ตัวแทนเครือข่ายกะเหรี่ยงฯ มอง รัฐออกกฎหมายมองประชาชนโง่ จน อ่อนแอ รัฐต้องทำให้เท่านั้น

วันที่ 12 มิถุนายน 2560 ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ P-move พร้อมเครือข่ายภาคประชาชนพันธมิตร จัดเสวนาและร่วมกำหนดท่าทีของภาคประชาชนเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. …. และ ร่างพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. …. ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ โดยเวทีเสวนาสะท้อนให้เห็นถึงข้อบ่งพร่องของเนื้อหาและกระบวนของร่างกฎหมายทั้งสองฉบับ ในแง่มุมต่างๆ ดังนี้
ห้ากฎหมายชุดป่าไม้ เน้นให้อำนาจรัฐมาก  
ภานุเดช เกิดมะลิ เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวถึงภาพรวมของชุดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ ว่า นอกจากร่างพ.ร.บ.อุทยานฯ และ ร่างพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า แล้วยังมี พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ร.บ.ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และ พ.ร.บ.ป่าสงวน ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติมีการแก้ไขเพิ่มเติม สำหรับ พ.ร.บ.ป่าสงวน ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นที่เรียบร้อย “เป็นการหักคอที่ไม่มีใครรู้เลยว่ามีการเอาเข้าที่ประชุมสนช.” แม้จะแก้ไม่มาก แต่ก็ทำให้การที่ประชาชนจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการปลูกป่า หรือการฟื้นฟูดูแลทรัพยากรยิ่งห่างออกไป ร่างพ.ร.บ.เหล่านี้ถ้าออกมาแล้วจะมีผลโดยตรงต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ มีผลโดยตรงกับคนที่เข้าไปมีส่วนร่วมทำงานหรือทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่อนุรักษ์ตรงนั้น
ภานุเดช ตั้งข้อสังเกตว่า ร่างพ.ร.บ.ทุกฉบับให้อำนาจกับเจ้าหน้ารัฐมาก โดยเฉพาะอธิบดีกับกับคณะกรรมการ ซึ่งคณะกรรมการหมายถึงว่า ถ้าเป็น ร่างพ.ร.บ.อุทยานฯ ก็จะมีคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ หรือ ร่างพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสััตว์ป่า ก็จะมีคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสััตว์ป่าแห่งชาติ ซึ่งขั้นตอนและระเบียบต่างๆ ก็จะต้องผ่านอำนาจการพิจารณาจากทั้งอธิบดีและคณะกรรมการ 
ประชาชน องค์กรท้องถิ่น มีส่วนร่วมจำกัด
ภานุเดช วิเคราะห์ประเด็นสำคัญของ ร่างพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสััตว์ป่า ว่าในบทนิยามไม่มีการนิยามถึงสิทธิชุมชน ทั้งๆ ที่บริบทของชุมชนในพื้นที่จะต้องให้ความสำคัญ เพราะนิยามจะนำมาสู่เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง ในประเด็นการกำหนดหรือแจ้งขอสืบสวนพิสูจน์พื้นที่ ร่างพ.ร.บ.ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หรือให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นได้ แต่ไม่มีอำนาจร่วมในการตัดสินใจ 
ในหมวดที่ 3 ว่าด้วย "คณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ" ซึ่งมีอำนาจออกระเบียบให้อนุญาตชุมชนต่างๆ มีจำนวน 17 คน เช่น รัฐมนตรีกระทรวงทรัพย์ฯ เป็นประธาน มีปลัดกระทรวงทรัพย์ฯ มีอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และมีทรงคุณวุฒิไม่น้อยกว่า 11 คน โดยเป็นสัดส่วนของภาคเอกชน โดยเฉพาะองค์กรพัฒนาเอกชน แต่ตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในป่าหรือคนที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรที่เป็นภาคประชาชนแต่ไม่จดทะเบียนไม่สามารถอยู่ในผู้ทรงคุณวุฒิได้ ซึ่งน่าจะมีตัวแทนจากกลุ่มเหล่านี้เพราะว่าเวลาพิจารณาเรื่องเกี่ยวกับชุมชนที่อยู่ในป่า หรือประเด็นอื่นๆ ก็น่าจะมีคนที่รู้เรื่องเกี่ยวกับชุมชนหรือมิติทางสังคมเข้าไปอยู่ในนี้ด้วย 
นอกจากนี้ ในร่างพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า มีประเด็นที่เหมือนกันร่างพ.ร.บ.อุทยานฯ ก็คือจะมีการประกาศ "พื้นที่หวงห้าม" เพื่อไม่ให้มีการเข้าไปทำประโยชน์หรือกิจกรรมในพื้นที่ตรงนั้น กับ "พื้นที่ศึกษาธรรมชาติ" เช่น น้ำตก บ้านพัก พื้นที่ประเภทนี้สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่ทดแทนใหม่ได้ เช่น ชาวบ้านมีบ้านอยู่ในเขตอุทยาน เข้าไปเก็บเห็ดหาหน่อไม้ ซึ่งสิ่งเอามาใช้สามารถทดแทนใหม่ได้ ทั้งนี้ถ้าเป็นพ.ร.บ.เก่า ใครเข้าไปเก็บเห็ดหาหน่อไม้ผิดกฎหมาย 
ภานุเดช กล่าวถึง ร่างพ.ร.บ.อุทยานฯ ต่อว่า มีการกำหนดแนวเขตต้องให้ อปท. หรือชุมชนท้องถิ่นที่อยู่ในบริเวณนั้นเข้ามีส่วนแสดงความคิดเห็นเท่านั้น ภานุเดช ตั้งคำถามว่า ถ้าชุมชนแค่เข้าไปมีส่วนแสดงความเห็นอย่างเดียวจะเพียงพอหรือไม่ หลังจากนี้พ.ร.บ.ฉบับนี้ประกาศเจ้าหน้าที่จะต้องไปทำแนวเขตให้ชัดเจน 
ส่วนประเด็นกรรมการคล้ายกับ ร่างพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า คือให้สัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิกับภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน เท่ากับข้าราชการ เพื่อจะให้มีน้ำหนักในการโหวตใกล้เคียงกัน แต่อาจจะเสนอได้ว่าควรจะตัวมีแทนกลุ่มเฉพาะ เช่น บางอุทยานเกี่ยวข้องกับทางทะเล แต่ไม่ตัวแทนจากส่วนนี้ เพราะเวลาพูดถึงอุทยานเราจะเน้นป่าเป็นหลัก
รัฐมองกลุ่มชาติพันธุ์ โง่ จน ไม่มีศักยภาพ 
เกรียงไกร ชีช่วง จากเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ร่างกฎหมายถูกออกแบบมาโดยมองว่าประชาชนโง่ ไม่รู้ จน ไม่มีศักยภาพ อ่อนแอ รัฐต้องทำให้เท่านั้น และประชาชนเป็นตัวมีปัญหา ต้องเอาประชารัฐ เอาเอกชนเข้าไปช่วย ซึ่งก็ดูไม่ออกว่าจะช่วยได้แค่ไหน เกรียงไกรตั้งคำถามว่า "รัฐว่าพวกเราเป็นประชาชนของรัฐบาลจริงๆ หรือเปล่า ราชการมองกลุ่มชาติพันธุ์ ชนเผ่าว่าเท่ากันหรือเปล่า"
เกรียงไกร เห็นว่าร่างพ.ร.บ.ขาดการมีส่วนร่วม ในการแก้ไขปัญหาอยากแก้จากบทเรียนเดิมที่เคยมีอยู่ ซึ่งเราถูกกระทำซ้ำและกรณีต่างๆ รัฐพยายามสร้างบรรทัดฐานบางอย่างเพื่อให้คนจนไม่ต้องสู้ ชาติพันธุ์ไม่ต้องพูดถึง ต้องทำตามที่ศาลตัดสิน ในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้การตัดสินใจจริงๆ อยู่ที่ต้นทางคืออธิบดี และก็คณะกรรมการชุดต่างๆ ยังไม่ได้พูดถึงว่ากลุ่มชาติพันธุ์จะเข้าไปเป็นกรรมการได้ไหม? ส่วนนี้ยังไม่ชัดเจน ยังมีความกังวล 
รัฐร่างกฎหมายใหม่ ไม่ศึกษาบทเรียนเดิม
การจัดการป่าแบบมีส่วนร่วมคือการให้สิทธิชุมชนดั้งเดิม ซึ่งไม่ต้องการ 100 เปอร์เซ็น รัฐสามารถพูดคุยกันได้ แต่ข้อเสนอนี้ไม่ผ่าน และในร่างฉบับนี้ไม่มีการระบุว่าจะทำใหม่ให้ดีขึ้นกว่าเดิม และก็ยังมองไม่ออก ส่วนการให้ท้องถิ่นเข้าไปมีส่วนร่วมยังไม่ชัด คือสามารถเข้าไปได้แต่ไม่มีสิทธิตัดสินใจ และที่สำคัญไม่มีทรัพยากรมาหนุนให้เกิดกลไกขับเคลื่อน นี้คือบทเรียนเดิม และพอร่างพ.ร.บ.ใหม่ก็ไม่ได้ใหม่ทั้งหมด 
การรับรู้มีส่วนร่วมเพื่อตัดสินใจสามารถทำได้แค่การเข้าเว็บไซต์พี่น้องเราก็ตัดสินใจไม่ได้เลย เกรียงไกร เล่าว่า ชนเผ่ากระเหรี่ยงเป็นชนเผ่าที่ใหญ่ที่สุดและเป็นชาติพันธุ์ติดพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในผืนป่าอนุรักษ์ การเสียผืนที่ช้าที่สุดอยู่ในพื้นที่ที่มีกลุ่มชาติพันธุ์แต่ถูกกลับมองเป็นตัวปัญหาของรัฐ สถานการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นคือว่า คดีต่างๆ ตอนนี้ตามแต่ละพื้นที่ คดีจะตั้งข้อหากับผู้เปราะบาง ผู้หญิง เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ชายที่เป็นผู้นำต้องออกไปทำมาหากินเพราะไม่มีทางหารายได้ บ้างกรณีแกนนำจะโดนฟ้องหมิ่นประมาณ หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มากขึ้น นี่คือสิ่งที่ต้องกังวลว่าในร่างพ.ร.บ.ต่างๆ ที่ออกมาล่าสุดจะดีต่อเราอย่างไร 
คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญกลุ่มชาติพันธุ์ไม่อยู่ในสายตา
เกรียงไกร ชีช่วง วิเคราะห์ร่างพ.ร.บ.ต่อว่า สำหรับเรื่องคณะกรรมการของร่างพ.ร.บ.แต่ละฉบับ ชาวกระเหรี่ยงไม่มีที่ยืน เนื่องจากต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์จากภาคประชาสังคม เอกชน ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ไม่ได้อยู่ในสายตา ส่วนการกำหนดให้อุทยานสามารถจัดเก็บรายได้ต่างๆ ในพื้นที่ได้เลยโดยไม่ต้องส่งเข้าส่วนกลาง ถ้ามองเฉพาะการบริหารในพื้นที่ก็จะเห็นว่ามีความเข้มข้นมากขึ้น เช่น สัดส่วนเปอร์เซ็นการจับกุมของตำรวจส่งผลให้เจ้าหน้าที่จับกุมชาวบ้านมากขึ้น อีกประเด็นหนึ่ง การยึดสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ต่อไปนี้ไม่ต้องจำหน่ายคดีด้วยการทุบทำลายทิ้งแล้ว ซึ่งทำให้ทุกอย่างอยู่ในดุลยพินิจของฝ่ายบริหารทั้งหมด ผมคิดจึงว่าในหลายกรณีอาจมีการเลือกและจัดการไม่เหมือนกันได้ กลายเป็นว่าสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในอุทยานที่ผิดกลายเป็นสิ่งถูกต้องเมื่อรัฐเข้าไปควบคุมใหม่ และตอนนี้ยังคงมีคนถูกเผาถูกไล่อยู่ในผืนป่าอนุรักษ์ 
ในร่างนี้ยังมีข้อกังวลอยู่มากเนื่องจากมีการสื่อสารที่เร็วมาก คือพี่น้องหลายคนไม่ต้องนับพี่น้องกระเหรี่ยง คนทั่วๆ ไปก็ไม่ทราบ เราไม่รู้เลย และคงแสดงความคิดเห็นไม่ทัน ก็เป็นเรื่องที่แปลกว่ากฎหมายบางตัวสามารถทำประชาพิจารณ์ได้ แต่กฎหมายตัวนี้ไม่สามารถทำได้ ก็ตลกดี แล้วมาตรฐานคืออะไร นี่คือสิ่งที่ผมกังวลมาก