ใช้ ม.44 ยุบกก.ประกันสังคม ยกเลิกการเลือกตั้ง และตั้งกก.ชุดใหม่ทันที…เป็นการปฏิรูปจริงหรือ?

โดย สุนี ไชยรส
จากคำสั่งคสช.40/2558 ใช้อำนาจ ม.44 แบบสายฟ้าแลบเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2558 สั่งยุบ กก.ประกันสังคมปัจจุบัน รวมทั้ง ที่ปรึกษา กก.การแพทย์ และ กก.กองทุนเงินทดแทน โดยอ้างว่าเพื่อการปฏิรูปประกันสังคม ให้โปร่งใส มีธรรมาภิบาล และเกิดประโยชน์สูงสุด และอ้างว่าเป็นข้อเรียกร้องของขบวนแรงงานด้วย
ในขณะที่ กม.ประกันสังคม เพิ่งแก้ไขใหม่ และจะมีการเลือกตั้ง กก.ประกันสังคม จากผู้แทนผู้ประกันตน และการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิ ในเดือนเมษายน 2559 ซึ่งเป็นข้อเสนอที่สำคัญหนึ่งของขบวนผู้ประกันตนทั้งในระบบและนอกระบบ
คำสั่งคสช.นี้ ให้ยกเลิกการเลือกตั้งและการสรรหาทั้งหมด พร้อมกับแต่งตั้งคณะกรรมการสามชุดขึ้นใหม่ให้มีเวลา 2 ปีแทน ทำให้เกิดความสงสัยว่า คสช.เข้าใจปัญหาและทิศทางการปฏิรูประบบประกันสังคม จริงหรือไม่
ปัญหาความไม่โปร่งใส การมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่จำกัดอยู่กับส่วนราชการ และการไม่มีผู้แทนผู้ประกันตนอย่างจริงจังและทั่วถึง เป็นเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ และเรียกร้องจากผู้ประกันตนซึ่งมีกว่า 10 ล้านคน มายาวนานหลายปี เพราะนโยบายและการจัดการยังไม่ตอบสนองสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนได้ดีพอ เงินกองทุนมีถึงกว่า 1 ล้านล้านบาท แต่ขาดระบบตรวจสอบที่เข้มแข็งและ…..จนมีการเสนอร่างกม.เข้าชื่อฉบับบูรณาการของขบวนคนทำงาน เสนอต่อรัฐบาลตั้งแต่รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ และเมื่อนำร่างกม.ของรัฐบาลเข้าสภา มติเสียงส่วนใหญ่จากรัฐบาล ก็มีมติไม่รับหลักการร่างกม.เข้าชื่อของผู้ประกันตน
รัฐบาลปัจจุบันนำร่างกม.ประกันสังคมฉบับแก้ไขเข้าสภาพิจารณาต่อ มีข้อเสนอจากขบวนผู้ประกันตนให้นำร่างกม.เข้าชื่อของประชาชนมาพิจารณาประกอบด้วย เพื่อการปฏิรูประบบประกันสังคมอย่างแท้จริง แต่ไม่ได้รับความสนใจ …เท่ากับพลาดโอกาสในการรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงและร่วมมือกันปฏิรูประบบประกันสังคมอย่างจริงจัง…
อย่างไรก็ตาม กม.ใหม่ที่ผ่านสภาก็ยังเป็นความหวังเบื้องต้นของผู้ประกันตน ที่จะต้องมีการเลือกตั้งผู้แทนผู้ประกันตน และฝ่ายนายจ้าง เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปกม.และโครงสร้างของกองทุนประกันสังคมในโอกาสต่อไป โดยเฉพาะการทำให้โครงสร้างของสำนักงานไม่ใช่ส่วนราชการ มีความเป็นอิสระมากขึ้น รวมทั้งมีนักลงทุนมืออาชีพมาบริหารกองทุน มีระบบการตรจสอบที่เข้มข้นและโปร่งใส…
การใช้มาตรา 44  แม้อาจจะคิดว่าเป็นความหวังดี และมีผู้แทนลูกจ้างบางคนเข้าร่วมด้วย แต่ได้ทำลายหลักการที่จะมีผู้แทนผู้ประกันตนอย่างโปร่งใส และเป็นที่ยอมรับ เชื่อมั่นของผู้ประกันตน และนายจ้างไป …ทุกอย่างจะหยุดชะงัก ทำลายรากฐานการปฏิรูปอย่างมีส่วนร่วม และไม่สามารถมีหลักประกันได้ว่า การถอยหลังเข้าคลองไปอีกสองปีนี้จะมีหลักประกันอะไรของการปฏิรูป
ทางที่ดีที่สุดคือ ต้องให้กฎหมายประกันสังคมฉบับใหม่เดินหน้าการเลือกตั้งและการสรรหาต่อไป และดียิ่งขึ้นเมื่อรัฐบาลควรดำเนินการแก้ไขกม.ประกันสังคมอีกครั้ง ปฏิรูปโครงสร้างสำนักงานและกองทุนประกันสังคมไปสู่ความเป็นอิสระจากส่วนราชการ และนักการเมือง โดยการมีส่วนร่วมคิดของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง