ร่าง พ.ร.บ. วิชาชีพเภสัชกรรม “ใครๆ ก็ทำยาได้”

ปัจจุบัน ร่าง พ.ร.บ. วิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. … ซึ่งกำลังพิจารณาอยู่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นฉบับแก้ไขเพิ่มเติมจาก พ.ร.บ. ฉบับเก่าเมื่อปี พ.ศ. 2537 โดยการผลักดันของสภาเภสัชกรรม ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2557 สนช. รับหลักการวาระที่ 1  และกำลังเข้าสู่การพิจารณาวาระที่ 2 ของ สนช. แต่เกิดเสียงคัดค้านจาก "กลุ่มเภสัชกรผู้คัดค้านร่าง พ.ร.บ. วิชาชีพเภสัชกรรม"
โดยวันที่ 17 พฤศจิกายน 2557 กลุ่มเภสัชกรฯ นำโดย ผศ.ภก. ไกรสร ชัยโรจน์การญจนา อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต นำรายชื่อสมาชิกสภาเภสัชกรจำนวน 1,633 คน ยื่นหนังสือต่อสภาเภสัชกรรม เพื่อคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ. วิชาชีพเภสัชกรรม ด้วยเหตุผลที่ว่า ร่าง พ.ร.บ. นี้ ยังไม่ได้ผ่านการมีส่วนร่วมของสมาชิกในการทำประชามติ และยังมีหลายประเด็นที่จำเป็นต้องคัดค้านเนื่องจากมีความไม่เป็นธรรมที่ปรากฎให้เห็นอย่างชัดเจน
 
ที่มาภาพ: Daniel Foster
ประเด็นหลักที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมใน พ.ร.บ. วิชาชีพเภสัชกรรม มีดังนี้ 
1. ขยายนิยามของคำว่า "วิชาชีพเภสัชกรรม" โดยเพิ่มให้ผู้ที่ประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์และสาธารณสุข สามารถปรุงและจ่ายยาได้ สามารถดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ (แก้ไขมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.เดิม)
2. เพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสภาเภสัชให้มีอำนาจในการออกข้อบังคับเกี่ยวกับการต่ออายุใบอนุญาตวิชาชีพเภสัชกรรม และการออกใบแทนใบอนุญาตวิชาชีพเภสัชกรรม (แก้ไขมาตรา 23 (ณ) ของ พ.ร.บ.เดิม)
3. การกำหนดอายุใบอนุญาตและการต่ออายุใบอนุญาตวิชาชีพเภสัชกรรม จากเดิมที่สอบรับใบประกอบวิชาชีพเพียงครั้งเดียวสามารถใช้ได้ตลอดชีวิต เป็นต้องต่ออายุใบประกอบวิชาชีพทุก 5 ปี (แก้ไขมาตรา 31 ของ พ.ร.บ.เดิม) 
4. เพิ่มเติมอัตราค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาต ฉบับละ 2,500 บาท (เพิ่มเติมใน ร่าง พ.ร.บ.ใหม่) 
5. กำหนดให้ผู้ที่มีใบอนุญาตเดิม (แบบตลอดชีพ) ใช้ต่อไปได้อีก 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ประกาศพระราชบัญญัติ (เพิ่มเติมใน ร่าง พ.ร.บ.ใหม่) 
ข้อคัดค้านจากกลุ่มเภสัชกรฯ
จากประเด็นข้างต้นของร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพเภสัช ผศ.ภก. ไกรสร กล่าวเสริมว่า นอกจากการต้องมีส่วนร่วมของกลุ่มเภสัชในการร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ยังมีอีก 3 ประเด็นในสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. วิชาชีพเภสัชกรรม ที่กลุ่มฯ ต้องการคัดค้าน คือ 
1. นิยามของวิชาชีพเภสัชกร ในร่าง พ.ร.บ. นี้ มีความไม่ชัดเจน ซ้ำยังมีนิยามที่ไปผูกโยงกับวิชาชีพและกฎหมายอื่น นั่นคือการเพิ่มหน้าที่ในการปรุงยาและจ่ายยาให้กับผู้ที่ประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์และสาธารณสุข และการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยยา กฎหมายว่าด้วยวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ 
นอกจากนั้นยัง ตัดสาระสำคัญ ของนิยามที่เป็นสากลของวิชาชีพเภสัชกรรม คือการปรุงยาและขายยาออก ซึ่งเท่ากับว่าผู้ที่ไม่ได้ตรวจคนไข้ สามารถปรุงและจ่ายยาได้โดยไม่ต้องมีการตรวจสอบ ซึ่งจะสร้างความยุ่งยากและลำบากเมื่อต้องการตรวจสอบการปรุงยาและการขายยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากต้องไปพิจารณาความผิดและการลงโทษตามกฎหมายวิชาชีพอื่นๆ เพิ่ม
2. ในการกำหนดให้เภสัชกรต้องต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทุกๆ 5 ปี ควรออกเป็นข้อบังคับแทนการกำหนดลงในร่าง พ.ร.บ. และส่วนของค่าธรรมเนียมในการออกใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพฯ ฉบับละ 2,500 บาทนั้น ก็ควรออกเป็นข้อบังคับเช่นกัน 
3. หากปรับแก้ให้เภสัชกรทั้งหมดต้องต่ออายุใบประกอบวิชาชีพฯ ทุกๆ 5 ปี จะเป็นการลิดรอนสิทธิของเภสัชกรที่จากเดิมสอบใบประกอบวิชาชีพฯ ครั้งเดียวก็สามารถใช้ได้ตลอดชีพ โดยกลุ่มผู้คัดค้านร่าง พ.ร.บ. นี้ เสนอว่า หากจะปรับอายุใบประกอบวิชาชีพเหลือเพียง 5 ปี ก็ควรจะใช้เกณฑ์การปรับนี้แก่ผู้ขออนุญาตรายใหม่ ทั้งนี้เพื่อคงสิทธิของผู้ที่มีใบประกอบวิชาชีพฯ ตลอดชีพ
หากร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ผ่านการเห็นชอบจาก สนช. เท่ากับว่าเนื้อหาจะยิ่งเปิดช่องและสอดคล้องกับร่าง พ.ร.บ. ยา ที่เอื้อให้วิชาชีพอื่นปรุงและขายยาได้ ซึ่งนอกจากจะมีความประจวบเหมาะกันจนเกินไปแล้ว ยังเป็นการก้าวล้ำวิชาชีพเภสัชกรรมอีกทางหนึ่ง 
ระหว่างหยิบยาเข้าปากแล้วดื่มน้ำตามมากๆ เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่า ยานี้ถูกผลิตโดยใคร มีส่วนผสมอะไร เชื่อถือได้แค่ไหน และยานี้จะไปช่วยรักษาหรือทำให้อาการเรายิ่งแย่เกินเยียวยา…
ร่าง พ.ร.บ. วิชาชีพเภสัชกรรมนี้จึงไม่เพียงส่งผลกระทบแก่แวดวงผู้ประกอบอาชีพเภสัชกรเท่านั้น
หากแต่หมายรวมถึงเราทุกคน
——————————————————————————————-
อ้างอิง: 
ASTV ผู้จัดการออนไลน์. (2557, พฤศจิกายน 17). ผู้จัดการ Online. Retrieved from ผู้จัดการ Online:       http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9570000132357
Hfocus เจาะลึกระบบสุขภาพ. (2557, พฤศจิกายน 18). Hfocus เจาะลึกระบบสุขภาพ. Retrieved from Hfocus เจาะลึกระบบสุขภาพ: http://www.hfocus.org/content/2014/11/8658

 

 

 

ไฟล์แนบ