รายงานการบุกรุกสถานที่เอกชน จับ-ค้น-คุย-คุกคาม-ยึด (เท่าที่ทราบ)

หลังการกองทัพยึดอำนาจการปกครองอย่างเบ็ดเสร็จและฉีกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ได้ 2 เดือนกว่าๆ ในระดับนโยบาย กองทัพใช้อำนาจตามอำเภอใจในการออกประกาศหรือคำสั่งที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนจำนวนมาก ในระดับปฏิบัติการเจ้าหน้าที่รัฐได้บุกรุกสถานที่เอกชนซึ่งกระทำในนามของการรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยให้ประชาชน โดยไม่ต้องมีหมายศาล ไม่ต้องระบุเหตุผลในการบุกเข้าตรวจค้น ทั้งที่หลายครั้งการบุกรุกมีเป้าประสงค์เพื่อจัดการกับปริปักษ์ทางการเมืองของกองทัพเสียมากกว่า
จากการเก็บข้อมูลพบการบุกรุกสถานที่เอกชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐกว่า 177 แห่ง จากพฤติการณ์ดังกล่าวน่าเชื่อว่าเกิดจากเหตุผลทางการเมืองมากกว่ารักษาความสงบและความปลอดภัยให้ประชาชน ในการบุกรุกสถานที่เอกชนส่วนใหญ่จะใช้กำลังเจ้าหน้าที่ทหารเป็นหลักและมีเจ้าหน้าที่ตำรวจสมทบ สถานที่ส่วนใหญ่คือที่พักอาศัยประเภทต่างๆ ตามด้วยสถานีวิทยุ และบริษัทห้างร้าน เป็นต้น ทั้งนี้อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ที่ให้ทหารมีอำนาจเหนือพลเรือนตามมาตรา 8  “เมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึกในตำบลใด, เมืองใด, มณฑลใด, เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเต็มที่จะตรวจค้น, ที่จะเกณฑ์, ที่จะห้าม, ที่จะยึด, ที่จะเข้าอาศัย, ที่จะทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่, และที่จะขับไล่”  
รายงานชิ้นนี้จะนำเสนอข้อมูล “การบุกรุกสถานที่เอกชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับเหตุผลทางการเมือง” ตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม ถึง สิ้นเดือนกรกฎาคม 2557 โดยจะดึงประเด็นที่น่าสนใจจากข้อมูลมาเสนอ ควรย้ำก่อนว่าข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์เป็นเพียงข้อมูลเท่าที่ทราบและสามารถยืนยันได้เท่านั้น   
คุกคาม ตามตัว ผู้ถูกคำสั่งเรียก
หลังการยึดอำนาจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ( คสช.) ออกคำสั่งเรียกบุคคลมารายงานตัวผ่านโทรทัศน์ 36 ฉบับ มีบุคคลถูกเรียกตัวผ่านวิธีการนี้ 476 คน และถูกเรียกโดยไม่ประกาศผ่านโทรทัศน์อีกอย่างน้อย 97 คน (ข้อมูลเมื่อ 8 ส.ค. 2557) ในจำนวนรวมของบุคคลที่ต้องไปรายงานตัวนี้ ส่วนใหญ่ประกอบด้วยนักการเมืองซึ่งส่วนใหญ่มาจากซีกรัฐบาลเดิม  และนักเคลื่อนไหวการเมือง เช่น นักวิชาการ นักเขียน ดีเจ นักกิจกรรม เป็นต้น หลายคนนอกจากถูกเรียกตัวแล้วยังถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคามและสร้างความกลัวจากการบุกรุกบ้านหรือสถานที่ส่วนบุคคล โดยเฉพาะบรรดานักเคลื่อนไหวการเมืองที่ใช้ความคิดเป็นอาวุธ 
กรณีนางสาว อ. อดีตนักกิจกรรมมหาวิทยาลัย เธอถูกคำสั่งเรียกผ่านทาโทรทัศนให้ไปรายงานตัวที่สโมสรกองทัพบก เทเวศร์ คืนก่อนวันรายงานตัวมีตำรวจราว 3 นายบุกไปที่บ้านเพื่อตามให้เธอไปรายงานตัว แต่บ้านหลังนั้นเป็นของพ่อแม่ของเธอ ตำรวจจึงถามไถ่เรื่องของเธอจากพ่อและแม่และให้บอกเธอไปรายงานตัวด้วย แม้การมาของตำรวจจะมาด้วยท่าทีปกติแต่ก็การสร้างความหวาดกลัวให้กับพ่อแม่เธอไม่น้อย
อีกหนึ่งนักกิจกรรม นาย ต. เจ้าหน้าที่รัฐไปที่บ้านเขาถึงสองครั้งสองครา ซึ่งทั้งสองครั้งไปในช่วงเวลาพระอาทิตย์ตกดิน ครั้งแรกตำรวจนอกเครื่องแบบประมาณ 4 นาย เข้ามารอที่บ้านเพื่อตามเขาไปรายงานตัวแต่เจ้าตัวไม่อยู่ รอบที่สองทหารพร้อมอาวุธครบมือบุกมาที่บ้านมาและพูดคุยกับครอบครัวให้ช่วยตามเขาไปรายงานตัว การบุกมาครั้งหลังสุดนับว่าสร้างความแตกตื่นให้ประชาชนในละแวกหมู่บ้านของนาย ต. อย่างยิ่ง
วันที่ 19 มิถุนายน 2557 จังหวัดอุบลราชธานี นายประยุทธ์ ชุ่มนาเสียว อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง อุบลฯ ถูกทหาร ตำรวจ ประมาณ 30 นายพร้อมอาวุธครบมือ บุกค้นบ้านและควบคุมตัวเขาเข้ามาที่กรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้หลังรัฐประหารนายประยุทธเคยถูกเรียกให้ไปรายงานตัวที่ค่ายสรรพสิทธิประสงค์แล้วครั้งหนึ่งโดยถูกกักตัวไว้หนึ่งคืนและต้องมารายงานตัวกับทหารในทุกเช้า (ดูเพิ่มเติม)
บุกจับ บุกค้น ผู้ทำกิจกรรมต้านรัฐประหาร
หลังการรัฐประหารมีการชุมนุมต่อต้านจากประชาชนหลายพื้นที่ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด มีผู้ถูกจับกุมตัวจากการต้านรัฐประหารอย่างน้อย 78 คน (ข้อมูลเมื่อ 8 ส.ค. 2557) ผู้ชุมนุมหลายคนถูกเจ้าหน้าที่บุกไปจับที่บ้านหรือสถานที่อื่นๆ หลังจากชุมนุมเสร็จ น่าสังเกตว่าเจ้าหน้าที่พยายามหลีกเลี่ยงการจับกุมที่เป็นเป้าสายตาต่อสาธารณะ ซึ่งวิธีนี้ประสบความสำเร็จในการสร้างความกลัวและความหวาดระแวงให้กับประชาชนที่เข้าร่วมการแสดงออกตามสถานที่สาธารณะในเวลาต่อมา
นาย อ. หนึ่งในผู้ชุมนุมต้านรัฐประหารที่หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร หลังการชุมนุมตำรวจตามไปหาที่บ้านเขาถึงสามครั้ง โดยสองครั้งแรกตำรวจขอความร่วมมือไม่ให้แสดงการต่อต้านรัฐประหารไม่ว่าจะทางใดก็ตาม ส่วนครั้งที่สามตำรวจเข้าควบคุมตัวเขาที่บ้านก่อนนำมากักขังที่กองบังคับการกองปราบปราม และตั้งข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช. 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง กรณีทำนองเดียวกันนี้ยังพบกับผู้ชุมนุมคนอื่นๆ อีกอย่างน้อย 5 คน
อีกกรณีที่นักศึกษากลุ่มหนึ่งติดสติกเกอร์ต้านรัฐประหาร หลังการติดสติกเกอร์ไม่นานพวกเขาถูกทหาร ตำรวจ จับกุมตัวและนำไปสอบปากคำที่สถานีตำรวจแห่งหนึ่ง ในระหว่างถูกจับกุมตัวพวกเขาถูกเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจพาไปตรวจค้นห้องพักของพวกเขาและคนใกล้ชิด ในเหตุการณ์นี้เจ้าหน้าที่ยึดหนังสือของพวกเขาไปหลายเล่ม (ดูเพิ่มเติม)
บุกรุกคุกคามเกิน 1 ครั้งขึ้นไป
หลายครั้งการบุกรุกสถานที่เอกชนเป็นการบุกรุกสถานที่เดิมมากกว่า 1 ครั้งขึ้นไป จากข้อมูลมีรวม 6 แห่ง กรณีนายธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล ผู้ถูกคำสั่งเรียกฉบับที่ 5/2557 ได้เล่าผ่านจดหมายเปิดผนึกของเขา ว่าเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจแวะเวียนไปที่บ้านพ่อและแม่เขาอย่างต่อเนื่อง จนแม่ของเขาเครียดหนักจนต้องเขาโรงพยาบาล ทั้งนี้ที่บ้านหลังนั้นมีเพียงพ่อแม่วัยชรา และลูกชายของเขาเท่านั้น
ที่ห้างอิมพิเรียล ลาดพร้าว เป็นสถานที่รวมตัวกันของกลุ่มเสื้อแดง ประกอบไปด้วยสถานที่ เช่น สถานีโทรทัศน์เอเชียอัพเดท ร้านหนังสือนายจักรภพ เพ็ญแข และอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ หลังการยึดอำนาจทหารบุกมาที่นี่หลายครั้งและหลายหน่วย โดยแต่ละครั้งทหารจะถ่ายรูปบรรยากาศและผู้คน บ้างครั้งมีการบุกยึดสิ่งของต่างๆ ไปด้วย และล่าสุดคือการบุกมายกเลิกจัดงานวันเกิดให้อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร 
ในกรณีที่คล้ายกัน ร้านหนังสือ Book: Republic จังหวัดเชียงใหม่ สถานที่พบปะแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการและกิจกรรมทางสังคมการเมืองก็ถูกบุกรุกราว 4 ครั้ง (ดูเพิ่มเติม) และยังคงมีเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจแวะเวียนมาจอดรถอยู่หน้าร้านเป็นระยะต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน
สถานีวิทยุชุมชน
หลังการรัฐประหาร คสช.ออกประกาศฉบับที่ 15, 23 และ 32 เป็นผลให้สถานีวิทยุชุมชนทั่วประเทศต้องยุติการออกอากาศ อย่างไรก็ตามแม้สถานีวิทยุส่วนใหญ่จะยุติการออกอากาศแล้ว แต่เจ้าหน้าที่รัฐก็ยังคงใช้อำนาจในทางปฏิบัติเพื่อทำการบุกรุก และยึดอุปกรณ์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างที่จังหวัดหนองคาย ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ร่วมกันบุกสถานีวิทยุชุมชน 92 แห่ง จำนวน 9 อำเภอ พร้อมยึดเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียง รวมทั้งสิ้น 57 เครื่อง
โรงแรมวโรรสแกรนด์พาเลซ ที่ตั้งสถานีวิทยุคนเสื้อแดง กลุ่มรักเชียงใหม่ 51 เป็นที่รวมตัวสำคัญของแกนนำคนเสื้อแดงที่จังหวัดเชียงใหม่ ถูกเพ่งเล็งจากทหารเป็นพิเศษมากกว่าสถานีวิทยุทั่วไป หลังรัฐประหารที่นี้ถูกทหารบุกอย่างน้อย 3 ครั้ง และยึดสิ่งของ เช่น ตู้เซฟ เอกสาร อุปกรณ์การชุมนุม คอมพิวเตอร์ เป็นต้น
ตัวประกันทางการเมือง
การบุกรุกสถานที่ต่างๆ ของทหาร นอกจากเพื่อการตามบุคคล ตรวจค้น และยึดสิ่งของแล้ว หลายครั้งทหารได้จับกุมตัวบุคคลอื่นที่ไม่ใช่คนที่ตามหาไปเป็นตัวประกัน เช่น นาย ส. ซึ่งมีรายชื่ออยู่ในคำสั่งเรียกฉบับหนึ่ง ถูกทหารและตำรวจราว 30 นาย บุกไปที่บ้านแต่เขาไม่อยู่ จึงคุมตัวลูกสาว 2 คน และลูกชายอีก 1 คน ของเขาไป 
ที่จังหวัดเชียงใหม่พบอย่างน้อย 3 กรณีที่ญาติถูกคุมตัวไปแทนก่อนและเมื่อคนที่ทหารต้องการตัวไปรายงานตัวญาติก็จะถูกปล่อยออกมา (ดูเพิ่มเติม) นอกจากนี้ยังมีการบุกค้นบ้านของนายสมยศ พฤษาเกษมสุข จำเลยคดีมาตรา 112 ซึ่งเจ้าหน้าที่จับนางสุกัญญา ภรรยาและลูกอีกสองคนของนายสมยศไปที่สโมสรกองทัพ เทเวศน์ ทั้งที่เจ้าตัวถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำอยู่แล้ว เหตุการณ์นี้ได้สร้างความตื่นตกใจให้กับบรรดานักเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นอย่างมาก
                                                                                                                                                 
ข้อมูลการบุกรุกสถานที่เอกชนนี้เป็นข้อมูลที่ทราบและยืนยันได้เท่านั้น คาดหมายว่าในความเป็นจริงทั่วประเทศตัวเลขและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นน่าจะมีอีกเป็นจำนวนมาก