วันที่ 14 มิถุนายน 2560 พีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวถึงผลการพิจารณาตรวจสอบของคณะกรรมการจริยธรรม สนช. ที่มีตนเป็นประธาน กรณีการตรวจสอบข้อร้องเรียน 7 สนช. ขาดการลงมติเกิน 1 ใน 3 ของการลงมติในรอบ 90 วัน ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมสนช. พ.ศ.2557
หลังจากที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องการขาดการลงมติเกิน 1 ใน 3 ของการประชุมสนช.ในรอบ 90 วัน ของสนช.ทั้ง 7 คน ได้ผลการตรวจสอบว่า ไม่เข้าข่ายผิดจริยธรรมเนื่องจากการลาประชุมของ 7 สนช. เป็นไปตามข้อบังคับ และมีภารกิจของหน่วยงาน ที่ไม่สามารถมอบหมายให้ผู้อื่นดำเนินการแทนได้ จึงมีความจำเป็นต้องลาประชุม
ผลการตรวจสอบเช่นนี้ เท่ากับเป็นการยืนยันว่า สมาชิกสนช.อย่างน้อย 7 คน เข้าประชุมและร่วมลงมติ ไม่ถึง 1 ใน 3 จริง ตามข้อมูลที่ไอลอว์ตรวจสอบพบ แต่การขาดประชุมนั้นมีใบลาถูกต้องตามระเบียบ จึงไม่ส่งผลให้สิ้นสมาชิกภาพ แต่อย่างไรก็ดี การที่สมาชิก สนช. จำนวนหนึ่งรับเงินเดือนจาก สนช. เต็มจำนวน ขณะเดียวกันก็รับเงินเดือนในตำแหน่งอื่นไปพร้อมกัน และมีภารกิจหลายอย่างทำให้ไม่สามารถเข้าประชุมได้ ยังนำมาซึ่งคำถามถึงความชอบธรรมของการแต่งตั้งบุคคลที่มีตำแหน่งซ้ำซ้อนเข้ามาใช้อำนาจนิติบัญญัติ
ไอลอว์ ยังขอย้ำว่า ข้อมูลที่พบว่า สมาชิกสนช. 7 คนขาดประชุมเกิน 1 ใน 3 นั้น เป็นข้อมูลที่ได้จากการตรวจสอบการลงมติ 2 รอบ คือ 180 วัน เท่านั้น และเป็นการเลือกตรวจสอบข้อมูลการเข้าประชุมสมาชิกบางคน หากตรวจสอบข้อมูลการลงมติรอบอื่นๆ และตรวจสอบข้อมูลการเข้าประชุมของสมาชิกอีกหลายคน ก็อาจจะพบข้อมูลการขาดประชุมมากกว่านี้
สำหรับรายงานผลการพิจารณาของคณะกรรมการจริยธรรม พีรศักดิ์ กล่าวว่า ในวันที่ 15 มิถุยายน คณะกรรมการจะรายงานผลสอบให้ที่ประชุม สนช. รับทราบ แต่ไม่มีการลงมติตัดสินจากที่ประชุม โดยรายงานพิจารณาฉบับนี้ถูกบรรจุในระเบียบวาระ ในชื่อว่า “รายงานผลการพิจารณาของคณะกรรมการจริยธรรมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เรื่องร้องเรียนจริยธรรมสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เกี่ยวกับกรณีการไม่แสดงตนเพื่อลงมติในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติเกินจำนวนที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๗ ข้อ ๖๓ และข้อ ๘๒”
อย่างไรก็ตาม รายงานดังกล่าว ไม่มีให้ดาวน์โหลดผ่านเว็บไซต์ของสนช. ไอลอว์จึงโทรศัพท์ติดต่อไปยังสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา จึงได้คำตอบว่า “เอกสารรายงานพิจารณาฉบับนี้เป็นความลับ”
กรอบสีแดง คือ รายงานพิจารณาของคณะกรรมการจริยธรรม ที่ไม่สามารถดาวน์โหลดเหมือนเช่นเอกสารอื่นๆ เนื่องจากเป็นความลับ
ขณะที่ในวันที่ 16 มิถุยายน 2560 ที่ประชุมสนช. ลงมติเห็นชอบ “ร่างข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ” ฉบับใหม่ แทนข้อบังคับการประชุมเดิม โดยข้อบังคับฉบับใหม่ มีทั้งหมด 225 ข้อ แต่ได้ตัดเนื้อหาในหมวดการสิ้นสุดสมาชิกภาพ สนช. ออก ยกเลิกข้อบังคับที่กำหนดให้สมาชิกต้องมาแสดงตน เพื่อลงมติในการประชุมสภามากกว่า 1 ใน 3 ของการลงมติทั้งหมดในรอบระยะเวลา 90 วัน
ผลการลงมติเห็นชอบ “ร่างข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ” ฉบับใหม่
ผลจากการตัดเนื้อหาดังกล่าวออกไป จะช่วยให้หลังจากนี้สมาชิก สนช. ไม่ต้องกังวลว่าจะต้อง “ถูกตรวจสอบ” หรือ “หลุดจากตำแหน่ง” เพราะหลังนี้สมาชิก สนช. จะเข้าประชุมเพื่อลงมติหรือไม่ก็ได้ ไม่มีผลต่อการทำหน้าที่แต่อย่างใด
หลังการพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมเสร็จสิ้น สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. ชี้แจงกับที่ประชุมสนช.ว่า มีการเสนอข่าวจากสื่อมวลชนว่า การแก้ไขครั้งนี้มีการตัดหมวดการสิ้นสมาชิกภาพออกไปเพื่อช่วยเหลือให้สมาชิก สนช. ขาดประชุมได้ไม่จำกัดครั้ง แต่ความจริงแล้วการร่างข้อบังคับฉบับใหม่เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้กำหนดเรื่องการขาดการลงมติเหมือนกับรัฐธรรมนูญ(ชั่วคราว) 2557 จึงไม่ได้ร่างเอาไว้
อย่างก็ไรตาม สุรชัย เตือนสมาชิกสนช.ว่า ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สนช. ทำหน้าที่แทน ส.ส. และ ส.ว. ซึ่งรัฐธรรมนูญก็กำหนดไว้ว่า การขาดประชุมเกินจำนวนหนึ่งในสี่ ก็อาจสามารถสิ้นสภาพได้
สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.
แม้ข้อบังคับการประชุมฉบับใหม่ ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการเข้าประชุมของสมาชิก สนช. แต่ รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 101 (12) ก็กำหนดว่า “สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง ขาดประชุมเกินจำนวนหนึ่งในสี่ของจำนวนวันประชุมในสมัยประชุมที่มีกำหนดเวลา ไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบวันโดยไม่ได้รับอนุญาตจากประธานสภาผู้แทนราษฎร”
สิ่งที่ต้องติดตามต่อไป คือ หลังจากข้อบังคับการประชุมฉบับนี้ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ จะมีการประกาศกำหนดเวลาสมัยประชุมจากประธานสนช.เพื่อให้มีการตรวจสอบการมาทำงานของสมาชิกสนช.หรือไม่ และรายงานของคณะกรรมการจริยธรรม ที่ตรวจสอบว่าสมาชิกสนช. 7 คน ไม่ผิดจริยธรรมจะสามารถเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบได้หรือไม่