เลือกตั้ง 66 ยังอยู่ภายใต้ กกต. จากคสช. ชวนประชาชนใช้สิทธิ-จับตานับคะแนน

19 เมษายน 2566 ที่อาคารเรียนรวมสังคมศาสตร์ 3 (SC 3) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต กลุ่มกิจกรมนิติวิชาการ จัดงานเสวนาวิชาการในหัวข้อ “เลือก(หรือ)ตั้ง66 :จุดเปลี่ยนประเทศไทย” ประกอบด้วยวิทยากรสามราย คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รองศาสตราจารย์สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)  และยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 ที่กำลังจะถึงในอีกไม่กี่สัปดาห์ ในหลายประเด็น เช่น ระบบเลือกตั้งบัตร 2 ใบ ซึ่งแตกต่างไปจากระบบเลือกตั้ง ปี 2562 ปัญหาการแบ่งเขตเลือกตั้ง และความกังวลเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่จะมาถึง

ระบบเลือกตั้ง 66 บัตร 2 ใบ ใช้สูตรหาร 100 พรรคใหญ่ได้ประโยชน์

สำหรับระบบเลือกตั้งในปี 2566 มีความ ต่างจากการระบบเลือกตั้งในปี 2562 ปริญญา เทวานฤมิตรกุล กล่าวว่าระบบเลือกตั้งครั้งนี้ มีบัตรเลือกตั้งสองใบ 1) ใบแรกเลือกผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบแบ่งเขต ซึ่งการแบ่งเขตนั้นก็จะคำนวณจากประชากรที่อยู่ในทะเบียนราษฎรของจังหวัดนั้น และออกมาเป็นจำนวนส.ส. แบบแบ่งเขต การเลือกส.ส. แบบแบ่งเขต ผู้สมัครส.ส. ที่ได้รับคะแนนสูงสุดที่ในเขต จะเป็นผู้ชนะ ได้เป็นส.ส. เราเรียกระบบนี้ว่า ระบบเสียงข้างมากแบบธรรมดา (Simple majority) แม้ว่าผู้ชนะจะไม่ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิทั้งหมด หากแต่เพียงได้รับคะแนนเสียงสูงสุด ก็จะถือว่าชนะการเลือกตั้งในเขตนั้น 2) ใบที่สอง เลือกผู้สมัครส.ส. แบบบัญชีรายชื่อจากแต่ละพรรคการเมือง ขณะที่การเลือกตั้งปี 2562 ระบบจัดสรรปันส่วนผสม ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว เพื่อเลือกส.ส. ทั้งสองประเภท 
ปริญญาระบุว่า ในการเลือกตั้ง 2566 นี้ การคำนวณที่นั่งส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ใช้สูตร “หาร 100” ซึ่งพรรคขนาดใหญ่จะได้ประโยชน์ ขณะที่พรรคขนาดเล็กจะต้องได้รับคะแนนเลือกตั้งในจำนวนที่มากขึ้น กว่าจะได้ส.ส. หนึ่งที่นั่ง ซึ่งระบบเลือกตั้งแบบนี้ จะส่งผลให้พรรคการเมืองค่อยๆ น้อยลง และอีกทางหนึ่ง คือ ประชาชนจะให้ความสนใจกับการเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะในประเทศที่มีการแบ่งขั้วทางการเมืองแตกต่างกัน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งอาจคิดคำนวณ ตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองจากขั้วทางการเมืองเดียวกัน ที่มีโอกาสชนะการเลือกตั้งได้มากกว่า ทั้งๆ ที่ผู้มีสิทธิคนนั้นอาจจะไม่ได้อยากเลือกพรรคนั้นเลย แต่อยากเลือกอีกพรรคหนึ่ง

แบ่งเขตเลือกตั้งวุ่นไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ เคาะเขตเลือกตั้งแล้วแบ่งใหม่ชวนสับสน

นอกจากระบบเลือกตั้งที่เปลี่ยนแปลงไป “เขตเลือกตั้ง” ก็มีความเปลี่ยนแปลงด้วย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ เสริมว่า จำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขต ก็เปลี่ยนแปลงไปจากปี 2562 ที่มี ส.ส. แบ่งเขต 350 คน (และส.ส. บัญชีรายชื่อ 150) แต่การเลือกตั้ง 2566 มีส.ส. แบบแบ่งเขต 400 คน (และส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 100 คน) ซึ่งกว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะเคาะเขตเลือกตั้งออกมาได้ ก็ 17 มีนาคม 2566 ไม่ถึงสองเดือนเต็มก่อนวันเลือกตั้งจริง 
เหตุที่เคาะเขตเลือกตั้งช้า กกต. คำนวณที่นั่งของ ส.ส. ในแต่ละจังหวัดโดยเอาจำนวน “ราษฎร” ของแต่ละจังหวัดมาเป็นฐานคิด แต่รวมเอาราษฎรที่ไม่มีสัญชาติเข้ามาคำนวณด้วย เช่น แรงงานข้ามชาติ คนที่ยังรอการขึ้นทะเบียนสัญชาติ ทำให้เกิดเสียงคัดค้าน และกกต. ก็ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ให้ กกต.แบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ โดยใช้จำนวนราษฎรที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น ทำให้กกต. ต้องดำเนินการจัดทำโมเดลการแบ่งเขตเลือกตั้งแต่ละจังหวัดใหม่ และเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งอีกรอบ
อย่างไรก็ดี หลังจากกกต. เคาะเขตเลือกตั้งแล้ว ก็ยังมีปัญหาเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งที่สร้างความสับสนให้กับประชาชน รวมไปถึงผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ที่ต้องหาเสียงในพื้นที่ใหม่ เนื่องจากการแบ่งเขตเลือกตั้ง 2566 มีการนำบางแขวง/บางตำบล ไปรวมอยู่ในเขตเลือกตั้งอื่น เช่น เขตเลือกตั้งที่ 8 ประกอบด้วย แขวงทุ่งสองห้องของเขตหลักสี่ และแขวงลาดยาว แขวงจตุจักร แขวงจอมพล ของเขตจตุจักร เขตเลือกตั้งที่ 9 ประกอบด้วย แขวงอนุสาวรีย์ของเขตบางเขน และแขวงจันทรเกษม แขวงเสนานิคม ของเขตจตุจักร และแขวงตลาดบางเขนของเขตหลักสี่ ซึ่งปัญหาดังกล่าว นำไปสู่การฟ้องศาลปกครอง แต่ศาลปกครองก็ยกฟ้องคดีดังกล่าว

กกต. ควรออกแบบบัตรเลือกตั้งให้ดี หวั่นประชาชนสับสน

สมชัย ศรีสุทธิยากร ตั้งข้อสังเกตต่อการออกแบบบัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ว่าการเลือกตั้ง 66 มีพรรคการเมืองที่ส่งผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส. ทั้งหมด 67 พรรค ออกมาเป็น 67 เบอร์ ซึ่งการออกแบบบัตรเลือกตั้งที่เป็นสองแถวแนวตั้ง ควรมีช่องไฟที่แยกสองแถวออกจากกันชัดเจน เพื่อป้องกันการสับสน หากไม่มีช่องไฟที่ชัดเจน หรือช่องไฟไม่ห่างมากพอ อาจก่อให้เกิดความสับสน ผู้ที่ประสงค์จะเลือกพรรคการเมืองที่ได้เบอร์ในแถวด้านขวา (ประมาณเบอร์ 35-67) อาจสับสนกาผิด ไปกาตรงช่องกาเบอร์พรรคแถวด้านซ้าย ซึ่งตรงข้างหน้าช่องเบอร์พรรคด้านขวา ดังนั้น การออกแบบบัตรเลือกตั้ง กกต. ควรออกแบบเว้นช่องชัดเจน เพื่อไม่ให้ประชาชนสับสน

เลือกตั้งครั้งนี้ ยังอยู่ภายใต้ กกต. ที่เลือกโดยสนช. จากคสช.

ยิ่งชีพ แสดงความเห็นว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ยังจัดการโดยกกต. ที่กรรมการแต่ละคนได้รับความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งเป็นสภาที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นอกจากนี้ กกต. ก็เป็นผู้กำหนดกติกาหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง อีกทั้ง กกต. รวมถึงศาลรัฐธรรมนูญเอง ก็มีบทบาทในการตัดสินสถานะของส.ส. รวมถึงพรรคการเมือง ส่วนตัวจึงประเมินว่าการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ จะไม่ได้แตกต่างจากการเลือกตั้งปี 2562 มากนัก ซึ่งในการเลือกตั้งปี 2562 มีปัญหาเกิดขึ้นมาก
ปริญญา กล่าวโดยมีใจความสรุปได้ว่า ภายหลังการเลือกตั้ง 2566 แล้ว องคาพยพที่เกี่ยวข้องกับคสช. ยังคงอยู่ อาทิ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน จะมีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีคนต่อไปด้วย นอกจากส.ว. และยังมีองคาพยพอื่นๆ คือ ศาลรัฐธรรมนูญ บรรดาองค์กรอิสระ ซึ่งนี่เป็นโจทย์ที่ต้องแก้ไขต่อไปหลังเลือกตั้ง
ปริญญาเห็นว่า ในการเลือกตั้ง 2566 ที่จะถึงนี้ หากพรรคที่เรียกว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” ซึ่งก็คือพรรคฝ่ายค้านในการเลือกตั้ง 2562 ได้รับเสียงจากประชาชน ชนะการเลือกตั้ง และสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็จะไม่มีโอกาสกลับมาสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แต่ถ้าหากประชาชน พร้อมใจกันเลือกพลเอกประยุทธ์ เขาก็จะมีโอกาสกลับมาอีก หน้าตาของนายกรัฐมนตรีคนต่อไป จึงขึ้นอยู่กับประชาชน 

ชวนประชาชนร่วมจับตา นับคะแนนเลือกตั้ง 2566

ในการเลือกตั้ง 2566 จะไม่มีระบบดูแลและติดตามข้อมูลและผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการและการแสดงผลอย่างไม่เป็นทางการให้เป็นไปอย่างเรียบร้อย ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลและผลการเลือกตั้ง หรือที่ถูกเรียกอีกว่า “Rapid report” แต่จะมีระบบการรายงานผลคะแนนการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ หรือ “ECT Report” แทน ซึ่งยิ่งชีพก็กล่าวว่า ในตอนเลือกตั้ง ปี 2562 ก็มีปัญหาในการนับคะแนน รวมถึงปัญหาการคำนวณที่นั่งส.ส. อีกด้วย จึงอยากเชิญชวนประชาชนมาช่วยกันเป็นอาสาสมัครจับตาการนับคะแนนเลือกตั้ง เพียงถ่ายรูปกระดานนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งใกล้บ้าน และอัพโหลดบนเว็บไซต์ https://www.vote62.com/ 

สำหรับปัญหาเรื่องความโปร่งใสในการนับคะแนน สมชัย เรียกร้องให้กกต. ดำเนินการให้เจ้าหน้าที่แต่ละหน่วยเลือกตั้ง ต้องถ่ายภาพกระดานนับคะแนน และให้กกต. ดำเนินการโพสต์ภายในห้าวัน