ชาญวิทย์ เกษตรศิริ “ปฏิรูปประวัติศาสตร์ ไม่พอเห็นจะต้องปฏิวัติ”

เมื่อพูดเรื่อง "ปฏิรูปการศึกษา" การเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์เป็นจำเลยลำดับต้นๆ เสมอที่ถูกกล่าวกันว่ามีปัญหา ฝ่ายนักคิดหัวก้าวหน้าก็วิพากษ์วิจารณ์ว่าแบบเรียนประวัติศาสตร์เน้นปลูกฝังแต่แนวคิดชาตินิยมล้าสมัย ขณะที่ฝ่ายนักอนุรักษ์นิยมก็คิดค้นหาทางแก้ไขแบบเรียนประวัติศาสตร์เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนมีจิตสำนึกรักชาติให้มากขึ้น

 

ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือหนึ่งในนักคิดที่มักออกมาวิพากษ์วิจารณ์การเรียนการสอนและแบบเรียนประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แม้จะใช้เวลาเกือบค่อนชีวิตตั้งแต่หนุ่มยันแก่ในการเสนอแนะหรือวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ แต่การเรียนการสอนและแบบเรียนประวัติศาสตร์ไทยดูจะย้ำอยู่กับที่ซ้ำร้ายเหมือนกำลังจะถ้อยหลังเข้าคลอง

 

ปัจจุบันภายใต้รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี การปฏิรูปวิชาประวัติศาสตร์ถูกยกมาเป็นวาระสำคัญและเร่งด่วนในการปฏิรูปการศึกษา อาจารย์ชาญวิทย์ ในฐานะที่อยู่กับการเรียนการสอนประวัติศาสตร์เกินครึ่งชีวิต จะมาสะท้อนถึงปัญหาแบบเรียนประวัติศาสตร์ไทย อุปสรรคและความล้มเหลวของการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ และความเห็นต่อสถานการณ์บ้านเมืองที่เกี่ยวข้องกับวิชาประวัติศาสตร์ไทย พร้อมข้อเสนอแนะสำหรับแบบเรียนประวัติศาสตร์ที่ควรจะเป็น เพื่อให้ประเทศไทยก้าวพ้นจาก Bad History และ Bad Educationครับ

 

อาจารย์เคยมีโอกาสเข้าไปเขียนแบบเรียนประวัติศาสตร์ให้ กระทรวงศึกษาธิการ ช่วยเล่าประสบการณ์ครั้งนั้นให้ฟังหน่อยครับ? 

ผมเคยเขียนแบบเรียนมัธยม ครั้งหนึ่ง เป็นการเขียนเป็นทีม 7 คน  ผมเป็นหัวหน้าทีม คือ "หนังสือเรียนสังคมศึกษา รายวิชา ส 605" หลักสูตร พ.ศ. 2524 เขียนให้ สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพาณิชย์ (ทวพ.)

 

อย่างที่เราทราบกัน ทาง กระทรวงศึกษาธิการ ก็ตั้งกรรมการชุดหนึ่งตรวจ เป็นใครเราไม่ทราบ แต่เดาว่า น่าจะเป็นข้าราชการกระทรวงฯ ส่วนหนึ่ง กับ ผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาประวัติศาสตร์ ตามมหาวิทยาลัยอีกส่วนหนึ่ง กรรมการมีเรื่องหยุมหยิม น่ารำคาญ บางเรื่องก็เล็กๆน้อยๆ เกินไป 

 

เช่น เมื่อเรากล่าวว่า ประวัติศาตร์คืออะไร ก็เป็นการสรุปภาพรวมให้นักเรียน อย่างกว้างๆ กรรมการคนหนึ่ง เขียนวงๆ มาในต้นฉบับว่า code จากไหน ทั้งๆ ที่ผมคิดว่า กรรมการท่านนั้น จะเป็นหญิงหรือชาย ก็ไม่ทราบ คงหมายถึงคำว่า quote มากกว่า 

 

แล้วก็มีเรื่องเช่นว่า พอเรายกตัวอย่างในบทที่เกี่ยวกับ ระบอบประชาธิปไตย ผมเขียนเองโดยลำดับวิวัฒนาการทาง ประวัติศาตร์จากสมัยก่อน "ปฎิวัติ 2475" ถึง "14 ตุลา 2516" ที่มีการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ผมก็ยกตัวอย่างว่า "ผู้นำ" นิสิตนักศึกษา มีเสกสรรค์ ประเสริฐกุล กับ ธีรยุทธ บุญมี เป็นต้น กรรมการก็ถามว่า ทำไมต้องเอ่ย 2 คนนี้ แล้วก็บอกให้เราตัดทิ้ง ครับ

 

หลังจากนั้นมา ผมก็ไม่เคยเขียนอีกเลย เพราะคิดว่า เสียเวลา แม้จะได้เงินได้ทอง แต่ในทางวิชาการ ผมคิดว่า ทำอีกระดับหนึ่ง ดีกว่า คือ ทั้งระดับมหาวิทยาลัย และระดับสาธารณชน ครับ  

 

วิชาประวัติศาสตร์ไทย น่าเบื่อ ซ้ำซาก คนเรียนไม่อยากเรียน คนสอนไม่อยากสอน เราจะแก้ปัญหานี้ได้ไหม?

แก้ได้ แต่แก้ยากมาก

 

หากบ้านเมืองยังไม่มีประชาธิปไตย ไม่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น รัฐ หรือ รัฐบาล กำหนดกรอบความคิดไว้อย่างคับแคบ ก็ไม่สามารถจะทำให้วิชาประวัติศาสตร์ เป็น "อิสระ" หรือ "เป็นไท" ได้ ก็วนเวียนอยู่กับ "มหาบุรุษ มหาสตรี" ไม่กี่ราย ซ้ำๆ ซากๆ ท่องจำ สุโขทัย อยุธยา แล้วก็รัตนโกสินทร์ แค่ 3 กรุงนี่แหละครับ เป็นเรื่องไกลตัว ไม่ร่วมสมัย (ถ้าร่วมสมัย ก็ต้องเขียน อ้อมไป อ้อมมา ตัดชื่อบางคนทิ้งไป) 

 

ไม่ว่าจะเป็นประถม ไม่ว่าจะเป็นมัธยม เผลอๆ เข้ามหาวิทยาลัย ก็ยัง 3 กรุงอยู่นั่นแหละ ขาดมุมมองทางสังคม ขาดมนุษย์ หรือ คนธรรมดาๆ ครับ ถ้ายังเป็นเช่นนี้ ประวัติศาสตร์ก็ไม่มีทางที่จะไม่น่าเบื่อ ไม่ซ้ำซาก ขาดการเข้าถึงแก่นของวิชาประวัติศาตร์ ที่ต้องประกอบด้วย "who-what-when-why" หรือพูดเป็นไทยว่า "ใคร อะไร เมื่อไร" และ ที่สำคัญสุด คือ "ทำไม"

 

เมื่อน่าเบื่อ เมื่อไกลตัว นักเรียนก็ไม่อยากเรียน พอหลุดไปถึงระดับนิสิตนักศึกษา หลุดออกจาก "วังวน น้ำเน่า ปวศ." ได้ ก็เลยไม่เรียนต่อ คนที่จะเลือกเรียนประวัติศาสตร์ จึงมีน้อยมาก จำนวนไม่น้อย "หลุด" เข้ามาเรียนก็โดยบังเอิญ หรือ ไม่ตั้งใจเสียมากกว่า 

 

ตัวผมเอง ก็บังเอิญ เหมือนกัน ผมเรียนการทูต ทั้งตรี (ที่ มธ) และโท (ที่ Occidental College) เปลี่ยนไปเรียนประวัติศาตร์ก็ด้วยความบังเอิญมากกว่า เพราะอยากเรียน "อุษาคเนย์" ยุคนั้นมีสงครามเวียดนาม ก็เลยสนใจเพื่อนบ้าน จึงบังเอิญไปเรียนประวัติศาตร์อุษาคเนย์ ที่คอร์แนล ครับ ไม่ได้ตั้งใจเรียนเลย แต่มาบัดนี้ ดีใจที่ได้เรียนมากๆ ยิ่งกลับไปคุยกับเพื่อนเก่าที่เรียนหมอ เรียนวิศวะ ยิ่งดีใจใหญ่ ครับ

 

จำเป็นต้องมีแบบเรียนประวัติศาสตร์ฉบับมาตรฐานให้นักเรียนได้เรียนเหมือนกันไหม? 

ไม่จำเป็นครับ คิดว่า การศึกษา น่าจะมีมีแนวกว้างๆ แล้วเปิดโอกาสให้ ผู้เขียนๆ ตามแนวทางของตน จากนั้น ก็เป็นเรื่องของครูอาจารย์โรงเรียน จะเลือกว่า จะใช้เล่มไหน น่าจะเป็นทางออกที่ดี ที่สุด 

 

ผมไม่เชื่อเรื่อง "ฉบับมาตรฐาน" เพราะ "มาตรฐาน" ขึ้นอยู่กับ "คนที่กำหนดมาตรฐาน"  นั้นๆ ส่วนใหญ่ หนีไม่พ้นพวก "เสนาอำมาตย์" ที่คร่ำครึ คับแคบ ทางการศึกษา ครับ 

 

ปัญหาก็อย่างที่เราได้ยินกัน นั่นแหละ คือ การศึกษาไทย "ห่วย แพง เหลื่อมล่ำ" ครับ ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่มีประชาชน เป็นแต่คณาธิปไตย และมีแต่เสนาอำมาตย์

 

 

ถ้าจำเป็นต้องมีแบบเรียนมาตรฐาน เนื้อหาควรเป็นอย่างไร? ใครกำหนด?

เนื้อหา ควรเปิดกว้างครับ กว้างกว่าวงแคบๆ ของแผนที่ขวานทองของไทย กว้างในความหมายของ "ภูมิภาคอาเซียน" และในความหมายของ "สากลโลก" 

 

ต้องเป็นทาง กระทรวงศึกษาธิการ นั่นแหละ ที่จะกำหนดร่วมกับ "นักวิชาการ/ผู้เชียวชาญ" (ที่ไม่ได้เลือกแต่พวกของตน หรือ พวกที่เห็นด้วยกับตน) รวมทั้ง ต้องหาความคิดว่าความเห็น ในวงกว้างด้วย อาจจะเรียกว่า จาก "กลุ่มประชาสังคม" ก็ว่าได้

 

ในการกำหนดเช่นนี้ ก็ควรเป็นไปตามที่ผมกล่าวข้างต้น คือ เป็น "กรอบกว้างๆ" แล้วปล่อยให้มีการแข่งขันกันสักระยะหนึ่ง "ตำราดี" ก็จะไล่ "ตำราเลว" ไปได้เอง ในระยะแรกๆ อาจมีปัญหา แต่ถ้าเราไม่ทดลอง เราไม่อดทน ก็ย่ำอยู่กับที่ อย่าง "ประชาธิปไตย" (ไทยๆ) นี่แหละ ครับ

 

ถึงอย่างไร ก็ตาม ข้อเสนอนี้ ก็คงทำยาก  เพราะเจ้ากระทรวง หรือ นักวิชาการส่วนใหญ่ก็ ใจแคบ โลกแคบ อยู่แล้ว การ "ปฎิรูปการศึกษา" คงไม่พอ แน่ๆ แค่ดู สมาชิก "สนช" ชุดปัจจุบันแล้ว คงไม่ไปถึงไหน คงเป็น "เกมการเมือง" ขัดขวางประชาธิปไตย  กล่าวโดยย่อ วิชาประวัติศาตร์ก็คงต้องการ "การปฏิวัติ" เหมือนๆ กับประเทศไทย สังคมไทย ต้องการและกำลังเปลี่ยนผ่าน นั่นแหละครับ

 

การแก้ไขแบบเรียนประวัติศาสตร์ แก้ไขอะไรยากที่สุด และอะไรง่ายที่สุด?

แก้ให้ ประวัติศาตร์เป็นวิชาที่ทำให้เห็นสังคม ทำให้เห็นความสำเร็จ และล้มเหลวของมนุษย์ธรรมดา ทำให้เห็นภูมิภาค ทำให้เห็นโลก ยากสุด ครับ ง่ายสุด เห็นจะไม่มี กระมัง 

 

ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของการถูกทำให้จำและทำให้ลืม คนเขียนประวัติศาสตร์คือผู้ชนะ การลบชื่อบุคคลออกจากแบบเรียนเป็นเรื่องปกติหรือเปล่า? 

ใช่ครับ ประวัติศาสตร์เขียนโดยคนที่ชนะ และอยู่ในอำนาจ ดังนั้น คนบางคน ก็ถูกลบชื่อออกไป อย่างที่เราเห็นในกรณี ที่กล่าวมาแล้วของ 14 ตุลา และในกรณี ที่ให้ลบชื่อ ทักษิณ ชินวัตรออก ตามที่เป็นข่าว และตามที่จอห์น วิญญู เอามาทำรายการ ที่หาดูได้จาก ยูทูป

 

"เจาะข่าวตื้น 136 : ต้องดู ! ตอนนี้ออกสอบแน่นอน"

https://www.youtube.com/watch?v=CfBpzaIf_AM

 

 

ประวัติศาสตร์ชาตินิยมส่งผลให้มีทัศนคติแง่ลบต่อเพื่อนบ้าน ปัจจุบันประวัติศาสตร์ชุดเดียวถูกใช้เพื่อกดทับคนในประเทศด้วยกันเอง เช่น กรณี 3 จังหวัดชายแดนใต้ หรือ กรณีทหารฟ้อง อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หมิ่นพระนเรศวร กรณีที่เกิดขึ้นนี้สะท้อนอะไร?

สะท้อนว่า ประวัติศาสตร์ เป็นวิชาที่คับแคบ มีอคติ และเป็นประวัติศาสตร์ แบบ "ราชาชาตินิยม" กับ ประวัติศาสตร์ แบบ "อำมาตยาชาตินิยม" ครับ ยังไม่มีสิ่งที่เรียกว่า "ประชาชาตินิยม" ดังนั้น ก็ซ้ำๆ ซากๆ อยู่กับ 3 กรุง สุโขทัย อยุธยา แล้วก็รัตนโกสินทร์ กับมหาบุรุษ มหาสตรี นั่นแหละ ครับ 

 

จะมีชาวบ้าน ก็คงเพียง "บางระจัน" เท่านั้น กระมัง

 

  

อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยตั้งขอสังเกตว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยตอนนี้ คือ ราชานิยม กับ ชาตินิยม กลืนเข้าหากันไม่ได้ อาจารย์คิดอย่างไรกับประเด็นนี้ และสองสิ่งนี้จะกลืนเข้ากันได้ไหม? 

กลืนกัน เข้ากันยากมาก เพราะวิธีคิดแบบ "ราชาชาตินิยม" คิดใน "แนวดิ่ง" (คือเป็น "ราชาธิปไตย" ที่ตรงข้ามกับ "แนวนอน" หรือ "ประชาธิปไตย") คือ มีสูง กลาง ล่าง มึความเชื่อในความเหลื่อมล้ำ เชื่อในความไม่เสมอภาค คือ คนไม่เท่ากัน เป็นลักษณะของสังคมเก่า ที่เป็น "รัฐราชวงศ์" ยังไม่พัฒนาเป็น "รัฐชาติ" 

 

คำว่า "ชาติ" หรือ nation ในความหมายใหม่ มาพร้อมๆ กับความคิดว่าด้วย democracy หรือ ประชาธิปไตย ระบบเก่าของ "รัฐราชวงศ์" ถ้าจะคงสถาบันกษัตริย์ไว้ได้ ต้องปรับตัวให้เข้ากับ  "ความเป็นชาติ" อย่างกรณีของอังกฤษ และประเทศยุโรปตะวันตก ที่ประสบความสำเร็จในการปรับตัว 

 

ส่วนรัฐเดิม ที่ปรับตัวไม่ได้ ไม่ยอมรับในความเป็น "ชาติ" ใน "แนวนอน" ในความความหมายของคนเท่าเทียมกัน ก็พังไปที่ละรายสองราย อย่าง ฝรั่งเศส จีน เยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี ออตโตมาน อียิปต์ เนปาล เรื่อยมา ครับ

 

 

 

กระทรวงศึกษาธิการจะปรับการสอนวิชาประวัติศาสตร์ใหม่เพื่อให้นักเรียนมีความยึดมั่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ปลูกฝังจริยธรรม เพื่อเสริมสร้างความสามัคคี และประชาธิปไตยที่ถูกต้อง อาจารย์คิดเห็นอย่างไร?

ข้อกำหนด เหล่านั้น ไม่ใช่สิ่งผิด และก็ไม่ใช่สิ่งใหม่ ทำกันมานานแล้ว ทำกันมาหลายรัฐบาล เป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ คณะรัฐประหาร ชุดใหม่ ควักขึ้นมาปัดฝุน โดยขาดเนื้อหา ขาดสาระสำคัญ ดีัแต่พูดว่า "ประชาธิปไตย" แต่เนื้อหาเป็น "คณาธิปไตย" ที่ "หลอกเด็ก" ไม่ได้ ครับ

 

ผมเชื่อว่า เยาวชน คนหนุ่มสาว รู้ทัน ถ้าไม่ต่อต้านอยู่ในใจ ลึกๆ ก็ทำตัว "คิขุ โนะเนะ" ดีกว่าไปบ้าตาม "ผู้ใหญ่" หรือพวกที่คิดว่าตนเป็น "คนดี" ครับ