ทางเลือกของคนทางเลือกน้อย: “กองทุนยุติธรรม” ช่วยคนไม่มีเงินประกัน – ถูกคุมขังฟรี

แม้โดยหลักการผู้ต้องหาหรือจำเลยจะต้องได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธ์และมีสิทธิได้รับอิสรภาพจนกว่าศาลจะพิพากษาเป็นที่สุดว่าให้ลงโทษจำคุก แต่ในระหว่างทางตั้งแต่ถูกจับหรือถูกตั้งข้อกล่าวหา ผู้ต้องหาก็มักจะต้องเอาเงินวางเป็นหลักประกันว่า ระหว่างคดียังไม่จบจะไม่หนีและมารายงานตัวตามนัดทุกครั้ง ซึ่งคงไม่ใช่ทุกคนที่จะมีเงินมาแลกอิสรภาพ "ชั่วคราว" ได้ บางคนไม่มีเงินประกันต้องถูกขังระหว่างการต่อสู้คดี บางคนแม้มีเงินแต่ศาลไม่ให้ประกันก็ต้องสูญเสียอิสรภาพ ซึ่งคนจำนวนมากเลยที่สุดท้ายศาลพิพากษาให้ไม่ต้องติดคุก แม้ถึงที่สุดพวกเขาจะได้รับอิสรภาพ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ชีวิตหลายๆ แง่มุมอย่างต้องสูญเสียไปแล้ว อย่างเรียกคืนไม่ได้
ตามความเชื่อของบางคน การต้องติดคุกฟรีถือเป็น "ความซวย" หรือ "กรรมเก่า" เพราะไม่มีหน่วยงานหรือกฎหมายใดที่จะเยียวยาเหยื่อของกระบวนการยุติธรรม แต่ในปัจจุบันมีหน่วยงานรัฐสองแห่งคือสำนักงานกองทุนยุติธรรม และสำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา ซึ่งทำหน้าที่พิจารณาและจ่ายค่าเยียวยาแก่ผู้ที่ต้องเสียอิสระภาพโดยไม่มีเหตุอันควร 
ด้วยความที่เป็นหน่วยงานราชการขั้นตอนการพิจารณาให้ความช่วยเหลือจึงอาจจะใช้เวลาบ้าง แต่สำหรับผู้ที่กำลังจะสูญเสียอิสรภาพเพราะถูกดำเนินคดีอาญาแล้วไม่มีเงินประกันตัว หรือผู้ที่เคยถูกจองจำก่อนที่ศาลจะพิพากษาว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ การขอความช่วยเหลือจากสองหน่วยงานที่กล่าวมา ก็อาจเป็นโอกาสที่พอจะช่่วยรักษาอิสรภาพหรือช่วยเยียวยาการถูกคุมขังฟรีได้บ้าง  

อิสรภาพที่อาจมาช้าแต่ดีกว่ามาไม่ถึง – เงินประกันจากกองทุนยุติธรรม

อิสรภาพ คือ สิ่งมีค่าที่อยู่ใกล้จนบางครั้งคนอาจมองข้ามไป การไปไหนมาได้ดังใจนึกเป็นสิ่งที่ดูจะธรรมดาจนคนอาจทึกทักเอาว่ามันจะต้องเป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะคนมักเข้าใจว่าหากไม่ได้ไปทำร้ายหรือจี้ปล้นโกงใครยังไงก็ไม่ติดคุก แต่บางครั้งการถูกตั้งข้อกล่าวหาในคดีอาญาก็อาจอยู่ใกล้ตัวกว่าที่คิด การขับขี่ยานพาหนะแล้วเกิดอุบัติเหตุทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บหรือเสียชีวิต หรือการบังเอิญอยู่ห้องเช่าห้องเดียวกับคนที่ใช้ยาเสพย์ติดอาจเป็นเหตุเพียงพอแล้วที่ทำให้คนๆหนึ่งต้องถูกดำเนินคดีอาญาจนต้องสูญเสียอิสรภาพ 
ตามกฎหมาย ทันทีที่มีการตั้งข้อกล่าวหา ตำรวจมีอำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ที่สถานีตำรวจได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง หากสอบปากคำผู้ต้องหาหรือพยานยังไม่แล้วเสร็จในกำหนดเวลาตำรวจจะต้องพาตัวผู้ต้องหาไปที่ศาลเพื่อขออำนาจจากศาล "ฝากขัง" ซึ่งในชั้นนี้ตัวผู้ต้องหามีสิทธิคัดค้านการฝากขังของตำรวจได้ หากศาลเห็นว่า ยังไม่มีเหตุจำเป็นต้องขังไว้ในชั้นนี้ศาลอาจสั่งให้ปล่อยตัวแล้วนัดวันรายงานตัว หากศาลเห็นว่ามีเหตุให้ฝากขัง ศาลก็จะสั่งให้ควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ระหว่างการสอบสวน ซึ่งผู้ต้องหาก็มีสิทธิที่จะวางเงินสดหรือหลักทรัพย์อื่นเพื่อประกันตัวเองออกไป 
หลักทรัพย์ที่ใช้ประกันตัวมีตั้งแต่เงินสด โฉนดที่ดิน ตำแหน่งข้าราชการ หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจทั้งของตัวผู้ต้องหาและผู้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด หรืออาจใช้วิธี "เช่าหลักทรัพย์" จากบริษัทประกันอิสรภาพ ก็ได้ เงินที่ใช้ประกันตัว หมายถึง หลักประกันว่าผู้ต้องหาจะมารายงานตัวต่อศาลตามนัดทุกครั้ง หากหลบหนีไม่มาศาลก็จะถูกริบหลักประกันแต่หากมาศาลตามนัดทุกครั้ง แม้สุดท้ายศาลจะพิพากษาให้ต้องจำคุก หลักประกันทั้งหมดที่วางไว้ก็สามารถขอคืนได้
ในอดีตคนที่ไม่มีหลักทรัพย์ประกันตัวไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากทำใจรับชะตากรรมที่จะต้องสูญเสียอิสรภาพ ซึ่งผู้ที่ถูกคุมขังเพราะไม่มีเงินประกันจำนวนมากก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดสภาวะ "นักโทษล้นคุก" จนกระทั่งในปี 2549 มีการจัดตั้งกองทุนยุติธรรม ขึ้นเป็นครั้งแรกก่อนจะมีการประกาศใช้พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรมปี 2558 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 24 เมษายน 2559 
 
การให้ความช่วยเหลือเรื่องเงินประกันตัวผู้ต้องหาเป็นหนึ่งในภารกิจของกองทุนยุติธรรม ผู้มีสิทธิขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรม คือ ผู้ถูกดำเนินคดีอาญาทุกประเภท หากเป็นคดีที่ฟ้องโดยพนักงานอัยการผู้ถูกดำเนินคดีสามารถขอรับความช่วยเหลือได้ตั้งแต่ชั้นสอบสวน (ตำรวจ) แต่หากเป็นคดีที่ประชาชนตั้งทนายฟ้องกันเองจะขอรับความช่วยเหลือได้ต่อเมื่อศาลรับฟ้องคดีแล้วเท่านั้น โดยทางกองทุนจะให้ความช่วยเหลือเรื่องเงินประกันตั้งแต่ชั้นสอบสวนจนคดีถึงที่สุด อย่างไรก็ตามหากผู้รับความช่วยเหลือไม่มาศาลตามนัด ทางกองทุนก็อาจไม่ให้ความช่วยเหลือต่อเมื่อคดีดำเนินต่อไปจนต้องใช้หลักประกันเพิ่ม 
วิธีการขอความช่วยเหลือจากกองทุน คือ ผู้ที่ถูกดำเนินคดีหรือญาติที่ได้รับมอบอำนาจสามารถนำเอกสาร ได้แก่ บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน หนังสือรับรองเงินเดือน หนังสือรับรองความประพฤติ รวมทั้งเอกสารเกี่ยวกับคดี เช่น หมายฝากขังหรือคำฟ้อง ไปยื่นขอความช่วยเหลือได้ที่สำนักงานกองทุนยุติธรรม ถนนแจ้งวัฒนะ หรือสำนักงานยุติธรรมจังหวัดทั่วประเทศ 
การจะติดต่อขอรับความช่วยเหลือ ต้องดูว่าคดีความอยู่ในเขตอำนาจศาลใด ก็ไปที่สำนักงานกองทุนในพื้นที่นั้นๆ เช่น คดีที่อยู่ในเขตอำนาจจังหวัดเชียงใหม่ ผู้ขอรับความช่วยเหลือต้องยื่นคำร้องที่สำนักงานยุติธรรมจังหวัดเชียงใหม่ โดยกองทุนสามารถให้ความช่วยเหลือในวงเงินประกันได้สูงเต็มที่ตามจำนวนที่ศาลเรียก ในกรณีต่างจังหวัดเบื้องต้นทางกองทุนจะจำกัดวงเงินที่รายละ 500,000 บาท แต่หากศาลเรียกเงินประกันมากกว่านั้น จะต้องประสานขอเงินจากส่วนกลาง ในการยื่นคำร้องผู้ขอรับความช่วยเหลือจะต้องระบุจำนวนเงินที่ศาลเรียกให้ชัดเจน เพราะหากมีการอนุมัติเงินทางกองทุนฯ จะใช้วิธีออกเช็คให้เจ้าหน้าที่ถือไปวางที่ศาล 
หลังผู้ขอรับความช่วยเหลือยื่นเอกสารสมบูรณ์ คำร้องจะถูกส่งเข้าที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนยุติธรรมรอบถัดไป เพื่อให้คณะกรรมการซึ่งประชุมกันเดือนละครั้งพิจารณาว่า จะอนุมัติเงินช่วยเหลือในแต่ละกรณีหรือไม่ 
จากการสอบถามเจ้าหน้าที่กองทุนฯ ระบุว่า การยื่นคำร้องเป็นขั้นตอนที่ใช้เวลา ทางกองทุนฯจึงเปิดโอกาสให้ยื่นคำร้องล่วงหน้าได้ ในกรณีที่ทราบวันนัดศาลล่วงหน้าแล้ว ผู้ถูกดำเนินคดีสามารถเข้ามาทำเรื่องไว้ก่อนเพื่อที่จะได้เช็คพร้อมไปวางในวันที่ต้องขึ้นศาล การให้ความช่วยเหลือด้านเงินประกันถือเป็นความพยายามป้องกันปัญหาคนติดคุกฟรีที่ต้นทาง แม้จะเป็นกลไกที่ใช้เวลาอยู่บ้างและไม่มีความแน่นอนว่าจะได้รับการอนุมัติหรือไม่ ขึ้นกับดุลยพินิจของคณะกรรมการโดยเฉพาะคดีนโยบาย เช่น คดียาเสพย์ติด แต่สำหรับคนมีรายได้น้อยช่องทางนี้ก็อาจเป็นตัวเลือกที่ดีในการรักษา 'อิสรภาพ'         
แผ่นพับประชาสัมพันธ์ฺของกองทุนยุติธรรม (ซ้าย) และ สำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา (ขวา)

ติดคุกฟรีสุดท้ายยกฟ้อง เรียกค่าชดเชยได้วันละ 500 บาท 

มีผู้ถูกดำเนินคดีอาญาจำนวนไม่น้อยที่ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี บางรายอาจถูกคุมขังเพราะไม่มีหลักทรัพย์ประกันตัว บางรายมีหลักทรัพย์แต่ศาลไม่อนุญาตให้ประกัน หลายคดีสุดท้ายศาลมีคำพิพากษาเป็นที่สุดให้ยกฟ้อง เท่ากับว่าเขาเหล่านั้นถูกคุมขังฟรี 
กรณีเช่นนี้ กองทุนยุติธรรมและสำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา (สำนักงานฯ) เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้ที่สูญเสียอิสรภาพโดยไม่มีเหตุอันควร แม้เงินชดเชยจำนวนเล็กน้อยอาจเทียบไม่ได้เลยกับโอกาสในหน้าที่การงานที่เสียไปหรือชีวิตครอบครัวที่พังทลาย แต่ผู้เสียหายที่มีเกณฑ์ได้รับการชดเชยก็ควรยื่นขอรับเงินชดเชยส่วนนี้ อย่างน้อยก็เพื่อเป็นการยืนยันสิทธิและแสดงให้รัฐเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมกำลังมีปัญหา         
ในกรณีที่ศาลพิพากษายกฟ้องเพราะเชื่อว่าจำเลยบริสุทธ์ หรือที่เรียกกันว่า "ยกขาว" สำนักงานฯเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบจ่ายค่าชดเชย โดยผู้ที่มีสิทธิขอรับเงินชดเชยในส่วนนี้นอกจากจะต้องเป็นผู้ที่ศาลยกฟ้องโดยเชื่อว่าไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดแล้ว ยังต้องเป็นผู้ที่ถูกดำเนินคดีโดยอัยการของรัฐเป็นโจทก์ฟ้องด้วย หากเป็นคดีที่ประชาชนจ้างทนายฟ้องกันเอง แม้ศาลจะพิพากษาเป็นที่สุดว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิและจำเลยถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีก็ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการชดเชย 
เมื่อผู้มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือได้รับการปล่อยตัว จะต้องยื่นคำร้องเพื่อรับเงินชดเชยภายในเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาเป็นที่สุด โดยสามารถนำเอกสาร เช่น สำเนาบัตรประชาชน หนังสือรับรองคดีถึงที่สุด คำพิพากษา หมายขัง และหมายปล่อยตัวไปติดต่อที่สำนักงานฯ หรือสำนักงานยุติธรรมจังหวัดได้ทั่วประเทศ โดยไม่จำเป็นต้องยื่นในภูมิลำเนาหรือสถานที่ถูกคุมขัง ขณะที่เอกสารเกี่ยวกับคดี เช่น คำพิพากษา หากผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวไม่มีอยู่กับตัวเอง ทางสำนักงานฯ สามารถประสานงานมาให้ได้ สำหรับเงินชดเชยกรณีถูกคุมขังจะอิงตามอัตราสำหรับการกับขังแท่นค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญาซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 500 บาทต่อวัน   
สำหรับผู้ที่ตำรวจขออนุญาตฝากขังต่อศาลและไม่ได้รับการประกันตัวแต่ต่อมาอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง หรือผู้ที่ถูกคุมขังจริงเกินคำพิพากษาของศาล เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาสั่งจำคุกสองปีแต่ระยะเวลาที่ถูกคุมขังระหว่างสู้คดีทั้งหมดกินเวลาสี่ปี กองทุนยุติธรรมจะเป็นผู้จ่ายเงินชดเชย 
อย่างไรก็ตามยังมีความไม่ชัดเจนว่าจำเลยที่ศาลพิพากษายกฟ้อง โดยยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย หรือยกฟ้องเนื่องจากโจทก์ยังพิสูจน์จนสิ้นสงสัยไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิด ซึ่งมีจำนวนมากกว่าจำเลยที่ศาลยกฟ้องเพราะเชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ จะอยู่ในเกณฑ์ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรมหรือไม่ 
   

เยียวยาคือปลายทางแต่ไม่ใช่ต้นทาง

หากมองโดยผิวเผินการที่รัฐจัดตั้งหน่วยงานเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากกระบวนการยุติธรรมแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการในทางบวกว่ารัฐเริ่มยอมรับในการมีอยู่ของปัญหาและเริ่มมองว่า 'เวลา' ของคนที่ต้องสูญเสียอิสรภาพโดยปราศจากเหตุอันควรพอจะ 'มีค่า' อยู่บ้าง ต่างจากที่ในอดีตผู้ที่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบทำได้แค่ยินดีในอิสรภาพที่ได้รับคืน หลังถูกพรากไปอย่างไม่เป็นธรรม แต่ปัจจุบันนี้ โอกาสที่จะเรียกค่าชดเชยยังมีอยู่บ้างแม้จะไม่มากนัก 
อย่างไรก็ดี การจ่ายเงินชดเชยก็เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น และเป็นเหมือนการใช้อิฐก้อนเล็กๆ อุดรอยรั่วขนาดใหญ่บนกำแพงเพราะค่าชดเชยเพียงน้อยนิดคงไม่อาจทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโอกาสในชีวิตหรือครอบครัวที่พังทลายของผู้ถูกคุมขังอย่างไม่เป็นธรรมได้ ข่าวการการจับ 'แพะ' เช่น กรณีที่มีผู้ต้องหาเรือนจำเขาบินเขียนจดหมายรับสารภาพว่าเป็นผู้กระทำความผิดในคดีปล้นทรัพย์ที่จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งศาลพิพากษาว่า ภารโรงคนหนึ่งซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นผู้กระทำความผิด  และข่าวในลักษณะคล้ายๆ กันที่มีให้เห็นตามหน้าสื่อชี้ให้เห็นว่า กระบวนการกลั่นกรองหาตัวผู้กระทำความผิดมีปัญหามาตั้งแต่ต้นทาง ทำให้มีความเสี่ยงที่ผู้บริสุทธิอาจถูกจำกัดอิสรภาพโดยไม่มีเหตุอันควร 
นอกจากนี้เงินที่นำมาใช้ในการเยียวยาความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรมส่วนหนึ่งก็เป็นเงินส่วนกลางหรือเงินของประชาชน เช่น เงินค่าธรรมเนียมศาลในคดีแพ่ง ค่าปรับในคดีอาญา หรือค่าผิดสัญญาประกันตัว ไม่ใช่เงินของเจ้าหน้าที่ที่อาจทำงานหละหลวมจนทำให้คนบริสุทธิต้องถูกคุมขัง 
ติดต่อกองทุนยุติธรรม โทร 02 502 6246 หรือเว็บไซต์ www.jfo.go.th
ติดต่อสำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา โทร 1111 กด 77 หรือ www.rlpd.go.th