สามปี คสช. ผู้ใช้แรงงานอ่วม ถูกห้ามรวมตัว โรงงานทยอยปิด

ศรีไพร นนทรีย์ และกรชนก ธนคูณ สองนักสหภาพแรงงาน เล่าผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงานจากการรัฐประหารในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาว่า มีการปลดแรงงาน ค่าจ้างไม่มีการปรับขึ้น แก้ไขระเบียบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คสช.ตั้งบอร์ดประกันสังคมเอง รวมทั้งการจัดตั้งเขตเศษฐกิจพิเศษ
เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2560 มีการจัดงานเสวนา "Army 360 องศา ทหารไทยทำอะไรได้มากกว่าที่คุณคิด" ณ ห้องประกอบหุตะสิงห์ อาคารเอนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ภายในงานมีการจัดเสวนาถึงผลกระทบในด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร โดยมี ศรีไพร นนทรีย์ ตัวแทนกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง และกรชนก ธนคูณ กรรมการสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ มาเล่าถึงสถานการณ์ด้านแรงงาน
ศรีไพร เล่าว่า ช่วงปีแรกที่เกิดการรัฐประหาร ผู้ใช้แรงงานตกอยู่ในภาวะกลัว เพราะมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก และห้ามทำกิจกรรมรวมตัวกัน การแสดงออกของกลุ่มผู้ใช้แรงงานโดยปกติจะเป็นการรวมตัวตามสถานที่ต่างๆ เช่น หน้าโรงงาน หน้ากระทรวงแรงงาน หน้าทำเนียบรัฐบาล จึงไม่สามารถทำได้เลย พอถึงช่วงปลายปี 2557 ก็เกิดผลกระทบกับผู้ใช้แรงงานจริงๆ เพราะนายจ้างบางแห่งใช้ข้ออ้างจากสถานการณ์การเมืองลดโบนัสของลูกจ้าง ทำให้ผู้ใช้แรงงานหลายที่จำเป็นต้องผละงานประท้วง และพอเข้าสู่ปีที่สอง จึงเกิดสถานการณ์เลิกจ้างตามมา 
ศรีไพร เล่าด้วยว่า จากเดิมที่ค่าแรงขั้นต่ำของผู้ใช้แรงงานถูกกำหนดให้ปรับขึ้นเท่ากันทั่วประเทศ คือ วันละ 300 บาท แต่ในยุคของ คสช. เปลี่ยนนโยบายให้แต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน เช่น ปทุมธานีถือว่าได้เยอะ คือ เพิ่มขึ้น 10 บาท แต่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ได้ปรับขึ้นเลย 
ศรีไพร เล่าถึงนโยบายของ คสช. ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ใช้แรงงาน มีสองประเด็น คือ หนึ่ง การแก้ระเบียบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จากเดิมนายจ้างและลูกจ้างจะต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนฝ่ายละเท่าๆ กัน แต่ระเบียบใหม่กำหนดให้ลูกจ้างจ่ายสมทบเข้ากองทุน 10% แต่ไม่ได้ระบุให้นายจ้างสมทบเท่ากัน และ สอง การแก้ไขวิธีการเลือกคณะกรรมการกองทุนประกันสังคม จากเดิมสมาชิกประกันสังคมเคยมีสิทธิเลือกตัวแทน หนึ่งคนหนึ่งเสียง แต่ คสช. ตัดสิทธิของการมีส่วนร่วมของแรงงาน และแต่งตั้งคณะกรรมการเองทั้งชุด (ตาม คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 40/2558
นโยบายอีกอย่างหนึ่งที่ คสช. มุ่งจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจ คือ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งศรีไพรมองว่า นโยบายนี้น่ากังวลสำหรับผู้ใช้แรงงาน เพราะพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ซึ่ง เป็นกฎหมายที่สนับสนุนให้เกิดสหภาพแรงงาน จะไม่สามารถใช้ได้กับการประกอบกิจการในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 
ในตอนท้ายศรีไพร ได้กล่าวถึงการแก้ปัญหาว่า คสช. ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งให้เร็วที่สุด เพื่อให้กลุ่มแรงงานมีพื้นที่ในการต่อรองสิทธิของตนเองเหมือนก่อนที่จะมีรัฐประหาร นอกจากนี้ ศรีไพรยังกล่าวอีกว่า มาตรา 44 และ พ.ร.บ.ชุมนุมนั้นส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของแรงงานในการต่อรองกับนายจ้างเป็นอย่างมาก เพราะแรงงานไม่สามารถที่จะจัดชุมนุมได้
ด้าน กรชนก กล่าวว่า ผลกระทบที่ชัดเจนต่อกลุ่มผู้ใช้แรงงาน คือ การปลดคนงาน เพราะสภาพเศรษฐกิจที่นายทุนไม่สามารถทำธุรกิจต่อไปได้เนื่องจากการรัฐประหาร ทำให้คนงานไม่มีความมั่นคงในการทำงาน จากเดิมที่ก็ไม่เคยมีความมั่นคงอยู่แล้วตอนนี้ยิ่งไม่มีเลย ภาพที่คนงานถูกลอยแพมีให้เห็นบ่อยครั้งตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นคนงานจาก โรงงานทำแปรงสีฟัน โรงงานทำพลาสติก หรือแม้แต่โรงงานทำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
กรชนก ยังกล่าวถึงผู้ใช้แรงงานอีกลุ่มหนึ่งที่สภาพย่ำแย่ คือ แรงงานข้ามชาติ ไม่ว่าจะเป็นคนพม่า กัมพูชา แม้ว่าโรงงานปิดตัวลงไปหลายแห่ง แต่การต่อสู้ของแรงงานข้ามชาติทำไม่ได้เหมือนแรงงานไทย เพราะคนกลุ่มนี้มาหาเงินอยู่ได้ไม่นานก็จะกลับ เขาไม่มีความรู้มากพอจะเรียกร้องสิทธิและกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานก็ไม่ได้เปิดให้สิทธิกับแรงงานข้ามชาติ 
กรชนก เล่าว่า ปัจจุบันนี้ การต่อรองของกลุ่มผู้ใช้แรงงานหดหายไป เมื่อไปเจรจาเรียกร้องกับนายจ้างแล้ว แค่จะมาอธิบายให้เพื่อนคนงานฟังว่าเราไปคุยอะไรบ้าง ก็ยังถูกทหารเข้ามาห้าม ซึ่งเราก็ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องห้าม ถือเป็นการลิดรอนสิทธิการทำกิจกรรมของสหภาพแรงงาน