ค้านร่างกฎกระทรวงเรื่องสัญชาติ ผลักเด็กให้ผิดกฎหมายตั้งแต่เกิด

ตามพ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 มาตรา 7 เด็กที่จะมีสัญชาติไทยติดตัวมาตั้งแต่เกิดมีอยู่สองประเภท คือ เด็กที่พ่อหรือแม่เป็นคนไทยไม่ว่าจะเกิดที่ใดก็ตาม และเด็กที่เกิดในประเทศไทยไม่ว่าพ่อแม่จะเป็นคนชาติใดก็ตาม

แต่เนื่องจากในประเทศไทยมีทั้งคนสัญชาติอื่นๆ และคนไม่มีสัญชาติอยู่จำนวนมาก ตามกฎหมายแล้ว เด็กที่เกิดในประเทศไทยจากพ่อแม่ต่างชาติ ไม่ใช่ว่าจะได้สัญชาติไทยทุกคน ยังมีข้อยกเว้นอยู่มากโดยขึ้นอยู่กับว่าพ่อแม่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยด้วยสถานะอะไร ดังนั้น พ.ร.บ.สัญชาติ จึงถูกเขียนมาตรา 7 ทวิ ขึ้นมาเพิ่มเติมโดยแก้ไขครั้งล่าสุดเมื่อปี 2551 ดังนี้
            มาตรา ๗ ทวิ ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว ย่อมไม่ได้รับสัญชาติไทย ถ้าในขณะที่เกิดบิดาตามกฎหมายหรือบิดาซึ่งมิได้มีการสมรสกับมารดาหรือมารดาของผู้นั้นเป็น
           (๑) ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย
           (๒) ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราว หรือ
           (๓) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง
           ในกรณีที่เห็นสมควร รัฐมนตรีจะพิจารณาและสั่งเฉพาะรายหรือเป็นการทั่วไปให้บุคคลตามวรรคหนึ่งได้สัญชาติไทยก็ได้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
           ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยซึ่งไม่ได้สัญชาติไทยตามวรรคหนึ่งจะอยู่ในราชอาณาจักรไทยในฐานะใด ภายใต้เงื่อนไขใด ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรและสิทธิมนุษยชนประกอบกัน ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎกระทรวงดังกล่าว ให้ถือว่าผู้นั้นเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง
มาตรา 7 ทวิ นั้นเป็นมาตราที่เพิ่มเข้ามาในการแก้ไขกฎหมายเมื่อปี 2535 ส่วนวรรคสองและวรรคสามถูกใส่เข้ามาเพิ่มอีกในปี 2551 เนื่องจากพบว่าสถานการณ์จริงมีคนต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยแบบชั่วคราว หรือรับอนุญาตจำนวนมาก และลูกของคนกลุ่มนี้ก็เกิดในประเทศไทย กฎหมายจึงต้องแก้ไขใหม่เพื่อกำหนดให้เด็กที่เกิดจากพ่อแม่กลุ่มนี้ไม่ได้สัญชาติไทยโดยอัตโนมัติจากการเกิดบนดินแดนไทย
มาตรา 7 ทวินั้น หมายความว่า ลูกของพ่อแม่ที่ไม่มีสัญชาติไทย แต่อยู่ในประเทศไทยด้วยสามกรณี คือ (1) ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย หมายถึง กลุ่มคนที่มีมติคณะรัฐมนตรีผ่อนผันให้อยู่ในประเทศไทยได้ชั่วคราว เช่น แรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่า ลาว กัมพูชา หรือ ชนกลุ่มน้อย เช่น คนพม่าพลัดถิ่น จีนฮ่อ (2) ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราว หมายถึง กลุ่มคนที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยชั่วคราว เช่น เข้ามาโดยมีหนังสือเดินทางและมีวีซ่านักท่องเทียว วีซ่าธุรกิจ เป็นต้น และ (3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง หรือ คนที่หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายนั่นเอง ส่วนกรณีลูกที่เกิดจากพ่อแม่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยแบบถาวรก็จะได้สัญชาติไทยทันที
มาตรา 7 ทวิ วรรคแรก บอกไว้ชัดเจนแล้วว่าแม้เด็กจะเกิดในประเทศไทย แต่เด็กก็ไม่ได้รับสัญชาติไทย แต่เมื่อพ่อแม่มีสิทธิอยู่ในดินแดนของประเทศไทยและเด็กก็เกิดมาในประเทศไทยแล้ว ในวรรคสามจึงกำหนดไว้ว่า สถานะของเด็กและสิทธิการอยู่ในประเทศไทยนั้นจะเป็นอย่างไรให้กำหนดไว้ในกฎกระทรวง
โดยก่อนที่กฎกระทรวงจะประกาศใช้ ให้ถือว่าเด็กที่เกิดในประเทศไทยเข้ามาอยู่ในประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาต เท่ากับว่าเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย มีความผิดตามพ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 11 มีโทษจำคุกสองปี
พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒
            มาตรา ๑๑ บุคคลซึ่งเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรจะต้องเดินทางเข้ามาหรือออกไปตามช่องทาง ด่านตรวจคนเข้าเมือง เขตท่า สถานี หรือท้องที่และตามกำหนดเวลา ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีจะได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
            มาตรา ๖๒  ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๑ หรือมาตรา ๑๘ วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
การที่กฎหมายกำหนดว่าเด็กที่เกิดมาเป็นความผิดนั้น น่าจะมีปัญหาในทางหลักการพอสมควร เพราะความผิดฐานเข้าเมืองผิดกฎหมายนั้นมีโทษทางอาญา ซึ่งตามหลักแล้ว บุคคลจะมีความรับผิดอาญาได้ ต่อเมื่อมีการกระทำตามที่กฎหมายกำหนดว่าเป็นความผิด และมีเจตนากระทำความผิด แต่เด็กที่เกิดมาในประเทศไทยนั้นไม่มีการกระทำคือการ “เดินทางเข้ามา” ในประเทศไทยเลย และย่อมไม่มีเจตนาอย่างแน่นอน เพราะเด็กยังไม่สามารถรับรู้และเลือกได้ว่า ตัวเองอยากเกิดมาอยู่ในดินแดนของประเทศไหน ดังนั้นกฎหมายนี้จึงมีปัญหาในแง่สิทธิของเด็ก หากเด็กจะถูกกฎหมายกำหนดให้กลายเป็นผู้กระทำความผิดทันทีที่เกิดมาโดยไม่มีสิทธิเลือกให้ตัวเองพ้นจากความผิด ย่อมไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง
ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงจำเป็นที่จะต้องเร่งออกกฎกระทรวงขึ้นมากำหนดสิทธิของเด็กที่เกิดในประเทศไทยให้ชัดเจน โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของเด็กควบคู่ไปกับความมั่นคงของรัฐด้วย 
ที่มาภาพ чãvìnkωhỉtз
ขณะนี้กระทรวงมหาดไทยได้ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ขึ้นมาเพื่อเตรียมประกาศใช้แล้ว ชื่อว่า ร่างกฎกระทรวงกำหนดฐานะและเงื่อนไขการอยู่ในราชอาณาจักรไทยของผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยซึ่งไม่ได้สัญชาติไทย เพื่อเตรียมเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาและประกาศใช้ แต่เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านสถานะบุคคลเห็นปัญหาหลายประการในร่างกฎกระทรวงนี้ ปัญหาประการสำคัญคือ ร่างนี้ไม่ได้แก้ปัญหาที่กฎหมายกำหนดให้เด็กมีความผิดทันทีตั้งแต่เกิดมา ซ้ำร้ายยังคงยืนยันหลักการดังกล่าวนี้ไว้ในกฎกระทรวงด้วย
ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ มีสาระสำคัญคือ กรณีเด็กที่เกิดจากบิดาและมารดาที่เป็นคนต่างด้าวที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ หรือได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว หรือบิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่ง ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ หรือได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และอีกคนหนึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่อาศัยในประเทศไทยได้ (มีใบสำคัญถิ่นที่อยู่หรือมีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว) ให้เด็กที่เกิดมามีสิทธิเช่นเดียวกับบิดาหรือมารดา แต่หากบิดาหรือมารดาเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย เด็กย่อมมีสถานะเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายด้วย
ล่าสุดเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านสถานะและสิทธิของบุคคล ในภาคเหนือ 28 องค์กร รวมตัวกันยื่นหนังสือแสดงความห่วงใยต่อร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
การกำหนดให้ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยแต่ไม่ได้รับสัญชาติไทย เป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายนั้น ขัดต่อเจตนารมณ์ของมาตรา 7 ทวิ ที่ประกาศใช้เพื่อมุ่งแก้ปัญหาดังกล่าว เพราะการประกาศใช้มาตรา 7 ทวิ ที่แก้ไขเมื่อพ.ศ.2551 ก็เพื่อแก้ปัญหาเด็กที่เกิดในราชอาณาจักรไทยแต่ต้องกลายเป็นคนผิดกฎหมาย การออกกฎกระทรวงจึงควรช่วยแก้ปัญหาสถานะของเด็กกลุ่มนี้ ไม่ใช่ซ้ำรอยปัญหาเก่า
สำหรับเด็กที่พ่อกับแม่มีสถานะแตกต่างกัน ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ไม่ได้ระบุให้ชัดเจนว่าจะให้เด็กมีสถานะตามพ่อหรือแม่ ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ เช่น เด็กที่เกิดจากบิดาเป็นคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยเพียงชั่วคราว  (พ่อมีหนังสือเดินทาง) กับมารดาที่เป็นชนกลุ่มน้อยได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นกรณีพิเศษ  หรือเด็กที่เกิดจากบิดาเป็นคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย (พ่อมีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว) กับมารดาที่เป็นชนกลุ่มน้อยได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นกรณีพิเศษ เป็นต้น
กรณีเด็กที่มีบิดาหรือมารดาคนหนึ่งได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย และอีกคนหนึ่งเป็นคนหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย ควรจะมีสิทธิดีกว่าการเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย จริงๆ แล้วเด็กกลุ่มนี้ควรมีสิทธิดีกว่าเด็กที่มีพ่อและแม่เป็นคนต่างด้าวที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ หรือได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวด้วยซ้ำ เพราะมีบิดาหรือมารดาคนหนึ่งได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย เด็กจึงควรมีสิทธิอยู่ในประเทศไทยกับบิดาหรือมารดาได้ แต่ตามร่างกฎกระทรวงฉบับนี้กลับกำหนดให้เด็กมีสถานะเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย
การกำหนดสถานะการอาศัยอยู่ในประเทศไทยของเด็กให้เท่ากับสถานะของบิดามารดา ไม่เป็นธรรมสำหรับเด็กและไม่ถูกต้อง เพราะการสิ้นสุดสถานะการอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยของคนต่างด้าวเป็นเหตุเฉพาะตัว เช่น กระทำการที่เป็นการฝ่าฝืนหรือผิดกฎหมาย เดินทางออกนอกราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาต ก่อให้เกิดอันตรายต่อความมั่นคงของประเทศ หรือสิ้นสุดสถานะเพราะเสียชีวิต เป็นต้น โดยเฉพาะถ้าเหตุเกิดจากบิดาหรือมารดากระทำผิดกฎหมาย แต่เด็กไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดด้วยกลับต้องรับผลร้ายที่เกิดจากการกระทำของคนอื่นจึงไม่เป็นธรรมต่อเด็ก
ร่างกฎกระทรวงกำหนดแต่เงื่อนไขที่เป็นโทษเพียงด้านเดียว ไม่กำหนดเงื่อนไขในด้านที่เป็นประโยชน์ต่อเด็กเลย เช่น ถ้าบิดามารดาเปลี่ยนจากผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยได้เป็นกรณีพิเศษ เป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ถาวรในประเทศไทย ฐานะของบุตรก็ควรจะต้องได้รับการพัฒนาไปด้วย ไม่ใช่ให้มีฐานะเท่ากับที่ได้รับมาตอนเกิด ซึ่งจะไม่เท่าเทียมกับบิดามารดา และอาจทำให้เด็กไม่ได้สิทธิอยู่กับบิดามารดาในประเทศไทย
เงื่อนไขที่จะทำให้ฐานะของการอาศัยในประเทศไทยสิ้นสุดลง เป็นเงื่อนไขที่ขาดความชัดเจนและเป็นปัญหาในทางกฎหมายและทางปฏิบัติ ตามร่างกฎกระทรวงนี้กำหนดให้ฐานะการอาศัยในประเทศไทยสิ้นสุด หากมีเหตุว่า บุคคลนั้นมีพฤติการณ์ที่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงหรือประโยชน์ของรัฐ กระทบกระเทือนต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือข้อกำหนดของทางราชการ ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้เป็นเงื่อนไขที่เขียนไว้อย่างกว้าง ขึ้นอยู่กับดุลพินิจการตีความของเจ้าพนักงานที่อาจเปลี่ยนแปลงตามความคิดเห็นส่วนบุคคลได้ และข้อกำหนดของทางราชการก็มีหลักเกณฑ์ของหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีหลายระดับซึ่งอาจไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้สิทธิของบุคคลที่ได้มาตามกฎหมายต้องเสียไป จึงควรกำหนดให้ชัดเจนและเหมาะสมกว่านี้
และยังมีประเด็นอื่นที่กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนเห็นว่าเป็นปัญหาอีกมาก สำหรับผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดเอกสารข้อโต้แย้งที่ กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนยื่นต่อนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ตามไฟล์แนบ
ไฟล์แนบ