เปิดข้อเสนอ สนช.ขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย

ปิดรับข้อเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 ขณะเดียวกันบรรดาองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการเสนอความคิดเห็นอย่างสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ส่งความคิดเห็นเพื่อให้คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) พิจารณาแก้ไขให้ร่างรัฐธรรมนูญให้สมบูรณ์เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการออกเสียงประชามติในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2559 โดย สนช.มีข้อเสนอหลายประเด็นที่น่าสนใจ
ส.ส.คิดคะแนนแบบเยอรมัน เลือกตั้งแบ่งเขต ใช้เขตใหญ่เรียงเบอร์
สนช.เสนอว่าควรใช้ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม (Mixed Member Proportional : MMP) หรือระบบเยอรมัน จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ไม่น้อยกว่า 500 คน โดยให้มาจากแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 350 คน และบัญชีรายชื่อไม่น้อยกว่า 150 คน กำหนดให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ
สำหรับการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต สนช.เสนอให้เป็นแบบเขตใหญ่เรียงเบอร์ (3 คน : 1 เขต) เพราะการกำหนดเขตเลือกตั้งขนาดใหญ่จะทำให้การซื้อสิทธิขายเสียงเป็นไปได้ยาก ทำให้ผู้มีอิทธิพลไม่สามารถควบคุมการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของประชาชนได้
ส.ว.สรรหาทั้งหมด มีอำนาจถอดถอน
สนช.เสนอให้วุฒิสภา (ส.ว.) มีจำนวน 200 คน วาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี ดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินหนึ่งวาระไม่ได้ โดยมีที่มาจากการสรรหาทั้งหมด การสรรหาจะมีคณะกรรมมาการสรรหา ซึ่งประกอบด้วยผู้นำองค์กรตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย และยังคงมีอำนาจหน้าที่ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง
สำหรับเหตุผลที่ให้ ส.ว.มาจากสรรหาทั้งหมด เนื่องจากจะทำให้ได้ผู้ทรงคุณวุฒิ มีความรู้ มีประสบการณ์ มีความเป็นกลาง มีความเป็นอิสระในการทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย และตรวจสอบถ่วงดุลการดำเนินงานของ ส.ส.และรัฐบาล
ให้สภาผู้แทนฯ เลือกนายก คนนอกก็เป็นได้
สนช.เสนอให้สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจให้ความเห็นชอบบุคคลที่สมควรดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตามหากพรรคการเมืองเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งก็จะเป็นจุดอ่อนให้พรรคการเมืองอื่นโจมตีได้ว่าไม่เป็นประชาธิปไตย
ศาลรัฐธรรมนูญเรียกประชุม ผบ.เหล่าทัพในสถานการณ์วิกฤติ
สนช.เสนอว่าต้องมีกลไกเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติ ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายกำหนด หรือในกรณีที่สถาบันทางการเมืองไม่สามารถใช้อำนาจรัฐหรืออำนาจบริหารประเทศได้
ข้อเสนอคือกำหนดให้รัฐสภาหรือวุฒิสภาในกรณีที่ไม่มี ส.ส.หรือมีแต่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าได้ มีอำนาจวินิจฉัยว่า สถานการณ์ใดที่จะถือว่าเป็นวิกฤติของประเทศ หากรัฐสภาหรือ ส.ว.วินิจฉัยว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นวิกฤติ ให้เป็นอำนาจประธานศาลรัฐธรรมนูญในการเรียกประชุมร่วมกันของผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้บัญชาตำรวจแห่งชาติ ประธานองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ปลัดกระทรวงกลาโหม และบุคคลอื่นใดตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ให้ที่ประชุมดังกล่าวมีอำนาจในการบริหารจัดการสถานการณ์เพื่อให้กลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว
ให้ คสช. ครม. สนช.ลาออกก่อนสมัคร ส.ว./ส.ส. เป็นการจำกัดสิทธิ
สนช. ตั้งข้อสังเกตว่าการที่ร่างรัฐธรรมนูญให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จะลงสมัคร ส.ส. หรือ ส.ว. ได้ต้องพ้นจากตำแหน่งดังกล่าวภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญใช้บังคับ การมีบทบัญญัติเช่นนี้ถือเป็นการจำกัดสิทธิในการสู่ตำแหน่งทางการเมืองของบุคคลดังกล่าวหรือไม่
เวลาในการพิจารณากฎหมายประกอบ รธน. ของ สนช.เร่งรัดเกินไป
สนช.เห็นว่าการกำหนดกรอบเวลาในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญของ สนช.ตามบทเฉพาะกาล ให้พิจารณาให้เสร็จภายใน 60 วันนับตั้งแต่ได้รับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ เป็นเวลาที่เร่งรัดเกินไปและขัดกับสภาพข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติของ สนช.เนื่องจากในการพิจารณาแต่ละฉบับต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรในการพิจารณาเนื้อหาอย่างละเอียดรอบคอบ อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของ สนช.
ไฟล์แนบ