เลือกตั้ง 66: เว็บล่มวันสุดท้าย! รวม 5 ปัญหา ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า

หลังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาเมื่อ 20 มีนาคม 2566 ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนสภาผู้แทนราษฎรหมดอายุสามวัน ทำให้กรอบการกำหนดระยะเวลาการเลือกตั้งถูกขยายออกไปได้ไม่เกิน 60 วันหลังยุบสภา ในวันถัดมา คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็เคาะวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ซึ่งหากพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ประกาศยุบสภา แต่รอให้สภาหมดอายุไปในวันที่ 23 มีนาคม 2566 กรอบในการกำหนดวันเลือกตั้งก็ช้าสุดไม่เกิน 45 วัน ซึ่งจะตกวันที่ 7 พฤษภาคม 2566
สำหรับคนที่ไม่ว่าง ไม่สะดวก หรือไม่ได้อยู่ในเขตเลือกตั้งของตนเองในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ก็ต้องลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต เพื่อไปใช้สิทธิหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้าวันเลือกตั้งจริง หรือก็คือวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 ซึ่งกกต. กำหนดให้การลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า รวมถึงการลงทะเบียนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ทำได้ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 25 มีนาคม จนถึงวันอาทิตย์ที่ 9 เมษายน 2566 รวมเป็นเวลา 15 วัน
ระหว่างการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า มีผู้สอบถามทางสื่อโซเชียลมีเดียของไอลอว์หลายช่องทาง ทั้งทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ ทางทวิตเตอร์ @iLawclub โดยไอลอว์ได้รวมปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าไว้ มีห้าข้อหลักๆ ดังนี้

1. วันเลือกตั้งพิสดาร คนกลับบ้านวันหยุดยาว ต้องลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต

หากดูปฏิทินเดือนพฤษภาคม วันหยุดยาวจะอยู่ช่วงต้นเดือน คือวันพฤหัสบดีที่ 4 ซึ่งเป็นวันฉัตรมงคล และวันศุกร์ที่ 5 ซึ่งเป็นวันหยุดราชการกรณีพิเศษ ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบกำหนดเพิ่มวันหยุดให้ วันที่ 4-7 พฤษภาคม จึงเป็นวันที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหลายคน ที่ไม่ได้พักหรืออาศัยอยู่ในที่อยู่ตามทะเบียนบ้านตัวเอง เช่น คนที่ต้องทำงานไกลบ้าน อยู่คนละจังหวัดกับภูมิลำเนาตัวเอง จะสะดวกกลับไปยังภูมิลำเนา ใช้สิทธิเลือกตั้งตามสถานที่ในเขตที่ตนมีสิทธิเลือกตั้ง
อย่างไรก็ดี การที่กกต. กำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม ซึ่งในช่วงวันก่อนหน้านั้นก็ไม่มีวันหยุดนักขัตฤกษ์ต่อเนื่องกันเป็นวันหยุดยาวที่ประชาชนจะกลับไปยังภูมิลำเนา ทำให้คนที่จะกลับบ้านช่วงวันหยุดยาว 4-7 พฤษภาคม และไม่ได้กลับบ้านอีกในช่วงวันที่ 13-14 พฤษภาคม ต้องใช้วิธีลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตแทน เพื่อไปใช้สิทธิวันที่ 7 พฤษภาคม ทั้งๆ ที่ในทางปฏิบัติ บุคคลเหล่านั้นก็อยู่ในพื้นที่ที่ตนมีสิทธิเลือกตั้งอยู่แล้ว
ถ้าหากพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช้เทคนิคประกาศยุบสภาช่วงโค้งสุดท้าย ดึงกรอบเวลาเลือกตั้งให้ช้าขึ้นไปอีก แต่ปล่อยให้สภาหมดอายุไปในวันที่ 23 มีนาคม 2566 กรอบเวลาในการกำหนดวันเลือกตั้งก็ช้าสุดไม่เกิน 45 วันหลังสภาหยุดอายุ ซึ่งจะตกวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 พอดีซึ่งจะทำให้คนที่ตัวอยู่ไกลบ้านได้กลับไปใช้สิทธิในวันเลือกตั้งจริง ไม่ต้องลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต ขณะที่วันใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า ก็จะตกวันที่ 25 เมษายน 2566 แทน

2. ชาวตราด ระนอง สมุทรสงคราม สิงห์บุรี เลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต ต้องไปใช้สิทธิจังหวัดอื่น

การแบ่งเขตเลือกตั้งรวมถึงการหาจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตในจังหวัดหนึ่ง จะนำจำนวนประชากรในจังหวัดนั้นมาคำนวณเพื่อหาจำนวน ส.ส. เขต โดยจังหวัดส่วนใหญ่ จะมีเขตเลือกตั้งตั้งแต่สองเขตขึ้นไปในหนึ่งจังหวัด กรุงเทพมหานคร มีการแบ่งเขต และมีจำนวน ส.ส. เขตมากที่สุด คือ 33 เขต 33 คน
แต่ก็มีสี่จังหวัดที่จำนวนประชากรน้อยกว่าจังหวัดอื่น จนคำนวณ ส.ส. แบ่งเขตได้จังหวัดละหนึ่งคน และต้องใช้ทั้งจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง มีเพียงเขตเลือกตั้งเดียว ได้แก่ ตราด ระนอง สมุทรสงคราม และสิงห์บุรี สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ทะเบียนบ้านอยู่ในจังหวัดดังกล่าว ที่ช่วงวันหยุดยาวจะกลับไปยังภูมิลำเนา หากจะใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต ต้องเลือกสถานที่ใช้สิทธิเป็น “จังหวัดอื่น” แทน เพราะในจังหวัดนั้นไม่มีเขตอื่นให้เลือกแล้ว
อย่างไรก็ดี แม้กกต. จะมีระบบให้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขต แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถลงทะเบียนได้ เพราะมีเงื่อนไขสำคัญ คือ ผู้ที่จะลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตได้ คือ 1) ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐที่ได้รับคำสั่งจากทางราชการให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในวันเลือกตั้ง หรือ 2) ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วไป (ไม่ใช่ข้าราชการ/เจ้าหน้าที่ของรัฐ) ที่ต้องไปปฏิบัติหน้าที่นอกเขตที่ตนมีสิทธิ
การลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขต ไม่สามารถทำผ่านช่องทางออนไลน์ได้ ต้องไปที่สำนักงานเขต สำนักทะเบียนอำเภอ สำนักทะเบียนท้องถิ่น หรือส่งคำขอทางไปรษณีย์ นอกจากนี้ ยังต้องแนบหลักฐานอื่นประกอบ เช่น คําสั่งของทางราชการ หรือหนังสือรับรองจากหน่วยงานของรัฐ เอกสารชี้แจงเหตุผลที่ไม่สามารถไปเลือกตั้งได้พร้อมรับรองสำเนา (กรณีผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วไป)
ด้วยเงื่อนไขการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตที่ซับซ้อนกว่า และเพิ่มภาระในการเดินทางไปลงทะเบียนที่สำนักงานเขตหรือต้องส่งเอกสารทางไปรษณีย์ การลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต จึงสะดวกกว่าในขั้นตอนการลงทะเบียน แต่ก็เป็นภาระในวันไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า ที่ชาวตราด ระนอง สมุทรสงคราม สิงห์บุรี จะต้องเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งในจังหวัดอื่น

3. เว็บลงทะเบียนชวนสับสน ระบุวันเลือกตั้งจริงแทนวันเลือกตั้งล่วงหน้า

ในวันที่ 25 มีนาคม 2566 ซึ่งเป็นวันเปิดระบบให้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตวันแรก บนเว็บไซต์ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต มีการแสดงผลข้อความ “วันที่เลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566” ซึ่งสร้างความสับสนให้กับประชาชนที่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตว่า ตกลงแล้วต้องไปใช้สิทธิวันไหน วันที่ 7 หรือวันที่ 14 บางคนกดยกเลิกที่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าไป เพราะเข้าใจวันเลือกตั้งล่วงหน้าผิด 
ต่อมา ในวันจันทร์ที่ 27 มีนาคม 2566 ซึ่งเป็นวันทำการราชการ บนหน้าเว็บไซต์ก็ได้แก้ไขข้อความดังกล่าว เปลี่ยนเป็น วันที่เลือกตั้งล่วงหน้า 7 พฤษภาคม 2566 แทน

4. ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต กรอกข้อมูลครบ แต่ขึ้นระบุข้อมูลไม่ถูกต้อง

การลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต นอกจากการไปลงทะเบียนที่สำนักงานเขต หรือส่งเอกสารไปรษณีย์แล้ว อีกช่องทางที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้ลงทะเบียน คือ ช่องทางออนไลน์ โดยระหว่างเปิดระบบให้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต มีประชาชนจำนวนหนึ่งที่สอบถามทางไอลอว์มาว่า กรอกข้อมูลลงทะเบียนบนเว็บไซต์เรียบร้อยแล้ว แต่กลับมีป็อปอัพบนเว็บไซต์เด้งขึ้นมา ระบุข้อความว่า “แจ้งเตือน ท่านระบุข้อมูลในการยืนยันตัวตนไม่ถูกต้อง” โดยผู้ที่สอบถามทางไอลอว์บางส่วนแจ้งว่า กรอกข้อมูลถูกต้อง และตรวจสอบหลายครั้งแล้ว
ในเบื้องต้น ไอลอว์ได้แนะนำให้เปลี่ยนช่องทางโดยลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตผ่านทางแอป ThaID ซึ่งจะเชื่อมโยงไปกับเว็บลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต แต่ข้อแตกต่างจากการลงทะเบียนทางเว็บไซต์ คือ ผู้ที่ลงทะเบียนผ่านทางแอป ThaID จะ Login ด้วยแอป ThaID ทำให้ไม่ต้องกรอกข้อมูลทางทะเบียนบางส่วน เนื่องจากแอปจะเชื่อมโยงข้อมูลขึ้นมาให้เลย โดยผู้ที่เปลี่ยนไปลงทะเบียนทางแอป ThaID บางส่วนก็สามารถลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าได้สำเร็จ
อย่างไรก็ดี ผู้มีสิทธิเลือกตั้งบางส่วนไม่สะดวกที่จะติดตั้งแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ เช่น ผู้ที่จะลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตให้คนในครอบครัว ไอลอว์ได้แนะนำให้โทรสอบถามสายด่วน กกต. 1444 แต่สายด่วนดังกล่าว เปิดให้บริการเฉพาะวันและเวลาราชการเท่านั้น (08.30-16.30 น.) ผู้ที่จะลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต โดยเฉพาะในวันสุดท้าย และขึ้นป็อปอัพว่าข้อมูลไม่ถูกต้อง จึงไม่ได้รับคำแนะนำหรือแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้ทันกรอบเวลาลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า

5. เว็บลงทะเบียนล่มวันสุดท้าย หลายคนลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตไม่ทัน

วันอาทิตย์ที่ 9 เมษายน 2566 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต โดยการลงทะเบียนผ่านทางเว็บไซต์ จะปิดระบบเมื่อเวลาล่วงเข้าเที่ยงคืน โดยในวันดังกล่าว แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว อัพเดทว่านับถึงเวลา 17.00 น. ของวันที่ 9 เมษายน มีผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า กว่า 2.1 ล้านคน 
อย่างไรก็ดี ในช่วงโค้งสุดท้ายของการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า ก็เกิดปัญหาเว็บลงทะเบียน ซึ่งเป็นช่องทางที่คนส่วนใหญ่ใช้ลงทะเบียนเกิด “ล่ม” ขึ้นมา ไม่สามารถเข้าไปใช้ได้ โดยเวลาประมาณหกโมงเย็นของวันนั้น เจ้าหน้าที่ไอลอว์ได้เข้าไปตรวจสอบข้อมูลการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตผ่านทางแอป ThaID แต่ไม่สามารถเข้าสู่ระบบลงทะเบียนได้ โดยมีป็อปอัพข้อความเด้งขึ้นมาว่า “แจ้งเตือน มีปัญหาในการเชื่อมต่อกับ Imauth” และเวลา 19.46 น. มีผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่ง ได้แคปภาพหน้าจอการลงทะเบียนผ่านแอป ThaID ที่มีป็อปอัพข้อความดังกล่าวเด้งขึ้นมา และส่งมาแจ้งทางไอลอว์
ต่อมา เวลา 20.15 น. มีผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่ง แจ้งทางทวิตเตอร์ @iLawclub ระบุว่าเว็บ (ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า) ล่ม และในเวลาต่อมา เริ่มมีผู้ใช้ทวิตเตอร์รายอื่นแจ้งว่าเว็บล่ม บางส่วนเข้าไม่ได้ บางส่วนขึ้นหน้าเว็บไซต์สีขาวทั้งหน้า ไม่สามารถกรอกข้อมูลได้
จากการทวีตสอบถามผู้ใช้ทวิตเตอร์ที่เข้าระบบลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า โดยให้ผู้ใช้ทวิตเตอร์ช่วยกันบันทึกภาพหน้าที่มีเวลาแสดงผลช่วงที่เข้าเว็บไซต์ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าไม่ได้ พบว่าช่วงเวลาที่เริ่มมีผู้เข้าเว็บไซต์ลงทะเบียนไม่ได้ คือช่วงเวลาประมาณ 20.00 น. มีผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่ง แนบภาพบันทึกหน้าจอเว็บไซต์ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต เวลา 20.07 น. และระบุว่าลองเข้าเว็บตั้งแต่เวลาดังกล่าว จนถึงช่วง 23.32 น. ก็ยังเข้าไม่ได้
ผู้ใช้ทวิตเตอร์บางส่วน แจ้งไอลอว์ว่าในช่วงเวลาที่เว็บลงทะเบียนมีปัญหา ไม่สามารถเข้าเว็บไซต์ได้เลย จนไม่สามารถลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตได้ทัน
วันถัดมา 10 เมษายน 2566 แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. กล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับเว็บไซต์ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต ระบุว่า สาเหตุคาดว่าเนื่องจากมีผู้เข้าไปลงทะเบียนเป็นจำนวนมาก ตามข้อมูลที่ได้รับมาศักยภาพของระบบสามารถรับได้ 4,000 คนต่อ 1 วินาที แต่เหตุที่เกิดขึ้นคาดว่าน่าจะมีผู้ใช้งานมากกว่านั้น ระบบจึงล่มตั้งแต่เวลา 21.00 น. สำนักทะเบียนพยายามแก้ไข ในส่วนของ กกต. ที่เป็นเจ้าของงานก็จะต้องรับผิดชอบ
อย่างไรก็ดี แสวงกล่าวต่อว่า ไม่ได้คิดถึงการขยายเวลาการลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่เข้าไปในระบบและค้างอยู่ในระบบ ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ ทางสำนักทะเบียนอาจจะติดต่อประสานว่าท่านจะขอใช้สิทธิลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าที่ไหน

อัพเดทจำนวนผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า คนส่วนใหญ่เลือกลงทะเบียนทางออนไลน์

วันที่ 12 เมษายน 2566 เฟซบุ๊กเพจสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง โพสต์อัพเดทสรุปยอดจำนวนผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าและเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร รวมมีจำนวน 2,350,969 ราย โดยมีมีรายละเอียด ดังนี้
๐ ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต จำนวน 2,216,950 ราย แบ่งเป็น
  • ลงทะเบียนทางอินเทอร์เน็ต จำนวน 2,156,578 ราย (คิดเป็น 97.28% จากจำนวนผู้ที่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต)
  • ลงทะเบียนที่สำนักทะเบียนอำเภอ เขต หรือสำนักทะเบียนท้องถิ่น จำนวน 60,372 ราย (คิดเป็น 2.72% จากจำนวนผู้ที่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต)
๐ ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขต จำนวน 18,880 ราย
๐ ลงทะเบียนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร จำนวน 115,139 ราย แบ่งเป็น
  • ลงทะเบียนทางอินเทอร์เน็ต จำนวน 109,442 ราย (คิดเป็น 95.05% จากจำนวนผู้ที่ลงทะเบียนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร)
  • ลงทะเบียนที่สำนักทะเบียนอำเภอ เขต หรือสำนักทะเบียนท้องถิ่น จำนวน 5,697 ราย (คิดเป็น 4.95% จากจำนวนผู้ที่ลงทะเบียนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร)

จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่า ผู้ที่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต และเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรส่วนใหญ่ เลือกที่จะลงทะเบียนผ่านช่องทางออนไลน์ ทว่าวันสุดท้ายของการลงทะเบียน ช่องทางที่คนส่วนใหญ่ใช้ลงทะเบียน ก็ไม่สามารถรับรองจำนวนผู้ที่จะลงทะเบียนได้เพียงพอ จนเกิดปัญหาเว็บล่ม และคนบางส่วนไม่สามารถลงทะเบียนได้ทันกรอบเวลาที่ทางกกต. กำหนด