เลือกตั้ง’66: รวมความผิดปกติก่อนถึงวันจริง และความพยายามชี้แจงจาก กกต.

การเลือกตั้ง 2566 เดินหน้าไปท่ามกลางข้อครหาเรื่องความโปร่งใส เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีที่มาไม่เป็นอิสระ ประชาชนตั้งคำถามเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังจากการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 ขาดประสิทธิภาพ จนอาจจะทำให้เกิดปรากฏการณ์บัตรเขย่งหรือ การที่มีบัตรลงคะแนนมากกว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิจริงในหลายพื้นที่ และทำให้คะแนนเสียงจำนวนมากของประชาชนไม่ถูกนับอย่างถูกต้อง 

เหตุการณ์ดังกล่าวสวนทางกับหน้าที่ตามกฎหมายของ กกต. ที่ระบุว่า ต้องจัดการเลือกตั้งอย่างสุจริต โปร่งใส และเที่ยงธรรม ซึ่งหากย้อนกลับไปก่อนการเลือกตั้งล่วงหน้า ก็ยังปรากฏข้อครหา ข่าวลือ และข้อเท็จจริงอีกจำนวนมากที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์การจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ของ กกต. แทบทั้งสิ้น ซึ่งหลายเรื่องทาง กกต.เองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจแต่ออกคำชี้แจงมาเพื่อพยายามปกป้องภาพลักษณ์ของตัวเองไว้ ดังที่เรารวบรวมไว้นี้ 

1. กรณีคลิปวิดีโอเจ้าหน้าที่ช่วยกันทำเครื่องหมายบนบัตรเลือกตั้ง

วันที่ 11 พฤษภาคม 2566 มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอจากกล้องวงจรปิดบันทึกภาพกลุ่มบุคคลผมสั้น แต่งกลายลักษณะคล้ายเจ้าหน้าที่กำลังร่วมกันทำงานอยู่ในห้องลักษณะเป็นการหยิบบัตรเลือกตั้งจำนวนมากๆ ขึ้นมาทยอยทำเครื่องหมายบนบัตรทีละชุดๆ พร้อมข้อความประกอบคลิปว่าพวกคุณ กาก x อะไรกัน เขตลาดกระบัง 2 

คลิปดังกล่าวตั้งข้อกล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่กำลังทุจริตการเลือกตั้งด้วยการกากบาทในบัตรเปล่าให้แก่ผู้สมัครหรือพรรคใดพรรคหนึ่ง เนื่องจากมีลักษณะคล้ายการกาลงไปยังกลางบัตรลงคะแนน และมีการร่วมกันทำเป็นขบวนการ พร้อมระบุสถานที่เกิดเหตุว่า คือ เขตเลือกตั้งลาดกระบัง เขต 2

ภายหลังเฟซบุ๊กของสำนักงาน กกต. ระบุว่า คลิปดังกล่าวเป็นการบันทึกภาพของ กกต.เขตลาดกระบัง เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 เวลา 19.16 น. ภายในห้องเก็บรักษาบัตรเลือกตั้ง สำนักงานเขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ที่กำลังลงลายมือชื่อกำกับหน้าปกเล่มบัตรเลือกตั้งเพื่อส่งให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ให้ทันภายในวันที่ 13 พฤษภาคม 2566 ซึ่งเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ข้อ 140 ถึง 142 

นอกจากนี้ กกต.ยังข่มขู่ว่า ผู้ใดแชร์ข่าวดังกล่าวด้วยวิธีการกดไลค์ กดแชร์ รีทวีต รีโพสต์ ทางยูทูบ ทางติ๊กต็อก ส่งต่อทางไลน์ไปยังกลุ่มต่างๆ หรือช่องทางสื่อสารอื่นๆ จะมีความผิดตาม ...การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ .. 2560 (...คอมพิวเตอร์ฯ) มาตรา 14 จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2. กรณีกล้องวงจรปิดห้องเก็บหีบบัตร กทม. พบคนเดินเข้าออก

ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ติดตั้งกล้องวงจรปิดในทุกสถานที่เก็บหีบบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า พร้อมเผยแพร่ลิงก์ให้ประชาชนเข้ามาติดตามดูกล้องแต่ละตัวลงบนเว็บไซต์ ทว่าประชาชนกลับพบสิ่งผิดปกติ เมื่อในสำนักงานเขตหลายแห่งมีผู้เข้าไปในห้องเก็บหีบบัตรได้ตามปกติ ทั้งที่ควรเป็นสถานที่อ่อนไหวและหวงห้าม

วันที่ 8 พฤษภาคม 2566 หลังการเลือกตั้งล่วงหน้าเพียงหนึ่งวัน มีประชาชนที่สังเกตการณ์การเก็บรักษาหีบเลือกตั้งล่วงหน้าผ่านกล้องวงจรปิดของสำนักงานเขตหนองจอก กทม. ระบุว่า พบกลุ่มคนเข้าไปในห้องเก็บรักษาหีบเลือกตั้งเมื่อเวลา 8.40 – 9.10 น. ก่อนจะทำการเปิดดูภายในหีบเลือกตั้ง จนทำให้เกิดคำถามถึงความโปร่งใสในการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าครั้งนี้เป็นอย่างมาก

ต่อมา ไพโรจน์ จันทรรอด ผู้อำนวยการเขตหนองจอก ได้ให้คำอธิบายเหตุการณ์นี้แก่สื่อมวลชนว่า บุคคลในกล้องวงจรปิดเป็น จนท.เทศกิจที่ถูกมอบหมายให้เข้าไปทำลายบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าที่เหลือจากการใช้สิทธิในวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 เนื่องจากมีผู้มาใช้สิทธิไม่ครบตามที่ลงทะเบียนไว้ และในเขตหนองจอก ยืนยันว่าไม่มีผู้ลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตแม้แต่คนเดียว เมื่อบัตรเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตถูกส่งมอบให้แก่ไปรษณีย์ไทยไปแล้วในตอนเย็นของวันที่จัดการเลือกตั้งล่วงหน้า ห้องเก็บหีบบัตรที่กลายเป็นข้อครหาจึงไม่มีบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้วเหลืออยู่อย่างแน่นอน 

นอกจากเขตหนองจอกแล้ว ในวันเดียวกันนั้นยังมีอีกหลายเขตที่เกิดเหตุการณ์ใกล้เคียงกันด้วย เช่น สำนักงานเขตคลองสาน ที่มีชายสวมเสื้อสีเหลืองเดินเข้าไปยังห้องเก็บหีบบัตร สำนักงานเขตสะพานสูง สำนักงานเขตมีนบุรี และสำนักงานเขตบางขุนเทียน อย่างไรก็ตาม จนท. จากหลายเขตระบุว่า ข้อครหาทั้งหมดมักเกิดจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน มีการขออนุญาต จนท. ที่เฝ้าทางเข้าออกเรียบร้อยแล้ว ไปจนถึงเกิดการเปลี่ยนเวรของ จนท. และการเข้าไปเก็บของเพียงเท่านั้น

ในกรณีกล้องวงจรปิดของสำนักงานเขตมีนบุรีที่ปรากฏว่าหีบบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าหายไปจากห้องทั้งหีบนั้น ต่อมาวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 กกต. ชี้แจงว่า สำนักงานเขตมีนบุรีไม่มีการเก็บรักษาหีบเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต เนื่องจากส่งให้ไปรษณีย์ไทยเสร็จสิ้นทั้งหมดแล้ว ขณะเดียวกันก็ไม่มีผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตแม้แต่คนเดียว ทำให้ห้องดังกล่าวเป็นห้องว่าง

กกต. จึงขอให้ประชาชนไม่ตื่นตระหนกต่อคลิปวิดีโอดังกล่าว และข่มขู่ผู้แชร์ข้อมูลชุดนี้ด้วย พ...คอมพิวเตอร์ฯ 

3. กรณีข้อกังวลต่อบัตรเขย่งทั่วประเทศ

วันที่ 10 พฤษภาคม 2566 ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าวกล่าวหาว่า หน่วยเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีผู้ลงทะเบียนมาใช้สิทธิ 2,047 คน แต่กลับมีผู้มาใช้สิทธิจริงในวันดังกล่าวถึง 2,628 คน หรือเกินกว่าความเป็นจริงถึง 581 คน ทำให้บัตรเขย่งขึ้น

สื่อมวลชนหลายสำนักให้ความสนใจกรณีนี้ เพราะมีมูลมาจากการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าที่ผิดพลาดของ กกต. ก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม เฟซบุ๊กของ กกต. ชี้แจงว่า อำเภอหาดใหญ่มีเขตเลือกตั้งเพียง 3 เขต และไม่มีเขตใดที่มีตัวเลขจำนวนผู้มาใช้สิทธิตรงกับจำนวนที่ถูกกล่าวหา รวมถึงขู่ว่าจะเอาผิดตาม พ...คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 แก่ผู้เผยแพร่เช่นกัน

กรณีต่อมา สมภพ รัตนวลี ผู้อำนวยการฝ่ายข่าวเวิร์คพอยท์แสดงความคิดเห็นบน TikTok ว่าคนที่เขาไปเลือกที่จังหวัดเค้า แต่คะแนนกลับไปโผล่จังหวัดนนทบุรี และกาจากพรรคหนึ่งกลายเป็นอีกพรรคหนึ่ง ขั้วตรงข้ามกันเลย แล้วเป็นอย่างนี้อีกหลายคน กกต. ออกมายอมรับแล้วอ้างว่าเจ้าหน้าที่ผิดพลาด 

ข้อกล่าวหาว่าการกาบัตรลงคะแนนให้พรรคหนึ่งแต่กลับถูกนับเป็นคะแนนให้อีกพรรคหนึ่ง ถือว่าเป็นเรื่องที่ประชาชนกังวลมากที่สุด เนื่องจากการจ่าหน้าซองผิดพลาดของ กปน. และการอ่านลายมือหน้าซองของ กปน. ไม่ออกโดยเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ไทยมีโอกาสสูงมากที่จะทำให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้

กกต. ได้โต้ตอบข้อกล่าวหาดังกล่าวว่าไม่เป็นความจริง เนื่องจากยังไม่มีการนับคะแนนเกิดขึ้นจึงยังไม่สามารถบอกได้ว่าคะแนนที่จะถูกนับนั้นจะไปเพิ่มคะแนนให้แก่ผู้สมัครหรือพรรคใดบ้าง 

การเฝ้าระวังเรื่องบัตรเขย่งเป็นจำนวนมากจากปัญหาในการเลือกตั้งล่วงหน้ายังเป็นประเด็นสำคัญของภาคประชาชนในการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 

4. กรณีการรายงานผลคะแนนวันที่ 14 พฤษภาคม 2566

รายการตอบโจทย์ช่อง Thai PBS เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จาก iLaw และ อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ผู้อำนวยการโครงการการรายงานผลคะแนนการเลือกตั้ง พ.ศ. 2566 สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิทัล (ประเทศไทย) ได้ชี้ปัญหาของระบบการรายงานผลคะแนนของ กกต. เอาไว้ว่า การส่งใบสรุปผลคะแนนจากแต่ละหน่วยเลือกตั้งไปลงคะแนนในระบบโดย กกต.เขต เพียงไม่กี่คนและทำในสถานที่ปิด อาจทำให้เกิดข้อครหาเรื่องความโปร่งใสได้

ระบบนับคะแนนใหม่ของ กกต. ปีนี้ระบุให้ กปน. แต่ละหน่วยเลือกตั้งส่งใบสรุปรวมผลคะแนน หรือ ใบ ส.ส. 5/18 ไปยัง กกต.เขต ทว่าการนำใบดังกล่าวมากรอกเข้าสู่ระบบกลางกลับทำโดยคนไม่กี่คนซึ่งไม่เปิดเผยชื่อ ในสถานที่ที่ไม่อนุญาตให้ประชาชนเข้าไปร่วมสังเกตการณ์ได้ ทำให้หากมีความผิดพลาดหรือมีความพยายามในการทุจริตจะยากมากในการป้องกัน

จุดนี้ กกต. ได้ออกมาชี้แจงโต้ตอบทันทีว่า อนุกรรมการที่คอยตรวจสอบความถูกต้องของใบ ส.ส. 5/18 นั้นถูกแต่งตั้งอย่างชอบธรรมจาก กกต.เขต โดยเปิดเผยรายชื่อตามประกาศแต่งตั้งให้แก่สาธารณะทราบแล้ว จึงขอให้ประชาชนไม่มีความกังวลในประเด็นดังกล่าว อย่างไรก็ตาม กกต. ไม่ได้ตอบคำถามเรื่องข้อกังวลในความโปร่งใสของการรับใบ ส.ส. 5/18 มาลงคะแนนในระบบแต่อย่างใด

ข้อต่อมา ยิ่งชีพระบุว่า กกต. ประกาศแล้วว่าจะไม่รายงานจำนวนบัตรเสียและบัตรที่ไม่ประสงค์ลงคะแนน ทั้งที่ในการเลือกตั้งปี 2562 มีจำนวนบัตรเสียถึงร้อยละ 5 จากจำนวนบัตรทั้งหมด หรือคิดเป็นจำนวนประมาณ 2 ล้านใบ โดยที่ไม่มีการให้เหตุผลประกอบ

จุดนี้ กกต. อธิบายว่า สาเหตุที่รายงานผลเพียงคะแนนของผู้สมัครและพรรคการเมืองเท่านั้น เป็นไปเพื่อความสะดวกของประชาชน 

ข้อสุดท้าย ยิ่งชีพชี้ว่า การรายงานผลในคืนวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 จะหยุดรายงานผลเมื่อนับคะแนนไปแล้วร้อยละ 94 จากจำนวนคะแนนทั้งหมด ก่อนที่จะหยุดรายงานไป จนกว่าจะประกาศคะแนนสุดท้าย ซึ่งบทเรียนจากปี 2562 ชี้ให้เห็นแล้วว่า ระหว่างช่วงเวลานี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงคะแนนของผู้สมัครเกิดขึ้นได้ โดยผู้สมัครบางคนได้คะแนนเพิ่มขึ้นมากผิดสังเกต และผู้สมัครบางคนได้คะแนนลดลง โดยไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจน 

ข้อชี้แจงของ กกต. ในประเด็นดังกล่าวมีเพียง กกต. ปฏิบัติตามข้อกฎหมายเพื่อให้การรายงานผลคะแนนอย่างสะดวก ซึ่งก็เป็นจุดที่ยิ่งชีพย้ำเช่นกันว่า กฎหมายฉบับดังกล่าวต่างเป็นกฎหมายที่มาจาก กกต. และผู้มีอำนาจในการเมืองไทยเองแทบทั้งสิ้น การเว้นช่วงเวลาแบบนี้ไว้จึงจะยิ่งสร้างข้อครหาในสังคมมากขึ้น และเป็นผลเสียกับความน่าเชื่อถือของการเลือกตั้งมากกว่าผลดี

5. กรณี กกต. เว้นการวินิจฉัยเรื่อง เลเซอร์หาเสียงบนสะพานพระราม 8

กรณีนี้สืบเนื่องจากการที่มีเลเซอร์ฉายภาพหาเสียงของพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ลงบนสะพานพระราม 8 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2566 โดย ทิพานัน ศิริชนะ ผู้สมัคร ส.. แบบบัญชีรายชื่อของพรรค รทสช. ผ่านการขออนุญาตจากปลัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งส่อผิดระเบียบการเลือกตั้งเรื่องขนาดของป้ายหาเสียงตามที่ กกต. กำหนด ทำให้สังคมหันมาจับตาการวินิจฉัยของ กกต. ว่าจะเกิดการเลือกปฏิบัติหรือไม่

วันที่ 9 พฤษภาคม 2566 อิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ออกมาแถลงว่า การติดประกาศนอกเหนือจากจุดที่ กกต. กำหนดนั้นสามารถทำได้หากเจ้าของสถานที่อนุญาต และเน้นย้ำต่อว่า หากพรรคใดพรรคหนึ่งได้รับมอนุญาต พรรคอื่นๆ ก็ต้องได้รับความอนุญาตเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นพรรค รทสช. ออกแถลงการณ์ว่า การกระทำดังกล่าวของทิพานันเป็นการกระทำโดยส่วนตัว พรรคไม่มีความรู้เห็นด้วย และการฉายแสงดังกล่าวถูกสั่งให้ยกเลิกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ไม่มี จนท.กกต. คนใดออกมาระบุให้ชัดเจนถึงความผิดฐานละเมิดระเบียบ กกต. เรื่องขนาดของป้ายหาเสียงอีก

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงระบุว่า พรรค รทสช.ทำหนังสือขออนุญาตใช้พื้นที่บริเวณสวนหลวงพระราม 8 และใต้สะพานพระราม 8 ลงชื่อ น..ทิพานัน ศิริชนะ ซึ่งดำเนินการเอง ไม่ได้ทำภายใต้พรรคการเมือง พร้อมแนบเอกสารที่มีภาพ แต่ยอมรับว่า ไม่ได้ดูเอกสารละเอียดดีพอ จึงสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนให้กับผู้ขออนุญาตว่าทาง กทม.อนุญาตให้ใช้พื้นที่เสาสะพานพระราม 8 ได้ แท้ที่จริง “สะพานพระราม 8” อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักโยธาและผังเมือง กทม. แต่ไม่ได้มีส่วนในการอนุญาตให้ผู้ใดมาใช้ได้ และเมื่อทราบเรื่องร้องเรียน ก็สั่งยุติการฉายข้อความบนเสาสะพานพระราม 8 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

6. กรณีตัดสินเรื่องพรรคพลังประชารัฐเก็บบัตรประชาชน

วันที่ 2 พฤษภาคม 2566 มีการแชร์คลิป จนท. ของพรรคพลังประชารัฐเรียกเก็บบัตรประชาชนของชาวบ้านที่เข้าฟังการปราศรัยในจังหวัดอำนาจเจริญ บัตรดังกล่าวถูกนำมาเสียบเข้ากับเครื่องรับบัตรเพื่อดึงข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ จนทำให้สังคมตั้งคำถามถึงความถูกต้องหรือสุจริตของพฤติกรรมนี้ 

นวัต บุญศรี ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัดอำนาจเจริญชี้แจงว่า ภาพดังกล่าวเป็นการช่วยประชาชนที่มาฟังการปราศรัยสมัครสมาชิกพรรคในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งไม่เข้าข่ายความผิดทางกฎหมาย หลังจากกรอกข้อมูลเสร็จแล้วพรรคก็ได้คืนบัตรประชาชนแก่ผู้มาสมัครสมาชิกทุกคน ทำให้ประชาชนบนโลกออนไลน์เข้าใจคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง

7. กรณีการพิมพ์บัตรเลือกตั้งเกิน 4 ล้านใบ

วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 สำนักข่าว TODAY รายงานว่า กกต. พิมพ์บัตรลงคะแนนสำหรับการเลือกตั้ง 2566 เกินจากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งถึง 4 ล้านใบ 

เหตุการณ์นี้ทำให้ประชาชนไม่ไว้ใจการทำงานของ กกต. เป็นอย่างมาก เนื่องจากกังวลว่าบัตรลงคะแนนที่เกินมาจะถูกนำไปใช้ในทางทุจริต กลายเป็นบัตรเขย่งเพิ่มคะแนนให้แก่พรรคการเมืองใดหรือไม่ 

อย่างไรก็ตาม แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ออกมาชี้แจงว่า การพิมพ์บัตรลงคะแนนเกินนั้นเป็นเรื่องปกติ การพิมพ์เกินมากถึงจำนวน 4 ล้านใบเป็นเพราะต้องสำรองเล่มบัตรเลือกตั้งทั้งเล่มให้แก่ทุกหน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศ เป็นจำนวนที่ต้องถูกส่งมอบให้แก่ กปน. ในการเพิ่มชื่อลงคะแนนที่หน่วยที่ตนเองปฏิบัติภารกิจ และ สำรองให้แก่การจัดเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2566

ทางเดียวที่สังคมจะรู้ว่าคำอธิบายของ กกต. นี้มีความถูกต้องหรือไม่ อาจจะต้องรอการจับตานับคะแนนของภาคประชาชนหลังวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่อาจจะสามารถรวบรวมจำนวนบัตรลงคะแนนที่ถูกใช้และไม่ถูกใช้มาเปรียบเทียบกันต่อไปในภายหลัง