‘ช้างไทย’ ยิ้มอ่อน เมื่อร่าง พ.ร.บ.ช้าง ยกระดับการคุ้มครอง

ถ้าจะบอกว่าคนไทยมีความผูกพันธ์กับ ‘ช้าง’ ก็คงจะไม่เกินเลยนัก ต่างก็เพียงใกล้ชิดมาก ใกล้ชิดน้อยเท่านั้นเอง อันจะเห็นได้จากเพลง หนัง การ์ตูน ล่วงไปถึงพระราชพงศาวดาร ก็ล้วนแล้วแต่มีภาพของช้างอยู่คู่กับสังคมไทยเสมอ อีกทั้ง ครั้งหนึ่งธงชาติไทยก็เคยใช้รูปช้างด้วยเช่นกัน
ด้วยสภาพแวดล้อมที่หล่อหลอมให้คนไทยใกล้ชิดกับช้างเช่นนี้ คณะกรรมการติดตามกลไกและพิจารณาการปกป้องคุ้มครองสัตว์ของ ‘สภานิติบัญญัติแห่งชาติ’ หรือ สนช. จึงมีความพยายามผลักดันร่างกฎหมายที่ชื่อว่า “พ.ร.บ.ช้าง” ออกมา โดยหวังว่า กฎหมายดังกล่าว จะช่วยแก้ปัญหาการการนำช้างป่ามาสวมสิทธิ การลักลอบค้างาช้าง นำช้างออกนอกราชอาณาจักร การนำช้างมาแสวงหาผลประโยชน์ ไปจนถึงการป้องกันการทารุณกรรมช้าง เพื่อปกปักษ์รักษาช้างให้สมกับสัตว์สำคัญประจำชาติ
ทบทวนปัญหาช้างไทย: กฎหมายมี แต่ไม่มีประสิทธิภาพ
อ้างอิงจากงานวิชาการของ เพ็ญศักดิ์ จักษุจินดา และคณะ ที่ทำการศึกษาวิจัย ‘แนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับช้างเลี้ยงและช้างป่าในประเทศไทย’ เมื่อปี 2547 ทำให้พอจะสรุปปัญหาช้างไทยได้ว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีกฎหมายเกี่ยวกับช้างถึง 18 ฉบับ แต่มีเพียง 2 ฉบับที่เนื้อหาเกี่ยวกับช้างโดยตรง ซึ่งกฎหมายเหล่านี้ยังไม่ส่งผลให้การคุ้มครองเกิดขึ้นจริง นั้นก็เพราะ กฎหมายที่ออกมาให้ความสำคัญกับช้างป่าแต่มองข้ามความเป็นอยู่ของช้างบ้าน อันจะเห็นได้จากโทษอาญาสำหรับการกระทำทารุณกรรมต่อช้างค่อนข้างต่ำและยังไม่มีบทลงโทษสำหรับการนำช้างไปใช้ในกิจการต่างๆ ที่ไม่เหมาะสมกับสภาพของช้าง
โดยเฉพาะปัญหา ‘การสวมสิทธิช้าง’ หรือ การนำช้างป่ามาสวมสิทธิเป็นช้างบ้าน กฎหมายก็ยังมีช่องโหว  เนื่องจาก การจดทะเบียนช้างมีความล้าสมัย กลไกในการตรวจสอบช้างก็ยังไม่รัดกุม ยกตัวอย่างเช่น กำหนดอายุขั้นต่ำของช้างที่ต้องขึ้นทะเบียนกำหนดอายุไว้ที่ 8 ปี แต่มีกรณีที่คนลักลอบนําช้างป่าที่จับได้ มาฝึกให้เชื่องและทําการตีทะเบียน โดยผู้ลักลอบจะจับลูกช้างป่าอายุตั้งแต่ 2 – 7 ปี มาฝึกให้เชื่องแล้วจึงนําไปสวมทะเบียนตั๋วรูปพรรณเมื่อมีอายุย่างเข้า 8 ปี นั้นหมายความว่า ช้างป่าที่จับมานั้นจะกลายเป็นช้างเลี้ยงที่ถูกต้องตามกฎหมายได้ทันที อีกทั้ง วิธีการตีทะเบียนด้วยการฝั่งไมโครชิพในตัวช้างก็ไม่มีการควบคุมการชื้อขาย จึงมีการปลอมแปลงช้างด้วยการฝั่งไมโครชิพให้ช้างบางเชือกถึง 3-4 เบอร์ เป็นต้น
นอกจากนี้ แม้ว่าจะมีกฎหมายอยู่หลายฉบับ แต่กฎหมายก็ยังกระจายการจัดการไปสู่หลายหน่วยงานหลายองค์กรทำให้ไม่มีผู้รับผิดชอบ และขาดการร่วมมือในการทำงานหรือบูรณาการในหลายภาคส่วนเพื่อเข้ามาช่วยเหลือ
ร่าง “พ.ร.บ.ช้าง” ความหวังใหม่ที่เรืองรองหรือเลือนลาง ?
จากปัญหาเกี่ยวกับช้างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น เมื่อนำมาเทียบเคียบกับเนื้อหาของร่าง ‘พ.ร.บ.ช้าง’ ที่ยังไม่ถูกบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง พบว่า มีความพยายามในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับช้างอยู่หลายส่วนด้วยกัน
เริ่มจาก กฎหมายฉบับนี้ กำหนดคณะทำงานหลักไว้ เรียกว่า ‘คณะกรรมการช้างแห่งชาติ’ ซึ่งประกอบไปด้วย ปลัดกระทรวงเกษตรฯ อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ อธิบดีกรมศุลกากร อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น อธิบดีกรมสารนิเทศ อธิบดีการท่องเที่ยว ผอ.องค์การสวนสัตว์ ผอ.องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 6 คน ขึ้นมากำหนดทิศทางนโยบายการแก้ปัญหาเรื่องช้าง
ถัดมาคือการกำหนดรายละเอียด ‘การจดทะเบียนช้าง ซากช้าง หรือผลิตภัณฑ์จากซากของช้าง’ พร้อมบทลงโทษ เช่น ห้ามนำช้างป่ามาจดทะเบียนเป็นช้างบ้าน หรือการครอบครองซากของช้างหรือผลิตภัณฑ์ช้างต้องแจ้งการครอบครองต่อนายทะเบียน พร้อมทำเครื่องหมาย หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดหน้าที่ให้กับควาญช้าง เจ้าของช้าง หรือผู้ประกอบกิจการเกี่ยวกับช้าง ไม่ว่าจะเพื่อการท่องเที่ยว การแสดง หรือแสวงหาประโยชน์จากช้าง อีกว่า ทุกคนต้องมีการขอใบอนุญาต และกำหนดว่าห้ามผู้ใดกระทำการทารุณกรรมช้างโดยไม่มีเหตุอันสมควร เว้นแต่ เพื่อปกป้องตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากอันตราย หรือป้องกันความเสียหายที่จะเกิดแก่ทรัพย์สิน โดยความผิดนี้ ถ้าฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
มิใช่แค่นั้น เจ้าของปางช้าง ควาญช้าง เจ้าของช้าง ยังมีหน้าที่ต้องจัดสวัสดิภาพให้แก่ช้างอย่างเหมาะสมตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด รวมไปถึงควบคุมดูแลไม่ให้ช้างตกมันไปทำอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น เว้นแต่เป็นเหตุสุดวิสัย มิเช่นนั้นจะมีโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น แม้กฎหมายฉบับนี้จะพัฒนามาตรฐานและเพิ่มบทลงโทษเพื่อคุ้มครองช้าง แต่มันก็ยังไม่ได้อุดช่องว่างของปัญหาเดิม นั้นก็คือ การกำหนดอายุของช้างที่จะนำมาขึ้นทะเบียน ซึ่งเป็นช่องโหว่งสำคัญให้เกิดการ ‘สวมสิทธิช้างป่ามาเป็นช้างบ้าน’อีกทั้งกฎหมายยังไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มของคนเลี้ยงช้างเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน หรือบริหารทรัพยากรช้างร่วมกัน ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้อยู่ในรายงานของคณะผู้วิจัยแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับช้างเลี้ยงและช้างป่าในประเทศไทย แต่กลับไม่ได้ถูกบรรจุอยู่ใน ‘ร่าง พ.ร.บ.ช้าง’ เลย
ไฟล์แนบ