ความเห็นทางกฎหมายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตอนที่ 3: ร่างรัฐธรรมนูญไม่สอดคล้องกับอุดมการณ์ประชาธิปไตย

เขียนเมื่อ: 4 กันยายน 2558
ความเดิมตอนที่แล้ว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประการที่ 1  ว่าที่มาและขั้นตอนการยกร่างรัฐธรรมนูญไม่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย และประการที่ 2 คือ ความบกพร่องทางเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ สำหรับตอนนี้จะกล่าวถึง ประการที่ 3 และประการที่ 4 ร่างรัฐธรรมนูญไม่สอดคล้องกับอุดมการณ์รัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตย และคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ
ประการที่ 3 ร่างรัฐธรรมนูญไม่สอดคล้องกับอุดมการณ์รัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตย
อุดมการณ์ของรัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตยวางอยู่บนหลักการที่ว่าอำนาจรัฐทั้งหมดมาจากประชาชน ความเชื่อมั่นในการมีส่วนร่วมทางการปกครองของประชาชน  ดังนั้น องค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐทั้งหลายที่ถูกก่อตั้งโดยรัฐธรรมนูญจะต้องมีจุดเชื่อมโยงกับประชาชนทั้งหมดผ่านการได้รับเลือกตั้งหรือได้รับการแต่งตั้งจากผู้แทนของประชาชน  เพื่อให้การบริหารประเทศ ออกกฎหมายและการตัดสินคดีความเป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน   ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับมุ่งจำกัดการมีส่วนร่วมทางการปกครองของประชาชนและไม่ไว้วางใจต่อการตัดสินใจของประชาชน ผ่านกระบวนการสามขั้นตอน
ขั้นแรก ร่างรัฐธรรมนูญออกแบบระบบทางการเมืองทำให้ผู้แทนประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง อันได้ คณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร ให้ไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองและไร้อำนาจ ผ่านระบบเลือกตั้งที่มุ่งก่อให้เกิดรัฐบาลที่ผสม และกำหนดให้นายกรัฐมนตรีสามารถมาจากบุคคลที่ไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ รวมถึงได้บัญญัติมอบอำนาจด้านบริหารบุคคล แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการอยู่ในอำนาจขององค์กรอื่นที่ไม่มีจุดเชื่อมโยงกับประชาชน อย่าง คณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการพลเมืองโดยระบบคุณธรรม
ขั้นที่สอง ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังได้สร้างขึ้นมาเป็นกลไกในการควบคุมผู้แทนของประชาชนขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง ประกอบด้วยองค์กรรัฐ อย่าง ศาล วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งและองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐซึ่งมีที่มาจากการแต่งตั้งของวุฒิสภา ซึ่งล้วนแต่ก็เป็นองค์กรที่มีปัญหาความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ในการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายและความเหมาะของนโยบายทางการเมืองอย่างเข้มงวด รวมทั้งผ่านการเห็นชอบการเข้าดำรงตำแหน่งและถอนถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นต้น
และขั้นสุดท้าย ในภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดองและบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ออกแบบให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติให้เป็นองค์กรที่ถืออำนาจรัฐเหนือผู้แทนประชาชนในการกำหนดนโยบายการบริหารประเทศและออกกฎหมายโดยอาศัยข้ออ้างในการสานต่อการปฏิรูป รวมทั้งสามารถทำรัฐประหารโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญเพื่อเข้ามาใช้อำนาจบริหาร นิติบัญญัติแทนคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาได้เป็นอำนาจพิเศษในสถานการณ์ฉุกเฉิน
ประการที่ 4 คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ
สภาพปัญหาของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ นอกจากที่กล่าวข้างตนในสาเหตุประการที่ 3 แล้ว  ปัญหาในส่วนเนื้อหาที่มาและอำนาจของคณะกรรมการดังกล่าวยังขัดต่อหลักการประชาธิปไตยและนิติรัฐ ดังนี้
อันดับแรก ที่มาของกรรมการตามมาตรา 260 ในหลายตำแหน่งมีปัญหาเรื่องความชอบธรรมทางประชาธิปไตยในการที่จะใช้อำนาจทางนิติบัญญัติและบริหาร เนื่องจากกรรมการจำนวน 20 คนจาก 22 คน ที่มาจากข้าราชการประจำ อดีตผู้ดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกาที่คัดเลือกกันเองมา ซึ่งหากพิเคราะห์แล้วล้วนแต่เป็นการเข้ามาดำรงตำแหน่งโดยปราศจากจุดเชื่อมโยงจากประชาชน ผ่านการเลือกตั้งหรือได้รับการแต่งตั้งจากผู้แทนประชาชน เช่นเดียวกับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากการแต่งตั้งจากรัฐสภาและกรรมการโดยตำแหน่งอย่างประธานวุฒิสภาก็มีปัญหาบางประการเกี่ยวความชอบธรรมทางประชาธิปไตย เพราะมีส่วนที่ได้รับการแต่งตั้งจากวุฒิสมาชิกจำนวน 123 คนที่มาจากการแต่งตั้งโดยที่ไม่มีจุดเชื่อมโยงกับประชาชนแต่อย่างใด
อันดับที่สอง การใช้อำนาจของคณะกรรมการในสถานการณ์พิเศษตามมาตรา 280 ขัดต่อหลักนิติรัฐ เพราะมีการรวมอำนาจนิติบัญญัติและบริหารเบ็ดเสร็จไว้ให้กับองค์กรเดียวซึ่งถือว่าไม่เป็นไปตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ รวมทั้งร่างรัฐธรรมนูญยังได้รับรองให้การกระทำต่างๆของคณะกรรมการเป็นที่สุด อันชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ อันเป็นการตัดสิทธิบุคคลที่จะฟ้องร้องต่อศาลเพื่อให้ตรวจสอบการกระทำคณะกรรมการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและก่อให้เกิดความเสียหาย ทำให้สิทธิเสรีภาพที่ถูกรับรองไว้ทั้งหมดในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่สามารถเป็นหลักประกันคุ้มครองประชาชนได้จากการใช้อำนาจรัฐได้
โดยสรุป ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ไว้วางใจต่อการตัดสินใจของประชาชน ผ่านกระบวนการสามขั้นตอน ได้แก่ ขั้นแรก ออกแบบระบบทางการเมืองทำให้ผู้แทนประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งให้ไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองและไร้อำนาจ ขั้นที่สอง สร้างขึ้นมาเป็นกลไกในการควบคุมผู้แทนของประชาชนขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง เพื่อตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายและความเหมาะของนโยบายทางการเมืองอย่างเข้มงวด และขั้นที่สาม ให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติให้เป็นองค์กรที่ถืออำนาจรัฐเหนือผู้แทนประชาชนในการกำหนดนโยบายการบริหารประเทศและออกกฎหมายโดยอาศัยข้ออ้างในการสานต่อการปฏิรูป
ส่วนคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ที่มาและอำนาจของคณะกรรมการขัดต่อหลักประชาธิปไตยและนิติรัฐ เพราะ เนื่องจากกรรมการจำนวน 20 คนจาก 23 คน ขาดจุดเชื่อมโยงกับประชาชน ผ่านการเลือกตั้งหรือการแต่งตั้งจากผู้แทนประชาชน  รวมถึงการใช้อำนาจของคณะกรรมการในสถานการณ์พิเศษขัดต่อหลักนิติรัฐ เพราะมีการรวมอำนาจนิติบัญญัติและบริหารเบ็ดเสร็จไว้ให้กับองค์กรเดียวและมีการรับรองให้การกระทำของคณะกรรมการเป็นที่สุด อันชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งตัดสิทธิบุคคลที่จะฟ้องร้องต่อศาลเพื่อให้ตรวจสอบการกระทำของคณะกรรมการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและก่อให้เกิดความเสียหาย ทำให้สิทธิเสรีภาพที่ถูกรับรองไว้ไม่สามารถประกันคุ้มครองประชาชนจากการใช้อำนาจรัฐได้
ติดตาม “ความเห็นทางกฎหมายต่อร่างรัฐธรรมนูญของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ฉบับเต็มพร้อมข้อเสนอ” พรุ่งนี้ เวลา 20.15 น. ที่ https://tlhr2014.wordpress.com และ Facebook ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน