พ.ร.บ.รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่: ความหวังที่ยังไม่ใกล้ความเป็นจริง

ตามปกติเมื่อศาลชั้นสูงสุดพิพากษาคดีแล้ว ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ทุกฝ่ายก็ต้องยอมรับผลนั้น แต่ในคดีอาญาที่จำเลยต้องรับโทษ และถ้าพิสูจน์ได้ว่าเหตุที่ต้องรับโทษเป็นเพราะพยานหลักฐานเท็จ หรือมีพยานหลักฐานใหม่ปรากฏขึ้นภายหลัง ยังมีกฎหมายเปิดช่องให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้ แต่ในทางปฏิบัติกลไกนี้ใช้ได้ผลจริงน้อยมาก เพราะยังไม่ครอบคลุมมากพอจะให้ความเป็นธรรมกับทุกกรณีได้ เช่น คดีที่ศาลยกฟ้อง คดีที่ศาลจงใจพิพากษาโดยทุจริตแม้ไม่มีพยานหลักฐานเท็จ หรือคดีที่มีหลักฐานใหม่ให้ศาลลงโทษได้น้อยลง เป็นต้น
ถ้าพิสูจน์ได้ว่า ติดคุกเพราะพยานเท็จ – หลักฐานเท็จ ขอรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้
ในกระบวนการพิจารณาคดีอาญาปกติจะแบ่งออกเป็นสามศาล โดยจะเริ่มจากศาลชั้นต้น เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว ฝ่ายโจทก์หรือจำเลยไม่เห็นด้วยก็สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน และถ้ายังไม่เห็นด้วยอีก ก็ให้ยื่นฎีกาต่อศาลฎีกา ซึ่งเป็นศาลชั้นสูงสุด คดีใดทีศาลฎีกามีคำพิพากษาแล้ว หรือไม่ได้ยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาภายในระยะเวลา 30 วัน ก็จะเรียกว่า “คดีถึงที่สุด” หรือหมายถึง ไม่มีโอกาสยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาเพื่อเปลี่ยนแปลงผลคดีได้อีก
แต่หลายครั้งคำพิพากษาที่ถึงที่สุดแล้วก็ไม่ใช่คำพิพากษาที่ถูกใจทุกฝ่าย โดยเฉพาะคดีที่ศาลพิพากษา ทั้งที่ ฝ่ายจำเลยเชื่อว่า ตัวเองไม่ได้กระทำความผิด แต่โอกาสพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองก็ได้หมดลงแล้ว ดังนั้น จึงต้องกฎหมายอย่าง พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ โดยมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2526 เพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ต้องรับโทษเพราะความผิดพลาดจากกระบวนการยุติธรรม โดยเปิดช่องให้จำเลยที่ต้องรับโทษในคดีอาญาสามารถยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้รื้อฟื้นคดีที่ถึงที่สุดไปแล้ว กลับขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้อีกครั้ง
โดยหลักเกณฑ์ในการรื้อฟื้นขึ้นมาพิจารณาใหม่ ได้แก่
  1. คดีนั้นศาลพิพากษาให้จำเลยต้องรับโทษ ไม่ว่าจะเป็นโทษริบทรัพย์สิน ปรับ กักขัง จำคุก หรือประหารชีวิต
  2. ต้องมีเหตุให้รื้อฟื้นคดี อย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ (มาตรา 5)
    2.1 มีคำพิพากษาว่าพยานสำคัญที่เคยเบิกความในการตัดสินคดีแรก เป็นพยานเท็จ
    2.2 มีคำพิพากษาว่าหลักฐานสำคัญที่ใช้ในการตัดสินคดีแรก เป็นหลักฐานเท็จ
    2.3 มีพยานหลักฐานที่เพิ่งปรากฎขึ้นใหม่ ซึ่งอาจพิสูจน์ได้ว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิด
  3. ต้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้ว่ามีเหตุให้รื้อฟื้นคดีได้ หรือภายใน 10 ปี นับตั้งแต่มีคำพิพากษาถึงที่สุด(มาตรา 20)
วิธีการขอรื้อฟื้น และขั้นตอนการพิจารณาคดีที่ถูกรื้อฟื้นขึ้นใหม่
เมื่อมีข้อเท็จจริงที่เข้าเงื่อนไขให้รื้อฟื้นคดีได้แล้ว ขั้นตอนการขอรื้อฟื้นคดีและการพิจารณาคดีใหม่ เป็นดังนี้
  1. จำเลยที่ต้องรับโทษ หรือผู้แทน ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นที่เคยพิจารณาคดีนั้น เพื่อขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ (มาตรา 6)
  2. ศาลชั้นต้นจะไต่สวนข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องก่อนว่า คำร้องมีมูลความจริงพอที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้หรือไม่ เมื่อไต่สวนเสร็จแล้วก็จะส่งเรื่องต่อไปยังศาลอุทธรณ์ (มาตรา 9)
  3. ศาลอุทธรณ์จะเป็นผู้พิจารณาและออกคำสั่งว่าจะให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่หรือไม่ คำสั่งของศาลอุทธรณ์ถือเป็นที่สุด ไม่อาจยื่นฎีกาคำสั่งต่อศาลฎีกาได้อีก (มาตรา 10)
  4. ถ้าศาลอุทธรณ์สั่งให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ให้ส่งคดีกลับไปให้ศาลชั้นต้นอีกครั้งเพื่อทำหน้าที่พิจารณาคดีใหม่ และให้เรียกโจทก์ในคดีเดิมเข้ามาในคดีใหม่ด้วย (มาตรา 10-11)
  5. ในการพิจารณาคดีที่รื้อฟื้นขึ้นใหม่ ให้ฝ่ายจำเลยนำพยานเข้าสืบก่อน เพื่อพิสูจน์ว่ามีพยานเท็จหรือหลักฐานเท็จในคดีเดิม หรือมีหลักฐานใหม่อย่างไรที่แสดงได้ว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด และจึงให้โจทก์ในคดีเดิมมีสิทธินำพยานเข้าสืบ (มาตรา 11 วรรคสอง)
  6. ในระหว่างการพิจารณาคดีที่รื้อฟื้นขึ้นใหม่ หากจำเลยถูกคุมขังอยู่ตามคำพิพากษาเดิม จำเลยสามารถยื่นขอประกันตัวได้ และศาลจะสั่งปล่อยชั่วคราวก็ได้(มาตรา 12)
  7. เมื่อพิจารณาคดีที่รื้อฟื้นขึ้นใหม่เสร็จแล้ว และศาลจะต้องพิพากษาใหม่ ถ้าคดีเดิมสิ้นสุดที่ศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นเป็นผู้ทำคำพิพากษาได้เลย ถ้าคดีเดิมสิ้นสุดที่ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา ให้ศาลชั้นต้นส่งคดีไปให้ศาลนั้นๆ ทำคำพิพากษาใหม่ (มาตรา 13)
  8. หากคดีที่รื้อฟื้นขึ้นไม่ได้พิพากษาโดยศาลฎีกา คู่ความที่ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษายังมีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลที่สูงกว่าได้อีก 1 ครั้ง (มาตรา 15)
  9. คำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ให้ยื่นได้ครั้งเดียว ถ้าศาลไม่อนุญาตให้รื้อฟื้นคดี หรือศาลพิพากษายืนยันให้จำเลยต้องรับโทษอีก แม้ว่าภายหลังจะมีเหตุให้รื้อฟื้นคดีใหม่เกิดขึ้นอีก ก็ไม่สามารถขอให้รื้อฟื้นคดีได้อีกแล้ว (มาตรา 18)
หากรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่แล้ว ศาลพิพากษาครั้งใหม่ว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด แต่จำเลยได้รับโทษไปก่อนหน้านั้นแล้ว มาตรา 14 กำหนดให้ศาลสั่งให้จ่ายค่าทดแทนคืนให้แก่จำเลยได้ด้วย ถ้าจำเลยเคยถูกปรับให้คืนเงินค่าปรับพร้อมดอกเบี้ย ถ้าจำเลยเคยถูกคุมขัง ให้จ่ายค่าชดเชยการคุมขังในอัตรา 500บาทต่อวัน (ใช้อัตราตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 30 แก้ไขเมื่อ 9 เมษายน 2559) หากเป็นกรณีจำเลยถูกประหารชีวิต ให้จ่ายเงินชดเชยไม่เกิน 200,000 บาท
ในทางปฏิบัติการรื้อฟื้นคดียังเกิดขึ้นจริงน้อยมาก ในรอบ 32 ปี มีคดีเดียว
แม้ว่า พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ จะเปิดช่องให้จำเลยที่ต้องรับโทษมีโอกาสพิสูจน์ตัวเองได้อีกครั้ง แต่ในทางปฏิบัติจริง หลังกฎหมายฉบับนี้ใช้มานานกว่า 33 ปี กลับมีกรณีน้อยมากที่สามารถรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้จริง 
เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2558 ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า ศาลอุทธรณ์ได้สั่งให้รื้อฟื้นคดีของพัสกร สิงคิ หนุ่มพิการหูหนวกเป็นใบ้ ขึ้นพิจารณาใหม่ หลังเคยถูกศาลพิพากษาให้จำคุก 20 ปี ฐานฆ่าคนตาย โดยได้รับการช่วยเหลือทางคดีจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)นอกจากจะสั่งให้รื้อฟื้นคดีแล้ว ศาลอุทธรณ์ยังสั่งอนุญาตให้จำเลยได้ประกันตัวระหว่างต่อสู้คดีอีกด้วย
พัสกร สิงคม ต้องใช้ชีวิตในเรือนจำเป็นเวลา 5 ปี กับ 1 เดือน ก่อนที่คดีจะได้เริ่มการพิจารณาใหม่อีกครั้ง 
ไทยรัฐออนไลน์ ยังรายงานโดยอ้างคำให้สัมภาษณ์ของธิตินัย พาติกบุตร เจ้าพนักงานกรมสอบสวนคดีพิเศษชำนาญการ หัวหน้าชุดสืบสวนของคดีนี้ ว่า คดีนี้เป็นคดีแรกของพ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 ที่ศาลสั่งให้รื้อฟื้นคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้สำเร็จจริงๆ 
มื่อศึกษาคำพิพากษาศาลฎีกา เกี่ยวกับการใช้การตีความ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ก็จะพบว่า ส่วนใหญ่เป็นคำพิพากษาที่ตีความไปในทางที่ไม่อนุญาตให้มีการรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ และบางส่วนเป็นปัญหาจากการตีความขั้นตอนการปฏิบัติ เช่น ผู้ยื่นรื้อคดีใหม่ไม่ใช่ผู้มีสิทธิ์โดยตรง อาทิ สามียื่นคำร้องให้ภรรยาซึ่งเป็นจำเลยในคดีแต่ในทางกฎหมายต้องให้ภรรยาเป็นคนยื่นเท่านั้น 
ด้าน วสันต์ พานิช ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนของสภาทนายความ เคยกล่าวว่า จากประสบการณ์การเป็นทนายความกว่า 40 ปี พบว่ามีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกระบวนการพิจารณาคดีอาญาที่ผิดพลาดอยู่เป็นจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าสู่เงื่อนไขของการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ได้ เนื่องจากไม่เข้าเงื่อนไขของการปรากฏพยานหลักฐานใหม่ในคดี จึงควรมีการกำหนดแนวทางของลักษณะการเป็น “พยานหลักฐานใหม่” ให้มีความชัดเจน 
สำรวจช่องว่าง คดีอีกหลายประเภทรื้อฟื้นไม่ได้ตามกฎหมายนี้
เมื่อพิจารณาดูหลักเกณฑ์การรื้อฟื้นคดี ตามกฎหมายฉบับนี้ ก็จะเห็นว่า เงื่อนไขของคดีที่จะรื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่ยังจำกัดอยู่มาก โดยเฉพาะเงื่อนไขตามมาตรา 5 ที่กำหนดว่า ต้องมีคำพิพากษาว่าพยานสำคัญที่เคยเบิกความในคดีแรก เป็นพยานเท็จ หรือหลักฐานสำคัญที่ใช้เป็นหลักในคดีแรก เป็นหลักฐานเท็จ หรือมีพยานหลักฐานซึ่งพิสูจน์ได้ว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด ปรากฎขึ้นใหม่
การกำหนดเงื่อนไขของคดีที่จะสามารถรื้อฟื้นได้ไว้เพียงเท่านี้ ทำให้คดีอีกหลายประเภทที่เกิดจากความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรม ไม่อาจถูกรื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่ได้ ตัวอย่างเช่น
1. คดีที่ศาลพิพากษายกฟ้อง ขอรื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่ไม่ได้
เนื่องจากเงื่อนไขตามมาตรา 5 กำหนดว่า คดีที่จะรื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่ได้ ต้องเป็นคดีที่จำเลยต้องรับโทษ ดังนั้น หากคดีใดที่ศาลพิพากษายกฟ้อง ปล่อยตัวจำเลยไปโดยไม่ลงโทษ แม้จะปรากฏหลักฐานใหม่ขึ้นภายหลังว่าจำเลยกระทำความผิดอย่างชัดแจ้ง หรือปรากฏว่าคำพิพากษายกฟ้องนั้นเกิดจากพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ ก็ไม่อาจนำตัวจำเลยกลับมาพิจารณาคดีใหม่อีกครั้งเพื่อให้จำเลยต้องรับโทษได้ 
2. คดีที่ตัดสินจำเลยไม่รู้สิทธิของตัวเองในการต่อสู้คดี ขอรื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่ไม่ได้
เนื่องจากเงื่อนไขตามมาตรา 5 กำหนดว่า การขอรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ต้องพบว่า มีพยานเบิกความเท็จหรือมีการใช้หลักฐานเท็จ หรือมีพยานหลักฐานปรากฎขึ้นใหม่ แต่ในความเป็นจริงหลายครั้งความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรมไม่ได้เกิดจากการจงใจใช้พยานหลักฐานเท็จ หรือการไม่รู้ว่าหลักฐานนั้นๆ มีอยู่ แต่เกิดจากการที่ประชาชนต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยไม่มีความรู้กฎหมาย และไม่มีเงินจ้างทนายความ ทำให้ไม่รู้สิทธิของตัวเองว่าจะต้องต่อสู้คดีอย่างไร และไม่รู้ว่าข้อเท็จจริงแบบไหนมีประโยชน์กับคดี ตัวอย่างเช่น จำเลยกระทำความผิดขณะเป็นเยาวชน แต่จำเลยไม่รู้ว่าอายุขณะกระทำความผิดเป็นเหตุให้ลดโทษ จึงไม่ได้แจ้งต่อศาล และถูกพิพากษาให้ได้รับโทษเท่ากับผู้ใหญ่ เป็นต้น กรณีเช่นนี้ ถือว่าไม่ได้มีพยานหลักฐานใดปรากฏขึ้นใหม่ เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว แม้จำเลยจะมารู้สิทธิของตัวเองภายหลังก็ไม่อาจขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้ 
3. คดีที่มีหลักฐานใหม่ ทำให้จำเลยได้รับโทษน้อยลง ขอรื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่ไม่ได้
เนื่องจากเงื่อนไขตามมาตรา 5 กำหนดว่า การขอรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ต้องพบว่า มีหลักฐานใหม่ที่พิสูจน์ได้ว่าจำเลย “ไม่ได้กระทำความผิด” เท่านั้น แต่ในความเป็นจริง บางกรณีอาจเป็นการพบหลักฐานใหม่ที่ไม่ได้จะพิสูจน์ว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดเสียเลย แต่อาจเป็นหลักฐานใหม่ที่พิสูจน์ได้ว่า จำเลยควรจะได้รับโทษน้อยลง ตัวอย่างเช่น หากพบหลักฐานใหม่ว่า ขณะกระทำความผิดจำเลยทำไปเพราะบันดาลโทสะ อารมณ์ชั่ววูบ หรือ หากแพทย์ตรวจพบภายหลังว่าจำเลยมีอาการป่วยทางจิตและกระทำความผิดไปโดยไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ซึ่งเป็นเหตุให้ศาลลดโทษลงเหลือน้อยเพียงใดก็ได้
4. คดีที่ตัดสินผิดพลาด เพราะผู้พิพากษาทุจริต ขอรื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่ไม่ได้
เนื่องจากเงื่อนไขตามมาตรา 5 กำหนดว่า การขอรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ต้องพบว่า มีพยานเบิกความเท็จหรือมีการใช้หลักฐานเท็จ แต่ไม่มีเงื่อนไขกรณีที่ผู้พิพากษาทุกจริต ดังนั้น หากเป็นกรณีที่ผู้พิพากษาตัดสินคดีโดยทุจริต ให้จำเลยต้องได้รับโทษโดยไม่ได้กระทำความผิด แม้จะมีการพิสูจน์ได้ภายหลังว่าคำพิพากษานั้นเกิดจากการทุจริตและผู้พิพากษาที่ตัดสินคดีได้รับโทษแล้ว ก็ยังไม่สามารถรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้ 
5. คดีที่ตัดสินผิดพลาดในการตีความข้อกฎหมาย ขอรื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่ไม่ได้
เนื่องจากเงื่อนไขตามมาตรา 5 กำหนดว่า การขอรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ต้องพบว่า มีพยานเบิกความเท็จหรือมีการใช้หลักฐานเท็จ หรือมีพยานหลักฐานใหม่ปรากฎขึ้น ซึ่งล้วนเป็นการขอรื้อฟื้นคดีเพื่อพิสูจน์ในทางข้อเท็จจริงทั้งสิ้น ว่าข้อเท็จจริงคดีนั้นๆ เกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่ในการต่อสู้คดียังมีปัญหาการตีความกฎหมายรวมอยู่ด้วย บางกรณีเป็นไปได้ว่า ข้อเท็จจริงทั้งหมดอาจจะถูกนำเสนออย่างครบแล้วโดยไม่มีพยานเท็จหรือหลักฐานเท็จ แต่ผู้พิพากษากลับตีความกฎหมายผิดพลาดไปทำให้จำเลยต้องรับโทษโดยไม่สมควร ตัวอย่างเช่น การบังคับใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่เจตนารมณ์ของกฎหมายไม่ได้มีไว้ใช้กับคดีหมิ่นประมาท แต่เนื่องจากบทบัญญัติมีความคลุมเครือ ทำให้มีผู้ตกเป็นเหยื่อจากความเข้าใจผิดของผู้พิพากษาในจำนวนไม่น้อย
จากช่องโหว่หรือปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้เขียนขึ้นโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานความคิดที่เชื่อถือในตัวผู้พิพากษาว่าจะตัดสินข้อกฎหมายอย่างถูกต้อง เที่ยงธรรม ไม่ทุจริต ไม่ผิดพลาด และกระบวนการยุติธรรมตามระบบปกติเปิดโอกาสให้คู่ความได้นำเสนอข้อต่อสู้ของตัวเองอย่างเต็มที่ แต่ทว่า ในความเป็นจริงยังมีความเป็นไปได้อีกหลายกรณีที่ความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรม และอาจเกิดจากตัวกระบวนการเอง หรือบุคลากรในกระบวนการ ทั้งที่จงใจและไม่จงใจ ทำให้ พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ยังไม่ครอบคลุมไปคุ้มครองสิทธิของประชาชนได้เท่าที่ควร