ร่างพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฉบับสตช.57: ประชาชนไทยไม่รู้ไม่ได้

ก่อนที่เสรีภาพในการชุมนุมจะถูกจำกัดเพราะการรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 การชุมนุมสาธารณะเป็นสิ่งที่ทำได้และเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมของผู้ที่เดือดร้อนจากโครงการพัฒนาต่างๆการชุมนุมของผู้ใช้แรงงาน รวมทั้งการชุมนุมทางการเมืองขนาดใหญ่ 
เนื่องจากการใช้เสรีภาพในการชุมนุม โดยสภาพแล้วย่อมกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การชุมนุมสาธารณะที่มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากและชุมนุมต่อเนื่องยาวนาน เสรีภาพในการชุมนุมจึงเป็นเสรีภาพที่ต้องจำกัดอยู่ภายใต้กฎหมาย 
หลังการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในปี 2553 รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์เคยพยายามผลักดัน “ร่างพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ” มาแล้วครั้งหนึ่ง [ดูได้ที่ http://ilaw.or.th/node/837] และผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเข้าสู่ขั้นตอนของวุฒิสภาแล้ว แต่หลังการยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย ไม่นำร่างนี้กลับเข้าสู่กระบวนการต่อ 
ปี 2557 หลังผ่านการชุมนุมของกลุ่มกปปส.มา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นำร่างพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะกลับมาปัดฝุ่น ปรับแต่งเนื้อหาใหม่อีกครั้ง เตรียมเสนอผ่านคณะรัฐมนตรี และคาดว่าร่างดังกล่าวจะถูกนำเข้าสู่กระบวนการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในไม่ช้า ในที่นี้ จึงขอหยิบยกบางมาตราที่สำคัญมาอธิบายใหม่ให้เห็นภาพชัดขึ้น
ความหมายของ “การชุมนุม” ตามกฎหมายนี้ 
         "“การชุมนุมสาธารณะ” หมายความว่า การรวมตัวกันของบุคคลในที่สาธารณะเพื่อแสดงความคิดเห็น สนับสนุน คัดค้าน หรือเรียกร้องในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยแสดงออกต่อประชาชนทั่วไป และบุคคลอื่นสามารถร่วมการชุมนุมนั้นได้ ไม่ว่าการชุมนุมนั้นจะมีการเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายด้วยหรือไม่
         “ที่สาธารณะ” หมายความว่า ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินที่ใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันหรือที่หน่วยงานของรัฐมิได้เป็นเจ้าของแต่เป็น ผู้ครอบครองหรือใช้ประโยชน์ บรรดาซึ่งประชาชนมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้ รวมตลอดทั้ง ทางหลวงและทางสาธารณะ"
การชุมนุมสาธารณะที่จะถูกควบคุมโดยกฎหมายฉบับนี้ จะต้องจัดในที่สาธารณะ และจะต้องเป็นการแสดงออกที่ปรากฏต่อประชาชนทั่วไป โดยที่บุคคลทั่วไปสามารถเข้าร่วมได้ เพราะฉะนั้นหากเป็นการรวมตัวกันแสดงออกแต่จัดในสถานที่ของเอกชน เช่น อิมแพ็คอารีน่า หรือสนามฟุตบอลของเอกชน ที่คนเฉพาะกลุ่มเท่านั้นที่สามารถเข้าร่วมได้ ก็น่าจะไม่อยู่ภายใต้การควบคุมตามกฎหมายนี้
ขณะที่การจัดชุมนุมในสถานีรถไฟฟ้าหรือขบวนรถไฟฟ้า แม้สถานที่เป็นทรัพย์สินของเอกชน แต่ประชาชนทั่วไปมี
ความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้ จึงถือว่าเข้าข่ายการชุมนุมตามความหมายของกฎหมายนี้
         "“ผู้จัดการชุมนุม” หมายความว่า บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะ และให้หมายความรวมถึงผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ ผู้ซึ่งเชิญชวนหรือนัดหมายให้ผู้อื่นมาร่วมการชุมนุมสาธารณะโดยแสดงออกหรือมีพฤติการณ์ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้จัดหรือร่วมจัดให้มีการชุมนุมนั้น"
ผู้จัดการชุมนุมตามกฎหมายนี้ หมายถึงผู้ที่จัดให้มีการชุมนุม หรือผู้ที่นัดหมายเชิญชวนให้บุคคลอื่นมาร่วมชุมนุม ในลักษณะที่ทำให้คนเข้าใจได้ว่าผู้เชิญชวนเป็นผู้จัดหรือร่วมจัดการชุมนุม การเขียนกฎหมายเช่นนี้น่าจะมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สามารถหาตัวผู้ที่รับผิดชอบต่อการจัดชุมนุมได้ง่ายขึ้น ทำให้คนที่ประกาศเชิญชวนปฏิเสธความรับผิดชอบได้ยากขึ้น
การชุมนุมในสถานการณ์พิเศษ ไม่ต้องใช้กฎหมายนี้      
         "มาตรา ๔ การชุมนุมสาธารณะในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก และการชุมนุมสาธารณะที่จัดขึ้นเพื่อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้ง ในช่วงเวลาที่มีการเลือกตั้ง ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น"
การชุมนุมในช่วงที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือมาการประกาศใช้กฎอัยการศึก รวมทั้งการชุมนุมที่จัดขึ้นเพื่อหาเสียงเลือกตั้งในช่วงที่มีการเลือกตั้ง ให้เป็นไปตามกฎหมายเฉพาะและไม่ถูกควบคุมตามกฎหมายนี้
หมายความว่า ในช่วงที่มีการประกาศใช้กฎหมายพิเศษเพื่อสั่งห้ามการชุมนุม ผู้จัดการชุมนุมก็ไม่ต้องคำนึงถึงขั้นตอนตามกฎหมายนี้และกฎหมายนี้ก็ไม่อาจคุ้มครองการชุมนุสาธารณะได้อีกต่อไป 
ความหมายของการชุมนุมที่สงบและไม่สงบ
         "มาตรา ๗ การชุมนุมสาธารณะต้องเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ 
         การชุมนุมสาธารณะใดมีการขัดขวางหรือกีดขวางมิให้ประชาชนใช้ทางหลวงหรือ ทางสาธารณะได้ตามปกติโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาทางนั้น หรือทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเกินที่พึงคาดหมายได้ว่าเป็นไปตามปกติและเหตุอันควร หรือมีการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น หรือมีการกระทำการใด ๆ อันอาจก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองไม่เป็นการชุมนุมสาธารณะโดยสงบ"
ตามมาตรา 7 การชุมนุมที่ผู้ชุมนุมกีดขวางหรือปิดทางสาธารณะโดยพละการ ถือเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบ แต่หากเจ้าหน้าที่เป็นผู้ใช้ดุลพินิจปิดทางเพื่อความปลอดภัยของผู้ชุมนุมหรือประชาชนทั่วไป ผู้ชุมนุมไม่มีความผิด
การชุมนุมที่สร้างความเดือดร้อนเกินจำเป็นเช่นมีการใช้เครื่องเสียงที่ดังเกินกฎหมายกำหนด ถือเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบ
การชุมนุมที่มีการละเมิดสิทธิเสรีภาพผู้อื่นเช่นมีการหน่วงเหนี่ยวผู้ต้องการผ่านทาง ถือเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบ
วัง-รัฐสภา-ทำเนียบ-ศาล เป็นพื้นที่หวงห้ามจัดการชุมนุม 
         "มาตรา ๘ การจัดการชุมนุมสาธารณะในพื้นที่และเขตปริมณฑล ระยะรัศมีหนึ่งร้อยห้าสิบเมตรจากสถานที่ประทับพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป สถานที่พำนักของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ สถานที่พำนักของพระราชอาคันตุกะ  รัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล และศาล จะกระทำมิได้"
         "มาตรา ๙  การชุมนุมสาธารณะต้องไม่กีดขวางเส้นทางเข้าออก หรือรบกวนการปฏิบัติงาน หรือการใช้บริการในสถานที่ ดังต่อไปนี้ 
         (๑) สถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐ  
         (๒) ท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีรถไฟ หรือสถานีขนส่งสาธารณะ 
         (๓) โรงพยาบาล สถานศึกษา และศาสนสถาน 
         (๔) สถานทูตหรือสถานกงสุลของรัฐต่างประเทศ หรือสถานที่ทำการองค์การระหว่างประเทศ 
         (๕) สถานที่อื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด"
คำว่าพื้นที่หมายถึงบริเวณที่มีการกั้นรั้วทั้งหมด คำว่าปริมณฑลหมายถึงพื้นที่บริเวณรั้ววัดออกมาด้านนอกจนถึงระยะที่มีการกำหนด ตามกฎหมายนี้ พื้นที่จัดการชุมนุมสาธารณะจะต้องอยู่ห่างจากรั้วของสถานที่ที่ปรากฎตามมาตรา 8 ไม่น้อยกว่า 150 เมตร 
ส่วนสถานที่ตามมาตรา 9 นั้น ยังสามารถจัดชุมนุมด้านหน้าหรือด้านในได้ แต่ห้ามกีดขวาง หรือ ห้ามชุมนุมเพื่อ “ปิด” สถานที่เหล่านั้น
การจัดการชุมนุม ต้องแจ้งก่อน และตำรวจอาจสั่งให้แก้ไขหรือสั่งไม่อนุญาตก็ได้
         "มาตรา ๑๑ ผู้ใดประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะและการชุมนุมนั้นอาจจะกระทบต่อการรักษาความมั่นคงของชาติ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีตลอดจนสุขอนามัยของประชาชน หรือความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ หรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ให้มีหนังสือแจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมง 
         ให้ถือว่าผู้เชิญชวนหรือนัดหมายให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมในวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนด รวมทั้งผู้ขออนุญาตใช้สถานที่หรือเครื่องขยายเสียงหรือขอให้ทางราชการอำนวยความสะดวกในการชุมนุมเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะตามวรรคหนึ่ง” 
ตามาตรา 11 ผู้ที่จะจัดการชุมนุม ซึ่งหมายรวมถึงผู้ประกาศเชิญชวนให้ผู้อื่นมาชุมนุม จะต้องทำหนังสือแจ้งการชุมนุมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง หากการชุมนุมดังกล่าวมีความเป็นไปได้ที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต การใช้ที่หรือทางสาธารณะตามปกติของคนทั่วไป
ตามมาตรา 13 หัวหน้าสถานีตำรวจหรือผู้ได้รับมอบหมาย เมื่อรับแจ้งการชุมนุมแล้ว มีอำนาจสั่งให้ "แก้ไข" ซึ่งอาจหมายถึง การเปลี่ยนแปลงสถานที่จัดการชุมนุม เปลี่ยนแปลงระยะเวลาที่จะใช้จัดการชุมนุม หรือให้เลื่อนการชุมนุมออกไปให้อยู่ภายในกรอบที่กฎหมายกำหนด หากผู้จัดการชุมนุมตามกฎหมายนี้ ไม่ดำเนินการแก้ไข ภายในระยะเวลาที่กำหนด ผู้รับแจ้งก็มีอำนาจสั่งห้ามการชุมนุมเป็นลายลักษณ์อักษรไปถึงผู้แจ้งการชุมนุม
หากผู้แจ้งการชุมนุมไม่เห็นด้วยกับคำสั่ง ก็สามารถอุทธรณ์คำสั่งไปยังผู้บังคับบัญชา ที่มีตำแหน่งสูงกว่า และผู้รับอุทธรณ์จะต้องชี้ขาดว่าการชุมนุมสามารถจัดได้หรือไม่ ภายใน 24 ชั่วโมง ในระหว่างที่อุทธรณ์ ให้ผู้จัดการชุมนุมระงับการจัดชุมนุมไว้ชั่วคราว 
การชุมนุมที่เข้าข่ายเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ตามมาตรา 16 การชุมนุมที่ผิดกฎหมาย ได้แก่ 
1. การชุมนุมที่ไม่สงบและปราศจากอาวุธ ตามมาตรา 7 
2. การชุมนุมที่ไม่มีการแจ้งก่อนตามมาตรา 11 
3. การชุมนุมที่ผู้รับแจ้งสั่งห้ามชุมนุมตามมาตรา 13 
4. การชุมนุมที่เกิดขึ้นหลังผู้บังคับการตำรวจที่รับเรื่องผ่อนผัน มีคำสั่งไม่ผ่อนผันการยื่นแจ้งการชุมนุมเกินเวลา รวมทั้งการชุมนุมแม้มีการแจ้งการชุมนุมและไม่ถูกห้าม แต่เป็นการชุมนุมเกินเวลาที่แจ้งโดยไม่มีการยื่นขอ หรือ ไม่ได้รับอนุญาตให้ขยายเวลา ตามมาตรา 20 
5. การชุมนุมที่ผู้จัดการชุมนุมไม่ได้อยู่ร่วมการชุมนุมโดยตลอด ตามมาตรา 17 
6. การชุมนุมที่ผู้เข้าร่วมการชุมนุม ทำอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ สวมหน้ากากหรือสิ่งอื่นที่เป็นการปกปิดใบหน้า พกพาอาวุธเข้าไปในพื้นที่การชุมนุม ห้ามผู้ชุมนุมทำลายหรือทำให้อุปกรณ์รักษาความปลอดภัย เช่น กล้องวงจรปิด ทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวว่าจะเกิดอันตราย ใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ปราศรัยในลักษณะก่อให้เกิดความเกลียดชัง
ขั้นตอนการควบคุมการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 
ขั้นตอนการใช้กำลังเข้าควบคุมการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ปรากฎในมาตรา 23-25 
1. การชุมนุมที่ไม่สงบและปราศจากอาวุธ การชุมนุมที่ไม่แจ้งก่อน หรือไม่ได้รับอนุญาต หรือการชุมนุมในเขตหวงห้ามตามาตรา 8 ให้เจ้าหน้าที่สั่งให้เลิกการชุมนุมภายในเวลาที่กำหนด
2. กรณีการชุมนุมเข้าข่ายผิดตามมาตรา 9, 10, 17, 18, 19 ให้ประกาศให้ผู้ชุมนุมแก้ไขภายในเวลาที่กำหนด เช่นหากผู้ชุมนุมกีดขวางทางเข้าออกสาธารณะก็ให้กำหนดเวลาให้ผู้ชุมนุมออกจากทางสาธารณะ หากไม่ปฏิบัติตามกฎให้สั่งให้เลิกการชุมนุมภายในเวลาที่กำหนด
3. หากสั่งให้เลิกแล้วผู้ชุมนุมยังไม่เลิก ให้เจ้าหน้าที่ประกาศให้บริเวณพื้นที่ชุมนุมเป็นพื้นที่ควบคุมและให้ประชาชนออกจากพื้นที่ภายในเวลาที่กำหนด และรายงานไปยังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
4. หากผู้ชุมนุมยังไม่ออกจากพื้นที่ควบคุมให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมผู้ที่ยังอยู่ในพื้นที่ มีอำนาจค้น ยึด อายัดสิ่งของ และรื้อถอนทรัพย์สินต่างๆ ได้ และมีอำนาจใช้กำลังหรือเครื่องมือควบคุมฝูงชนเท่าที่จำเป็น ตามแผนหรือแนวทางควบคุมการชุมนุมสาธารณะที่จะกำหนดขึ้น
จำกัดความรับผิดของเจ้าหน้าที่ และตัดอำนาจศาลปกครอง
ตามมาตรา 28 เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจตามกฎหมายนี้ ที่กระทำการไปโดยสุจริต ไม่เกินขอบเขต และไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ต้องรับผิดทั้งทางอาญา ทางแพ่ง และทางวินัย อย่างไรก็ตามผู้เสียหายยังสามารถเรียกค่าเสียหายจากทางราชการได้ตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ได้ ซึ่งหากศาลพิพากษาให้จ่ายค่าเสียหายหน่วยงานจะเป็นผู้จ่าย เจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว
การเขียนกฎหมายลักษณะเช่นนี้ มีลักษณะเป็นขวัญกำลังใจและหลักประกันให้กับเจ้าหน้าที่กล้าออกคำสั่งหรือใช้กำลังเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในภายหลัง 
         "มาตรา ๒๙ บรรดาข้อกำหนด ระเบียบ คำสั่ง ข้อบังคับ ประกาศ หรือการกระทำ ตามพระราชบัญญัตินี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
         การดำเนินคดีใดๆ อันเนื่องมาจากข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำ ตามพระราชบัญญัตินี้ให้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ทั้งนี้ ในกรณีที่ศาลจะต้องพิจารณาเพื่อใช้มาตรการหรือวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แล้วแต่กรณี ให้ศาลเรียกเจ้าพนักงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งออกข้อกำหนด ระเบียบ คำสั่ง ข้อบังคับประกาศ หรือกระทำการนั้น มาเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง รายงาน หรือแสดงเหตุผลเพื่อประกอบ การพิจารณาสั่งใช้มาตรการหรือวิธีการชั่วคราวดังกล่าวด้วย"
ตามปกติแล้วการออกคำสั่งห้ามการชุมนุม หรือการใช้กำลังบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย เป็นการกระทำทางปกครองของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีผลกระทบต่อประชาชน จึงต้องอยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองที่จะกำหนดหน้าที่ให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องทำเพื่อประกันสิทธิขึ้นต่ำของประชาชน  เช่น ต้องระบุเหตุผลประกอบคำสั่ง ต้องให้โอกาสประชาชนชี้แจงโต้แย้ง ต้องแจ้งสิทธิในการอุทธรณ์คำสั่งให้ชัดเจน เป็นต้น และหากทำให้ประชาชนเสียหาย ประชาชนย่อมฟ้องร้องให้เพิกถอนคำสั่งหรือเรียกร้องค่าเสียหายได้ที่ศาลปกครอง 
แต่ร่างพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฉบับนี้กำหนดไว้ว่าการะกระทำใดๆ ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เท่ากับว่ากรณีที่เกี่ยวข้องกับกาชุมนุมสาธารณะ จะไม่มีมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐที่จะคุ้มครองสิทธิของประชาชนจากการใช้อำนาจโดยไม่เป็นธรรม และกำหนดให้คดีความที่เกี่ยวข้องพิจารณาที่ศาลยุติธรรมไม่ใช่ศาลปกครอง ซึ่งขัดกับหลักการที่ก่อตั้งศาลปกครองขึ้นมาเพื่อพิจารณาคดีพิพาทระหว่างรัฐกับประชาชน
บทกำหนดโทษผู้จัดการชุมนุม และผู้ชุมนุม
มาตรา 30 ผู้จัดการชุมนุมที่ไม่แจ้งก่อน มีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท
มาตรา 31 ผู้จัด ผู้เชิญชวน ผู้สนับสนุน การชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท
มาตรา 36 ผู้เข้าร่วมการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่ออกจากพื้นที่ควบคุมตามที่เจ้าหน้าที่สั่ง มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท
มาตรา 34 ผู้ปราศรัยให้ผู้ชุมนุมใช้กำลังประทุษร้าย มีโทษจำคุกหนึ่งปีถึงห้าปี ปรับตั้งแต่ 20,000 – 100,000 บาท ผู้ถ่ายทอด เผยแพร่ข้อความนั้นมีโทษเช่นเดียวกัน
ไฟล์แนบ