รายงานหนึ่งปี สนช. 2/3: การแต่งตั้ง-ถอดถอน

หนึ่งปี สนช. "แต่งตั้ง" 28 ตำแหน่ง สมาชิกสนช.-สปช.-ผู้ช่วย ได้ 6 ตำแหน่ง ส่วน "ถอดถอน" สำเร็จ 4 คน มียิ่งลักษณ์-บุญทรง กรณีจำนำข้าว
+ หนึ่งปี สนช.แต่งตั้ง 28 ตำแหน่ง ไม่เห็นชอบ 1 คน สมาชิกสนช.-สปช.-ผู้ช่วย ได้ 6 ตำแหน่ง
ตลอดหนึ่งปี สนช.พิจารณาบุคคลให้ดำรงตำแหน่งตามบทบัญญัติของกฎหมายไปแล้วอย่างน้อย 28 คน ใน 10 หน่วยงาน สามารถแบ่งเป็นกรณีที่ สนช.ทำหน้าที่ทั้งคัดเลือกและลงมติเอง จำนวน 6 คน และกรณีที่มีคณะกรรมการสรรหาอื่นทำหน้าที่คัดเลือก ส่วน สนช.ทำหน้าที่ลงมติอย่างเดียว จำนวน 22 คน และมีอีก 7 คน ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติฯ ของ สนช.  
ทั้งนี้อำนาจของ สนช.ในการพิจารณาให้บุคคลดำรงตำแหน่งตามบทบัญญัติของ กฎหมาย เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) ฉบับ 2557 มาตรา 6 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา” และข้อบังคับการประชุม สนช. พ.ศ.2557 เรื่องการพิจารณาให้บุคคลดํารงตําแหน่งตามบทบัญญัติของกฎหมาย ซึ่งกำหนดวิธีการพิจารณาบุคคลดำรงตำแหน่งของ สนช. โดยแบ่งได้เป็น 2 กรณี คือ กรณีที่ สนช.สรรหาและลงมติด้วย และ กรณีที่ สนช.ทำหน้าที่ลงมติอย่างเดียว
กรณีที่ สนช.สรรหาและลงมติด้วย
กรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ สนช.สรรหาเอง สนช.จะตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่พิจารณารายชื่อผู้ที่เหมาะสม โดยต้องสรรหารายชื่อมาสองเท่าของจำนวนที่ต้องเลือกจริง และอาจตั้งคณะกรรมาธิการสามัญตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลนั้น ก่อนเสนอรายชื่อให้ที่ประชุม สนช.ลงมติ ซึ่งที่ผ่านมา สนช.พิจารณาด้วยวิธีการนี้ไป 3 หน่วยงาน 
1. กรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ (ก.ต.)
วันที่ 2 ตุลาคม 2557 ที่ประชุม สนช. ลงมติเลือก ‘เมธี ครองแก้ว’ อดีตกรรมการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ‘ปรีชา ชวลิตธำรง’ อดีตตุลาการศาลปกครองสูงสุด เป็นกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ (ก.ต.)
หลัง สนช.ลงมติ ดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา ได้มี หนังสือถึง ประธาน สนช.คัดค้านการแต่งตั้งเมธี ครองแก้ว ระบุว่า ได้รับหนังสือจากทนายความ18 คน คัดค้านการเป็นกรรมการ ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิของ เมธี เนื่องจากเมธีถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาหลายคดี จึงมีคุณสมบัติอันเป็นลักษณะต้องห้าม หรืออาจไม่เหมาะสมทางจริยธรรม หรือไม่เหมาะสมแก่เกียรติ์ของสถาบันตุลาการ
ขณะที่ เมธี ชี้แจงว่า คดีที่ถูกฟ้องเนื่องจากการทำหน้าที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นคดีที่กรรมการป.ป.ช.ทั้งคณะถูกผู้ที่ถูกชี้มูลความผิดฟ้องกลับ ยังไม่มีคดีใดที่ศาลตัดสินว่ากระทำผิด และไม่มีคดีที่ถูกฟ้องอันเนื่องมาจากเรื่องส่วนตัว ทั้ง นี้ เมธี เคยดำรงตำแหน่งกรรมการ ก.ต.ผู้ทรงวุฒิ ในปี 2555 – 2557 และเคยเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ชุดเดียวกับ กล้านรงค์ จันทิก ประธานกรรมาธิการเสนอรายชื่อกรรมการ ก.ต.
2. กรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ (ก.ศป.)
วันที่ 21 มกราคม 2558 ที่ประชุม สนช. ลงมติเลือก ‘ศาสตราจารย์อุดม รัฐอมฤต’ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ‘วีรวิทย์ วิวัฒนวานิช’ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ (ก.ศป.) สำหรับ ศ.อุดม ก่อนหน้านี้ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ชำนาญการประจำตัวสมาชิก สนช.ของ ศ.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
3. กรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ (กอ.)
วันที่ 6 สิงหาคม 2558 ที่ประชุม สนช. ลงมติเลือก ‘ไพรัช วรปาณี’ อดีตกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ (กอ.) และ ‘พล.อ.จิระ โกมุทพงศ์’ อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญ และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็น กรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ สำหรับ ไพรัช วรปาณี นอกจากได้ดำรงตำแหน่งนี้ต่ออีกสมัยหนึ่งแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการกระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ ของ สนช.
กรณีที่ สนช.ทำหน้าที่ลงมติอย่างเดียว
กรณีที่กฎหมายกำหนดให้มีคณะกรรมการสรรหาบุคคลให้ดำรงตำแหน่งตามกฎหมายนั้นๆ เมื่อคณะกรรมการสรรหา ได้รายชื่อบุคคลที่สมควรดำรงตำแหน่งนั้นแล้ว ให้ส่งรายชื่อให้ที่ประชุม สนช. เพื่อลงมติเพื่อเห็นชอบ โดยก่อนหน้านั้น สนช.อาจแต่งตั้งคณะกรรมาธิการสามัญขึ้น เพื่อทําหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลนั้น ก่อนส่งให้ที่ประชุม สนช.ก็ได้ ซึ่งหนึ่งปีที่ผ่านมา สนช.พิจารณาบุคคลด้วยวิธีการนี้ เสร็จสิ้นไป 6 หน่วยงาน และมีอีกหนึ่งหน่วยงานที่อยู่ระหว่าง ให้คณะกรรมาธิการสามัญฯ ทําหน้าที่ตรวจสอบประวัติอยู่ 
1. ผู้ตรวจการแผ่นดิน
การประชุม สนช.เพื่อลงมติเห็นชอบผู้ตรวจการแผ่นดินในหนึ่งปีที่ผ่านมามีจำนวน 3 ครั้ง ครั้งแรก วันที่ 22 ตุลาคม 2557 ที่ประชุม สนช.เห็นชอบให้ พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน แทน พรเพชร วิชิตชลชัย ที่ได้ลาออกจากเพื่อเข้ารับตำแหน่งประธาน สนช. ทั้งนี้ในช่วงที่ พรเพชร ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน พล.อ.วิทวัส ได้ทำงานร่วมกับ พรเพชร ในตำแหน่งที่ปรึกษาผู้ตรวจการแผ่นดิน
สำหรับการประชุม สนช.ครั้งที่สองและสาม เป็นการเห็นชอบผู้ตรวจการแผ่นดินแทน ผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ ที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจาก ครบวาระ โดยการครั้งสอง วันที่ 4 ธันวาคม 2557 ที่ประชุม สนช.ไม่เห็นชอบ ม.ล.ฤทธิเทพ เทวกุล ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา และเป็นอดีตผู้พิพากษาเสียงข้างน้อย ในคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี สุดท้ายการประชุมครั้งที่สาม วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ประชุม สนช.จึงเห็นชอบให้ ‘บูรณ์ ฐาปนดุล’ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน
โดยกรรมการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดิน ประกอบไปด้วย ประธานศาลฎีกา, ประธานศาลปกครอง, ประศาลรัฐธรรมนูญ, ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ, บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือกหนึ่งคน และบุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดคัดเลือกอีกหนึ่งคน
2. คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
วันที่ 27 มิถุนายน 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 71/2557 เรื่อง การสรรหาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กำหนดให้มีคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) รวมสองคณะ คณะละ 7 คน ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือกจำนวนหนึ่งคน และบุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดคัดเลือกอีกจำนวนหนึ่งคน
ต่อมาวันที่ 22 สิงหาคม 2557 ‘คณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน’ ได้พิจารณาคัดเลือก ‘พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส’ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
ต่อจากนั้น ‘คณะกรรมการสรรหากรรมการตรวจเงินแผ่นดิน’ ได้พิจารณาคัดเลือกคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน จำนวน 7 คน ประกอบด้วย
ด้านบัญชี คือ ‘ปิยพันธุ์ นิมมานเหมินท์’ รองปลัดกระทรวงการคลัง และ ‘อุไร ร่มโพธิหยก’ อดีตรองอธิบดีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ด้านกฎหมาย คือ ‘ศาสตราจารย์พิเศษชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม’ อดีตประธานศาลอุทธรณ์ และ ‘สุทธิพล ทวีชัยการ’ อดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านเศรษฐศาสตร์ คือ ‘จิรพร มีหลีสวัสดิ์' อดีตรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ด้านบริหารธุรกิจ คือ ‘กรพจน์ อัศวินวิจิตร’ อดีตผู้อำนวยการธนาคารออมสิน และด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการตรวจเงินแผ่นดิน ‘วิทยา อาคมพิทักษ์’ รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
หลังจากที่คณะกรรมการสรรหาฯ พิจารณาเสร็จแล้ว ตามกระบวนการ คือ ต้องส่งรายชื่อให้ สนช.ตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติฯ และลงมติเห็นชอบ แต่จากการตรวจสอบไม่พบรายงานกระบวนการดังกล่าวในระเบียบวาระการประชุม สนช.ไม่พบการดำเนินการดังกล่าว อย่างไรก็ตามตำแหน่งเหล่านี้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าเป็นที่เรียบร้อย
3. เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
วันที่ 22 ตุลาคม 2557 ที่ประชุม สนช. ลงมติเห็นชอบให้ ‘ดิสทัต โหตระกิตย์’ รองเลขาธิการ คณะกรรมการกฤษฎีกา และสมาชิก สนช. เป็น เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอ โดยการประชุมครั้งนี้ วัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิก สนช. เสนอว่าไม่ต้องตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติฯ เนื่องจากเห็นว่า ดิสทัต เป็น สนช. เห็นผลงานกันอยู่แล้ว ที่ประชุมไม่มีใครคัดค้าน
4. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)
วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ประชุม สนช.ลงมติเห็นชอบกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) จำนวน 9 คน ตามมติคณะรัฐมนตรี และคณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติฯ ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย ‘สมพล เกียรติไพบูลย์’  สมาชิก สนช., ‘รองศาสตราจารย์อติ ไทยานนท์’ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ‘รองศาสตราจารย์ พันตำรวจเอก ทิวลิป เครือมา’ อาจารย์ประจำโรงเรียนนายร้อยตำรวจ, ‘ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ’ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม, ‘พลตำรวจตรี สุเทพ รมยานนท์’ อดีตประธานกรรมการการเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร, ‘พิทยา จินาวัฒน์’ อดีตอธิบดีกรมคุ้งครองสิทธิเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม, ‘ปริญญา หอมเอนก’ ประธาน ACIS Professional Center, ‘พลโท สมร ศรีทันดร’ อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ กองทัพบก และ ‘วันชัย รุจนวงศ์’ อธิบดีอัยการ สำนักงานต่างประเทศ สำนักอัยการสูงสุด
5. กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.)
วันที่ 1 พฤษภาคม 2558 ที่ประชุม สนช.ลงมติเห็นชอบให้ ‘ภิญโญ ทองชัย’ ที่ปรึกษากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) ดำรงตำแหน่งกรรมการ ปปท. ตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอ และ คณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติฯ ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว
6. อัยการสูงสุด
วันที่ 6 สิงหาคม 2558 ที่ประชุม สนช.ลงมติเห็นชอบให้ ‘ร้อยตำรวจตรี พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร’ รองอัยการสูงสุด และสมาชิก สนช. ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) มีมติเลือก และ คณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติฯ ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว
7. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
วันที่ 23 กรกฎาคม 2558 ที่ประชุม สนช.มีมติตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติฯ ของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตามที่ คณะกรรมการสรรหาได้เสนอรายชื่อบุคคลเพื่อรับการสรรหาและคัดเลือก จำนวน 7 คน เข้าสู่การพิจารณาสรรหาของ สนช. ได้แก่ ‘ฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง’ ผู้พิพากษาสมทบ ศาลเยาวชนและครอบครัวสมุทรปราการ, ‘บวร ยสินทร’ ผู้เชี่ยวชาญประจำตัวสมาชิก สนช. ของ พล.อ.กิตติพงษ์ เกษโกวิท, ‘ประกายรัตน์  ต้นธีรวงศ์’ ผู้พิพากษาสมทบ ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง, ‘วัส  ติงสมิตร’ ผู้พากษาอาวุโส ในศาลฎีกา, ‘รองศาสตราจารย์ นพ.ศุภชัย  ถนอมทรัพย์’ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี, ‘สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย’ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ ‘อังคณา นีละไพจิตร’ ซึ่งทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชน
+ หนึ่งปี สนช. งานถอดถอนนักการเมืองไม่ง่าย คะแนนเสียงแกว่ง ตัดสิทธิทางการเมืองสำเร็จ 4 ตำแหน่ง 
ในรอบหนึ่งที่ผ่านมามีบุคคลที่ถูกถอดถอนและตัดสิทธิทางการเมือง จำนวน 4 คน คือ อดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ บุญทรง  เตริยาภิรมย์ และพวกอีก 2 คน ทั้ง 4 คนถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ขณะที่มีกลุ่มอดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 38 คน และประธานสภาอีก 2 คน ไม่ถูกถอดถอน ในคดีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ประเด็นที่มา ส.ว. ขณะที่ยังเหลือคดีการแก้ไขที่มาส.ว.ของอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) อีก 248 คน พิจารณาไม่แล้วเสร็จ
บทบาทของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งเป็นภารกิจที่ถูกสังคมจับตามองอย่างมาก เพราะประเด็นสำคัญคือการถอดถอนนักการเมืองจากการเลือกตั้งและการตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี ในช่วงต้นของการทำงานของ สนช.มีข้อถกเถียงจากภายในและนอก สนช.ว่าควรมีอำนาจการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งหรือไม่ ฝ่ายที่สนับสนุนให้ถอดถอนมองว่ารัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) ฉบับ 2557 ให้ สนช.ทำหน้าที่แทนวุฒิสภา ซึ่งวุฒิสภามีอำนาจถอดถอน สนช.จึงทำหน้าที่นี้ได้ ขณะที่อีกคัดค้านมองว่า รัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) ฯ ไม่ได้ให้อำนาจถอดถอน และรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ก็ถูกยกเลิก อำนาจถอดถอนก็น่าจะหมดไป สุดท้ายที่ประชุม สนช.ก็บัญญัติในข้อบังคับการประชุม สนช. พ.ศ. 2557 ให้ สนช.มีอำนาจถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง
แม้ภาพลักษณ์ของ สนช.จะถูกมองว่าเป็นเอกภาพและสามารถสั่งซ้ายหันขวาหันได้ตามใจ แต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2557 ซึ่งมีวาระการพิจารณาข้อกล่าวหา ของ นิคม ไวรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร แก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว. ว่าความผิดนี้อยู่ในอำนาจการพิจาณาของ สนช. หรือไม่ ผลปรากฏว่าที่ประชุมมีมติรับเรื่อง ไว้พิจารณา 87 เสียง ต่อ 75 เสียง และงดออกเสียง 15 เสียง จากผู้เข้าประชุมทั้งสิ้น 177 คน (วันลงมติมีผู้ขาดประชุม 30 คน ส่วนใหญ่เป็น สนช. สายทหาร)
ทำให้มีการวิเคราะห์กันว่า แม้ข้อบังคับการประชุมจะกำหนดให้ สนช.จะมีอำนาจถอดถอนได้ แต่การถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งก็อาจไม่ง่ายนัก เนื่องจากการถอดถอนบุคคลต้องใช้คะแนนเสียง 3 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ซึ่งเท่ากับต้องใช้คะแนนเสียง 132 เสียงขึ้นไป จาก 220 คน โดยเฉพาะตัวแปรสำคัญจะอยู่ที่ สนช.สายทหารซึ่งมีสัดส่วนมากกว่า 100 คน ซึ่งในตอนต้น สนช.สายทหารส่วนใหญ่เห็นว่าการรับเรื่องถอดถอนไว้พิจารณา อาจกระทบต่อการสร้างความปรองดองและการปฏิรูป อย่างไรก็ตาม กระแสตีกลับก็เรียกร้องว่าหากไม่มีการถอดถอนเกิดขึ้น อาจทำให้ฝ่ายสนับสนุนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มองว่าจะเป็นการปรองดอง หรือ "เกี้ยเซียะ" กับรัฐบาลเดิม ซึ่งอาจส่งผลให้การรัฐประหารเสียของ
คดีถอดถอนนิคม และสมศักดิ์ แก้รัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.
วันที่ 23 มกราคม 2558 ที่ประชุม สนช.พิจารณาการลงมติถอดถอน หรือไม่ถอดถอน นิคม ไวรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ออกจากตำแหน่ง จากกรณีดำเนินการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 เกี่ยวกับที่มา ส.ว.
ทั้งสองคนได้คะแนนถอดถอนไม่ถึง 3 ใน 5  ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสมาชิก สนช. จึงถือว่า สนช.มีมติไม่ถอดถอน โดย นิคม สนช.ลงมติ ถอดถอน 95 คะแนน ไม่ถอดถอน 120 คะแนน ไม่ออกเสียง 4 คะแนน สำหรับ สมศักดิ์ สนช.ลงมติถอดถอน 100 คะแนน ไม่ถอดถอน 115 คะแนน ไม่ออกเสียง 4 คะแนน
คดีถอดถอนยิ่งลักษณ์  กรณีไม่ระงับยับยั้ง ปล่อยให้เกิดความเสียหายในโครงการจำนำข้าว
วันที่ 23 มกราคม 2558 ที่ประชุม สนช.พิจารณาการลงมติถอดถอน หรือไม่ถอดถอน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง ในความผิดฐานจงใจไม่ใช้อำนาจหน้าที่นายกรัฐมนตรียับยั้งความเสียหายปล่อยให้เกิดการทุจริตจำนำข้าว โดย ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ว่ามีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 และส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อ พ.ร.บ.ระเบียบบริหาราชหารแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 11 (1)
ผลการลงมติถอดถอนปรากฏว่า สนช. ลงมติด้วยคะแนนถอดถอน 190 คะแนน ไม่ถอดถอน 18 คะแนน ไม่ออกเสียง 8 คะแนน ซึ่งเป็นคะแนนเสียงถอดถอนไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 จำนวน 220 คน หรือเกิน 132 เสียงป จึงถือว่า สนช.มีมติถอดถอนยิ่งลักษณ์ ออกจากตำแหน่ง ส่งผลให้ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี นับเป็นการถอดถอนนักการเมืองโดยองค์กรนิติบัญญัติที่ทำสำเร็จครั้งแรก 
คดีถอดถอนอดีต ส.ว. 38 คน กรณีโหวตแก้รัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.
วันที่ 12 มีนาคม 2558  ที่ประชุม สนช.พิจารณาการลงมติถอดถอน หรือไม่ถอดถอน อดีต ส.ว.จำนวน 38 คน ออกจากตำแหน่ง จากกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว. ซึ่งภายหลังศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
โดย สนช.แยกฐานความผิดเป็น 4 กลุ่ม คือกลุ่มที่ 1 อดีต ส.ว.ที่เสนอชื่อและร่วมลงมติทั้งสาม วาระ จำนวน 22 คน กลุ่มที่ 2 อดีต ส.ว.ที่เสนอชื่อ และร่วมลงมติวาระที่หนึ่ง และสาม จำนวน 13 คน กลุ่มที่ 3 อดีต ส.ว.ที่เสนอชื่อและร่วมลงมติวาระที่สาม จำนวน 2 คน  และกลุ่มที่ 4 อดีต ส.ว.ที่เสนอชื่อและร่วมลงมติวาระที่สอง จำนวน 1 คน ซึ่งการแยกฐานความผิดเป็นไปตามที่ ป.ป.ช.กล่าวหา ผลปรากฏว่า ที่ประชุม สนช.มีมติไม่ถอดถอนอดีต ส.ว. 38 คน เนื่องจากคะแนนเสียงไม่ถึง 3 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสมาชิก สนช.
คดีถอดถอนบุญทรง และพวกอีก 2 คน คดีทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G)
วันที่ 8 พฤษภาคม 2558 ที่ประชุม สนช.พิจารณาการลงมติถอดถอน หรือไม่ถอดถอน บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, ภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ มนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ออกจากตำแหน่ง ในคดีทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ที่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด
ผลการลงคะแนน ปรากฏว่า ที่ประชุม สนช. ได้ลงมติถอดถอนบุญทรง เตริยาภิรมย์ ด้วยคะแนนถอดถอน 180 คะแนน ไม่ถอดถอน 6 คะแนน, มีมติถอดถอนภูมิ สาระผล ด้วยคะแนนถอดถอน 182 เสียง ไม่ถอดถอน 5 เสียง และถอดถอนมนัส สร้อยพลอย ด้วยคะแนนถอดถอน 158 เสียง ไม่ถอดถอน 25 เสียง ทั้งสามคนได้คะแนนเสียงถอดถอนไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ใน สนช. ทำให้ถูกห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือในทางราชการเป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันที่มีมติถอดถอน
คดีนี้เป็นคดีที่สอง ที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองถูกที่ประชุม สนช. ลงมติให้ถอดถอน ต่อจากคดีถอดถอน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 
คดีถอดถอนอดีต ส.ส. 248 คน แก้รัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.
วันที่ 26 มิถุนายน 2558 ที่ประชุม สนช. ได้พิจารณาดำเนินกระบวนการถอดถอนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 248 คน ออกจากตำแหน่ง จากกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ประเด็นที่มาของ ส.ว.โดยมิชอบ ซึ่งภายหลังศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
โดย สนช.แยกสำนวนคดีตามฐานความผิดไว้ 3 กลุ่ม คือ กลุ่ม 1 อดีต ส.ส. 237 คน ที่ร่วมลงชื่อแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ และลงมติทั้งสามวาระ กลุ่ม 2 อดีต ส.ส. 1 คน ไม่ลงมติวาระสาม และกลุ่ม 3 กลุ่มอดีต ส.ส. 10 คน ไม่ลงมติวาระสาม ซึ่งเป็นไปตามที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด หลังจากที่มีการแถลงเปิดคดีไปแล้ว เมื่อวันที่ 15-16 กรกฎาคม 2558 คาดว่าวันที่ 14 สิงหาคม 2558 สนช.จะลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอน ส.ส. 248 คน
ไฟล์แนบ