ก่อนท้องฟ้าจะสดใส: พล.อ.ปรีชา โดดประชุม ไม่ใช่เรื่องใหญ่เท่า ใครกำลังออกกฎหมาย

ไอลอว์ติดตามจับตาการทำงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มาตลอดสองปีกว่า พบเห็นการทำงาน การออกกฎหมาย การลงมติ ที่น่าสนใจมากมาย และล่าสุดจากการค้นคว้าข้อมูลอย่างหนักในเว็บไซต์ ของสนช. ก็พบว่า มีสมาชิก สนช. อย่างน้อย 7 คน ที่ขาดประชุมบ่อยจนผิดสังเกต ตามข้อมูลที่ได้นำเสนอต่อสื่อมวลชนไปแล้วนั้น 
เป็นไปได้ว่า เนื่องจากสมาชิก 7 คนดังกล่าว มีบุคคลทีมีชื่อเสียงรวมอยุ่ด้วย เช่น พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา, ผู้บัญชาการทหารเรือ, ผู้บัญชาการทหารอากาศ รวมทั้ง เลขาธิการกฤษฎีกา ดังนั้น เมื่อสังคมรับทราบข้อมูลชุดนี้ จึงมีกระแสตอบรับกลับมาหลากหลาย
หลังจากมีข่าวออกไป พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. ชี้แจงว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทำการตรวจสอบแล้วปรากฏว่ามีการลาประชุมถูกต้องตามข้อบังคับการประชุมสนช. สำหรับเงื่อนไขในการลาประชุมสนช. คือ จะต้องเป็นการลาป่วยหรือลากิจเฉพาะการไปปฏิบัติราชการของสภาหรือส่วนราชการอื่นเท่านั้น
ด้าน สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรม ชี้แจงว่า ที่ผ่านมาได้รับมอบหมายให้ประชุมกับคณะของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมไปถึงกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ อีกทั้งยังต้องร่วมเดินทางไปประชุมที่ต่างประเทศด้วย เมื่อปีที่แล้วยอมรับว่าได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่หลายด้านเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชน จึงอยากขอความเห็นใจด้วย
ด้าน ดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการกฤษฎีกา หนึ่งในสมาชิกที่ไม่ค่อยเข้าประชุม ชี้แจงว่า ตัวเองเดินทางไปสภาทุกครั้งทุกวัน เพราะกฤษฎีกาจะมีทีมงานที่ดูข้อกฎหมายประจำ แต่บางครั้งอาจจะไม่ได้อยู่ลงมติ ส่วนข้อสังเกตที่ว่ารับเงินเดือน 2 ทางนั้นก็เป็นเรื่องธรรมดาเนื่องจากทำงาน 2 ที่ 
จะเห็นได้ว่า แม้ทุกฝ่ายจะยืนยันตรงกันว่า ผู้ที่ขาดประชุมได้ยื่นใบลาตามระเบียบ จึงยังไม่พ้นจากสมาชิกภาพ แต่ทุกคนก็ยอมรับตรงกันว่า ข้อมูลที่ไอลอว์เปิดเผยออกไปเรื่องการขาดประชุมบ่อย หรือขาดประชุมมากกว่า 1 ใน 3 ของการลงมติ นั้น เป็นความจริง
นอกจากนี้ ยังมีกระแสต่อเนื่องจากข้อมูลชุดนี้ เช่น การยื่นเรื่องให้ตรวจสอบจริยธรรมของสมาชิก สนช. ทั้ง 7 คน รวมทั้งการเรียกร้องให้แสดงความรับผิดชอบโดยการลาออกจากการเป็น สนช.
ข้อมูลที่เปิดเผยออกสู่สาธารณะได้มาจากการนับจำนวนการลงมติ ของสมาชิก สนช. ที่ถูกหยิบมาศึกษา 8 คน ในรอบระยะเวลา 6 เดือนเท่านั้น จากข้อมูลเท่าที่ติดตามศึกษามาเชื่อว่า ในความเป็นจริง สมาชิก สนช. ที่มีพฤติกรรมขาดประชุมบ่อย น่าจะมีมากกว่า 7 คน ซึ่งข้อมูลการเข้าประชุมทั้งหมดก็สามารถหาได้จากบันทึกการลงคะแนนในเว็บไซต์ของสนช. หากมีโอกาสได้ศึกษาจำนวนการลงมติของ สนช. คนอื่นๆ ในรอบระยะเวลาอื่นๆ อีก ก็มีแนวโน้มสูงที่จะพบข้อมูลว่า มีสมาชิกอีกหลายคนที่ขาดประชุดบ่อยจนอาจสิ้นสมาชิกภาพได้
สมาชิก 7 คนที่ถูกตรวจสอบพบว่า ขาดประชุมบ่อย จึงเป็นผู้โชคดีที่ถูกหยิบขึ้นมาเป็นตัวอย่างไปก่อนในการตรวจสอบรอบนี้เท่านั้น และเราจึงเรียกพวกเขาว่า “Lucky7”
ซึ่งปัญหาการขาดประชุม ก็น่าเชื่อว่า ไม่ได้เกิดขึ้นจาก ความประพฤติส่วนตัว หรือความเกียจคร้านที่จะมาประชุมของสมาชิกแต่ละคนเท่านั้น แต่จากข้อมูลเห็นได้ชัดเจนว่า สมาชิกทั้ง 7 คนที่ขาดประชุมบ่อย มีภาระงานที่ต้องรับผิดชอบหลายอย่างไปพร้อมกัน เช่น ดิสทัต โหตระกิตย์ เป็นทั้งเลขาธิการกฤษฎีกาและสมาชิก สนช., สุพันธุ์ มงคลสุธี เป็นทั้งประธานสภาอุตสาหกรรม และสมาชิกสนช., พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา เป็นทั้งปลัดกระทรวงกลาโหมและสมาชิกสนช., สมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ เป็นทั้งผู้อำนวยการสำนักงบประมาณและสมาชิก สนช. ฯลฯ จึงไม่แปลกหากสมาชิก จะเลือกทำงานอย่างอื่นก่อนและให้ความสำคัญกับการประชุมของ สนช. เป็นเรื่องรอง
แต่ประเด็นสำคัญที่ควรถูกตั้งคำถามมากกว่า คือ “ระบบ” ของการคัดเลือกและแต่งตั้งบุคคลเข้ามาเป็นสมาชิกสนช. ที่มักจะตั้งข้าราชการ ทหาร หรือผู้ที่ดำรงตำแหน่งอื่นๆ อยู่แล้ว ให้มาเป็นคนพิจารณาออกกฎหมาย ทั้งที่คนเหล่านั้นก็ไม่ได้มีเวลาหรือมีสมาธิในการเป็นสมาชิก สนช. เท่าไร แต่ก็ยังได้รับค่าตอบแทนจากทุกตำแหน่งพร้อมกันไปด้วย
และเมื่อเราพบข้อมูลแล้วว่า สมาชิก สนช. ที่ถูกแต่งตั้งเข้ามาหลายคนนั่งควบกับตำแหน่งอื่นๆ ทางราชการ เราจึงศึกษาลงลึกต่อไป ถึงประเด็นอื่นๆ เกี่ยวกับสนช. อีกด้วย และพบข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
ในแง่ “คุณสมบัติ” ของสมาชิก สนช. ข้อมูลที่เราค้นพบ คือ 
1. สมาชิก สนช. ชุดปัจจุบันทั้ง 250 คน เป็นทหาร 145 คน หรือคิดเป็น 56% และเป็นข้าราชการ หรือคนที่เคยทำงานในหน่วยงานของรัฐ รวมแล้ว 89% โดยผู้บัญชาการเหล่าทัพทุกคน ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ถูกแต่งตั้งเข้ามาเป็นสมาชิก สนช. ทั้งหมด รวมทั้งมีอีกหลายคนที่เป็นเพื่อนเตรียมทหารรุ่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นลูกน้องเก่าหรือเป็นญาติในครอบครัวเดียวกัน จึงพอมองเห็นได้ว่า แนวคิดของสภานี้จะออกกฎหมายที่เป็นประโยชน์กับคนกลุ่มไหน 
2. สมาชิก สนช. ชุดปัจจุบันทั้ง 250 คน เป็นคนวัยหลังเกษียณ อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป มีจำนวน 185 คน หรือคิดเป็น 75% สมาชิก สนช. ที่อายุน้อยที่สุด คือ 51 ปี คนที่อายุมากที่สุด คือ 92 ปี สัดส่วนเช่นนี้จึงไม่อาจเป็นตัวแทนของสังคมที่ประกอบด้วยคนหลายช่วงวัย

3. สมาชิก สนช. หลายคน เป็นหัวหน้าหน่วยงานราชการที่จัดทำร่างกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อหน่วยงาน และเสนอให้ สนช. พิจารณา และหัวหน้าหน่วยงานนั้นก็เข้าร่วมเป็นกรรมาธิการพิจารณากฎหมาย และร่วมลงมติเห็นชอบกฎหมายด้วย รวมทั้งบางคนก็เป็นนักธุรกิจที่พิจารณาลงมติผ่านกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจของตัวเอง ซึ่งเป็นการลงมติผ่านกฎหมายโดยมีผลประโยชน์ทับซ้อน

4. สมาชิก สนช. หลายคน ได้รับการแต่งตั้งเข้ามาทำหน้าที่นิติบัญญัติซ้ำแล้วซ้ำอีก ตั้งแต่เป็นสมาชิก สนช. ชุดปี 2549 และเป็นส.ว.จากการแต่งตั้ง ทำให้คนบางกลุ่มที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งสามารถยึดกุมอำนาจในการออกกฎหมายของประเทศมาอย่างต่อเนื่องได้นานกว่า 10 ปี
นอกจากนี้ ไอลว์ยังค้นคว้าข้อมูลต่อ ถึงประเด็น “กระบวนการทำงาน” ของ สนช. และข้อมูลที่ไอลอว์พบ คือ
1. ผลการลงมติร่างกฎหมาย อย่างน้อย 214 ฉบับ ผ่านความเห็นชอบของ สนช. ด้วยคะแนนเสียงข้างมากเกิน 90% ทุกฉบับ แม้หลายฉบับจะมีเสียงคัดค้านจากสังคมอย่างมากก็ตาม ร่างกฎหมายที่เสียงแตกมากที่สุด ได้รับเสียงเห็นชอบ 91% ไม่มีร่างกฎหมายแม้แต่ฉบับเดียว ที่ สนช. พิจารณาแล้วไม่เห็นชอบ
2. สมาชิก สนช. หลายคน นั่งควบหลายตำแหน่ง โดยเฉพาะตำแหน่งงานในฐานะข้าราชการประจำ ทำให้ไม่มีเวลามาประชุม และพบข้อมูลของสมาชิกอย่างน้อย 7 คน ที่ขาดประชุมบ่อยจนผิดสังเกต และมาประชุมไม่ถึงจำนวนขั้นต่ำ ทำให้อาจสิ้นสมาชิกภาพหากไม่ได้ยื่นใบลา
ปัจจุบัน สนช. ทำหน้าที่แทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา หน้าที่หลัก คือ การพิจารณาออกกฎหมาย สมาชิก สนช. ทุกคนเริ่มเข้าสู่ตำแหน่งโดยการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารทั้งหมด สภาแห่งนี้จึงไม่มีความชอบธรรมในการเข้ามาทำงานตั้งแต่แรกอยู่แล้ว แต่หลายคนก็มองว่า แม้ที่มาจะไม่ชอบธรรมแต่ก็ยังยินดีให้สนช. เป็นผู้มีอำนาจออกกฎหมายไปก่อน เพื่อหวังว่าจะได้มีกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองออกมาบังคับใช้
แต่เมื่อพิจารณาในแง่เนื้อหา กฎหมายที่ผ่าน สนช. อย่างน้อย 214 ฉบับ ก็ยังมีหลายฉบับที่มีประชาชนกลุ่มต่างๆ ไม่พอใจและยังมีข้อคาใจอยู่ เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ร.บ.ภาษีมรดกฯ พ.ร.บ.สงฆ์ เป็นต้น (ดูต่อได้ที่ https://ilaw.or.th/node/3971)
และเมื่อพิจารณาข้อมูลแล้วพบว่า สนช. ยังมีปัญหาความชอบธรรมด้านคุณสมบัติของสมาชิกที่มาใช้อำนาจตัดสินใจออกกฎหมาย และยังมีข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงกระบวนการพิจารณากฎหมายที่อาจจะไม่รอบคอบ หรือไม่ได้ใส่ใจในการทำงานมากเพียงพอด้วย
ดังนั้น หากจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ อาจไม่ใช่เพียงแค่การให้สมาชิก สนช. 7 คนที่ถูกเปิดเผยข้อมูลว่า ขาดประชุมบ่อย ลาออกจากการเป็นสมาชิกเท่านั้น เพราะความชอบธรรมของสนช. ในแง่ที่มาจากการแต่งตั้ง คุณสมบัติของสมาชิกที่เหลือ กระบวนการทำงานของสมาชิกที่เหลือ เนื้อหาของกฎหมายที่ผ่านการพิจารณา ก็ยังคงเป็นปัญหาอยู่ และไม่อาจแก้ไขฟื้นคืนดีได้
ผลกระทบสำคัญจากความไม่ชอบธรรมเหล่านี้ ก็คือ กฎหมายอย่างน้อย 214 ฉบับที่ประกาศใช้แล้วโดยสภาแห่งนี้ และอีกหลายร้อยฉบับที่กำลังจะตามมาในอนาคต จะกลายเป็นกฎเกณฑ์ที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐนำมาบังคับใช้กับประชาชน จึงเป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะต้องช่วยกันทำงานอย่างหนัก เพื่อติดตามเนื้อหาของกฎหมายที่ผ่านออกมา และหากฉบับไหนที่ประชาชนยังเคลือบแคลงสงสัยหรือไม่เห็นด้วย ก็ต้องร่วมกันส่งเสียงคัดค้านให้ทันก่อนที่จะผ่านการพิจารณาของ สนช.
โดยประชาชนยังต้องเข้าใจอยู่ตลอดเวลาด้วยว่า แท้จริงแล้วในยุคสมัยนี้ “ใคร? กำลังออกกฎหมาย” มาใช้กับเรา