เลือกตั้ง66: เลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตมีขั้นตอนอะไรบ้าง? นับคะแนนยังไง? เช็คเลย

วันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม 2566 ผู้ที่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต จะได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งแล้ว โดยคูหาเปิดตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น. ผู้ที่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตไปแล้ว จะต้องไปใช้สิทธิในวันดังกล่าว ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือไปใช้สิทธิในวันเลือกตั้งจริง 14 พฤษภาคม 2566 ได้แล้ว เพราะพ้นเวลาในการแก้ไขหรือยกเลิกการลงทะเบียน

การเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต มีขั้นตอนบางอย่างที่ยุ่งยากกว่าการเลือกตั้งในวันจริง เนื่องจากในหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตที่หนึ่ง มีประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจากหลายๆ เขต หลายๆ จังหวัด มาใช้สิทธิในที่เดียวกัน ดังนั้นระบบบางอย่างอาจจะแตกต่างจากวันเลือกตั้งจริงเล็กน้อย มาดูขั้นตอนกันได้เลยว่า คนที่ไปเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต ต้องทำอะไรบ้าง?

 

เช็ค 8 ขั้นตอน ใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต

1) ผู้ที่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต เช็คสิทธิเลือกตั้ง และลำดับที่ในบัญชีของตนเอง อย่าลืมพกบัตรประจำตัวประชาชน หรือเอกสารที่ราชการออกให้และมีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักไปด้วย เช่น หนังสือเดินทาง ใบขับขี่ หรือจะโหลดแอป ThaID เพื่อแสดงบัตรประจำตัวประชาชนแบบอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้

ถ้ามีเอกสารที่ได้รับจากการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต ไม่ว่าจะเป็นการลงทะเบียนผ่านทางเว็บไซต์ หรือที่สำนักงานเขต อำเภอ หรือสำนักทะเบียนท้องถิ่น ให้นำไปเผื่อแสดงเป็นหลักฐานด้วย กรณีที่ลงทะเบียนทางออนไลน์ และบันทึกเอกสารไฟล์ PDF ไว้ตั้งแต่ลงทะเบียน จะนำใส่โทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตไปก็ได้ หรือจะปรินท์ไปก็ได้

ถ้าไม่ได้บันทึกเอกสารไว้ตั้งแต่ตอนที่ลงทะเบียน ให้เช็คสิทธิ-สถานที่ไปเลือกตั้ง ว่าระบุข้อมูล วันที่ไปใช้สิทธิ-สถานที่ไปใช้สิทธิ ถูกต้องหรือไม่ โดยการเช็คสิทธิในเว็บไซต์ สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตไปแล้ว ข้อมูลด้านล่างหน้าเว็บไซต์จะต้องระบุว่า “การขอไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตเลือกตั้ง” และระบุวันที่เลือกตั้งล่วงหน้า คือ วันที่ 7 พฤษภาคม 2566 ถ้าเช็คสิทธิแล้วขึ้นข้อมูลถูกต้อง ก็ไม่มีปัญหา

เอกสารที่ได้จากการลงทะเบียน จะจำเป็นต้องใช้เมื่อเราลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตแล้ว แต่ปรากฏว่าไม่พบรายชื่อในบัญชี เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งก็จะขอเอกสารนี้เป็นหลักฐานเพื่อยืนยันว่าเราได้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตไปแล้วจริงๆ

เช็คสิทธิและสถานที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ที่นี่

2) อย่าลืมเช็คเบอร์พรรคการเมือง เพื่อเลือก ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ (บัตรสีเขียว) และเบอร์ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต (บัตรสีม่วง) ของเขตที่เรามีสิทธิเลือกตั้ง ระวัง! อย่าสับสนไปกาเบอร์ผู้สมัครของเขตที่เราเลือกสถานที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

เช็คเบอร์ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต รวมถึงเบอร์พรรคการเมืองได้ที่นี่ หรือแอปพลิเคชัน SmartVote ที่จัดทำโดย กกต.

3) ไปถึงหน้าหน่วยเลือกตั้ง เข้าแถวแยกตามป้ายจังหวัดที่ตนมีสิทธิ: เนื่องจากหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต มีประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจากทั่วสารทิศมาใช้สิทธิ ในหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต ก็จะมีป้ายแยกจังหวัดเอาไว้ ให้เข้าแถวตามป้าย เพื่อรอคิว ระหว่างที่รอ อาจจะเช็คเบอร์ ผู้สมัคร ส.ส. อีกรอบกันลืม

4) แสดงตนกับเจ้าหน้าที่: แจ้งลำดับที่ในบัญชีรายชื่อของเรา และยื่นบัตรประชาชน หรือเอกสารที่ราชการออกให้และมีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก และมีรูปถ่าย เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบรายชื่อ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะให้เราลงลายมือชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกเขต และเจ้าหน้าที่ก็จะระบุ จังหวัด เขตเลือกตั้ง และรหัสเขตเลือกตั้งที่เรามีสิทธิลงบนซองใส่บัตรเลือกตั้ง ให้ดูด้วยว่าจังหวัดและเขตที่เรามีสิทธิเลือกตั้ง ระบุบนหน้าซองถูกต้องหรือไม่ บนซองจะต้องมีการเจาะรูทั้งสองข้างเพื่อให้เห็นบัตรเลือกตั้งทั้งสองใบได้จากภายนอก ต่อมา จะส่งบัตรประชาชนและซองใส่บัตรเลือกตั้งของเรา ให้เจ้าหน้าที่คนที่ 2

5) รับบัตรเลือกตั้งกับเจ้าหน้าที่: หลังจากเจ้าหน้าที่คนที่ 2 ได้รับบัตรประชาชนและซองใส่บัตรเลือกตั้งหนึ่งซองของเรามาแล้ว เจ้าหน้าที่คนที่ 2 จะจดลำดับที่ในบัญชีรายชื่อของเรา ไว้ที่ต้นขั้วบัตรเลือกตั้ง และให้เราลงลายมือชื่อที่ต้นขั้วบัตรเลือกตั้งด้วย หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะลงลายมือชื่อกำกับตรงต้นขั้วบัตรเลือกตั้งเช่นกัน แล้วส่งมอบบัตรเลือกตั้งและบัตรประชาชนคืนมาให้เรา

ถ้าหากผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ ให้พิมพ์ลายนิ้วมือของนิ้วโป้งข้างขวา ถ้าไม่มีนิ้วโป้งขวาให้พิมพ์ลายนิ้วมือนิ้วโป้งซ้าย แต่ถ้าไม่มีนิ้วโป้งทั้งสองข้าง ให้พิมพ์ลายนิ้วมืออื่นแทนและกรรมการประจำหน่วยจะใส่หมายเหตุไว้

6) เข้าคูหา ทำเครื่องหมาย “กากบาท” ในบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ: ในคูหาเลือกตั้งจะมีปากกาเตรียมไว้ให้แล้ว แต่ถ้านำไปเองก็แนะนำให้ใช้สีน้ำเงินเพราะจะอ่านง่ายกว่าเวลาเจ้าหน้าที่นับคะแนน

บัตรเลือกตั้งใบแรก เลือกตั้งผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต (สีม่วง) จะมีแค่เบอร์มาให้ ไม่มีข้อมูลชื่อ-นามสกุล ไม่มีโลโก้พรรค ต้องจำเบอร์ให้ดีตั้งแต่แรก

บัตรเลือกตั้งใบที่สอง เลือกผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง (สีเขียว) จะมีโลโก้พรรคการเมืองระบุไว้ในบัตร แต่ถ้าจำเบอร์ได้ก็จะช่วยให้กาไว้ขึ้น

ให้ทำเครื่องหมาย “กากบาท” ในช่องว่างสำหรับทำเครื่องหมาย โดยให้ทำเครื่องหมายกากบาทแค่ครั้งเดียวเท่านั้น แต่ละบัตรเลือกตั้ง สามารถกาเลือกได้เพียงเบอร์เดียว อย่ากาหลายเบอร์

หากไม่อยากเลือกผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตคนใดเลย และ/หรือ ไม่ประสงค์จะเลือกบัญชีรายชื่อจากพรรคการเมืองใดเลย ให้ทำเครื่องหมายกากบาทในช่อง  “ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด” หรือ “ไม่เลือกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด”

ระวัง! ข้อห้าม ไม่ควรทำพฤติกรรมดังต่อไปนี้ เพราะบัตรเลือกตั้งนั้นจะกลายเป็น “บัตรเสีย” ไม่ถูกนับเป็นคะแนน

  • ทำเครื่องหมายอื่นนอกจากกากบาท เช่น กากบาทแล้วใส่วงเล็บล้อม ทำเครื่องหมายดาว วาดรูปหัวใจ ทำสี่เหลี่ยม เขียนคำหรือเบอร์พรรคที่จะเลือก
  • ใส่เครื่องหมายกากบาทมากกว่าหนึ่งอันขึ้นไปในช่องเดียว
  • ทำเครื่องหมายกากบาทนอกช่องทำเครื่องหมาย
  • กาเบอร์มากกว่าหนึ่งเบอร์ขึ้นไป
  • เขียนข้อความใดๆ ลงในบัตรเลือกตั้ง
  • ปล่อยช่องเว้นว่างไว้ ไม่กาเบอร์ใดเลย
  • กาทั้งช่อง “ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด” หรือ “ไม่เลือกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด” และกาเบอร์ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต หรือเบอร์บัญชีรายชื่อพรรคการเมืองด้วย
  • กาในช่องที่ไม่มีผู้สมัคร

7) นำบัตรเลือกตั้งใส่ซอง ปิดผนึก ส่งให้เจ้าหน้าที่เซ็นกำกับ: หลังจากกาในช่องทำเครื่องหมายกากบาท ของบัตรเลือกตั้งทั้งสองใบแล้ว ให้นำบัตรเลือกตั้งใส่ซองใส่บัตรเลือกตั้ง และปิดผนึกซองให้เรียบร้อย อย่าเพิ่งนำบัตรเลือกตั้งไปหย่อนใส่กล่อง แต่ให้นำบัตรเลือกตั้งที่ใส่ซองเรียบร้อยแล้ว ไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบดูก่อนว่าใส่บัตรและปิดผนึกเรียบร้อยหรือไม่ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะลงลายมือชื่อกำกับตรงรอยต่อผนึกซองบัตรเลือกตั้งและปิดทับรอยต่อผนึกซอง ด้วยเทปกาวใส กลไกนี้จะทำให้ช่วยตรวจสอบได้ว่า ซองใส่บัตรเลือกตั้งถูกเปิดหรือไม่

8) หย่อนซองใส่บัตรเลือกตั้งลงหีบ: หลังจากเจ้าหน้าที่จัดการกับซองใส่บัตรเลือกตั้งเรียบร้อยแล้ว ก็จะส่งซองใส่บัตรเลือกตั้งคืนกลับมาให้ ให้นำซองใส่บัตรเลือกตั้ง ไปหย่อนลงในหีบบัตรเลือกตั้ง โดยหีบจะมีใบเดียว และบัตรแต่ละประเภท (เลือก ส.ส. แบบแบ่งเขต – บัญชีรายชื่อ) จะถูกนำไปแยกภายหลัง โดยที่ซองใส่บัตรจะมีรูเพื่อให้เห็นว่ามีบัตรสองใบ สองสี

 

บัตรเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต ยังไม่นับคะแนน 7 พ.ค. ถูกส่งไปสถานที่ในเขตเลือกตั้ง นับคะแนนวันเลือกตั้งจริง

หนึ่งข้อสงสัยสำหรับผู้ที่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต คือ บัตรเลือกตั้งที่กาไป จะถูกนับคะแนนอย่างไร เพราะมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งจากหลายเขตหลายจังหวัดมาใช้สิทธิที่เดียวกัน

ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 กำหนดขั้นตอนการจัดการกับบัตรเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต และการนับคะแนนบัตรเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตไว้ สรุปได้ ดังนี้

1) ทำลายบัตรเลือกตั้งที่เหลือ: หลังจากถึงเวลาปิดหีบเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต 17.00 บัตรเลือกตั้งที่เหลือ ไม่ว่าจะเต็มเล่มหรือไม่เต็มเล่ม จะถูกทำลายด้วยการใช้โลหะแทงกลางบัตรเลือกตั้งทะลุทุกฉบับรวมปกหน้า-หลัง จากนั้นใช้เชือกร้อยรูผูกรวมให้เป็นปึกเดียวกัน เพื่อป้องกันไม่ให้บัตรเลือกตั้งนั้นถูกนำไปใช้ได้อีก

2) นับจำนวนซองใส่บัตรเลือกตั้ง: เจ้าหน้าที่ (คณะกรรมการประจำที่เลือกตั้งนอกเขต) จะเปิดหีบเลือกตั้งเพื่อนับจำนวนซองใส่บัตรเลือกตั้ง แล้วนำไปบรรจุในถุงพลาสติกใส และเขียนบัญชีจำนวนซองใส่บัตรเลือกตั้งว่ามีกี่ใบ

3) ส่งบัตรเลือกตั้ง: การส่งซองใส่บัตรเลือกตั้งล่วงหน้า จะมีบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ไปรษณีย์ไทย) เป็นผู้รับผิดชอบหลักๆ ในการขนส่ง โดยไปรษณีย์ไทย จะมารับซองใส่บัตรเลือกตั้งทั้งหมด รวมทั้งบัญชีจำนวนซองใส่บัตรเลือกตั้ง ส่งไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ตามที่ระบุไว้หน้าซองใส่บัตรเลือกตั้ง

4) ปลายทางตรวจสอบจำนวนซองใส่บัตรเลือกตั้ง: เมื่อซองใส่บัตรเลือกตั้งถูกส่งถึงปลายทางให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ระบุไว้หน้าซอง จะมีเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย (คณะกรรมการการนับคะแนนบัตรเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้ง) ดำเนินการรับและตรวจนับจำนวนซองใส่บัตรเลือกตั้งจากไปรษณีย์ไทย ว่าตรงตามตัวเลขในจำนวนบัญชีซองใส่บัตรเลือกตั้งที่ต้นทางส่งมาหรือไม่ จากนั้นก็จะทำบัญชีรับมอบซองใส่บัตรเลือกตั้ง

หลังตรวจสอบเสร็จเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะนำซองใส่บัตรเลือกตั้งใส่หีบบัตรเลือกตั้งที่เตรียมไว้ และปิดหีบเลือกตั้งโดยใส่สายรัด พร้อมทั้งลงลายมือชื่อกำกับบนสายรัดด้วย จากนั้นจึงนำหีบที่บรรจุซองใส่บัตรเลือกตั้งไปเก็บรักษาไว้ที่ปลอดภัย ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งกำหนด

5) ประกาศสถานที่นับคะแนน: ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10 วัน คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง จะประกาศสถานที่นับคะแนนบัตรเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตที่ได้รับมา ดังนั้น สถานที่นับคะแนนเลือกตั้งสำหรับบัตรเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต อาจไม่ใช่สถานที่เดียวกันกับผู้ที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งวันจริง 14 พฤษภาคม 2566 ก็ได้

6) แกะซองใส่บัตรเลือกตั้ง ก่อนนับคะแนน: ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เมื่อถึงเวลา 17.00 น. แล้ว จะมีเจ้าหน้าที่ไปเบิกหีบมาจากที่เก็บรักษาไว้ นำไปยังสถานที่นับคะแนนบัตรเลือกตั้ง

ก่อนการนับคะแนน เจ้าหน้าที่จะเปิดหีบซองใส่บัตรเลือกตั้งเพื่อตรวจนับจำนวนซองใส่บัตรเลือกตั้ง แล้วเปิดซองออก นำบัตรเลือกตั้งออกจากซอง ใส่บัตรในหีบแยกตามประเภทของบัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบ่งเขต กับบัญชีรายชื่อ

7) เริ่มนับคะแนน: หลังจากจัดการแกะซองใส่บัตรเลือกตั้งเรียบร้อย ก็จะถึงขั้นตอนดำเนินการนับคะแนน โดยจะแบ่งเจ้าหน้าที่ (กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง: กปน.) ออกเป็นสองชุด ชุดแรก นับคะแนน ส.ส. แบบแบ่งเขต ชุดที่สอง นับคะแนนบัญชีรายชื่อ

โดย กปน. ของแต่ละชุด ก็จะถูกแบ่งบทบาทอีกเป็นรายคน ดังนี้
คนแรก: หยิบบัตรเลือกตั้งทีละใบ และส่งให้คนที่สอง
คนที่สอง: ดูบัตรเลือกตั้งและอ่านผล

  • ถ้าเป็นบัตรดี จะอ่านว่า “บัตรดี” และอ่านหมายเลขของผู้สมัครที่ได้คะแนน/เลขเบอร์พรรคการเมือง
  • ถ้าเป็นบัตรเสีย จะอ่านว่า “บัตรเสีย”
  • ถ้าเป็นบัตรที่กาในช่อง “ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด” หรือ “ไม่เลือกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด” ก็จะอ่านว่า “ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด” หรือ “ไม่เลือกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด”

ทั้งนี้ กปน. ก็จะชูบัตรเลือกตั้ง เปิดเผยให้คนที่อยู่บริเวณนั้นสามารถเห็นคะแนนได้

คนที่สาม: ขานทวนคะแนนที่คนที่สองอ่าน และขีดคะแนนลงบนกระดานนับคะแนน โดยจะขีดเป็นหนึ่งขีดต่อหนึ่งคะแนน เมื่อถึงขีดที่ห้าจะต้องขีดขวางทับสี่เส้นแรง และใส่วงกลมหรือวงรีล้อมรอบ ดังนั้น หนึ่งวงกลม/วงรี = ห้าคะแนน
คนที่สี่: เจาะบัตรเลือกตั้งที่ถูกอ่านแล้ว ใส่ลงในภาชนะเก็บบัตร

8) สรุปผลคะแนนที่นับ: เมื่อนับคะแนนเสร็จเรียบร้อยแล้ว กปน. จะเช็คอีกรอบ โดยนับจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนทั้งหมด ว่าตรงกับจำนวนที่ระบุไว้ในบัญชีหรือไม่

ากนั้นก็จะจัดทำรายงานผลนับคะแนนเลือกตั้งสามชุด โดยจะต้องมีหนึ่งชุดที่ส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งด้วย

9) รวมผลคะแนนภายในเขตเลือกตั้ง ประกาศบนเว็บ กกต. จังหวัด ภายในห้าวัน: หลังจากนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง จะรวมผลการนับคะแนนทุกหน่วยเลือกตั้ง ภายในเขตเลือกตั้งนั้นๆ เข้าด้วยกัน ได้แก่ 1) ผลคะแนนจากการใช้สิทธิเลือกตั้งวันจริง 2) ผลคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขต 3) ผลคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต 4) ผลคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักร

หลังจากนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง จะประกาศผลการนับคะแนนเลือกตั้ง เป็นจำนวนสามชุด ดังนี้

  1. ปิดประกาศไว้ ณ สถานที่รวมคะแนน
  2. ส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด (กกต.จังหวัด)
  3. ส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

ภายในห้าวันนับจากวันเลือกตั้งที่ 14 พฤษภาคม 2566 (ภายในวันที่ 19 พฤษภาคม 2566) ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ก็จะเผยแพร่ข้อมูลรายงานผลการนับคะแนน ในเว็บไซต์ของ กกต. จังหวัด หลังจากนั้นก็จะเป็นกระบวนการประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ต่อไป


You May Also Like
อ่าน

ส่องวาระศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ สว. 67 เคาะเลือกคนใหม่ได้เกินครึ่ง

พฤษภาคม 2567 สว. ชุดพิเศษ จะหมดอายุแล้ว แต่ สว. ชุดใหม่ ยังคงมีอำนาจสำคัญในการเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ภายใต้วาระการดำรงตำแหน่งของ สว. ชุดใหม่ จะมีอำนาจได้ “เกินครึ่ง” ของจำนวนตำแหน่งทั้งหมด
อ่าน

ศาลรธน. ไม่รับคำร้อง ปมรัฐสภาถามเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทำประชามติกี่ครั้ง ทำตอนไหน

17 เมษายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเไม่รับคำร้องที่รัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาว่า รัฐสภาจะมีอำนาจในการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญได้เลยหรือต้องทำประชามติก่อน