เลือกตั้ง 66: กฎหมายเปิดช่อง ส.ส. ย้ายพรรคได้หากถูกขับออกจากพรรค หรือยุบ-เลิกพรรค

ปรากฏการณ์การย้ายพรรคการเมืองเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องระหว่างสมัยสภาชุดที่ 25 จนกระทั่งภายหลังเลือกตั้ง 2566 ก็มีกระแสข่าวทางตันของพรรคพลังประชารัฐที่อาจเกิดการยุบเลิกพรรคนำไปสู่การย้ายพรรคของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ส่งผลต่อดุลอำนาจพรรคการเมืองที่ ส.ส. ร้างพรรคต้องเข้าสังกัดใหม่ แต่ละฝ่ายมองต่างกัน บ้างกังวลว่าอาจเกิดขึ้นจริง บ้างมองว่าเป็นข่าวลือที่จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นระหว่างพรรคการเมือง คำถามคือ ส.ส. ที่ได้รับเลือกตั้งสามารถย้ายพรรคได้ไหม คำตอบคือ ได้ แต่หลังจาก กกต. รับรองผลการเลือกตั้ง ดำรงสถานะ ส.ส.เสียก่อน และผ่านสถานการณ์ที่กฎหมายเปิดช่องไว้คือ การขับ ส.ส. พ้นจากพรรค หรือการยุบพรรคการเมือง

52929721966_1daf2b70e4_o

รธน. 60 ปิดช่องควบรวมพรรคที่ได้ ส.ส. แต่เปิดช่องให้ตัว ส.ส. ย้ายซบพรรคใหม่ได้

รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 100 ระบุว่า สมาชิกภาพของ ส.ส. เริ่มตั้งแต่วันเลือกตั้ง (วันที่ 14 พฤษภาคม 2566) อย่างไรก็ตามสถานะดังกล่าวจำเป็นจะต้องรอการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้วย สมาชิกภาพของ ส.ส. จะต้องได้การรับรองด้วยประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง (แบบ ส.ส. 6/2) และแบบบัญชีรายชื่อ (แบบ ส.ส. 6/3) ที่ลงนามประธาน กกต. จึงจะเป็นการรับรองผลอย่างเป็นทางการ ซึ่งต้องไม่ช้ากว่า 60 วันนับแต่วันเลือกตั้ง (วันที่ 12 กรกฎาคม 2566) เป็นไปตามมาตรา 85 วรรคท้าย ของรัฐธรรมนูญ 2560 ประกอบกฎหมายเลือกตั้ง

หลังการรับรองสมาชิกภาพของ ส.ส. แล้วระหว่างสมัยสภาเริ่มขึ้น พรรคการเมืองที่มีสมาชิกพรรคได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. จะไม่สามารถควบรวมพรรคได้ (รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 99 วรรคท้าย) แต่ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 101 (9) และ มาตรา 101 (10) ก็มีข้อยกเว้นไว้ให้ ส.ส. สามารถย้ายซบพรรคใหม่ได้ สองกรณี คือ 1) กรณี ส.ส. ที่ถูกขับพ้นพรรค และ 2) พรรคที่ ส.ส. เป็นสมาชิกถูกยุบพรรคหรือเลิก รายละเอียดดังนี้

  1. กรณี ส.ส. ถูกขับพ้นพรรคการเมือง – มาตรา 101 (9) กำหนดไว้ว่า กรณีที่ ส.ส. พ้นจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองที่เป็นสมาชิก ตามมติของพรรคการเมืองนั้นด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของที่ประชุมร่วมของคณะกรรมการบริหารพรรคและ ส.ส. ที่สังกัดพรรคการเมืองนั้น ถ้าหากส.ส. คนที่ถูกขับพ้นพรรค ไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นภายใน 30 วันนับแต่วันที่พรรคมีมติ ส.ส. คนนั้นจะสิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันที่พ้น 30 วันดังกล่าว ดังนั้น หาก ส.ส. ที่ถูกขับออกจากพรรค รีบดำเนินการย้ายเข้าพรรคใหม่ ภายใน 30 วันนับแต่วันที่พรรคมีมติขับออกจากพรรค ส.ส. คนนั้นก็จะยังมีสถานะเป็น ส.ส. ต่อไป ภายใต้สังกัดพรรคการเมืองใหม่
  2. กรณีพรรคที่ ส.ส. เป็นสมาชิกถูกยุบพรรคการเมือง – มาตรา 101 (10) กำหนดไว้ว่า สมาชิกภาพของ ส.ส.สิ้นสุดลงเมื่อขาดจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมือง แต่ในกรณีที่ขาดจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองเพราะมีคำสั่งยุบพรรคที่ ส.ส. ผู้นั้นเป็นสมาชิก และ ส.ส. ผู้นั้นไม่อาจเข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นได้ภายใน 60 วันนับแต่วันที่มีคำสั่งยุบพรรคการเมือง ส.ส. ผู้นั้นจะสิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันถัดจากวันที่ครบกำหนด 60 วันนั้น ทั้งนี้ พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 มาตรา 91 วรรคท้าย กำหนดว่า การสิ้นสภาพพรรคการเมืองหรือการที่พรรคการเมืองเลิกตามข้อบังคับพรรค ให้ถือเป็นการยุบพรรคการเมืองด้วย เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสมาชิกพรรคที่เป็น ส.ส.

ดังนั้น หากพรรคที่ ส.ส. ผู้นั้นเป็นสมาชิกถูกยุบพรรค หรือพรรคการเมืองเลิกตามข้อบังคับ หรือพรรคการเมืองสิ้นสภาพเพราะเหตุตามที่ พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 91 กำหนด เช่น ไม่มีการประชุมใหญ่พรรคการเมืองหรือไม่มีการดำเนินกิจกรรมใดทางการเมืองเป็นระยะเวลาติดต่อกันหนึ่งปี สมาชิกพรรคที่เป็น ส.ส. จะได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 101 (10) กล่าวคือ เมื่อพรรคถูกยุบ ส.ส. ที่เป็นสมาชิกพรรค ยังไม่สิ้นสมาชิกภาพ ส.ส. ในทันที  มีเวลาย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองใหม่ ภายใน 60 วันนับแต่วันที่ยุบพรรคการเมือง หากย้ายพรรคทันภายในกำหนดเวลา ก็จะเป็น ส.ส. ต่อไปภายใต้สังกัดพรรคใหม่ แต่หากไม่สามารถย้ายพรรคได้ทันกรอบเวลา 60 วัน ก็จะสิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส.

ย้อนรอยเทคนิคย้ายพรรคการเมืองของ ส.ส. ในสภาชุดที่ 25

แรกเริ่มการขับ ส.ส. ที่กระทำการขัดนโยบายพรรคการเมืองที่สังกัดให้พ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง เหมือนเป็นการลงโทษ แต่ในความเป็นจริง ส.ส. เหล่านี้สามารถย้ายไปยังพรรคการเมืองใหม่ได้ง่ายดาย ขณะที่ประชาชนทำได้เพียงแสดงความไม่พอใจต่อพฤติการณ์ “งูเห่า” ของผู้แทนที่พวกเขาเลือกมา

อย่างไรก็ตาม การขับพ้นพรรคในช่วงก่อนการเลือกตั้ง 2566 ดูเหมือนเป็นเทคนิคทางกฎหมายเพื่อให้ ส.ส. คงสมาชิกภาพไว้ได้ขณะเปลี่ยนพรรคการเมือง เช่น กรณีของพรรคพลังประชารัฐขับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่าและพวกไปสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทย ก่อนใช้เทคนิคเดิมกลับเข้าพรรคพลังประชารัฐ หรือ ส.ส. พรรคเล็กอย่างบุญญาพร นาตะธนภัทร พรรครวมแผ่นดิน ซึ่งถูกขับพ้นสมาชิกพรรคมาเข้าสังกัดและเป็น ส.ส. คนแรกของพรรครวมไทยสร้างชาติ และศิลัมพา เลิศนุวัฒน์ พรรคพลเมืองไทย ซึ่งพรรคเปลี่ยนกรรมการบริหารชุดใหม่ ไม่ได้เป็นแนวทางเดิมจึงมีมติขับพ้นพรรคไปเป็น ส.ส. คนที่สองของพรรครวมไทยสร้างชาติ

เช่นเดียวกับการยุบพรรคต้นสังกัดของตนเองและย้ายเข้าพรรคใหม่ ที่ไม่ว่าเหตุผลจะเป็นเรื่องการบริหารจัดการหรือมีนัยลึกซึ้งกว่านั้น คำถามคงอยู่ที่ความหนักแน่นของความเป็นสถาบันพรรคการเมืองและความสำคัญของเจตจำนงของผู้ออกเสียงเลือกผู้แทนจากพรรคดังกล่าวมาด้วยความเชื่อมั่นในค่านิยม ฐานคิด และนโยบายที่พรรคนั้นๆ หาเสียงเอาไว้ในช่วงเลือกตั้ง

ขับงูเห่าส้มพ้นพรรคอนาคตใหม่ เพิ่มเสียงฝั่งรัฐบาล

17 ธันวาคม 2562 ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารและ ส.ส. พรรคอนาคตใหม่มีมติเป็นเอกฉันท์ขับศรีนวล บุญลือ ส.ส.จังหวัดเชียงใหม่ กวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.จังหวัดชลบุรี จารึก ศรีอ่อน และ พ.ต.ท. ฐนภัทร กิตติวงศา ส.ส. จังหวัดจันทบุรี ออกจากพรรค หลังจากที่ทั้งสี่คนโหวตสวนมติพรรคและนำความลับของที่ประชุมไปเปิดเผย การขับพ้นพรรคเป็นไปตามมาตรา 101 (9) ของรัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้ทั้งสี่ต้องสังกัดพรรคใหม่ โดยศรีนวล สังกัดพรรคภูมิใจไทย ด้านกวินนาถและจารึก สังกัดพรรคพลังท้องถิ่นไทย ขณะที่ พ.ต.ท.ฐนภัทร สังกัดพรรคพลังประชารัฐ

ลักษณะเช่นนี้จึงทำให้ ส.ส. ที่ได้รับเลือกจากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ย้ายเข้าพรรครัฐบาล ซึ่งมีแนวทางต่างกันและสวนทางเจตจำนงของประชาชนที่เลือกพวกเขามา อย่างไรก็ตาม หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ในปี 2563 ส.ส. ของพรรคที่ยังไม่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเกือบทั้งหมดย้ายไปสังกัดพรรคก้าวไกล จังหวะนี้เองก็เปิดช่องให้ ส.ส.อีกสิบคนย้ายเข้าสังกัดพรรคใหม่คือ พรรคภูมิใจไทยและพรรคชาติพัฒนา ทว่า ส.ส. แปรพักตร์ยังไม่หมดไป อย่างไรก็ตาม ระหว่างสมัยสภาพรรคก้าวไกลต้องเผชิญกับ “งูเห่าฝากเลี้ยง” คือ ส.ส. ที่ยังคงสังกัดพรรคอยู่ แต่โหวตสวนมติพรรค

ด้วยเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ 2560 ส่งผลให้ในทางปฏิบัติ การขับ ส.ส. ที่ไม่ดำเนินตามแนวทางพรรคหรือกระทำการที่ไม่สอดคล้องตามนโยบายพรรคให้ออกจากพรรค จะทำให้ ส.ส. เหล่าพรรคสมประโยชน์ มีโอกาสในการย้ายเข้าไปซบพรรคใหม่ ในช่วงกลางจนถึงช่วยโค้งสุดท้ายของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 จะเห็นได้ว่าบางพรรคการเมือง เช่น เพื่อไทย ก้าวไกล เลือกที่จะไม่ขับ ส.ส. ที่โหวตสวนมติพรรคอยู่เนืองๆ ออกจากพรรค และปล่อยให้ลาออก สิ้นสมาชิกภาพ ส.ส. ไปเองในช่วงก่อนการยุบสภาไม่กี่เดือน

ขับก๊วนธรรมนัสสองรอบฐานผิดวินัยร้ายแรงและหนีสูตรหารร้อย

19 มกราคม 2565 ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารและ ส.ส .พรรคพลังประชารัฐ มีมติเป็นเอกฉันท์ขับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐและพวกรวม 21 คนจากเหตุผิดวินัยร้ายแรงและผิดจรรยาบรรณร้ายแรง สิ้นสุดสมาชิกภาพพรรคการเมืองตามข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐ ข้อที่ 54 (5) ประกอบมาตรา 101 (9) รัฐธรรมนูญ 2560 เกือบทั้งหมดย้ายเข้าสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทย ต่อมามีการเปลี่ยนสูตรคำนวณที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็นแบบหารร้อย จากเดิมที่พรรคขนาดเล็กและกลางมีโอกาสที่จะได้รับที่นั่งบัญชีรายชื่อผ่าน “ส.ส. ที่พึงมี” ตามระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม (MMA) ตามรัฐธรรมนูญ 2560 แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้ง ในปี 2565 เปลี่ยนให้ระบบเลือกตั้งกลับไปคิดที่นั่งบัญชีรายชื่อแบบคู่ขนาน (MMM) ทำให้การจะได้สักหนึ่งที่นั่งบัญชีรายชื่อต้องได้คะแนนเพิ่มขึ้นหลายเท่า เป็นเหตุให้พรรคเล็กต้องเร่งควบรวมพรรคเพื่อให้มั่นใจว่า จะได้ที่นั่ง ส.ส. เช่นเดียวกับกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัสใช้มติพรรคขับตัวเองและพวกออกจากพรรคเศรษฐกิจไทยและกลับมาลง ส.ส. ในนามพรรคพลังประชารัฐอีกครั้งแม้เคยถูกขับออกจากพรรคฐานผิดวินัยร้ายแรงก็ตาม

ยุบพรรคตัวเอง โผซบพรรคใหม่

วันที่ 20 ตุลาคม 2564 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 17/2564 กรณีพรรคประชาชนปฏิรูป ที่มีไพบูลย์ นิติตะวันเป็นหัวหน้าพรรคและ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อเพียงคนเดียวเลิกพรรค และไพบูลย์ย้ายเข้าสังกัดพรรคพลังประชารัฐ

คำร้องคดีนี้สืบเนื่องจาก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส และ ส.ส. รวม 60 คนยื่นเรื่องให้ตรวจสอบสมาชิกภาพของไพบูลย์ ระบุว่า ไพบูลย์เป็น ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อคนเดียวของพรรคและเรียกประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อให้พรรคสิ้นสภาพ มีเจตนาที่ทำให้พรรคสิ้นสภาพโดยสมัครใจอันเป็นเจตนาซ่อนเร้นและมีเถยจิตไม่สุจริต โดยอาศัยช่องการใช้มติคณะกรรมการของพรรคให้ลงมติให้พรรคสิ้นสภาพเพื่อจะได้ไปเป็นส.ส. ของพรรคพลังประชารัฐ และไพบูลย์ยังต้องปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูปจนกว่าการจัดการบัญชีและงบการเงินจะแล้วเสร็จภายใน 30 วันนับจากวันที่พรรคสิ้นสภาพเพื่อให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินชำระบัญชีให้เสร็จภายใน 180 วันนับจากวันที่ได้รับแจ้งจากนายทะเบียนพรรคการเมือง เป็นเหตุให้สมาชิกภาพของไพบูลย์สิ้นสุดลง ทั้งยังไม่ได้เป็นบุคคลที่พรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อเป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อตามรัฐธรรมนูญ 2560 และกฎหมายเลือกตั้ง

คำวินิจฉัยของศาลระบุใจความว่า คณะกรรมการบริหารพรรคหลายคนลาออกจากพรรคและหลายคนมีภารกิจจำเป็นทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่ในฐานะคณะกรรมการบริหารพรรคและดำเนินกิจกรรมตามกฎหมายกำหนดได้ จึงมีมติเลิกพรรคประชาชนปฏิรูปตามข้อบังคับพรรค โดยประกาศการสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองของพรรคประชาชนปฏิรูปในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2562 จากนั้นวันที่ 9 กันยายน 2562 ไพบูลย์เข้าเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การสิ้นสภาพของพรรคประชาชนปฏิรูปเป็นไปโดยชอบและไม่มีข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานใดแสดงให้เห็นว่า การเลิกพรรคมีเจตนาซ่อนเร้น เมื่อพรรคสิ้นสภาพ ไพบูลย์เป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐภายในกรอบ 60 วัน ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 101 (10) ส่วนเรื่องการชำระบัญชีและงบการเงินเป็นเพียงบทบัญญัติที่กำหนดหน้าที่ของหัวหน้าพรรคการเมืองที่สิ้นสภาพต้องปฏิบัติหน้าที่จนแล้วเสร็จ ห้ามให้ดำเนินกิจกรรมในนามของพรรคที่สิ้นสภาพ แต่ไม่ห้ามการดำเนินกิจกรรมในนามพรรคการเมืองอื่น ส่วนเรื่องที่ไพบูลย์ไม่ได้เป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อนั้น กฎหมายมีวัตถุประสงค์บังคับในระหว่างจัดการเลือกตั้งและก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง เป็นคนละกรณีกับการเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอื่นหลังพรรคสังกัดเดิมสิ้นสภาพที่เกิดขึ้นภายหลังการประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว

You May Also Like
อ่าน

ข้าราชการลาออกชั่วคราวเพื่อลงสมัคร สว. 67 ได้

กฎหมายหลายฉบับได้เปิดช่องให้ข้าราชการปัจจุบันสามารถลาออกเพื่อสมัครเป็น สว. ได้โดยมีผลทันทีนับแต่วันที่ยื่นลาออก และหากไม่ได้รับการเลือกเป็น สว. ก็ยังมีทางเลือกสามารถกลับไปรับราชการได้ตามเดิมเช่นกัน
อ่าน

รวมทริคลงสมัคร สว. เลือกกันเอง บทเรียนจากปี 61

จากการสัมภาษณ์ผู้ที่เคยเข้าร่วมกระบวนการในปี 2561 มีหลายกลเม็ดที่ผู้สมัครใช้ในการช่วยให้ตนเองได้เข้ารอบหรือรับเลือก โดยมีทั้งในรูปแบบที่ผิดกฎหมาย ไปจนถึงใช้ยุทธศาสตร์-เทคนิค จากช่องทางบางประการในกฎหมาย