เรื่องของศาล : สัมผัสทางสายตา

เมื่อกล่าวถึงความแตกต่างระหว่าง “ศาลพลเรือน” กับ “ศาลทหาร” นอกจากเรื่องขอบเขตอำนาจศาลที่แตกต่างกันแล้ว ยังมีประเด็นที่น่าเล่าสู่กันฟังในสถานการณ์ที่ศาลเหล่านี้เริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องและเป็นที่สนใจของสังคมมากขึ้น

มุมที่จะเล่าสู่กันฟังวันนี้ เป็นประเด็นเบาๆ ในศาลทั้งสอง จากประสบการณ์การเดินทางไปศาล ทั้งศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญารัชดา และศาลทหารกรุงเทพฯ เท่านั้น

สถาปัตยกรรมเบื้องหน้า

ภาพจำของศาลพลเรือน คือ อาคารสถาปัตยกรรมขนาดยักษ์ที่สะท้อนถึงอำนาจของศาลที่ศักดิ์สิทธิ์และยากจะท้าทาย บันไดทางขึ้นศาลสูงชันมีหลายขั้น ดูมิได้เป็นมิตรกับประชาชนคนเล็กคนน้อยเอาเสียเลย หากผู้เฒ่าผู้แก่หรือคนพิการ ต้องเดินทางขึ้นศาลน่าจะลำบากอยู่ ในทางตรงข้ามศาลทหารเป็นสถาปัตยกรรมที่ธรรมดาเหมือนอาคารราชการทั่วไป บันไดด้านหน้าก็ไม่ได้สูงจนโดดเด่นนัก

 

 

อาคารศาลอาญารัชดา (ภาพจากมติชนออนไลน์)

 

ความเข้มงวดของเจ้าหน้าที่

เมื่อเดินทางเข้าไปในทั้งศาลพลเรือนและทหาร เราจะต้องถูกเจ้าหน้าที่ตรวจกระเป๋า เพื่อป้องกันการนำอาวุธหรือสิ่งต้องห้ามเข้าไปในศาล จากประสบการณ์เพียงเล็กน้อย รู้สึกได้ว่าศาลพลเรือนค่อนข้างเข้มงวดกว่าศาลทหาร อาจเป็นศาลพลเรือนมีประชาชนมาติดต่อในแต่ละวันมากกว่า อย่างไรก็ดีความเข้มงวดนั้นมิได้เป็นอุปสรรคต่อผู้มาติดต่อมากนัก

ห้องพิจารณาคดี

ก้าวเข้ามาที่ห้องพิจารณาคดี ความแตกต่างอย่างหนึ่งที่เห็นชัด คือ ห้องพิจารณาศาลทหารขนาดเล็กกว่า จึงไม่ได้จัดแบ่งโซน เหมือนกับศาลพลเรือน กล่าวคือศาลพลเรือนแบ่งพื้นที่ออกเป็นสามโซน คือ 1) บัลลังก์ศาล 2) บริเวณหน้าบัลลังก์ศาลที่ประกอบด้วย คอกพยาน ที่นั่งฝ่ายโจทย์และจำเลย 3) บริเวณที่นั่งของผู้สังเกตการณ์ ทั้งนี้จุดแตกต่างคือบริเวณหน้าบัลลังก์ศาลกับบริเวณที่นั่งผู้สังเกตการณ์ ศาลเรือนจะมีรั้วกั้นขณะศาลทหารไม่มี จึงให้ความรู้สึกใกล้ชิดกว่า

 

ศาลทหารกรุงเทพฯ หลังศาลหลักเมือง

 

ผู้พิพากษา

ผู้พิพากษาศาลทหารหรือตุลากรศาลพระธรรมนูญ ต้องเป็นทหารชั้นสัญญาบัตร ซึ่งองค์คณะหนึ่งมีสามคน หนึ่งในสามคนต้องมีความรู้ทางด้านนิติศาสตร์และเป็นนายทหารทั่วไปอีกสอง ข้อสังเกตเล็กน้อยของผู้เขียนคือครุยผู้พิพากษาศาลทหารต่างกับผู้พิพากษาศาลพลเรือน กล่าวคือครุยผู้พิพากษาศาลทหารเป็นชุดสีดำมีสายพาดบ่าสีทองอ่อนๆ ที่ติดตราสัญลักษณ์ศาลทหาร ขณะที่ครุยผู้พิพากษาศาลพลเรือนไม่มีสายพาดสีทอง และติดตราสัญลักษณ์ศาลยุติธรรมเล็กๆ ที่หน้าอก

 

การอธิบายของผู้เขียนมาจากประสบการณ์เพียงเล็กน้อย หากผิดพลาดประการใดก็โต้เถียงเชิงข้อมูลกันได้ตามระบบประชาธิปไตย ใครมีประสบการณ์มากกว่ามีความรู้มากกว่าช่วยเติมเต็มกันด้วยนะ