ความเห็นศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนต่อร่างรัฐธรรมนูญ: ตอนที่ 1 ที่มาและขั้นตอนการยกร่างรัฐธรรมนูญ

ปัจจุบันความเคลื่อนไหวของร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรดำเนินถึงขั้นตอนที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญยกร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราทั้งฉบับเสร็จสิ้นแล้วและนำร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวเสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อให้พิจารณาเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญต่อไป  ณ ช่วงเวลานี้เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญได้ปรากฏต่อสาธารณชนอย่างเป็นทางการ  โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีความเห็นต่อความไม่ชอบธรรมทางประชาธิปไตยและความบกพร่องทางเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ 4 ประการ ดังนี้
 
ประการที่ 1  ที่มาและขั้นตอนการยกร่างรัฐธรรมนูญไม่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย
ในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนคือฐานความชอบธรรมของการใช้อำนาจรัฐและเป็นผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ รัฐธรรมนูญที่จะถูกร่างและประกาศใช้เป็นกฎเกณฑ์พื้นฐานในการปกครองประเทศจะต้องได้รับการเห็นชอบจากประชาชนและองค์กรที่ใช้อำนาจรัฐปกครองหรือทำการยกร่างรัฐธรรมนูญจะมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยต้องมีความเชื่อมโยงกับประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจรัฐไม่ว่าทางตรง คือได้รับการเลือกตั้งโดยประชาชน หรือทางอ้อม คือได้รับการแต่งตั้งจากตัวแทนของประชาชน แต่ปรากฏว่าที่มาและขั้นตอนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มีปัญหาเรื่องความไม่ชอบธรรมทางประชาธิปไตย ใน 3 ส่วน ได้แก่
1.1 ที่มาของร่างรัฐธรรมนูญเป็นผลโดยตรงมาจากการรัฐประหาร
การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรเป็นผลโดยตรงมาจากการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557โดยคณะข้าราชการทหารและตำรวจนามว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งทำให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 รวมถึงคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนสิ้นสุดลง  ในทางกฎหมายถือว่าการกระทำรัฐประหารเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 และถือว่าเป็นการใช้กำลังเข้าถือครองอำนาจรัฐโดยวิถีทางที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตย   โดยภายหลังการรัฐประหาร คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ก่อตั้งสถาบันการเมืองขึ้นมา 5 สถาบันการเมือง ประกอบด้วยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คณะรัฐมนตรี และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ  ทำหน้าที่ร่วมมือกันปฏิรูปประเทศไทยและทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป ซึ่งคือ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้
1.2 องค์กรที่ยกร่างรัฐธรรมนูญไม่มีจุดเชื่อมโยงกับประชาชน
ขั้นตอนการยกร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย บรรดาองค์กรที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบสภาหรือคณะกรรมาธิการก็ตาม ต้องมีจุดเชื่อมโยงกับประชาชนผ่านการได้รับเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรงหรือได้การแต่งตั้งจากผู้แทนของประชาชน  แต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ได้ออกแบบขั้นตอนการยกร่างรัฐธรรมนูญโดยมีองค์กรที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ดังนี้ ได้แก่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คณะรัฐมนตรีและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ  ซึ่งทั้ง 5 องค์กรที่จัดตั้งขึ้นมาจัดทำรัฐธรรมนูญมีปัญหาความไม่ชอบธรรมทางประชาธิปไตย เพราะไม่มีองค์กรใดมีจุดเชื่อมโยงกลับไปหาประชาชน เนื่องจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นองค์กรที่ถือกำเนิดมาโดยการรัฐประหาร รวมถึงสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่เป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรีและสภาปฏิรูปแห่งชาติต่างก็เป็นองค์กรที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  เช่นเดียวกันกับที่มาคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 36 คน ก็มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ
1.3 ขั้นตอนการยกร่างรัฐธรรมนูญและการประกาศใช้รัฐธรรมนูญไม่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย
ในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนคือผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ดังนั้นการกระบวนการยกร่างและประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ในทางกฎหมายต้องได้รับความยินยอมจากประชาชนโดยตรงผ่านประชามติหรือได้รับความยินยอมจากผู้แทนของประชาชน เช่น รัฐสภาแต่กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ได้แบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอนหลัก ได้แก่
ขั้นตอนที่ 1 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ สภานิติบัญญัติ คณะรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 32 ของรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557
ขั้นตอนที่ 2 สภาปฏิรูปแห่งชาติแสดงความคิดเห็นหรือข้อเสนอในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แก่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 120 วันหลังจากได้รับความเห็นและข้อเสนอแนะ ตามมาตรา 34 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557
ข้อตอนที่ 3 คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเสนอร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำเสร็จต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพื่อให้ความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงยื่นคำขอให้แก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ  ตามมาตรา 36 ของรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว)พุทธศักราช2557
ขั้นตอนที่ 4 เมื่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นตามข้อเสนอและคำขอ  ให้เสนอร่างรัฐธรรมนูญให้สภาปฏิรูปแห่งชาติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ก่อนจะนำไปให้ประชาชนลงประชามติและประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 37 ตามรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557
ในแง่ความชอบธรรมทางประชาธิปไตยของขั้นตอนการยกร่างรัฐธรรมนูญและการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ย่อมพิจารณาได้ว่าการประกาศใช้รัฐธรรมนูญถึงแม้ในทางรูปแบบจะกำหนดขั้นตอนให้ประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจรัฐมีส่วนในการลงประชามติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญจะทำให้ขั้นตอนการยกร่างและประกาศใช้พอมีความชอบธรรมขึ้นมา
แต่หากพิจารณาในทางเนื้อหาจะพบว่าการลงประชามติดังกล่าวมิใช่การลงประชามติในระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากขาดหลักการลงประชามติโดยเสรีเพราะเป็นการลงประชามติภายใต้เงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวไม่ได้มีบทบัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้อย่างชัดเจน ไม่มีระบบที่สามารถคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและมีประกาศหรือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติหลายฉบับที่มีเนื้อหาขัดขวางไม่ให้การใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดและเคลื่อนไหวรณรงค์เพื่อนำเสนอข้อมูลและทางเลือกของประชาชนสามารถกระทำได้ที่ยังบังคับใช้ในบ้านเมืองอยู่
รวมทั้งบุคคลในองค์กรของรัฐอย่าง นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่าไม่อนุญาตให้มีการรณรงค์ไม่รับรัฐธรรมนูญจากฝ่ายการเมือง และกรรมการการเลือกตั้ง ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ได้ระบุว่าไม่มีความจำเป็นที่ต้องยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่อย่างใด
ภายใต้บรรยากาศเช่นนี้จึงไม่เอื้อให้เกิดการเคลื่อนไหวและการรณรงค์เพื่อแสดงความคิดเกี่ยวกับทางเลือกที่หลากหลายในการลงประชามติให้กับประชาชนได้และทำให้การตัดสินใจลงประชามติของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติจึงอยู่ภายใต้ข้อมูลและอิทธิพลจากรัฐเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น
ดังนั้น การลงประชามติเช่นนี้จึงเป็นแต่เพียงขั้นตอนที่รัฐบังคับให้ประชาชนมาเป็นฐานในการสร้างความชอบธรรมให้กับการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเท่านั้น โดยไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะให้เป็นขั้นตอนที่ประชาชนได้แสดงเจตจำนงที่แท้จริงของตนเองแต่อย่างใดด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงส่งผลให้ขั้นตอนการยกร่างรัฐธรรมนูญและการประกาศใช้รัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ไม่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย
โดยสรุปในประการแรก
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นผลโดยตรงจากการรัฐประหาร ในทางกฎหมายถือว่าการกระทำรัฐประหารเป็นความผิดตามกฎหมาย และเป็นการใช้กำลังเข้าถือครองอำนาจรัฐโดยวิถีทางที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตย และในขั้นตอนการยกร่างรัฐธรรมนูญไม่มีความชอบธรรม เนื่องจากองค์กรที่เข้ามามีส่วนร่วมในการยกร่าง ไม่มีองค์กรใดที่มีจุดเชื่อมโยงกับประชาชน รวมถึงขั้นตอนการนำลงประชามติยังขัดกับหลักการลงคะแนนเสียงโดยเสรี
ติดตาม “ตอนที่ 2 ความบกพร่องทางเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ”