ภาคประชาชนเดินหน้าเสนอกฎหมาย PRTR ผลักดันสิทธิเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสิ่งแวดล้อม

หลายครั้งแล้วที่คนไทยต้องเผชิญและได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุบัติภัยสารเคมีและปัญหามลพิษ แต่ประเทศไทยเองก็ยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับระบบการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม (Pollutant Release and Transfer Registers : PRTR) ที่บังคับให้แหล่งกำเนิดมลพิษต้องรายงานข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมีหรือสารมลพิษและของเสียที่ถูกปล่อยออกมาจากโรงงานอุตสาหกรรมหรือการเคลื่อนย้ายไปกำจัดหรือบำบัดให้แก่ประชาชนได้รับรู้รับทราบ ทั้งที่การเข้าถึงข้อมูลมลพิษ เป็นสิทธิของประชาชนที่ต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อม (Right to Access to Information) จากภาครัฐอย่างสะดวกและไม่มีการปิดกั้น อันเป็นหลักการสำคัญที่จะนำไปสู่การจัดการสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพ และการกำหนดแนวทางการลดและควบคุมอันตรายจากสารมลพิษ ที่มีการกล่าวถึงในปฏิญญาริโอ (Rio Declaration on Environment and Development)

ในสมัยสภาชุดเลือกตั้ง 2562 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคก้าวไกลเสนอร่างกฎหมาย PRTR ต่อสภา แต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี “ปัดตก” ไม่รับรองร่างกฎหมายดังกล่าว สืบเนื่องจากเป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวด้วยการเงินจึงต้องได้รับคำรับรองจากนายกรัฐมนตรีก่อนจึงจะเสนอเข้าสภาได้ ในเดือนกรกฎาคม ปี 2565 เครือข่ายภาคประชาสังคม ซึ่งประกอบด้วย มูลนิธิบูรณะนิเวศ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม และกรีนพีซ จึงยกร่างกฎหมาย PRTR ฉบับภาคประชาชน และใช้กลไกเข้าชื่อเสนอกฎหมาย รวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ถึง 10,000 รายชื่อ เพื่อเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่สภา สามารถลงชื่อเพื่อเสนอร่างกฎหมาย PRTR ฉบับภาคประชาชนได้ทาง https://thaiprtr.com

กฎหมาย PRTR : เปิดเผยข้อมูลมลพิษ วางแผนป้องกันได้ก่อนเกิดเหตุอันตราย

ย้อนไปเมื่อเดือนมีนาคม 2566 หลายคนอาจจะเคยได้ยินข่าวครึกโครมที่สร้างความตื่นตระหนกให้กับสังคม ที่ “ซีเซียม-137” สูญหายไปจากโรงไฟฟ้าในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรีอย่างเป็นปริศนา ก่อนจะพบว่าอาจถูกหลอมและปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมจากกระบวนการหลอมเหล็กของโรงงานหลอมเหล็กที่ตั้งอยู่ไม่ไกลกัน

เดือนกันยายน 2565 เกิดเหตุการณ์ “สารเคมีรั่วไหลจากโรงงานอินโดรามา” ที่ประกอบกิจการผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์ และเส้นใยประดิษฐ์  ย่านอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม กลิ่นสารเคมีฟุ้งกระจายเป็นวงกว้างและพื้นที่ใกล้เคียงได้รับผลกระทบจนต้องมีการสั่งปิดเรียนชั่วคราวและให้มีการอพยพออกจากพื้นที่  และแจ้งเตือนประชาชนให้หลีกเลี่ยงการออกนอกอาคาร ให้สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา เพื่อป้องกันระบบทางเดินหายใจ ซึ่งขณะเกิดเหตุทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 5) ยังไม่สามารถระบุชื่อสารเคมีได้ว่าเป็นสารเคมีชนิดใด

เดือนกรกฎาคม 2564 เกิดเหตุการณ์ระเบิดของสารเคมีและเพลิงไหม้ “โรงงานหมิงตี้เคมีคอล” ย่านกิ่งแก้ว อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ที่เจ้าหน้าที่ดับเพลิงระดมกำลังเข้าระงับเหตุนานกว่า 26 ชั่วโมง  ผลพวงจากกรณีนี้เกิดการปลดปล่อยมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อมเป็นบริเวณกว้าง และประชาชนในพื้นที่ชุมชนใกล้เคียงโดยรอบอย่างน้อย 994 แห่ง ก็อาจได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศจากสารเคมีอันตราย จนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในรัศมีห้ากิโลเมตรให้เตรียมการอพยพ เพื่อลดความเสี่ยงผลกระทบต่อสุขภาพ

หรือหากย้อนไปไกลกว่านั้น 11 ปีที่แล้ว ปี 2555 เกิดเหตุอุบัติภัยสารเคมี กรณีเหตุเพลิงไหม้โรงงานผลิตยางสังเคราะห์ภายในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง สืบเนื่องจากการระเบิดของถังเคมีที่มีการรั่วไหลในพื้นที่ เหตุการณ์นี้มีผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจำนวนมาก ทั้งที่ถูกแรงระเบิดและที่สูดดมสารเคมีเข้าไป จนผู้ว่าราชการจังหวัดระยองขณะนั้นประกาศใช้แผนฉุกเฉินและสั่งอพยพคนงานออกจากพื้นที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกาศให้ชุมชนบริเวณรอบนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จำนวน 10 ชุมชน อพยพออกนอกพื้นที่ด้วยเช่นกัน เนื่องจากมีการฟุ้งกระจายและการปนเปื้อนของสารเคมีในอากาศ

จากเหตุการณ์ที่ยกมา เป็นกรณีของอุบัติภัยสารเคมีที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมหรือบริเวณที่มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่ ซึ่งตามมาด้วยคำถามของประชาชนต่อภาครัฐว่า ทำไมจึงปล่อยผ่านให้โรงงานอุตสาหกรรมมีการใช้สารเคมีหรือสารมลพิษที่เป็นอันตรายและปล่อยมลพิษสู่ประชาชนและสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นมาก เพราะเมื่อมีเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น หลายครั้งที่ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงหรือแม้แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเองก็ไม่ทราบว่าเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นจากสารมลพิษหรือสารเคมีชนิดใด ต้องรับมือหรือจัดการกับเหตุการณ์เหล่านี้อย่างไร หรือซ้ำร้ายไปกว่านั้น คือ ไม่รู้เลยว่าพื้นที่เสี่ยงอุบัติภัยสารเคมีอยู่ตรงไหนบ้าง ไม่รู้เลยว่าโรงงานอุตสาหกรรมมีการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายอย่างปลอดภัยหรือไม่ และเกือบทุกครั้งที่ผลกระทบจากอุบัติภัยสารเคมีกระจายวงกว้างทั้งต่อร่างกายของมนุษย์ ห่วงโซ่อาหาร ตลอดจนทำลายสิ่งแวดล้อมธรรมชาติในรูปแบบของมลพิษทางอากาศ น้ำเสีย หรือสารเคมีปนเปื้อนที่ตกค้างในดิน

หลายประเทศทั่วโลกกว่า 50 ประเทศ มีการบังคับใช้กฎหมาย PRTR แล้ว ประเทศแรกที่บังคับใช้ คือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งริเริ่มขึ้นภายหลังจากเกิดเหตุสารเคมีรั่วไหลในรัฐเวสท์-เวอร์จิเนีย ทำให้คนงานและชุมชนที่มีโรงงานตั้งอยู่ใกล้เคียงเรียกร้องให้โรงงานเปิดเผยข้อมูลการใช้สารเคมีอันตรายให้สาธารณชนรับทราบ ขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายนี้ หากประเทศไทยมีกฎหมาย PRTR บังคับให้โรงงานอุตสาหกรรมเปิดเผยข้อมูลปริมาณ การปลดปล่อย และการเคลื่อนย้ายสารมลพิษของโรงงานอุตสาหกรรม จะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและทราบข้อมูลสารเคมีหรือสารมลพิษ ทั้งปริมาณ การปลดปล่อย และการเคลื่อนย้ายสารมลพิษของโรงงานอุตสาหกรรม ประชาชนก็จะรู้ข้อมูลแหล่งที่มาของสารมลพิษ เพื่อประโยชน์ในการป้องกันตนเอง และป้องกันชุมชนจากสารมลพิษเมื่อเกิดอุบัติภัยสารเคมี ประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นและเตรียมการรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นจากสารมลพิษได้อย่างปลอดภัย โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งมีโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่มากที่สุดของประเทศ จำนวน 6,958 โรงงาน รองลงมาคือ จังหวัดสมุทรสาคร 6,458 โรงงาน กรุงเทพมหานคร 6,131 โรงงาน ชลบุรี 5,206 โรงงาน ปทุมธานี 3,399 โรงงาน นครปฐม 3,384 โรงงาน และระยอง 3,075 โรงงาน ซึ่งถือเป็นพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์อุบัติภัยสารเคมีที่สร้างความสูญเสียต่อชีวิตประชาชน ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อมอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้

นอกจากนี้ ร่างกฎหมาย PRTR ยังเป็นประโยชน์ต่อภาคเอกชน รวมถึงภาครัฐ เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเป็นตัวอย่างที่ดีด้านความโปร่งใส มีความรับผิดชอบต่อสาธารณะ เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินกิจการในระยะยาว ลดการปล่อยสารพิษสู่สิ่งแวดล้อม และจะช่วยให้หน่วยงานภาครัฐสามารถประเมินสถานการณ์และปัญหาและสามารถจัดการปัญหาอุบัติภัยสารเคมีอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนและชุมชนได้อย่างทันท่วงที ช่วยสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ไขปัญหามลพิษร่วมกับหน่วยงานรัฐและเป็นฐานในการกำหนดแนวทางวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษและกำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม

กฎหมาย PRTR : ประชาชนมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อม

เครือข่ายภาคประชาสังคมในประเทศไทย ได้แก่ มูลนิธิบูรณะนิเวศ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม และกรีนพีซ ประเทศไทย ร่วมกันายกร่างร่างพระราชบัญญัติการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ  พ.ศ. …. หรือร่างกฎหมาย PRTR ฉบับประชาชน ซึ่งอยู่ในกระบวนการรวบรวมรายชื่อให้ถึง 10,000 รายชื่อ ภายในปี 2566 เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภาตามขั้นตอนการเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชน ตาม พระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.2564 ต่อไป

กฎหมาย PRTR ฉบับประชาชน มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการรายงานข้อมูล การจัดทำฐานข้อมูล การเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณชน และกำหนดโครงสร้างและกลไกคณะกรรมการข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ ดังนี้

บุคคล นิติบุคคล หรือหน่วยงานของรัฐที่ผลิต มีไว้ในครอบครอง เคลื่อนย้าย หรือปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งสารมลพิษที่ปรากฏในบัญชีรายชื่อสารมลพิษและตามปริมาณ และประกอบกิจการตามประเภทและขนาดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด  ต้องจัดทำรายงานข้อมูลชนิดและปริมาณการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษของแต่ละแหล่งกำเนิดมลพิษ ต่อกรมควบคุมมลพิษ โดยต้องรายงานปริมาณสารมลพิษที่เกิดขึ้นในรอบปีที่ผ่านมาอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง ภายในเดือนมีนาคมของทุกปี (มาตรา 7 และมาตรา 8)

หากไม่รายงานข้อมูลโดยไม่มีเหตุอันควร ต้องได้รับโทษปรับทางปกครองในอัตราไม่เกินร้อยละหนึ่งของรายได้ในปีที่กระทำความผิด (มาตรา 35) และหากมีการรายงานข้อมูลเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงห้าล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 36)

กำหนดให้กรมควบคุมมลพิษจัดทำฐานข้อมูลการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษจากแหล่งกำเนิดมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม เผยแพร่ต่อสาธารณชน (มาตรา 17) และกรมควบคุมมลพิษมีอำนาจหน้าที่ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ (มาตรา 18) ติดตามตรวจสอบให้บุคคล นิติบุคคล หรือหน่วยงานของรัฐจัดส่งรายงานอย่างถูกต้องและครบถ้วน (มาตรา 19 – มาตรา 22) หากจัดส่งรายงานข้อมูลไม่ถูกต้องครบถ้วนโดยไม่มีเหตุอันควร ต้องได้รับโทษปรับทางปกครองในอัตราไม่เกินร้อยละหนึ่งของรายได้ในปีที่กระทำความผิด (มาตรา 35)

กรมควบคุมมลพิษมีหน้าที่และอำนาจเผยแพร่ข้อมูลการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมสู่สาธารณชน ให้ประชาชนมีสิทธิรับทราบและเข้าถึงข้อมูลโดยสะดวก รวดเร็ว ไม่เสียค่าใช้จ่าย ผ่านทางอินเทอร์เน็ตและช่องทางอื่น ๆ ทั้งนี้ ภายใต้กฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการ (มาตรา 28 และมาตรา 29)

กำหนดให้มีคณะกรรมการข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ  ประกอบด้วย

  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน
  • ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข
  • ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม
  • ผู้แทนสภาอุตสาหกรรม
  • ผู้แทนกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
  • ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่จดทะเบียนตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535
  • กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ หกคน ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ มีผลงานและประสบการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ กฎหมาย โดยการสรรหาจากนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสุขภาพ กฎหมาย หรือผู้แทนองค์กรสาธารณประโยชน์เกี่ยวกับงานด้านสิ่งแวดล้อมและงานด้านสุขภาพ

คณะกรรมการ มีอำนาจหน้าที่ เช่น เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแนวทางการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม (มาตรา 23 – มาตรา 27)

📍ร่วมรณรงค์

JOIN : ILAW CLUB

ช่องทางการติดตาม

FACEBOOK PAGE

วิดีโอแนะนำ