รอบอาทิตย์แรก พ.ค. 56 : ศาลเลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐานคดีพ.ธ.ม.

 

29 เมษายน 2556
ศาลเลื่อนนัดประชุมคดีตรวจพยานหลักฐาน ในคดีที่กลุ่มพันธมิตรฯ ปิดล้อมสนามบิน ทำเนียบ และรัฐสภา ออกไปเป็นเดือนกรกฎาคม และสิงหาคม
ศาลอาญา เลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐานคดีที่อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 9 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พลตรีจำลอง ศรีเมือง นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พร้อมพวก ซึ่งเป็นกลุ่มแนวร่วมพันธมิตรฯ 8 สำนวน รวม 96 คน ในความผิดฐานร่วมกันก่อการร้าย มั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการเพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และพระราชบัญญัติความผิดทางเดินอากาศ จากกรณีจำเลยได้นำกลุ่มผู้ชุมนุมปิดล้อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง เมื่อปี 2551 ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหาที่มีอัตราโทษสูงถึงประหารชีวิต เมื่อจำเลยยังไม่มีทนายความ กรณีจึงไม่อาจดำเนินกระบวนการพิจารณาต่อไปได้ จึงให้เลื่อนนัดประชุมคดีตรวจพยานหลักฐาน สอบคำให้การจำเลยออกไป เป็นวันที่ 29 กรกฎาคมนี้ เวลา 09.00 น.
30 เมษายน 2556
เฉลิมประกาศดันพรบ.ปรองดอง6มาตรา3วาระรวด
ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่จะเสนอพ.ร.บ.ปรองดองในที่ประชุมพรรคเพื่อไทยว่าตนจะนำเสนอในพรรค ถ้าพรรคเห็นด้วยก็ให้เป็นร่างของพรรค แต่ถ้าพรรคไม่เห็นด้วยแล้วบอกให้พวกตนทำกันเองก็ใช้21รายชื่อเสนอ ซึ่งรายชื่อเสนอเกินแล้ว ทั้งนี้ตนได้ให้นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยรวบรวมเอกสาร หากพรรคเห็นด้วยเปิดสมัยวิสามัญตนจะเสนอเลย ถ้าหลายๆคนเห็นด้วยว่าบ้านเมืองจะไปข้างหน้า  ก็จะหารือว่า3วาระบ้านเมืองสงบสุขปรกติ เริ่มนับหนึ่งประเทศไทย เรายังดีกันไม่ได้แล้วจะไปเจรจากับนายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำบีอาร์เอ็นได้หรือ ต้องทำให้เขาเห็นเป็นตัวอย่างว่าเราปรองดองแล้ว นายตอยิบต้องมาด้วยจะได้จบ 
ที่มา : ไทยรัฐ
1 พฤษภาคม 2556
ฟรีดอมเฮาส์ลดอันดับเสรีภาพสื่อไทยจาก "เสรีบางส่วน" เป็น "ไม่เสรี"
ในการแถลงข่าวและเผยแพร่รายงานเสรีภาพสื่อประจำปี2012 องค์กรฟรีดอมเฮาส์ซึ่งเป็นองค์กรที่รายงานเรื่องเสรีภาพสื่อและเสรีภาพอินเทอร์เน็ตได้จัดให้ประเทศไทยอยู่ในสถานะประเทศที่ "ไม่เสรี" โดยลดสถานะจาก "เสรีบางส่วน" จากปีที่แล้ว เนื่องจากการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก และคำตัดสินจากศาลรัฐธรรมนูญในปีที่แล้วว่ากฎหมายหมิ่นฯ ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ รวมถึงข้อกังวลเรื่องการเอาผิดตัวกลางในอินเทอร์เน็ต เช่นในกรณีการตัดสินคดีจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในทวีปเอเชียแปซิฟิกที่มีการเปลี่ยนสถานะดังกล่าว
ก่อนหน้านี้ในปี2552ประเทศไทยอยู่ในสถานะประเทศที่มี "เสรีบางส่วน" ในปี 2552 ต่อมาถูกลดระดับมาอยู่ในสถานะ "ไม่เสรี" ในปี 2553 เนื่องจากมีการใช้กฎหมายอาชญกรรมคอมพิวเตอร์และกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จากนั้นได้ขยับขึ้นมาเป็น "เสรีบางส่วน" ในปี 2554 ด้วยบรรยากาศการผ่อนคลายความตึงเครียดหลังการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกรกฎาคม
ฟรีดอมเฮาส์ จะพิจารณาจัดลำดับจากสามแง่มุมหลักเป็นสำคัญ ได้แก่ ด้านกฎหมาย เช่น กฎหมายสื่อ ด้านการเมือง เช่น แรงกดดันหรือการข่มขู่จากรัฐบาล และด้านเศรษฐกิจ เช่น การเป็นเจ้าของสื่อ ต้นทุนในการผลิต และผลกระทบของการโฆษณา เป็นต้น
ที่มา : ประชาไท
เครือข่ายแรงงานไทยจี้สภาทบทวนตีตก กม.ประกันสังคม ฉบับ ปชช.
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) นำโดย น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ผู้แทนผู้เสนอชื่อร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย พร้อมด้วยประชาชนจำนวน 150  คน เข้ายื่นหนังสือต่อนายสมศักดิ์ เกียตรสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อคัดค้านกรณีที่สภาลงมติไม่รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่…) พ.ศ….ซึ่ง น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 14,264 คนเป็นผู้เสนอ โดยมีนายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้รับหนังสือแทน
น.ส.วิไลวรรณ กล่าวว่า เมื่อครั้งที่มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญนิติบัญญัติ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2556 ที่ประชุมสภาได้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับดังกล่าว และลงมติไม่รับหลักการ ส่งผลให้ร่างนี้เป็นอันตกไป ตนและประชาชนผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายเห็นว่า กระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายของสภาครั้งนี้ ไม่ชอบด้วยเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 163 ซึ่งรับรองสิทธิการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชนในการเสนอกฎหมาย  เมื่อสภาไม่รับหลักการก็ถือว่าสภาชุดนี้ไม่สนองตอบความต้องการของประชาชนผู้เสนอกฎหมายในการปฏิรูประบบบริหารกองทุนประกันสังคม จึงขอให้ประธานสภาดำเนินการเพื่อให้สภามีมาตรการที่เป็นหลักประกันต่อการพิจารณาร่างกฎหมายที่ประชาชนเสนอให้เป็นไปตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ
ที่มา : มติชน
แรงงานมะกันร้องปฏิรูปก.ม.ต่างด้าว
ผู้ใช้แรงงานหลายพันคนร่วมเดินขบวนในย่านดาวน์ทาวน์ของเมืองลอสแองเจลิสเนื่องในวันแรงงานสากลโดยเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯยกเครื่องกฎหมายคนเข้าเมืองเพื่อรับรองบรรดาแรงงานต่างชาติหลายล้านคนที่ไม่มีเอกสารการทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย นับเป็นการชุมนุมของบรรดาผู้ใช้แรงงานที่ใหญ่ที่สุด โดยมีนักเคลื่อนไหวด้านแรงงาน นักเรียนนักศึกษา รวมทั้งประชาชนทั่วไปเข้าร่วมชุมนุมครั้งนี้ด้วย