ร่างกฎหมายใหม่ คุมเข้ม “ธุรกิจรักษาความปลอดภัย” ต้องจบม.3, ต่างด้าว-เคยทำผิดทางเพศ ห้ามเป็นรปภ.

6 สิงหาคม 2558 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ผ่าน ร่างพระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัย โดยมีมติเห็นสมควรประกาศใช้เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนน 172 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง และงดออกเสียง 5 เสียง กฎหมายฉบับนี้มุ่งกำหนดมาตรฐานของธุรกิจรักษาความปลอดภัย และมาตรฐานของพนักงานรักษาความปลอดภัยเพื่อประโยชน์แก่ผู้ใช้บริการ
ร่างพ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย กำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยจะต้องขอรับใบอนุญาต และจะต้องจัดตั้งในรูปบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด รวมทั้งกำหนดคุณสมบัติของพนักงานรักษาความปลอดภัย และหน้าที่ของพนักงานรักษาความปลอดภัยในการช่วยเหลือพนักงานฝ่ายปกครองและตำรวจ
นิยาม “ ธุรกิจรักษาความปลอดภัย ” ที่กฎหมายใหม่กำหนด
เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าธุรกิจใดที่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายฉบับนี้ จึงต้องกำหนดนิยามขึ้นว่า “ธุรกิจรักษาความปลอดภัย” หมายความถึง ธุรกิจการให้บริการรักษาความปลอดภัย โดยจัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาต ทำหน้าที่คุ้มครองความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคล แต่ไม่รวมถึงการให้บริการรักษาความปลอดภัยโดยหน่วยงานของรัฐ
นอกจากนี้ ยังมีนิยามอื่นๆที่กฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดไว้ เช่น “พนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาต” หมายถึง ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาต และ “บริษัทรักษาความปลอดภัย” หมายถึง บริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัย
ให้มีคณะกรรมการกำกับธุรกิจรักษาความปลอดภัย
ตามกฎหมายฉบับนี้ กำหนดให้มีคณะกรรมการกำกับธุรกิจรักษาความปลอดภัย ประกอบด้วย
1. ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานกรรมการ
2. อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม ผู้บัญชาการศูนย์รักษาความปลอดภัย และผู้อำนวยการองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง จำนวน 6 คน
3. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง จำนวน 6 คน
4. ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเป็นกรรมการ และเลขานุการ
คณะกรรมการชุดนี้ มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบาย และมาตรการเกี่ยวกับการส่งเสริมและกำกับดูแลธุรกิจรักษาความปลอดภัย เพื่อให้นายทะเบียนรับไปปฏิบัติ เสนอความเห็นต่อนายกรัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวง ออกระเบียบกำหนดมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยที่บริษัทรักษาความปลอดภัยต้องปฏิบัติ และออกประกาศกำหนดเครื่องหมายของพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาต รวมถึงพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียน
บริษัทรปภ. ต้องได้รับใบอนุญาตจากตำรวจ และต้องเป็นบริษัทสัญชาติไทย
ผู้ประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยต้องเป็นบริษัท และต้องได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยจากนายทะเบียน ซึ่งผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเป็นนายทะเบียนกลาง และผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเป็นนายทะเบียนจังหวัด โดยใบอนุญาตประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยมีอายุ 4 ปี 
บริษัทที่จะขอรับใบอนุญาตต้องมีคุณสมบัติ มีผู้มีสัญชาติไทยถือหุ้นเกินกึ่งหนึ่ง และมีกรรมการเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทยเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด และต้องไม่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัย
นอกจากนี้ร่างกฎหมายนี้ยังกำหนดให้ ต้องใช้คำนำหน้าชื่อว่า “บริษัทรักษาความปลอดภัย” จากเดิมที่ใช้ชื่อนำหน้า "บริษัท … จำกัด" หรือ "บริษัท … (มหาชน) จำกัด" เช่นเดียวกับการประกอบธุรกิจทั่วๆ ไป 
รปภ.ทุกคนต้องได้รับใบอนุญาต ต้องมีสัญชาติไทย จบม.3 และไม่เคยทำผิดทางเพศ
ร่างพระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัย กำหนดให้ผู้ที่จะมาทำหน้าที่เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยประจำบริษัทต่างๆ ต้องได้รับใบอนุญาตเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย ใบอนุญาตเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาตนั้น มีอายุ 3 ปี 
โดยผู้จะได้รับใบอนุญาตเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยได้ ต้องมีสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ จบการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 และผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการรักษาความปลอดภัยจากสถานฝึกอบรมที่นายทะเบียนกลางรับรอง ต้องไม่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง หรือติดยาเสพติด ต้องไม่เป็นคนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ต้องไม่เคยถูกคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก สำหรับความผิดเกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน หรือความผิดเกี่ยวกับเพศ เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ หรือพ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปีก่อนวันขอรับใบอนุญาต และไม่ใช่ความผิดเกี่ยวกับเพศตามประมวลกฎหมายอาญา
นอกจากนี้ ในขณะปฏิบัติหน้าที่พนักงานรักษาความปลอดภัยต้องสวมเครื่องแบบ ติดเครื่องหมาย และมีบัตรประจำตัวของบริษัทรักษาความปลอดภัยที่ตนสังกัด
กฎหมายบังคับ “มาตรฐานการรักษาความปลอดภัย” ทุกบริษัทต้องมีเหมือนกัน  
ร่างพระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัย กำหนดให้บริษัทรักษาความปลอดภัย ต้องวางระบบและปฏิบัติให้ได้ตามมาตรฐานกลาง ดังนี้ 
1. การกำกับดูแลและตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานรักษาความปลอดภัย
2. ระบบบันทึกเหตุการณ์ประจำวัน เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยภายในบริเวณที่รับผิดชอบ
3. ศูนย์ประสานงานที่บริษัทรักษาความปลอดภัยจัดให้มีขึ้น เพื่อให้คำแนะนำในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานรักษาความปลอดภัยในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่
4. อุปกรณ์การสื่อสารที่บริษัทรักษาความปลอดภัยจัดให้มีขึ้น เพื่อประโยชน์ในการสื่อสารระหว่างศูนย์ประสานงานกับพนักงานรักษาความปลอดภัยในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่
5. ความรู้เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย และการฝึกทบทวนให้แก่พนักงานรักษาความปลอดภัย ซึ่งบริษัทรักษาความปลอดภัยต้องจัดให้มีขึ้นอย่างสม่ำเสมอ
กำหนดเพิ่ม “หน้าที่” รปภ. ต้องช่วยเหลือตำรวจจับผู้ร้าย
พนักงานรักษาความปลอดภัยที่ได้รับอนุญาต ต้องปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยตามกฎหมาย ดังนี้
1. ช่วยเหลือพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจในการจับกุมผู้กระทำความผิด
2. รักษาความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคล รวมทั้งระงับเหตุและรักษาความสงบเรียบร้อยภายในบริเวณที่รับผิดชอบ
3. เมื่อมีการกระทำความผิดอาญา หรือน่าเชื่อว่ามีเหตุร้ายเกิดขึ้นภายในบริเวณที่รับผิดชอบ ต้องแจ้งเหตุนั้น ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจท้องที่ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ทราบโดยทันที รวมทั้งปิดกั้นและรักษาสถานที่เกิดเหตุให้คงสภาพเดิมไว้ จนกว่าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจผู้มีอำนาจหน้าที่จะเดินทางมาถึงสถานที่เกิดเหตุ
ข้อสังเกตและประเด็นทิ้งท้าย
ร่างกฎหมายธุรกิจรักษาความปลอดภัย เคยถูกเสนอแล้ว
ร่างพ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัยที่เสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นั้น เป็นเรื่องที่เคยผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เมื่อปี 2556 มาแล้ว ซึ่งคณะรัฐมนตรีสมัยนั้น เคยให้ข้อสังเกตไว้ 2-3 ประเด็นหลักๆ โดยได้ส่งไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา และต่อมาทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาแก้ไขร่างพ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย ซึ่งคณะทำงานฯได้มีมติแก้ไขในประเด็นหมวดคณะกรรมการรักษาความปลอดภัย คือ ให้ผู้แทนองค์กรวิชาชีพภาคเอกชนเป็นกรรมการโดยตำแหน่งจำนวน 2 คน เนื่องจากผู้แทนองค์กรมีส่วนได้เสียโดยตรงจึงควรให้ความสำคัญ และยังมีประเด็นเรื่องคุณสมบัติพนักงานรักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับเรื่องการศึกษา ว่าควรอยู่ภาคบังคับแค่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ให้สามารถอ่านออกเขียนได้ก็พอ เพราะแรงงานด้านนี้ยังขาดแคลนอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีการเสนอให้เพิ่มหมวดเกี่ยวกับสวัสดิการหรือกองทุนช่วยเหลือพนักงานรักษาความปลอดภัยด้วย เนื่องจากตามร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว มีเจตนารมณ์ให้พนักงานรักษาความปลอดภัยเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานในการให้ข้อมูลเบาะแสคนร้าย การป้องกันอาชญากรรมช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและตำรวจ
แต่อย่างไรก็ตาม ร่างพ.ร.บ.ฉบับที่เคยผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ได้มีการแก้ไขและผ่านความเห็นชอบของคณะทำงานและรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วนั้น กลับไม่ได้ถูกนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในครั้งนี้
ผู้ที่เคยกระทำผิดทางเพศ ห้ามเป็น รปภ. อย่างเด็ดขาด
พระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัย ได้กำหนดลักษณะต้องห้ามของพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาต (รปภ.) คือ ห้ามผู้ที่เคยกระทำความผิดทางเพศเข้ามาทำหน้าที่ รปภ. อย่างเด็ดขาด แม้จะพ้นโทษแล้วก็ตาม ส่วนความผิดอื่น เช่น คดีความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์สิน ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการพนัน หรือความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด หากพ้นโทษมาแล้ว 3 ปี ก็อาจขอใบอนุญาตเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยได้ 
สำหรับประเด็นผู้ที่เคยกระทำความผิดทางเพศนั้น วัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้อภิปรายไว้ เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า ไม่เห็นด้วยที่จะให้ผู้ต้องโทษในคดีความผิดทางเพศแม้จะพ้นโทษแล้ว เข้ามาทำงานหน้าที่ รปภ. เพราะมีความเสี่ยงและอาจจะกระทบต่อความปลอดภัยและเป็นอันตรายต่อเด็กและผู้หญิง โดยเฉพาะอาชีพนี้ที่มีความใกล้ชิดกับผู้บริโภคที่ต้องการความปลอดภัย ซึ่งในเรื่องดังกล่าวกรรมาธิการพิจารณากฎหมายฉบับนี้ เคยเสนอให้เพิ่มระยะเวลาการพ้นโทษจาก 3 ปี เป็น 5 ปี แต่นายวัลลภก็ยืนยันความเห็นเดิม และในที่สุดกรรมาธิการฯ ยอมแก้ไข โดยไม่ให้ผู้ที่กระทำความผิดทางเพศเข้าทำหน้าที่ รปภ.
ที่มา: ไทยโพสต์
ภาพประกอบ: pixabay
ไฟล์แนบ