ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข: เว็บไซต์ประชามติ=ภาคประชาชนที่นับได้

เมื่อมีการรัฐประหาร ผลผลิตที่ต้องเกิดอย่างแน่นอนคือ “รัฐธรรมนูญ” ผู้สนับสนุนการรัฐประหารอาจมองการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ในแง่ดีว่าคือ “ยารักษาโรค” แต่ก็ยังมีคนที่เห็นต่างที่มองว่า ผลผลิตเหล่านี้อาจจะเป็น “ผลไม้พิษ” สำหรับสังคมไทย ทำให้เว็บไซต์ประชามติ (prachamati.org) ถือโอกาสเปิดพื้นที่ให้ “คนที่ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย” ได้สานเสวนา และแลกเปลี่ยนมุมมองกัน โดยใช้พื้นที่ของเว็บไซต์เป็นสนามในการนำเสนอประเด็น การให้ข้อมูลข้อเท็จจริง และโน้มนาวให้คนหันมาเห็นด้วยกับจุดยืนของตนเองได้ตลอดเวลา

ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองตลอดปี 2558 ที่ผ่านมา มีหลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมไทย ทำให้เว็บไซต์ประชามติต้องปรับตัวตามสถานการณ์อยู่ตลอด ดังนั้น เมื่อขึ้นปีใหม่จึงเป็นโอกาสดีที่จะให้ ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการบริหารสำนักข่าวประชาไท และในฐานะหนึ่งในผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ประชามติ ได้อธิบาย อุปสรรค ความท้าทาย และเป้าหมายการทำงานในอนาคตของเว็บไซต์ประชามติ

โจทย์เปลี่ยนเว็บประชามติต้องปรับตัว จากเว็บรณรงค์ประชามติไปสู่เว็บจับตาร่างรัฐธรรมนูญ

บรรณาธิการบริหารสำนักข่าวประชาไท เล่าว่า จุดเริ่มต้นของเว็บประชามติคือ ความพยายามที่จะทำให้สื่อทางเลือกร่วมกันขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมและรัฐธรรมนูญท่ามกลางการมีส่วนร่วมที่มีอยู่อย่างจำกัด อีกทั้ง เว็บไซต์ยังคาดหวังว่าจะเป็นพื้นที่ให้คนถกเถียงกันโดยใช้หลักฐานอ้างอิง มีความรู้ข้อมูลสนับสนุน รวมถึงได้แสดงจุดยืนของตนเอง เนื่องจากการไปชุมนุมทำไม่ได้ อย่างไรก็ตามการรวมตัวดังกล่าวก็มีจุดอ่อนที่สำคัญประการหนึ่งคือ “ขาดผู้รับผิดชอบหลัก” ทำให้ผลงานของประชามติที่ผ่านมายังไม่เข้ารูปเข้ารอยกับศักยภาพที่มี 

อีกทั้ง เว็บจำเป็นต้องปรับตัวเองจากจุดประสงค์เดิมที่เริ่มต้นต้องการกดดันให้มีการลงประชามติ แต่เมื่อ คสช. และรัฐบาลตัดสินใจแก้ไขรัฐธรรมชั่วคราวให้มีการลงประชามติ ทำให้เว็บต้องมาติดตามความเคลื่อนไหวประเด็นในร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็มีข้อผูกมัดที่เพิ่มขึ้นมา นั้นก็คือ ต้องอาศัยความเร็วในการติดตามประเด็นร่างรัฐธรรมนูญ และความรวดเร็วแบบนั้นก็ยังไม่เหมาะกับการรวมตัวแบบหลวมๆ ของโครงสร้างองค์กรในเว็บประชามติ

นอกจากนี้ ข้อจำกัดในการทำงานอีกประเด็นหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เมื่อเว็บไซต์ประชามติต้องมาเกาะกระแสในร่างรัฐธรรมนูญ จากเว็บที่ต้องการกดดันก็กลายเป็นเพียงเว็บสำหรับการลงคะแนน ซึ่งคนไม่ได้ต้องการอ่านเนื้อหาสาระสำคัญ แต่ต้องการลงคะแนนโหวตเลย ดังนั้นรูปแบบเว็บไซต์จึงสร้างความยุ่งยากในการใช้งาน เพราะถ้าเป็นแอพพลิเคชั่นหรือโหวตในเฟสบุ๊กอาจจะสะดวกหรือได้รับความนิยมมากกว่า อย่างที่องค์กรชื่อว่า One Poll กำลังทำอยู่ เป็นต้น

พอแป๊ะคว่ำเรือ โจทย์สังคมเปลี่ยน “ผู้มีอำนาจ” กลายเป็นปัญหามากกว่า “ร่างรัฐธรรมนูญ”

ชูวัส กล่าวว่า บรรยากาศทางการเมืองมีผลต่อการทำงาน เพราะการนำเสนอในบางประเด็นเป็นไปได้ยากและมีความสุ่มเสี่ยงต่อการปิดกั้นจากรัฐ แต่ถึงอย่างนั้น ก็หาใช่ไม่เหลือพื้นที่ในการแสดงออกเลย ทำให้เว็บไซต์ประชามติไม่ได้รับแรงต้านจากรัฐมากนัก ผิดไปกลับการเคลื่อนไหวที่มีทิศทางและแหลมคมอย่าง กลุ่มพลเมืองโต้กลับ หรือ กลุ่มประชาธิปไตยใหม่ แต่กลุ่มเหล่านี้ก็ยังไม่ได้รับการตอบสนองจากคนทั่วไปเท่าที่ควร คนยังคงรอคอยและประเมินสถานการณ์ภายใต้กรอบที่ คสช. วางไว้ 

อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์เกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญค่อนข้างจะเงียบเหงา เพราะกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “มีชัย” อำนาจการตัดสินใจทั้งหมดไปอยู่ที่ คสช. แม้จะเป็นกระบวนการร่างที่ไม่ได้แตกต่างกันในข้อเท็จจริง แต่คนมีความรู้สึกที่แตกต่าง คนรู้สึกว่าโร็ดแมปทั้งหมดขึ้นอยู่กับ คสช. ไม่ว่าจะสั้นหรือยาว จะมากน้อยเพียงใด จะเอาอย่างไร จะร่างอย่างไร หรือกล่าวอย่างง่ายว่า อนาคตไม่ได้อยู่ที่ร่างรัฐธรรมนูญแล้ว คนชี้เป็นชี้ตายคือ คสช. และสภาวะแบบนี้คนก็เลยยิ่งเบื่อหน่าย

ชูวัส วิเคราะห์ให้ฟังอีกว่า ด้วยสถานการณ์แบบนี้ คนจึงมองจุดของปัญหาเปลี่ยนจากตอนแรกที่มองว่า “ร่างรัฐธรรมนูญ” คือปัญหา แต่เมื่อกรอบระยะเวลาเปลี่ยน คนก็เห็นว่า “คสช.” เป็นปัญหามากกว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองจึงเป็นไปเพื่อชี้จุดบกพร่องในการทำงานของ คสช.

การเปิดพื้นที่ให้กับประเด็นเฉพาะ เป็นความท้าทายใหม่สำหรับเว็บประชามติ 

จากการเปิดประเด็นให้คนเข้ามาลงคะแนนทำให้พบว่า คนสนใจเรื่อง “กัญชาควรถูกกฎหมายหรือไม่” จำนวนมาก ซึ่ง “ชูวัส” มองว่า นี่คือความท้าทายที่น่าสนใจประการหนึ่งของเว็บประชามติ เพราะประเด็นเหล่านี้ยังขาดพื้นที่ทางสังคมให้คนแสดงออก เป็นประเด็นเฉพาะกลุ่มที่มีคนสนใจ ดังนั้น เมื่อมีการเปิดพื้นที่ให้กับประเด็นที่อ่อนไหวต่อสังคมสูงก็อาจจะทำให้เว็บได้รับความนิยมตามไปด้วย และนี่อาจจะเป็นแนวทางที่ดีสำหรับประชามติในอนาคต เช่น การเปิดประเด็นที่ประเทศอื่นมีแต่เรายังไม่มี แต่การหันไปจับประเด็นเฉพาะก็มีข้อจำกัด เช่น หากเป็นประเด็นที่อ่อนไหวก็มีความเสี่ยงตามมาด้วย

“แต่มันก็เป็นความเสี่ยงที่น่าลองสำหรับเว็บประชามติ หากยังต้องการเป็นที่รู้จักในสังคมหรือเป็นที่พึ่งได้ เว็บจำเป็นต้องเคลื่อนไหวในประเด็นที่ใกล้เคียงกับกัญชาอีก เพราะสิ่งเหล่านี้ยังจำเป็นต้องหาคนมาเปิดพื้นที่ให้ แต่ทั้งนี้ ประเด็นก็ต้องมีความแหลมคมที่มากพอ” ชูวัส ขยายความโอกาสในการทำงานในอนาคต 

นอกจากนี้ ชูวัส ยังแนะนำอีกว่า การนำเสนอข้อมูลหรือให้คนเข้ามามีส่วนร่วมการจะพึ่งพาแต่เว็บไซต์รูปแบบเดียวอาจจะไม่เพียงพอ เว็บไซต์ยังจำเป็นต้องหาเครือข่ายมาเพิ่มเติมในการขยายหรือส่งต่อประเด็น

เว็บไซต์ประชามติ ต้องเป็นกลไกทางประชาธิปไตย และภาคประชาชนที่นับได้

ทั้งนี้ ชูวัส มองว่า ถ้าเว็บไซต์ประชามติสามารถจัดวางที่ทางของเว็บไซต์ให้ชัด ตัวเว็บไซต์จะมีความสำคัญต่อสังคมไทยและเป็นกลไกประชาธิปไตยที่สำคัญอย่างหนึ่ง เนื่องจากประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมได้จริงๆ บอกได้จริงๆ อ้างอิงได้ว่ามีประชาชนจำนวนเท่าไร ซึ่งที่ผ่านมา นอกจากการเลือกตั้งแล้ว สังคมไทยยังขาดกลไกที่สะท้อนมติของประชาชน เพราะเอ็นจีโอหรือภาคประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวก็ยังขาดฐานที่ชัดเจนแน่นอนว่า เป็นตัวแทนของคนกลุ่มไหน จำนวนเท่าไร

บรรณาธิการบริหารประชาไท ปิดท้ายว่า นี่คือโอกาสที่สำคัญสำหรับเว็บประชามติ ที่จะเป็นได้มากกว่าการทำโพล หรือกลุ่มเอ็นจีโอที่อ้างว่าเป็นตัวแทนของประชาชนส่วนใหญ่ ดังนั้น เว็บไซต์ประชามติต้องผันตัวเองเป็นภาคประชาชนที่นับได้

ควรถามประชาชนว่า ถ้าประชามติไม่ผ่านจะเอาอย่างไร เพื่อไม่ให้ คสช.ผูกขาดการตีความ 

ชูวัส คิดว่า ผลการสำรวจความคิดเห็นว่า “ถ้าประชามติไม่ผ่านควรทำอย่างไร” สามารถหยิบยกมาเป็นประเด็นอีกครั้งหนึ่งได้ หรือจะทำการสำรวจความเห็นอีกครั้งก็ไม่เสียหาย เพราะสถานการณ์ทางการเมืองที่เคยทำการสำรวจในอดีตกับปัจจุบันก็มีความแตกต่างกัน จะได้เป็นเครื่องสะท้อนว่าประชาชนมีความคิดเห็นอย่างไร และอะไรเป็นปัจจัยต่อการเลือกไม่เลือกแนวทางไหน หากนำอดีตกับปัจจุบันมาเปรียบเทียบกัน

นอกจากนี้ ชูวัส มองว่า มีประเด็นที่จำเป็นจะต้องพิจารณาหลายอย่างและต้องทำให้ชัดเจนโดยรัฐ เช่น วิธีการนับคะแนน เพราะสิ่งเหล่านี้สำคัญต่อการตัดสินใจว่า คนจะออกไปลงประชามติหรือไม่ ดังนั้น ถ้าตีความการนับคะแนนประชามติจาก “ผู้มีสิทธิ” ในการลงประชามติทั้งหมด คนอาจจะไม่ออกไปลงประชามติ เพราะการไม่ไปลงประชามติสะท้อนว่า “ไม่ยอมรับกระบวนการของ คสช.” แต่ถ้าตีความการนับคะแนนประชามติจาก “ผู้ไปใช้สิทธิ” ในการลงประชามติทั้งหมด การไปลงประชามติอาจจะมีความหมายมากกว่า

ชูวัส มองว่า นี่ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ประชามติอาจจะหยิบมาเป็นประเด็นโหวตได้ ว่าการนับคะแนนประชามติควรจะมีเงื่อนไขอย่างไร และต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวอย่างไร เพื่อไม่ให้อำนาจการตีความตกอยู่ที่ คสช. อยู่ฝ่ายเดียว

การจับตาร่างรัฐธรรมนูญยังเป็นสิ่งจำเป็นที่เว็บไซต์ประชามติควรจะทำ แม้จะเงียบเหงาก็ตาม

ถึงแม้เงื่อนไขและปัญหาอาจจะเปลี่ยนไปอยู่ที่ผู้มีอำนาจ แต่ทว่า การจับตาร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่สามารถปล่อยผ่านไปได้ ซึ่ง ชูวัส มองว่า เว็บไซต์ประชามติควรต้องจับตาเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญให้มากขึ้น เพื่อดูว่า คสช. จะซ่อนเร้นอะไรไว้ในร่างรัฐธรรมนูญบ้าง แม้ว่าต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคหลายประการเพื่อให้คนหันมาสนใจ และบอกไม่ได้ว่าคนจะให้ความสำคัญกับสิ่งที่เว็บจะทำหรือไม่ แต่อย่างไรก็ต้องทำ 

อีกทั้ง ภายใต้กระแสที่เงียบเหงากับการร่างรัฐธรรมนูญเช่นนี้ จึงต้องออกแรงให้มากขึ้น ทำข้อมูลเนื้อหาให้น่าสนใจมากขึ้น เพื่อสะท้อนว่า คสช. ได้วางรากฐานไว้ในร่างรัฐธรรมนูญแล้วส่งผลให้สังคมไทยในอนาคตจะเกิดปัญหาอย่างไร ซึ่งสิ่งนี้จำเป็นมากกว่ากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “บวรศักดิ์” ที่คนให้ความสนใจมากกว่าในตอนนี้เสียอีก