แทนเสียงคนเดือนร้อน เมื่อรัฐ “ขอคืนพื้นที่ป่า” ของชุมชน

ภายหลังรัฐประหาร คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ประกาศคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 64/2557 และ 66/2557 หรือที่นิยมเรียกกันว่า "แผ่นแม่บทป่าไม้" ซึ่งให้อำนาจกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย กองกำลังป้องกันชายแดนของกองทัพบกและกองทัพเรือ และ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)

 

ร่วมกันทำหน้าที่ปราบปรามและจับกุมผู้บุกรุก หรือผู้ที่ครอบครอง หรือทำให้สภาพป่าเสียหาย รวมถึงปราบปรามขบวนการตัดไม้ทำลายป่า เช่น ไม้มีค่าหรือไม้หวงห้าม และควบคุมตรวจสอบ กิจการแปรรูปไม้ หรือบุคคลที่มีไม้หวงหวงห้ามไว้ครอบครอง แม้จะอยู่ในรูปเครื่องใช้หรือสิ่งประดิษฐ์ก็ตาม

 

หากพบว่าทำผิดตามระเบียบกฎหมายให้ดำเนินการลงโทษอย่างเด็ดขาด และหากเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย หรือเข้าไปมีส่วนร่วมในการกระทำความผิด จะต้องถูกดำเนินการทั้งทางวินัยและทางอาญาเหมือนกัน

 

อย่างไรก็ตาม คำสั่ง คสช. กำหนดว่า "การติดตามผลคดีป่าไม้และดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกนั้น  ต้องมีการประสานกับทุกหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชนและองค์กรชุมชน อีกทั้ง ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมก่อนคำสั่งนี้จะมีผลบังคับใช้ ยกเว้นผู้บุกรุกใหม่และต้องดำเนินการสอบสวนพิสูจน์ เพื่อกำหนดวิธีปฏิบัติให้เหมาะสม"

 

แต่ในความเป็นจริง มีหลายพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งดังกล่าว  จากข้อมูลที่กลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ "พีมูฟ" ได้รวบรวมไว้ ปรากฏว่า มีชุมชนที่อาศัยอยู่ในที่ดินของรัฐจำนวนมากในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ถูกดำเนินคดีมากกว่า 500 คดี และมีครอบครัวที่ถูกประกาศเรียกรายงานตัวเพื่อยึดคืนพื้นที่มากกว่า 1,700 ครัวเรือน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสานและภาคเหนือ (ที่มา : ประชาไท)

 

และข้อมูลต่อไปนี้ คือเสียงของคนเก้าบาตร อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการประกาศใช้ “แผนแม่บทป่าไม้”

 

ประวัติ ความเป็นมาของกรณีพิพาทในพื้นที่โนนดินแดง

 

กรณีพิพาทของพื้นที่ "โนนดินแดง" เป็นสิ่งที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่่อง ซึ่งก่อนหน้าจะเกิดการรัฐประหารมีชาวบ้านจำนวนหนึ่งถูกดำเนินคดี สำหรับสาเหตุของข้อพิพาท ชาวบ้านบอกว่าเกิดจากการจัดสรรที่ดินอันไม่เป็นธรรมของรัฐ

 

แต่เดิม ในปี พ.ศ. 2516 ถึง 2520 ระหว่างการต่อสู้ของทหารไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) รัฐบาลสมัยนั้นมีนโยบายให้ชาวบ้านเข้าไปอยู่อาศัยเพื่อเป็นพื้นที่กันชน  แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย รัฐบาลกลับย้ายคนออกจากพื้นที่ดังกล่าว และจัดสรรใหม่ ทว่าการจัดสรรดังกล่าวยังไม่เพียงพอ มีบุคคลที่ไม่ได้รับการจัดสรรที่ดิน ทำให้บางคนต้องอาศัยอยู่กับญาติ และบางคนอพยพไปอยู่ที่อื่น

 

ต่อมา พ.ศ. 2526 บริษัทเอกชนเข้ามาขอเช่าพื้นที่เพื่อสร้างสวนป่า ปลูกไม้ยูคาลิปตัสจากกรมป่าไม้เพื่อทำการปลูกสร้างสวนป่า และก็ได้รับอนุญาตให้เช่า จนเมื่่อหมดสัญญาเช่า ชาวบ้านได้รวมตัวกันคัดค้านการต่อสัญญา และเรียกร้องให้นำพื้นที่ดังกล่าว มาจัดสรรให้กับชาวบ้านที่ไม่มีที่ดินทำกินหรือมีที่ดินทำกินไม่เพียงพอ และให้เหลือพื้นที่บางส่วนนำไปฟื้นฟูเป็นพื้นที่แหล่งอาหารของสัตว์ป่า แต่ก็ไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาแก้ไข

 

นอกจากนี้ ในสมัยรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ชาวบ้านเก้าบาตรได้จัดตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินขึ้นในฐานะสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย โดยมีข้อเสนอให้พื้นที่ดังกล่าวนี้เป็นโฉนดชุมชน แต่ระหว่างการผลักดันตามข้อเสนอนั้น การดำเนินคดีกับชาวบ้านและความพยายามขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ก็ยังดำเนินต่อไป

 

ต่อมา เมื่อรัฐบาลทหาร ประกาศคำสั่ง คสช.ที่ 64 และ 66 และ แผ่นแม่บทป่าไม้ กลับเปิดช่องให้ เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปไล่รื้อบ้านเรือนสิ่งปลูกสร้างของชาวบ้านได้ง่ายขึ้น

 

โดยเหตุการณ์เริ่มจากช่วงปลายเดือนมิถุนายน เป็นต้นมา ทหารในสังกัดกองทัพภาคที่ 2 พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ประมาณ 50 นาย พร้อมอาวุธครบมือ เข้าไปในหมู่บ้านเก้าบาตร อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ เพื่อแจ้งกับชาวบ้านว่า จะขอคืนพื้นที่ และหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ให้ทุกครอบครัวทำการรื้อบ้านออกไปจากพื้นที่ หากไม่รื้อจะเข้ามาดำเนินการรื้อให้เอง โดยจะใช้รถไถกวาดบ้านเรือนของชาวบ้าน

 

นอกจากการมาแจ้งข่าว เจ้าหน้าที่ยังเข้าไปตรวจค้นบ้านของชาวบ้านในหลายพื้นที่อื่น เช่น บ้านเสียงสวรรค์ และบ้านตลาดควาย ฯลฯ พร้อมกับฉีดสีสเปรย์ทำเครื่องหมายกำกับทุกหลังคา และบังคับให้รื้อบ้านออกภายในวันที่ 8 กรกฎาคม 2557 ถ้าไม่รื้อทหารจะมารื้อเอง

 

ภาพจาก เพจสมัชชาคนจน

ยุทธวิธีในการรุกไล่คนออกจากพื้นที่

 

+จับกุม ควบคุมตัว เชิญตัว+  

 

ยุทธวิธีในการให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่คือ การสร้างภาวะกดดันและตึงเครียดในพื้นที่ เช่น การควบคุมตัว และจับกุม ในพื้นที่โนนดินแดง มีแกนนำชาวบ้านอย่างน้อย 13 คน ที่โดนทหารจับกุมตัวทั้งจากบ้านพักหรือที่อื่น และถูกนำตัวออกจากพื้นที่ โดยไม่มีการแจ้งข้อหา เหตุผล บางรายครอบครัวไม่ทราบสถานที่ควบคุมตัว และระยะเวลาในการควบคุมตัว 

 

จากคำบอกเล่าของชาวบ้านรายหนึ่ง ในตอนที่สมาชิกในครอบครัวถูกจับ ทหารกล่าวก่อนจะเดินทางออกจากพื่นที่ว่าจะจับคนเพิ่ม ยังเหลือแกนนำชาวบ้านอีก 2 คน ที่ต้องเข้ามาควบคุมตัวไป เพราะกลุ่มพวกนี้เป็นพวกหัวแข็งไม่เชื่อฟังต้องจับให้เข็ด 

 

นอกจากการจับกุมยังมีการเชิญตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหารแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ชาวบ้านเล่าว่า ทหารจากกองทัพภาคที่ 2 ประมาณ 10 นาย พร้อมอาวุธครบมือ เข้าไปยังบ้านเก้าบาตร และแจ้งว่าขอเชิญตัวแทนชาวบ้าน จำนวน 2 คน เพื่อเข้าร่วมการประชุมที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดง แต่เมื่อชาวบ้านถามถึงหนังสือเชิญประชุม และวาระการประชุม ทหารกลุ่มดังกล่าวกับแสดงอาการไม่พอใจ ก่อนที่จะเดินทางกลุ่มออกจากพื้นที่บ้านเก้าบาตรไป

 

+ใช้กำลังบังคับ  ใช้วาจาข่มขู่ สร้างข้อกล่าวหา และหาเรื่องให้ออกจากพื้นที่+

 

นอกจากการควบคุมตัวเพื่อกดดันให้คนชาวบ้านออกจากพื้นที่ เจ้าหน้าที่เลือกใช้การยื่นข้อเสนอให้ชาวบ้านออกไป โดยไปบอกกับชาวบ้านว่า ถ้าไม่ทำตามจะเข้าไปรื้อถอนเองและการอพยพออกไปก็ไม่ต้องกังวลเพราะรัฐมีพื้นที่รับรองไว้ให้

 

เจ้าหน้าที่พยายามอธิบายกับชาวบ้านว่า รัฐมีขั้นตอนในการช่วยเหลือ โดยจะแบ่งชาวบ้านออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่มีภูมิลำเนาอยู่ที่อื่นก็ต้องเดินทางกลับภูมิลำเนาของตน และอีกกลุ่มคือกลุ่มคนที่ยากจนจริงๆ ไม่มีที่ดินทำกิน ก็จะให้เข้าไปอยู่ในพื้นที่พักชั่วคราว

 

แม้ว่าเจ้าหน้าที่พยายามชักจูงให้ชาวบ้านเข้าสู่กระบวนการที่รัฐจัดไว้  แต่แค่เพียงสัญญาก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ชาวบ้านเชื่อถือว่ารัฐจะดำเนินการตามนั้นจริงๆ

 

เมื่อไม่ประสบผลสำเร็จ เจ้าหน้าที่ได้ใช้มาตรการที่เข้มข้นมากขึ้น โดยการพยายามข่มขู่ว่า จะนำหมายศาลมาบังคับคดีขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ หากใครไม่ออกจะจับกุมดำเนินคดีเป็นรายบุคคล และยังมีบางรายที่เข้ามาคุกคามเกี่ยวกับความปลอดภัยในชีวิตของชาวบ้านหรือคนในครอบครัว ยกตัวอย่างเช่น

 

มีกรณีหนึ่งที่นายทหารหลายสิบคนเข้าไปคุกคามญาติเพื่อกดดันชาวบ้านบ้างคนที่ไม่ยอมอยากจากพื้นที่ รวมถึงไปกดดันเจ้าอาวาสวัดลำนางรองซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านเป็นเครื่องมือเพื่อกดดันชาวบ้านอีกทางหนึ่ง

 

ชาวบ้านรายหนึ่งเล่าว่า ทหารเคยข่มขู่ตอนจับกุมตัวว่า "วันนี้กูจะปล่อยมึง มึงไปบอกกับพวกมึงทุกคนให้รีบขนของออกไป" หลังจากนั้นจึงปล่อยตัวชาวบ้านกลับมา หรือมีการข่มขู่ว่า "ถ้ามึงไม่รื้อออกมาจะถูกจับติดคุกและไม่รับรองว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตและครอบครัวของมึง ลูกมึงยังเล็กอยู่ไม่ใช่เหรอ คิดให้ดีๆ"

 

และบางครั้งเจ้าหน้าที่ก็ใช้กำลังบังคับให้ชาวบ้านเซ็นชื่อยินยอมรื้อถอนบ้านออกไป โดยในหนังสือมีเนื้อความว่า ให้ชาวบ้านยอมรับว่าเป็นผู้บุกรุกป่าสงวน และถ้าไม่เซ็นเจ้าหน้าที่ทหารจะจับกุม

 

นอกจากนี้ ชาวบ้านเล่าว่ามีความพยายามนำสิ่งของผิดกฎหมายมาซุกซ่อนไว้ในหมู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็น กระสุนปืน ยาเสพติด หรือไม้ผิดกฎหมาย เพื่อจะนำมาดำเนินคดีกับชาวบ้านหรือสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดีให้กับคนโนนดินแดง 

 

อย่างไรก็ดี วิธีการเหล่านี้ก็ประสบความสำเร็จอยู่พอสมควร ชาวบ้านรายหนึ่งหวาดกลัวมาก จึงจำใจต้องเข้าไปรื้อบ้านและเก็บข้าวของออกมา ก่อนที่จะรื้อบ้านเจ้าหน้าที่บังคับให้กอดคอยืนถ่ายรูปคู่กับเจ้าหน้าที่ เพื่อจะได้อ้างว่าชาวบ้านเก้าบาตรรายนี้ยินยอมรื้อบ้านออกด้วยความสมัครใจ

 

โดยวิธีการการรื้อถอนบ้านของชาวบ้านนั้นจะแบ่งออกเป็นรื้อเอง หรือ เจ้าหน้าที่รื้อให้ ถ้ารื้อเองก็มีทหารยืนถือปืนคุมอยู่ และสำหรับคนที่รื้อบ้านไปแล้ว เจ้าหน้าที่จะไม่ให้ชาวบ้านเข้าไปในพื้นที่ได้อีกจนถึงปัจจุบัน หากจะพอเข้าไปได้บ้างก็เพื่อเก็บของป่า แต่ไม่สามารถอยู่ในพื้นที่ได้

 

ภาพจาก เพจสมัชชาคนจน

 

+คุกคามสื่อและปิดกั้นการรายงานข่าวในพื้นที่สู่ภายนอก+

 

ในช่วงที่เจ้าหน้าที่เข้าไปปฎิบัติการณ์ในพื้นที่ มีความพยายามปิดกั้นการนำเสนอข่าว โดยมีสำนักข่าวอย่างน้อย 2 แห่ง ที่ถูกทหารเชิญตัวไปพูดคุยเพราะทำข่าวในพื้นที่ และมีสำนักข่าวบางแห่งก็เข้าไปในพื้นที่ไม่ได้เลย ทำให้สื่อทำหน้าที่ได้จำกัดและมีความไม่ปลอดภัยสูง

 

สื่อแห่งหนึ่งได้รับอนุญาตให้เข้าไปในพื้นที่ได้ แต่ต้องเข้าไปโดยการนั่งรถของทหารเข้าไป ซึ่งมีเจ้าหน้าตั้งด่านสกัดกั้นเส้นทางเข้าออกพื้นที่ทั้งหมด และผู้ที่ผ่านเข้าออกต้องมีเจ้าหน้าที่ตรวจบัตรประชาชน และจดบันทึกชื่อไว้

 

ทั้งนี้มีนักข่าวรายหนึ่ง ถูกทหารประมาณ 10 นาย เข้ามาข่มขู่ กดดัน ให้เดินทางออกนอกพื้นที่ ซึ่งหากไม่ยอมออกจะให้ผู้บังคับบัญชาเคลียร์กับสำนักข่าวต้นสังกัด  และทหารได้เรียกตัวไปพูดคุยที่สำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่  โดยตอนแรกทหารจะให้นั่งรถฮัมวี่ไป แต่นักข่าวเลือกจะให้ชาวบ้านพาออกมาแทน

 

นอกจากนี้ ทหารยังข่มขู่ว่า ห้ามให้ข่าวกับใคร หากทราบว่าให้ข่าวกับใครไป ไม่รับรองว่าจะเกิดอะไรขึ้น สำหรับแกนนำชาวบ้านก็ถูกจับตาและติดตามตลอดเวลา และหากมีการเคลื่อนไหวกับสื่อมวลชนหรือหน่วยงานใด ก็จะถูกจับตามากขึ้น

 

ภาพจาก เพจสมัชชาคนจน

+สถานการณ์ปัจจุบันของชาวบ้านโนนดินแดง+

 

จากการพูดคุยกับชาวบ้าน สถานการณ์ปัจจุบัน ชาวบ้านโนนดินแดงได้ย้ายออกมาจากพื้นที่หมดแล้ว และที่อยู่อาศัยทั้งหมดก็ถูกรื้อออกไปหมดแล้ว โดยบางส่วนกลับมาอยู่บ้านตัวเองหรือญาติที่บ้านลำนางรอง บางส่วนแยกย้ายกลับภูมิลำเนาเดิม และมีบางส่วนที่ปลูกกระท่อมอยู่ ในที่สาธารณะข้างทางบริเวณ ต.ลำนางรอง

 

อย่างไรก็ดี ชาวบ้านได้เดินทางไปร้องเรียนกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้เข้ามาตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตาม “แผนแม่บทฯป่าไม้” ทำให้เกิดการหารือจากหลายฝ่ายเพื่อหาทางออกร่วมกัน ซึ่งในตอนนั้นสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมรับเป็นเจ้าภาพในการจัดหาที่ทำกินใหม่ให้กับชาวบ้าน แต่ว่าก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ

 

ต่อมาชาวบ้านจึงตัดสินใจเดินทางไปสอบถามความคืบหน้าการแก้ปัญหาที่ดินทั้งที่ทำเนียบรัฐบาลและสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอีกครั้ง และมีข้อเสนอว่า หากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ แล้วนั้น จะขอให้ชาวบ้านได้เข้าไปในพื้นที่เดิมก่อนเพื่อทำกิน เนื่องจากใกล้ฤดูกาลผลผลิตใหม่แล้ว และสินทรัพย์ รวมถึงพืชผล อาทิ ข้าวสาร ที่นำออกมาก็เจียนจะหมดลงไปทุกวัน