แรงงานนอกระบบ ไม่ได้มีแค่คนจน ทุกคนมีความเสี่ยง

27 พฤศจิกายน 2559 เครือข่ายวิชาการเพื่อสังคมเป็นธรรม (Jusnet) จัดงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ Fifty Shades of Work หลายเฉดชีวิตนอกระบบ ณ ร้าน Let’sSay café  หนังสือที่รวบรวมบทสัมภาษณ์จากแรงงานนอกระบบ 11 คน 
ผู้จัดงานอธิบายของแนวคิดต่อเรื่องแรงงานนอกระบบว่า โดยปรกติแล้ว เมื่อพูดถึง "แรงงานนอกระบบ" สิ่งแรกที่ผู้คนนึกถึงมักจะเป็นภาพของแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในไทย แต่ในความเป็นจริงแล้ว แรงงานนอกระบบหมายถึงคนทำงานทั้งในฐานะเจ้าของกิจการ นายจ้าง และลูกจ้าง ที่อยู่ในภาคการผลิตที่ไม่ได้จดทะเบียนกับรัฐ หรืออาจถูกจ้างงานในลักษณะที่ไม่เป็นทางการ คือ ไม่มีสัญญาจ้างชัดเจน ไม่มีเงินเดือนประจำ ไม่มีสิทธิและไม่ได้รับสวัสดิการใดๆ ตามกฎหมายแรงงาน
หนังสือ Fifty Shades of Work ก็รวบรวมเรื่องราวของแรงงานนอกระบบหลากหลายสถานะ ตั้งแต่ระดับรายได้สูง มีทางเลือกและอำนาจต่อรองค่อนข้างมาก ไปจนถึงรายได้ต่ำ ทางเลือกและอำนาจต่อรองน้อยหรือเรียกได้ว่าแทบไม่มีเลย
สุจิน รุ่งสว่าง ประธานศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีแรงงานนอกระบบประมาณ 21.4 ล้านคน แบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ อาชีพอิสระกับกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้าน ซึ่งแรงงานส่วนใหญ่จะได้รับค่าแรงที่ไม่เป็นธรรมและเข้าไม่ถึงสวัสดิการ ยิ่งกว่านั้นคือแรงงานเหล่านี้ไม่รู้ตัวเองว่าตนเป็นแรงงานนอกระบบ 
“จากอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้าที่ได้ค่าแรงไม่เป็นธรรม เลยรวมตัวเป็นกลุ่มผู้รับงานให้สามารถต่อรองราคาได้ แต่ก็ต่อรองได้ระดับหนึ่ง ส่วนอื่นๆ ที่เขารวมตัวไม่ได้จะมีปัญหาเรื่องการกดขี่ค่าแรง ยิ่งปัจจุบันเราสู้กับค่าแรงราคาถูก เขาเอาแรงงานต่างด้าวมาทำแทนได้ เราต้องพัฒนาฝีมือ ถ้าเกิดใช้แรงงานอยู่อย่างนี้จะไม่มีงานทำ” สุจิน กล่าว
สุจิน กล่าวต่อว่า อาชีพตัดเย็บที่ตนเคยทำจะเกี่ยวข้องกับสารเคมี นายจ้างไม่ให้อุปกรณ์ป้องกัน ยิ่งเวลาเอางานไปทำที่บ้าน ครอบครัวก็รับผลกระทบไปด้วย เคยมีเพื่อนที่ทำตัดเย็บด้วยกัน ตอนนี้เหลือปอดข้างเดียว เพราะฝุ่น เวลาหยุดงานไปหาหมอก็เสียรายได้ เจ็บป่วยรักษาฟรี แต่ยาบางตัวต้องจ่ายเอง นี่เป็นสวัสดิการที่ไม่เท่าเทียม
“ตอนนี้มีประกันสังคมมาตรา 40 แบบสมัครใจ ถ้าเจ็บป่วยก็มีการทดแทนการขาดรายได้วันละสองร้อยบาท แต่ก็ยังไม่เท่าเทียม และก็มีพ.ร.บ.ผู้รับงานไปทำที่บ้าน ออกมาตั้งแต่ปี 53 คุ้มครองค่าแรงที่เป็นธรรม มีสัญญาจ้างชัดเจน ถ้าบังคับใช้จริงๆ นายจ้างจะรู้สึกอึดอัด มีบทลงโทษด้วย ในทางปฏิบัติจึงใช้ไม่ได้” นางสุจิน กล่าว
ณัฐเมธี สัยเดช บรรณาธิการหนังสือ Fifti Shades of Work: หลายเฉดชีวิตนอกระบบ กล่าวว่า ส่วนตัวก็เป็นคนหนึ่งที่ทำงานทั้งในและนอกระบบ ทำงาน เช่น ตำแหน่งบรรณาธิการ พิสูจน์อักษร เพราะเรียนไม่จบจึงไม่ได้มีโอกาสมากนักที่จะสมัครงาน โดยก่อนหน้านี้ที่ใช้บริการสุขภาพจจากระบบสามสิบบาท (หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า) ก็ไม่ได้ทำให้มั่นใจว่าจะดูแลดี ทั้งๆ ที่เป็นระบบที่ควรทำให้เราสบายใจได้ 
“เราต้องทำงานขนาดไหนถึงจะเข้าถึงปัจจัยสี่ ด้วยโครงสร้างทางนโยบายสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ทุกคนมีต้นทุนทางสังคมไม่เท่ากัน แต่คนไม่มองจุดนี้” ณัฐเมธี กล่าว
ด้าน อินทิรา หรือทราย เจริญปุระ ดารานักแสดง กล่าวว่า ดาราก็เป็นแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้มีสวัสดิการอื่นๆ ที่ปรับปรุงล่าสุดก็จะมีประกันอุบัติเหตุ แต่ไม่นับว่าเจ็บคอ คออักเสบ ปอดชื้นจะเบิกไม่ได้ ถ้าบาดเจ็บหนักๆ จากในกองจึงจะเบิกได้ ถ้าเบิกได้ก็จะถือว่ามีเมตตา สัญญาของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นการเล่นละครต้องถ่าย 5 ตอนก่อน ถึงจะได้รับเงิน ถ้าละครไม่ได้ออกอากาศก็จะไม่ได้เงิน ค่าใช้จ่ายทุกอย่างทั้งค่าข้าว ค่าเดินทาง ก็ต้องออกไปเองก่อน ถ้าเราเรื่องมากเขาก็ไม่เอาเรา เลือกไม่ค่อยได้ว่าอยากเล่นหรือไม่อยากเล่นบทไหน ถ้าเล่นเป็นผีก็อาจต้องเป็นผีไปตลอด 
อินทิรา เล่าต่อว่า ในวงการยังต้องขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นเด็กใครอีก แต่ถ้าไม่ได้เป็นเด็กใครเลยก็เสี่ยงว่าจะไม่ได้งาน คนกำหนดคือนายจ้าง ทุกตำแหน่งในวงการนี้ ตั้งแต่ดารา ผู้ช่วยผู้กำกับ ทีมกล้อง ทีมเสียง ทีมไฟ ล้วนใช้งานกันตามความคุ้นเคย ไม่มั่นคงและไม่มีมาตรฐานเดียวกัน
“คนมองว่าดาราไม่น่าจุนเจือ สบาย ไม่ได้มองเป็นอาชีพเหมือนเป็นพยาบาล ช่างเย็บเสื้อ ทั้งๆ ที่ดาราก็มีต้นทุนที่เป็นทักษะ หกโมงเช้า รับประทานอาหาร เสียเงินค่ารถ น้ำมัน ทางด่วน ไปถึงก็ต้องทำงานและจ่ายระหว่างวัน” อินทิรา กล่าว