23 ข้อเสนอจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น: การต่อสู้คงไม่จบในเร็ววัน

ในยุคที่กระแสเกลียดคนโกงมาแรง แรงพอที่จะไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และแรงเสียจนไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น  และในช่วงเวลาที่ใครๆ ก็พูดถึงปัญหาคอร์รัปชั่นที่กัดกินการพัฒนาประเทศมาอย่างยาวนาน มีข้อเสนออกมามากมายจากหลายฝ่ายที่เห็นผลกระทบอันมหาศาลของปัญหานี้  ไอลอว์ไม่อาจมองข้ามภาคประชาชนที่ทำงานรณรงค์ในประเด็นแก้ปัญหาการโกงโดยตรง จึงได้หาโอกาสมาเคาะประตูบ้านของ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น และพูดคุยกับ ดร.มานะ นิมิตรมงคง ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น
ยังไม่เห็นวี่แววว่าองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นจะพยายามเร่งแก้ปัญหาการโกงให้สำเร็จลุล่วงก่อน แล้วจึงค่อยเลือกตั้งทีหลัง ตรงกันข้าม พวกเขากำลังก้มหน้าก้มตาทำงานของตัวเอง โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ระยะเวลาอีก 20-30 ปีข้างหน้า ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเมื่อถึงวันนั้นการเมืองไทยจะเดินหน้าไปเป็นอย่างไร
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น ไม่มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นก่อตั้งขึ้นในปี 2554 ปัจจุบันมีสมาชิก 47 องค์กรมีทั้งภาคธุรกิจ หน่วยงานราชการ และมหาวิทยาลัย เช่น สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม การทำงานเป็นการรวมตัวของนักธุรกิจที่เป็นอาสาสมัครเข้ามาทำงาน มีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ 3 คน พอต้องการข้อมูลความรู้ก็จะระดมผู้รู้จากวงการต่างๆ เข้ามาช่วยกัน พอจะทำกิจกรรมก็ออกจดหมายระดมเงินกัน เงินทุกทุกบาททุกสตางค์เป็นเงินบริจาคทั้งสิ้น
การทำงานขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นไม่มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง เพราะการต่อต้านคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาสำคัญของประเทศที่ทุกคนจะต้องเป็นเจ้าของความพยายามร่วมกันในการแก้ปัญหา
เราตระหนักว่าปัญหาคอร์รัปชั่นในบ้านเรายิ่งนานวันยิ่งเลวร้ายมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าภาคประชาชนไม่ทำอะไรเลยปล่อยให้เป็นเรื่องของภาครัฐ หรือพูดง่ายๆ ว่าปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามยถากรรม สถานการณ์ก็จะเลวร้ายดำดิ่งลงไปมากขึ้นเรื่อยๆ ความเสียหายที่เกิดจากคอร์รัปชั่นไม่ได้มีผลต่อเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่คอร์รัปชั่นนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ด้วย เช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ปัญหาความขัดแย้งทางสังคม ปัญหาการช่วงชิงอำนาจทางการเมือง การคอร์รัปชั่นง่ายๆ ทำให้นักการเมืองต่อสู้กันเอาเป็นเอาตายเพื่อเข้าสู่อำนาจไปแสวงหาผลประโยชน์ และยังทำลายระบบราชการให้ด้อยคุณภาพลงไปเรื่อยๆ
เป้าหมายสูงสุดขององค์กร คือ ทำให้สังคมไทย และคนไทยไม่ยอมรับพฤติกรรมการโกงทุกรูปแบบ เราไม่ได้บอกว่าจะไปจับคนโกงให้ได้ หรือจะไปทำให้คนโกงไม่มีช่องทางการโกง แต่สิ่งที่เราทำคือ ทำให้สังคมไทยมีความเชื่อเหมือนกันว่าจะไม่ยอมให้ใครโกง เป็นเรื่องของทัศนคติและจิตสำนึก
ต่อต้านโกงทุกระดับ เน้นต้านคอร์รัปชั่นภาครัฐ “ภาพใหญ่เคลียร์ได้ ภาพเล็กก็เคลียร์ได้”
การคอร์รัปชั่นในชีวิตประจำวัน เช่น ตำรวจจราจรรีดไถ ก็จะเป็นปัจจัยทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนลำบาก แต่ตอนนี้เน้นการทำงานเรื่องคอร์รัปชั่นในภาครัฐ เชื่อว่าถ้าภาพใหญ่เราสามารถเคลียร์ได้ ภาพเล็กก็สามารถเคลียร์ได้
เราตระหนักดีว่าการต่อสู้กับคอร์รัปชั่นคงไม่จบสิ้นในเร็ววัน อาจต้องใช้เวลาต่อสู้สัก 20-30 ปี
จริงๆ แล้วเรื่องคอร์รัปชั่นทุกอย่างในภาครัฐเราอยากเข้าไปดู แต่ก็เป็นข้อจำกัดที่วันนี้กำลังคนที่มีความรู้ยังไม่มากเพียงพอ มีคนเคยถามว่าทำไมไม่ไปทำเรื่องทหาร หรือเรื่องทุจริตของรัฐบาลที่แล้วๆ มาบ้าง คำตอบก็คือว่า เฉพาะโครงการในปัจจุบันยังทำได้ไม่หมดเลย เราก็ตามได้เฉพาะเรื่องใหญ่ๆ ที่ประชาชนสนใจเท่านั้นก่อน การไปทำเรื่องในอดีตยังเกินกำลังของเรา ไม่ใช่ไม่อยากทำ
ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน 3 ป. – เปิดโปง ปลูกฝัง ป้องกัน
การเปิดโปง คือ ให้ประชาชนรู้ข้อมูลโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ เช่น การรับจำนำข้าวเปลือก การใช้งบประมาณแก้ปัญหาน้ำท่วม เราจะจัดเวทีสัมนาอภิปราย บางครั้งก็พิมพ์เป็นเอกสารแจก วัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการหยุดยั้งพฤติกรรมการโกงในเรื่องนั้นๆ หรือลดระดับความสูญเสียในโครงการนั้นๆ ได้ ไม่ได้คิดถึงขนาดว่าจะยกเลิกโครงการได้
การปลูกฝัง คือ การรณรงค์เรื่องคุณธรรมจริยธรรม ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่และนักธุรกิจ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยจัดโครงการ “บัณฑิตไทยไม่โกง” ทำหลักสูตรในระดับประถม “โตไปไม่โกง” มีการทำสารคดีสั้นชื่อ “ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน”
การป้องกัน คือ การเสนอมาตรการต่างๆ ที่จะสามารถแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นได้ ตอนนี้มีกระแสรณรงค์ให้ปฏิรูปปัญหาคอร์รัปชั่นของประเทศไทย องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นออกข้อเสนอ 5 แนวทาง 23 มาตรการ เพราะเราเห็นว่ารัฐบาล 6 ชุดที่ผ่านมามีนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่นแบบเป็นนามธรรม ปฏิบัติไม่ได้ ทำให้ล้มเหลวมาตลอด เราจึงเสนอข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมปฏิบัติได้จริง
23 มาตรการกำจัดคอร์รัปชั่น เสนอแก้กฎหมาย-ให้ประชาชนมีส่วนร่วม
กฎหมายที่เกี่ยวกับการกำจัดคอร์รัปชั่นในบ้านเรามีเยอะ แต่การบังคับใช้ไม่มีประสิทธิภาพ บางครั้งเราก็จำเป็นต้องเรียกร้องให้ออกกฎหมายเพิ่มเติมเป็นพิเศษเพื่อไปอุดช่องว่าง แต่ไม่ว่าจะออกกฎหมายเพิ่มเติมยังไงก็จะมีช่องว่างเสมอ เพราะคนโกงจะมีวิวัฒนาการต่อไป
ข้อเสนอในปัจจุบัน เช่น แก้ไขกฎหมายให้คอร์รัปชั่นเป็นอาชญากรรมร้ายแรงโทษสูงไม่มีรอลงอาญา แก้ไขกฎหมายหมิ่นประมาทในคดีเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะเพิ่มภาระการพิสูจน์ของผู้ฟ้องคดี ให้ประเทศไทยลงนามเข้าเป็นภาคีสมาชิกของอนุสัญญาต่อต้านคอร์รัปชั่น OECD ห้ามบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมดำรงตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจ แก้ไขพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ปรับปรุงกระบวนการสรรหาองค์กรอิสระ เป็นต้น [ดูรายละเอียดตามไฟล์แนบ]
ในด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน ก็มีข้อเสนอ เปิดให้ภาคประชาชนเข้ามาเป็นผู้สังเกตการณ์ในโครงการขนาดใหญ่ด้วยการออกพระราชกฤษฎีกาข้อตกลงคุณธรรม หรือ Integrity Pact ให้โครงการขนาดใหญ่ของรัฐต้องทำรายงานการศึกษาความเสี่ยงในการเกิดคอร์รัปชั่นก่อน กำหนดให้ประชาชนเป็นผู้เสียหายในคดีคอร์รัปชั่นสามารถฟ้องคดีเองได้ ฯลฯ 
เสนอตั้งกองทุนป้องกันการทุจริต แบ่งจากยึดทรัพย์คดีโกง หนุนภาคประชาชน
เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกว่ากลไกสำคัญที่สุดในการต่อต้านคอร์รัปชั่นคือการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เพราะภาคประชาชนจะมีความเป็นกลาง มีเครือข่ายที่กว้างขวาง องค์ความรู้ลึกซึ้งกว่าข้าราชการ เช่น เวลาจะคุยเรื่องทุจริตรถเมล์ เจ้าหน้าที่ของป.ป.ช.ไม่มีทางรู้เรื่องรถเมล์ทั้งหมดได้ แต่พอภาคประชาชนมาทำก็จะระดมคนที่มีความรู้ในเรื่องนั้นมาได้
แต่ที่ผ่านมาการทำงานด้านนี้ของประชาชนไม่ได้รับการสนับสนุน การทำงานต้องมีค่าใช้จ่ายในการแสวงหาข้อมูล การเผยแพร่ข้อมูล ทุกอย่างมีต้นทุน ขณะเดียวกันประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวก็จะถูกปิดกั้น ข่มขู่ คุกคาม จึงจำเป็นต้องหาเงินก้อนหนึ่งมาสนับสนุนภาคประชาชน ซึ่งกองทุนนี้เสนอให้ภาครัฐเป็นผู้จ่ายออกมา อาจจะขอส่วนแบ่งจากการยึดทรัพย์คดีโกงทั้งหลาย
ข้อเสนอ 23 มาตรการกำจัดคอร์รัปชั่นต้อง “ก่อนการเลือกตั้ง” แต่ทำจริงต้องใช้เวลา
ถึงวันนี้เราก็ยังเน้นว่าต้องก่อนการเลือกตั้ง เพราะเมื่อนักการเมืองเข้าสู่อำนาจแล้วจะไปเรียกร้องมาตรการเหล่านี้ ไม่มีทาง เป็นไปไม่ได้ที่นักการเมืองที่มีอำนาจจะสนับสนุนมาตรการต่อต้านคอร์รัปชั่น
เรารู้ว่ามาตรการเหล่านี้เกือบทั้งหมดต้องใช้เวลาในการทำ กฎหมายฉบับหนึ่งถ้าทำเสร็จได้ในสามปีหรือห้าปีก็เก่งแล้ว แต่เราอยากให้นักการเมืองเสนออะไรบางอย่างที่ประชาชนมั่นใจได้ว่าเมื่อเข้าสู่อำนาจแล้วเขาจะทำแน่นอน ภายในระยะเวลาอันสั้นที่สุด สำหรับข้อเสนอ 23 มาตรการนี้ ถ้านักการเมืองเห็นด้วยทั้งหมดหรือบางส่วนก็ให้พิมพ์เป็นลายลักษณ์อักษรออกมาว่าข้อไหนเป็นนโยบายของพรรคการเมืองไหน ซึ่งจะทำภายในเวลาเท่าไรก็ว่าไป แล้วใช้เป็นนโยบายหาเสียงในการเลือกตั้ง
ย้ำอีกทีหนึ่ง เรารู้ดีว่ามันต้องใช้เวลา แต่เรายังเขียนว่าต้อง “ก่อนการเลือกตั้ง” คือ ต้องให้นักการเมืองแสดงอะไรสักอย่างให้ประชาชนเห็นว่าหลังเลือกตั้งแล้วจะเบี้ยวไม่ได้  
ถอดหนังโฆษณาตอนแม่กับลูกออกแล้ว ไม่อยากสร้างศัตรูทางการเมือง
ล่าสุดทางองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นออกหนังโฆษณาชื่อ “อย่าปล่อยคนโกงให้มีที่ยืนในสังคม” มีทั้งหมด 6 ตอน ตอนละ 30 วินาที ที่มีการพูดว่า “ขี้โกงๆๆ”เป็นแนวการโฆษณาแบบ hard sell หรือการสื่อสารแบบตรงไปตรงมา แนวคิดคือต้องการให้สังคมไทยไม่ยอมรับการโกงทุกรูปแบบ เพื่อบูมกระแสต่อเนื่องหลังมีกระแสเรียกร้องการปฏิรูปมาแล้ว ตัวละครมีทั้งผู้หญิง ผู้ชาย คนแก่ คนธรรมดา พ่อค้าแม่ค้า ข้าราชการ อยากให้คนดูเกิดจินตนาการว่าตัวละครเหมือนคนที่เรารู้จักและคิดต่อว่าถ้าเจอเหตุการณ์เหล่านี้ควรจะมีปฏิกิริยาต่อต้านคนพวกนี้อย่างไร
ผลตอบรับที่ได้มหาศาล ได้รับกระแสดีมาก แต่มีกรณีตอนแม่ลูก ซึ่งจริงๆ ต้องการสื่อว่าพ่อแม่ที่ทำมาหากินไม่สุจริตจะทำให้คนในครอบครัวเดือดร้อน คณะกรรมการเป็นคนพิจารณาสคริปต์ทุกตอนทุกคำพูด ส่วนทีมสร้างเป็นคนเลือกนักแสดง ตอนผู้ใหญ่ดูก็ไม่คิดว่าจะมีอะไรเป็นพิเศษ เป็นห่วงอยู่แต่ว่าจะเป็นการละเมิดเด็กหรือเปล่า แต่ปรากฏคนจำนวนมากดูแล้วมองว่าตัวละครนั้นเป็นนายกรัฐมนตรีกับลูก
ตอนแรกเราคิดว่าไม่มีอะไร แต่เมื่อกระแสสังคมตีความไปอย่างนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเราเลยถอดหนังโฆษณาตอนนี้ออก เพราะการต่อสู้กับคอร์รัปชั่นต้องต่อสู้ระยะยาว เราก็ไม่อยากสร้างศัตรูทางการเมือง เอาไว้ทะเลาะกันเรื่องที่มันชัดเจนว่ามันโกงดีกว่า
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นไม่ได้เข้าร่วมกับ กปปส. ใครจะเป็นรัฐบาลไม่สนใจ
กระแสการต่อต้านคอร์รัปชั่นรอบนี้ชัดเจนและรุนแรงจากการต่อต้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม กปปส.มาโหนกระแสนี้ต่อ ขอบคุณ ส.ส. พรรครัฐบาลเลยที่ไปดัน พ.ร.บ. แบบนี้ทำให้ประชาชนหูตาสว่าง ไปแสดงพฤติกรรมที่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่ามันเกินไปแล้ว ทำให้กระแสการต่อต้านรุนแรง และทำให้เราทำงานง่ายขึ้น
เราไม่เคยประกาศตัวสนับสนุนกปปส. เราเป็นองค์กรแรกๆ ที่จุดกระแสต่อต้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม และเฝ้าติดตามการเคลื่อนไหวของกปปส.เท่านั้นเอง องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นจะทำงานในประเด็นคอร์รัปชั่นเท่านั้น จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองหรือการเคลื่อนไหวทางการเมือง ใครจะเป็นรัฐบาลหรือเป็นผู้ชนะเราไม่สนใจ ถ้าคุณเข้าสู่อำนาจแล้วคุณโกงคุณเป็นศัตรูกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น
การโกงมีต้นเหตุทั้งจากจิตสำนึกและระบบ
จุดใหญ่ของการคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องความโลภของคน หรือความไม่ถูกต้องของระบบที่ทำให้เกิดความไม่ยุติธรรม ว่ากันว่าข้าราชการในเมืองไทยมีคนที่สะอาด 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น และมีคนที่ตั้งหน้าตั้งตาโกงอีก 30 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 50 เปอร์เซ็นต์เป็นข้าราชการสีเทาๆ คือ ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ยุ่งกับการโกงแต่ถ้าจำเป็นก็ตามน้ำไป บางคนก็โกงเพราะสภาพแวดล้อมบังคับ เช่น ถ้าไม่มีส่วยไปให้นายก็จะโดนเล่นงาน
ฝันอยากเห็นการตื่นตัวมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ กัน
สิ่งที่เราอยากเห็น คือ ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับกระบวนการต่อต้านคอร์รัปชั่นให้มากที่สุด โดยการเข้าร่วมไม่จำเป็นต้องเข้ามาที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นโดยตรง แต่ให้มีการรวมกลุ่มกันในพื้นที่ของตัวเอง ในขอบเขตที่ตัวเองถนัด เราอยากเห็นการตื่นตัวของประชาชนในกลุ่มต่างๆ สาขาวิชาชีพต่างๆ ชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ ทำในสิ่งที่ตัวเองทำได้ และช่วยกันทำ
ไฟล์แนบ