เลือกตั้ง66: กาบัตรเลือกตั้งใช้ปากกาสีใดก็ได้ ไม่เป็นบัตรเสีย

14 พฤษภาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น. ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะได้ใช้สิทธิเลือกผู้แทน เพื่อเข้าไปทำงานในสภา ออกกฎหมาย รวมไปถึงตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร การ #เลือกตั้ง66 ที่จะถึงอีกไม่กี่วันนี้ มีระบบเลือกตั้งที่ไม่เหมือนการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 ที่มีบัตรเลือกตั้งใบเดียว แต่รอบนี้ มีบัตรเลือกตั้งสองใบ คือ

บัตรเลือกตั้งใบแรก เลือกตั้งผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต (สีม่วง) จะมีแค่เบอร์มาให้ ไม่มีข้อมูลชื่อ-นามสกุล ไม่มีโลโก้พรรค ต้องจำเบอร์ให้ดีตั้งแต่แรก

บัตรเลือกตั้งใบที่สอง เลือกผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง (สีเขียว) จะมีโลโก้พรรคการเมืองระบุไว้ในบัตร แต่ถ้าจำเบอร์ได้ก็จะช่วยให้กาไว้ขึ้น

ในการกาบัตรเลือกตั้ง “ปากกา” เป็นไอเทมสำคัญที่ขาดไม่ได้ ซึ่งในวันเลือกตั้ง  คณะกรรมการเลือกตั้งประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) จะเตรียมปากกาไว้ให้ในคูหาอยู่แล้ว แต่หากใครห่วงกังวลเรื่องความสะอาด กังวลการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ก็สามารถพกปากกาไปเองได้ โดยในกฎหมายเลือกตั้ง “ไม่ได้จำกัด” ว่าปากกาที่จะใช้กาบัตรเลือกตั้ง ต้องเป็นสีใด และในการกำหนดลักษณะของ “บัตรเสีย” ก็ไม่ได้ระบุถึงสีปากกาแต่อย่างใด

โดยในกฎหมายเลือกตั้ง มาตรา 91 กำหนดวิธีการกาบัตรเลือกตั้ง ให้ทำเครื่องหมาย “กากบาท” ในช่องทำเครื่องหมายของหมายเลขผู้สมัครในบัตรเลือกตั้ง และในกรณีที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งประสงค์จะลงคะแนนไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด ให้ทำเครื่องหมายกากบาทลงในช่องทำเครื่องหมาย “ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด”

ส่วนลักษณะของ “บัตรเสีย” กำหนดไว้ในมาตรา 118 ดังนี้

1) บัตรปลอม

2) บัตรที่มีการทำเครื่องหมายเพื่อเป็นที่สังเกตหรือเขียนข้อความใดๆ ลงในบัตรเลือกตั้งนอกจากเครื่องหมายกากบาทในช่องสำหรับลงคะแนน แต่ถ้าเป็นการกระทำของเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง ซึ่งทำโดยชอบด้วยกฎหมาย ก็ไม่เป็นบัตรเสีย

3) บัตรที่ไม่ได้ทำเครื่องหมายลงคะแนน (เว้นช่องว่างไว้)

4) บัตรที่ทำเครื่องหมายลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครเกินจำนวนหนึ่งคน

5) บัตรที่ไม่อาจทราบได้ว่าลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครใด เว้นแต่เป็นการลงคะแนน “ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด”

6) บัตรที่ได้ทำเครื่องหมายลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร แล้วทำเครื่องหมายในช่องทำเครื่องหมาย “ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด”

นอกจากนี้ ในระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ข้อ 174 กำหนดลักษณะของบัตรเสียเพิ่มเติม ได้แก่

7) บัตรที่ทำเครื่องหมายอื่นนอกจากเครื่องหมายกากบาท

8) บัตรที่ทำเครื่องหมายลงคะแนนแก่ผู้สมัคร แล้วทำเครื่องหมายในช่องที่ไม่มีผู้สมัคร

9) บัตรที่ทำเครื่องหมายในช่องที่ไม่มีผู้สมัคร หรือผู้สมัครถูกถอนชื่อออกจากประกาศรายชื่อผู้สมัคร

10) บัตรที่ทำเครื่องหมายลงคะแนนให้กับผู้สมัครในช่องทำเครื่องหมาย เกินกว่าหนึ่งเครื่องหมาย

11) บัตรที่ทำเครื่องหมายนอกช่องทำเครื่องหมาย

12) บัตรที่มิใช่บัตรซึ่งกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งมอบให้

13) บัตรเลือกตั้งที่ไม่ใช่ของเขตเลือกตั้งที่ดำเนินการนับคะแนน

จากทั้งกฎหมายเลือกตั้ง และระเบียบกกต. เอง ก็ไม่ได้ระบุเรื่องสีปากกา และไม่ได้กำหนดว่าการกาบัตรเลือกตั้งโดยใช้ปากกาสีอื่นนอกจากสีน้ำเงินจะเป็นบัตรเสีย ดังนั้น ตอนนับคะแนน การใช้ดุลยพินิจของกรรมการประจำหน่วย (กปน.) วินิจฉัย ขานว่าบัตรใดเป็นบัตรดีบัตรเสีย จะต้องอยู่ภายใต้กรอบเท่าที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น หากกปน. ขานตีความว่าบัตรที่ถูกกาด้วยปากกาสีอื่นนอกจากสีน้ำเงินเป็นบัตรเสีย ประชาชนสามารถทักท้วงได้เพราะเป็นการใช้ดุลยพินิจเกินกรอบที่กฎหมายให้อำนาจ โดยสามารถอ้างอิงกฎหมายเลือกตั้ง มาตรา 91 และระเบียบ กกต. ข้อ 174 ได้เลย

กฎหมายเลือกตั้ง

ระเบียบ กกต. ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566