9) ซึ่งหากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 22) จากรายงานของ The Standard ทำให้เห็นว่าสมาชิกสนช.หลายคน มองประเด็นนี้เป็นการลิดรอนสิทธิ และตัดโอกาสให้คนเก่งไปพัฒนาภาคเอกชนหลังเกษียณราชการแล้ว ทั้งที่เงินบำนาญไม่เพียงพอ และอาจทำให้คนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถไม่อยากรับราชการ
ให้ป.ป.ช.ตั้งหน่วยพิเศษเพื่อรับผิดชอบ
สำหรับอำนาจตามร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นของคณะกรรมการป.ป.ช. โดยมาตรา 8 ระบุว่า “ในกรณีที่มีพฤติการณ์ปรากฎแก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือมีการกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้ใดมีพฤติการณ์ส่อว่ากระทำความผิดตาม” เข้ามามีส่วนได้เสียไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือบุคคลอื่นซึ่งเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม ตามมาตรา 5 หรือมาตรา 6 ให้คณะกรรมการป.ป.ช. ในดำเนินการให้เสร็จภายใน 180 วัน หากดำเนินการไม่เสร็จสามารถขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกินสามครั้ง ครั้งละไม่เกิน 60 วัน
นอกจากนี้ยังกำหนดให้คณะกรรมการป.ป.ช. จัดหน่วยงานพิเศษขึ้นภายในสำนักงานป.ป.ช. เพื่อรับผิดชอบในการกำกับดูแลและการบังคับใช้พ.ร.บ.นี้ และกำหนดให้คณะกรรมการป.ป.ช. จัดทำข้อกำหนดและคู่มือการปฏิบัติงานของหน่วยงานรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งเอกชน (ม.18)
ไฟล์แนบ