“ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมประชาชนต่อต้านทุจริตฯ” ฉบับป.ป.ท. ให้ประชาชนจัดตั้งเครือข่ายต้านโกง 15 คนขึ้นไป

สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ดำเนินการจัดการรับฟังความคิดเห็นในการยก “ร่างพ.ร.บ.การส่งเสริมและคุ้มครองประชาชนในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ” ซึ่งเป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 63 ที่กำหนดว่า “รัฐต้องส่งเสริม สนับสนุน และให้ความรู้แก่ประชาชนถึงอันตรายที่เกิดจาก การทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน และจัดให้มีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริต และประพฤติมิชอบดังกล่าวอย่างเข้มงวด รวมทั้งกลไกในการส่งเสริม ให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ความรู้ ต่อต้านหรือชี้เบาะแสโดยได้รับความคุ้มครองจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ”
สำนักงาน ป.ป.ท. เริ่มดำเนินการรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2559 ด้วยวิธีการจัดสัมมนากลุ่มต่างภูมิภาคต่างๆ ด้วยเนื้อหาสาระของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ เพื่อเป็นการกำหนดแนวทาง วิธีการ และกลไกส่งเสริมสนับสนุน และรับรองการรวมตัวของประชาชน เพื่อมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ความรู้ ต่อต้านหรือชี้เบาะแสดังกล่าว และเป็นการกำหนดมาตรการคุ้มครองและสิทธิประโยชน์แก่ผู้ชี้เบาะแสการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมทั้งอนุวัติการให้เป็นไปตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ.2003 เรื่องการมีส่วนของประชาชนในการป้องกันกันและต่อต้านการทุจริต
โดยร่างพ.ร.บ.การส่งเสริมและคุ้มครองประชาชนในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ร่างฉบับวันที่ 2 พฤษภาคม 2560 มีเนื้อหาสาระที่น่าสนใจดังนี้
ตั้งคณะกรรมการใหม่ เน้นข้าราชการและภาคธุรกิจ
กำหนดให้มี คณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองประชาชนในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ (คณะกรรมการ) จำนวน 10 คน ประกอบด้วย
1) ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐเป็นประธานกรรมการ
2) กรรมการผู้แทนภาครัฐ จำนวน 3 คน ได้แก่ “ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ” (ป.ป.ช.) “ผู้แทนสำนักงานการตรวจงานแผ่นดิน” และ “ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม”
3) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 6 คน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจาก “สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย” “สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย” “สมาคมธนาคารแห่งประเทศไทย” แห่งละหนึ่งคน ในส่วนที่เหลือให้แต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ด้านรณรงค์เผยแพร่ความรู้ ด้านการต่อต้านการทุจริต ด้านการบริหารเครือข่ายประชาชนหรือภาคประชาสังคม
สำหรับ อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ เช่น กำหนดนโยบาย แนวทาง หลักเกณฑ์ และวิธีการในการส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ความรู้ ต่อต้าน หรือชี้เบาะแสการทุจริต, ให้การรับรองเครือข่ายต่อต้านการทุจริตภาคประชาชน, กำหนดหลักฐาน วิธี มาตรการคุ้มครองช่วยเหลือหรือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการรวมตัวกันต่อต้าน หรือชี้เบาะแสการทุจริต และกำกับดูแล ประเมินผลหน่วยงานของรัฐ เครือข่ายต่อต้านการทุจริตภาคประชาชนในการรณรงค์ให้ความรู้ ต่อต้าน หรือชี้เบาะแสการทุจริต
ตั้ง “เครือข่ายต่อต้านการทุจริตภาคประชาชน” 15 คน ขึ้นไป ห้ามคนเคยโกงเข้าร่วม
กำหนดให้มี “เครือข่ายต่อต้านการทุจริตภาคประชาชน” ซึ่งหมายถึง ชมรมหรือกลุ่มบุคคล สมาคม มูลนิธิ ห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์กรอย่างหนึ่งอย่างใด ทั้งที่เป็นนิติบุคคลและไม่เป็นนิติบุคคล ไม่ว่าองค์กรดังกล่าวจะมีวัตถุประสงค์โดยตรงกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบหรือไม่ก็ตาม แต่ประสงค์จะมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ความรู้ ต่อต้าน หรือชี้เบาะแสการทุจริต และได้รับการรับรองจากคณะกรรมการ
โดยชมรม กลุ่มบุคคล สมาคม มูลนิธิ ห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์กรใดมีความประสงค์ที่จะยื่นคำขอรับรองเป็นเครือข่ายต่อต้านการทุจริตภาคประชาชน ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม เช่น ต้องสมาชิกต้องมีสัญชาติไทย, ต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 15 คน, ต้องไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง, หรือต้องไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เฉพาะโทษความผิดฐานทุจริตหรือประพฤติมิชอบ ฉ้อโกงประชาชน หรือความผิดเกี่ยวกับเรื่องทุจริต
เครือข่ายต่อต้านการทุจริตภาคประชาชน จะได้รับความคุ้มครองและช่วยเหลือตามพ.ร.บ.นี้ เช่น กรณีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตภาคประชาชนถูกฟ้องร้องดำเนินคดี อันเนื่องมาจากการมีส่วนร่วมในการต่อต้านการทุจริต หรือการชี้เบาะแสการทุจริต หากเครือข่ายต่อต้านการทุจริตดังกล่าว ต้องการทนายความ ให้คณะกรรมการจัดหาทนายความให้
ตั้งกองทุนรณรงค์ต่อต้านการทุจริต ส่งเสริมการมีส่วนร่วมประชาชน  และรางวัลตอบแทนผู้ชี้เบาะแส
นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มี “กองทุนรณรงค์ต่อต้านการทุจริต” โดยเงินทุนประเดิมรัฐบาลต้องจัดสรรให้ และรัฐบาลต้องเงินอุดหนุนอย่างต่อเนื่องทุกปี สำหรับวัตถุประสงค์ของกองทุน เช่น
1) ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการรวมตัวกันเพื่อรณรงค์ให้ความรู้ต่อต้าน หรือชี้เบาะแสการทุจริต
2) จ่ายเป็นเงินสินบนหรือรางวัลตอบแทนการชี้เบาะแสการทุจริต
3) คุ้มครองผู้แจ้งแบะแสการทุจริต
4) ใช้จ่ายในการคุ้มครองการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ และใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือในการปฏิบัติงานอื่นๆ รวมทั้งเป็นสวัสดิการของเครือข่ายต่อต้านการทุจริตภาคประชาชน 
ไฟล์แนบ