กฎหมายใหม่ ให้ดูแลผู้ต้องขังตั้งครรภ์เต็มที่ – เพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่สกัดกั้นสื่อสาร

กระทรวงยุติธรรมเสนอปรับปรุงแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการกักขังตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2506 หลายประเด็น เช่น การใช้เครื่องพันธนาการแก่ผู้ต้องกักขังเฉพาะกรณีที่จำเป็น การให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบจดหมาย เอกสาร และสกัดกั้นการสื่อสาร การกำหนดมาตรการดูแลช่วยเหลือผู้ต้องกักขังหญิงที่ตั้งครรภ์ รวมถึงการเพิ่มโทษสำหรับผู้ที่กระทำผิดต่อสถานที่กักขัง เป็นต้น 
เหตุผลสำคัญในการร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เนื่องจาก พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการกักขังตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2506 บังคับใช้มานานแล้ว และเพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องกักขังหญิงในเรือนจำและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิงจึงสมควรปรับปรุงให้เข้ากับหลักสิทธิมนุษยชน โดยวันที่ 19 พฤศจิกายน 2558 ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ประกาศเป็นกฎหมายแล้ว มีสาระสำคัญดังนี้
 
เครื่องพันธนาการใช้ได้ หากผู้ต้องกักขังอาจทำอันตรายต่อชีวิตของตนเองหรือผู้อื่น
ห้ามใช้เครื่องพันธนาการแก่ผู้ต้องกักขัง ยกเว้น ผู้ต้องกักขังมีพฤติการณ์ที่จะทำอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายของตนเองหรือผู้อื่น หรือผู้ที่มีอาการส่อว่าเป็นบุคคลวิกลจริตที่อาจทำอันตรายต่อชีวิตตนเองหรือผู้อื่น รวมถึงเมื่อถูกควบคุมตัวไปนอกสถานที่และมีพฤติการณ์จะหลบหนี  เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ต้องขังที่มีปัญหาสุขภาพจิตทำร้ายตัวเองและผู้อื่น และป้องกันการหลบหนี อย่างไรก็ตามการใช้เครื่องพันธนาการต้องคำนึงผู้ต้องกักขังที่พิการ ทั้งนี้ ต้องไม่ใช้ตรวนหรือเครื่องพันธนาการที่หนักกว่า
เจ้าหน้าที่มีอำนาจตรวจสอบจดหมาย เอกสาร และสกัดกั้นการสื่อสาร 
พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจตรวจสอบจดหมาย เอกสาร พัสดุภัณฑ์ หรือสิ่งสื่อสารอื่น หรือสกัดกั้นการติดต่อสื่อสารทางโทรคมนาคมหรือโดยทางใดๆ ที่มีถึงผู้ต้องกักขัง เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ป้องกันเหตุร้ายและรักษาความสงบเรียบร้อยของสถานที่กักขัง หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เพราะที่ผ่านมามีปัญหาการใช้โทรศัพท์มือถือติดต่อสั่งการให้กระทำความผิด
ผู้กักขังหญิงที่ตั้งครรภ์ต้องได้รับการช่วยเหลือเต็มที่ ห้ามขัดขวางการดูแลและให้นมบุตร
ผู้ต้องกักหญิงที่ตั้งครรภ์ต้องได้รับการช่วยเหลือดูแลทางการแพทย์ที่เหมาะสม โดยให้ออกไปฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลในท้องที่ที่สถานกักขังตั้งอยู่  และพิจารณาอนุญาตให้ออกไปคลอดบุตรได้ตามความจำเป็น เมื่อคลอดแล้วให้พักรักษาตัวไม่เกิน 7 วันนับแต่วันคลอด ถ้าจำเป็นต้องพักรักษานานกว่านี้ให้เสนอความเห็นแพทย์ที่ทำคลอดเพื่อขออนุญาตหัวหน้าบังคับบัญชาสถานที่กักขัง
โดยนับระยะเวลาที่อยู่นอกสถานที่กักขังเป็นระยะเวลากักขังด้วย แต่ถ้าระยะเวลากักขังของผู้ต้องกักขังหญิงสิ้นสุดระหว่างการคลอดและพักรักษาตัว ให้ปล่อยตัวผู้ต้องกักขังไป
นอกจากนี้ สถานที่กักขังต้องจัดให้ผู้ต้องกักขังหญิงที่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรได้รับคำแนะนำด้านสุขภาพและโภชนาการ โดยต้องจัดอาหารให้เพียงพอและในเวลาที่เหมาะสมกับผู้ต้องกักขังหญิงที่ตั้งครรภ์ ทารก เด็ก และมารดาที่ให้นมบุตร ทั้งนี้ ต้องไม่ขัดขวางการให้นมบุตรและการดูแลบุตร เว้นแต่มีปัญหาสุขภาพ
ที่มาภาพ: spaceodissey
 
เพิ่มโทษผู้ไม่มารายงานตัว หลังได้ปล่อยตัวชั่วคราวจากเหตุฉุกเฉิน 
เพิ่มโทษให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน ในกรณีที่มีเหตุอันอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตหรือความปลอดภัยของผู้ต้องกักขัง เช่น ไฟไหม้ ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่สามารถย้ายผู้ต้องกักขังไปไว้ที่อื่นได้ทันท่วงที จะปล่อยผู้ต้องกักขังชั่วคราวก็ได้ แต่ต้องกลับมารายงานตัวที่สถานกักขังภายใน 24 ชั่วโมง ถ้าผู้ต้องกักขังไม่มารายงานตัวโดยไม่มีข้อแก้ตัวอันสมควร  มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จากเดิมจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ปรับองค์ประกอบความผิด ให้ครอบคลุมการทำผิดในสถานที่กักขัง 
ปรับปรุงองค์ประกอบความผิดต่อสถานที่กักขัง โดยผู้ใดที่กระทำการต่อไปนี้ 
– เข้าไปในสถานกักขังโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ (ยกเว้นผู้ต้องกักขัง)
– นำเข้าหรือให้ออกซึ่งเงินหรือสิ่งของต้องห้ามจากสถานที่กักขัง
– ครอบครองหรือใช้ ซึ่งเงินหรือสิ่งของต้องห้ามในสถานที่กักขัง
– รับหรือส่งมอบเงินหรือสิ่งของต้องห้ามแก่ผู้ต้องกักขัง
ผู้ที่กระทำการข้างต้นจะได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเพิ่มจากโทษเดิมคือ จำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
ถ้าผู้ทำผิดเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเป็นข้าราชการกรมราชทัณฑ์ให้ลงโทษทวีคูณ ส่วนเงินและสิ่งของต้องห้ามให้ริบทั้งหมด
ถ้าผู้ต้องกักขังทำผิดลหุโทษ เจ้าหน้าที่มีอำนาจลงโทษได้
กรณีผู้ต้องกักขังแทนค่าปรับได้กระทำความผิดอาญาขึ้นภายในสถานที่กักขังซึ่งเป็นความผิดลหุโทษ เช่น ทะเลาะวิวาท ข่มขู่ผู้ต้องกักขังอื่น ให้เจ้าหน้าที่พนักงานที่เป็นหัวหน้าบังคับบัญชาสถานที่กักขังมีอำนาจวินิจฉัยลงโทษฐานผิดวินัยผู้ต้องกักขังได้  โดยให้แสดงเหตุผลประกอบการวินิจฉัยสั่งการด้วย และเมื่อมีการลงโทษฐานผิดวินัยแล้ว ให้คดีอาญานั้นเป็นอันเลิกกัน
ไฟล์แนบ