ถามมา ตอบไป รวมฮิต 10 ข้อสงสัย “เลือกตั้งล่วงหน้า-นอกราชอาณาจักร”

ภายหลัง กกต. เปิดให้ลงทะเบียน “เลือกตั้งล่วงหน้า” และ “เลือกตั้งนอกราชอาณาจักร” ได้เพียงสามวัน (เริ่มลงทะเบียน 25 มีนาคม 2566 เป็นวันแรก) มติชนออนไลน์รายงานว่า สายด่วน 1444 หรือศูนย์ปฏิบัติการสายด่วนเลือกตั้งของสำนักงาน กกต. ก็แทบไหม้ เนื่องจากมีประชาชนโทรเข้ามาสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งล่วงหน้ามากกว่า 1,000 สาย

เหลือเวลาอีกเพียงหนึ่งอาทิตย์กว่าๆ เท่านั้น การลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตสำหรับผู้ที่ติดธุระในวันเลือกตั้ง หรือผู้ที่ไม่ได้อาศัยอยู่ตามทะเบียนบ้านจริง และการลงทะเบียนเลือกตั้งจากต่างประเทศสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ต่างประเทศ หรือต้องเดินทางไปต่างประเทศในช่วงเลือกตั้ง ก็จะสิ้นสุดลงในวันที่ 9 เมษายน 2566 แล้ว

ชวนดู 10 คำถามยอดฮิตเกี่ยวกับการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าและเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรที่มีผู้สอบถามเข้ามาทางช่องแชทหลังบ้านของเรา ดังต่อไปนี้

ทบทวน “เลือกตั้งล่วงหน้า” ใครลงทะเบียนได้บ้าง? และต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง?

1) ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 แต่เมื่อเสร็จสิ้น ระบบกลับแสดงผลเป็นวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 สรุปแล้วต้องไปเลือกวันไหนกันแน่?

ตอบ: สำหรับประชาชนทั่วไปที่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตไปแล้วพบว่า ระบบแสดงผลในหน้าจอสุดท้ายขึ้นวันที่เป็น 14 พฤษภาคม 2566 ไม่ต้องตกใจไป เนื่องจากเมื่อกรอกข้อมูลเสร็จสิ้น ระบบจะแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับรายชื่อผู้ลงทะเบียน โดยส่วนแรกจะระบุถึงวันเลือกตั้ง (คือ 14 พฤษภาคม 2566) ชื่อ-นามสกุล ต่อด้วยจังหวัดและหน่วยเลือกตั้งของผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิ จากนั้น ในส่วนที่สองจึงจะเป็นการแจ้งรายละเอียดสถานที่เลือกตั้งที่เราลงทะเบียนไปเลือกล่วงหน้า ได้แก่ จังหวัด สถานที่ และวันที่ที่จะไปใช้สิทธิ ซึ่งก็คือวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 นั่นเอง

ข้อความอาจจะทำให้สับสนนิดหน่อย แต่ย้ำกันอีกครั้งว่า “วันเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต มีแค่วันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม 2566 วันเดียวเท่านั้น” โดยคูหาจะเปิดตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น.

เมื่อลงทะเบียนเสร็จเรียบร้อยแล้ว สามารถโหลดเอกสารบนหน้าเว็บเพื่อปรินต์เก็บไว้ หรือ “แคปหน้าจอ” โทรศัพท์ใช้เป็นหลักฐานแสดงหน้าคูหาในวันเลือกตั้งล่วงหน้าได้เลย

ลิงก์ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต https://stat.bora.dopa.go.th/Election/regoutvote/#/main

2) อยากแก้ไข “เขต” หรือเผลอกด “ยกเลิก” ต้องทำอย่างไร?

ตอบ: สำหรับใครที่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตไปแล้ว ไม่ว่าจะทางเว็บไซต์ ที่สำนักงานเขต หรือสำนักงานทะเบียนท้องถิ่น (เช่น เทศบาล อบต.) แต่เลือกเขตผิด หรือเกิดเปลี่ยนใจอยากแก้ไขเลือกเขตใหม่ จะสามารถแก้ไขได้เพียง “ครั้งเดียว” เท่านั้น โดยแก้ไขทางเว็บไซต์ หรือไปดำเนินการแก้ไขนายทะเบียนที่สำนักงานเขต หรือสำนักงานทะเบียนท้องถิ่น (เช่น เทศบาล อบต.)

สำหรับใครที่ “กดยกเลิก” ไปผ่านทางเว็บไซต์และต้องการลงทะเบียนใหม่อีกครั้ง แต่เมื่อเข้าไปลงรอบใหม่ระบบกลับไม่เปิดให้ลงทะเบียน ไอลอว์แนะนำให้ลงทะเบียนอีกช่องทางผ่านแอปพลิเคชั่น “ThaID”

ขั้นตอนการลงทะเบียนผ่าน ThaID

  1. ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น
  2. ยืนยันตัวตนด้วยตัวเอง ถ่ายรูปบัตรประชาชนหน้า-หลัง พร้อมถ่ายหน้าตัวเอง จากนั้นให้ตั้งรหัสผ่าน
  3. กดเข้าแอป สังเกตในเมนูหน้าหลัก กดช่องที่เขียนว่า 25 มีนาคม 2566 Bora Portal update
  4. เมื่อเข้าไปจะเจอลิงก์ ให้คลิกที่ลิงก์ จะนำไปสู่หน้าเมนู Bora Protal
  5. เลือกเมนู “ระบบเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)”  จากนั้นเลือก “ลงทะเบียนขอใช้สิทธิล่วงหน้านอกเขตเลือกตั้ง” เพื่อเข้าสู่ระบบลงทะเบียนใช้สิทธินอกเขตและกรอกข้อมูลได้เลย

แต่ในกรณีที่เข้าผ่านทางแอป ThaID แล้วยังไม่สามารถลงทะเบียนได้ สามารถดำเนินการติดต่อลงทะเบียนอีกครั้งได้ที่สำนักงานเขต/อำเภอ ในภูมิลำเนาที่เรามีทะเบียนบ้านอยู่ หรือโทรสอบถามสายด่วน กกต. 1444 (โทรวันจันทร์ถึงศุกร์ เวลา 08.00 – 16.00 น.)

3) รหัสประจำบ้าน คืออะไร?

ตอบ: เมื่อเข้าสู่หน้าเว็บไซต์ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า ข้อมูลหนึ่งเราที่จำเป็นต้องกรอกบนเว็บไซต์ก็คือ “รหัสประจำบ้าน” แล้วรหัสประจำบ้านคืออะไร?

เลขรหัสประจำบ้าน คือเลขรหัส 11 หลัก (0000-000000-0) ที่แสดงถึงการถือครองที่อยู่อาศัยอย่างถูกต้องตามกฎหมายของเจ้าของบ้านและสมาชิกรายอื่นๆ ภายในครอบครัว โดยรหัสประจำบ้านจะระบุอยู่ใน “สมุดทะเบียนบ้าน” ทุกๆ หน้า เราสามารถไปเปิดดูและนำมากรอกได้

ในกรณีที่ไม่มีทะเบียนบ้าน/สำเนาทะเบียนบ้าน อยู่กับตัว เราสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น ThaID (แอปของภาครัฐ) เพื่อเข้าไปใช้เมนูดูทะเบียนบ้าน และดูรหัสประจำบ้านได้ 

4) ถ้าลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตไปแล้ว เปลี่ยนใจไปเลือกตั้งวันจริง 14 พฤษภาคม 2566 ได้ไหม?

ตอบ: ไม่ได้ เพราะเมื่อเราลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าไปแล้ว สิทธิในการไปเลือกตั้งวันจริงจะถูกตัดไปจากเขตตามทะเบียนบ้านโดยอัตโนมัติ

ในกรณีที่มีเหตุธุระจำเป็นต้องเปลี่ยนไปเลือกวันจริง ต้องรีบดำเนินการ “ขอยกเลิก” ซึ่งสามารถทำได้เพียงครั้งเดียว และต้องยื่นคำขอภายใน 30 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง (ภายใน 12 เมษายน 2566 เพราะวันที่ 13-14 เป็นวันหยุด) ที่สำนักงานเขต สำนักทะเบียนท้องถิ่น (เช่น เทศบาล อบต.) ในภูมิลำเนาที่เรามีทะเบียนบ้านอยู่

5) ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตไปแล้วทางเว็บไซต์ แต่พอไปตรวจสอบสิทธิบนเว็บไซต์ ระบบขึ้นว่า “ไม่พบข้อมูลในรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” ต้องทำอย่างไร?

ตอบ: หากตรวจสอบสิทธิบนเว็บไซต์หลังลงทะเบียนแล้วไม่พบข้อมูล อาจเพราะกระบวนการลงทะเบียนยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ให้ลองลงทะเบียนใหม่หรือตรวจสอบใหม่อีกครั้งในภายหลัง หรือสามารถโทรไปสอบถามกับสายด่วน กกต. 1444 ได้เลย (โทรวันจันทร์ถึงศุกร์ เวลา 08.00 – 16.00 น.)

แต่สำหรับคนทั่วไปที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า แล้วต้องการตรวจสอบ “สิทธิผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” ออนไลน์ หากเช็คข้อมูลตอนนี้ ระบบจะแสดงผลว่า “ไม่พบข้อมูล” เนื่องจากปัจจุบัน กกต.ยังเปิดให้ตรวจสอบสิทธิได้แค่เฉพาะคนที่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตไปแล้วเท่านั้น

ทั้งนี้ กกต.ระบุว่า บุคคลทั่วไปที่ไม่ได้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต จะสามารถตรวจสอบภายสิทธิเลือกตั้งได้ ภายในวันที่ 18 เมษายน 2566 (ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 25 วัน) เนื่องจากต้องรอ กกต.ประจำเขตกำหนดหน่วยและที่ตั้งของหน่วยก่อน 

6) ถ้าไปเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต ต้องเลือก ส.ส.ตามเขตทะเบียนบ้านของเรา หรือตามเขตที่เราไปลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า?

ตอบ: การลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต เป็นเพียงแค่การเปลี่ยนวันและสถานที่เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้สิทธิเลือกตั้งเท่านั้น ดังนั้น ในวันเลือกตั้งล่วงหน้า 7 พฤษภาคม 2566 การเลือก ส.ส.เขต ต้องเลือกตามเขตภูมิลำเนาที่เรามีสิทธิเลือกตั้ง (ตามทะเบียนบ้านของใครของมัน)

ทั้งนี้ ในกรณีที่ต้องการเลือกทั้ง ส.ส.เขตและ ส.ส.บัญชีรายชื่อจากพรรคเดียวกัน ต้องระวังเรื่อง “เบอร์” ให้ดี เนื่องจาก ส.ส.เขตจากพรรคเดียวกัน อาจได้หมายเลขคนละเบอร์กับ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ (เบอร์พรรค) ดังนั้น ก่อนเข้าคูหา เตรียมท่องเบอร์ ส.ส.เขตบ้านเราและเบอร์ของเบอร์พรรคไว้ให้ขึ้นใจ เพื่อป้องกันความสับสน (บนบัตรจะมีแต่เลขเปล่าๆ ไม่มีชื่อของ ส.ส.เขตกำกับไว้)

7) วันเลือกตั้งจริง (14 พฤษภาคม 2566) ไปเที่ยว-มีธุระต่างประเทศ ต้องทำอย่างไร?

ตอบ: ถ้าไม่อยู่ประเทศไทยวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 แต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2566 ยังอยู่ในประเทศ สามารถลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตได้ ผ่านทาง https://stat.bora.dopa.go.th/Election/regoutvote/#/main

แต่สำหรับใครที่ต้องไปทริปยาวครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่ 7-14 พฤษภาคม 2566 สามารถลงทะเบียนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรได้ที่สำนักงานเขต ที่ว่าการอำเภอ (ในวันและเวลาราชการ ตั้งแต่วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.30-16.30 น.) หรือยื่นผ่านทางไปรษณีย์ ซึ่งจะถือวันประทับตราไปรษณีย์เป็นสำคัญ และช่องทางออนไลน์ที่ https://stat.bora.dopa.go.th/Election/popout/#/popout

  • ช่องทางออนไลน์ สามารถลงทะเบียนได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยระบบจะปิดอัตโนมัติในวันที่ 9 เมษายน 2566 เวลาเที่ยงคืนตามเวลาประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในแต่ละประเทศอาจจัดขึ้นในวันและเวลาที่ต่างกัน ไอลอว์จึงแนะนำให้ก่อนเดินทาง ควรเช็คกับทางสถานทูต/เว็บไซต์สถานทูต ของประเทศที่จะไปว่ามีกำหนดวัน-เวลาเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรช่วงใด และถ้าช่วงนั้นเราอยู่ต่างประเทศพอดี ก็สามารถลงทะเบียนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรไว้ก่อนได้

ทั้งนี้ การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรมีทั้งการลงคะแนนผ่านทางไปรษณีย์ และการเปิดคูหาที่สถานกงสุลใหญ่ ซึ่งอาจส่งผลให้ระยะเวลาในการลงคะแนนเสียงนั้นมีหลายวันหรือมากกว่าหนึ่งวันขึ้นไป อย่าลืมตรวจสอบให้ดี!

8) ไปทำงาน-เรียนต่อ หรือย้ายไปอยู่ต่างประเทศถาวรแล้ว แต่อยากเลือกตั้ง ต้องทำอย่างไร?

ตอบ: การลงทะเบียนเลือกตั้งจากต่างประเทศ สำหรับผู้ที่อยู่อาศัยอยู่ต่างประเทศ สามารถทำได้โดยการลงทะเบียนกับสถานทูตไทย หรือสถานกงสุลประจำประเทศนั้นๆ

>> ดู List สิ่งที่ต้องเตรียม และช่องทางลงทะเบียน ได้ทาง https://ilaw.or.th/node/6440

– ต้องไปเลือกที่ไหน และเลือกวันเดียวกับที่ประเทศไทยไหม?

รายละเอียดและวิธีการลงคะแนนเสียงนอกราชอาณาจักรนั้นจะ “แตกต่าง” กันไปในแต่ละประเทศ บางประเทศเปิดให้ลงคะแนนผ่านทางไปรษณีย์ได้ทางเดียว หรือบางประเทศมีการเปิดคูหาที่สถานกงสุลใหญ่-สถานที่อื่นๆ ในบางกรณีเพื่ออำนวยความสะดวกด้วย เช่น แคมป์คนงาน ดังนั้น อย่าลืมเช็คให้แน่ใจอีกครั้งว่าประเทศที่เราพำนักอยู่นั้นเปิดให้ลงคะแนนเสียงด้วยวิธีใดบ้าง

นอกจากนี้ ในแต่ละประเทศยังกำหนดระยะเวลาการลงคะแนนเสียงที่แตกต่างกัน เช่น ที่กรุงวอชิงตันเปิดคูหาให้ลงคะแนนเสียงตั้งแต่วันที่ 28 – 30 เมษายน 2566 เวลา 09.00 – 17.00 น. และสหราชอาณาจักรเปิดให้ลงคะแนนเสียงผ่านทางไปรษณีย์ได้ตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2566 – 1 พฤษภาคม 2566 เป็นต้น ดังนั้น อย่าลืมเช็ควันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดการลงคะแนนเสียงของประเทศที่เราพักอาศัยอยู่ให้ดี!

– พาสปอร์ตหมดอายุใช้ลงทะเบียนนอกราชอาณาจักรได้ไหม?

หากพาร์สปอร์ตหมดอายุ สามารถลงทะเบียนใช้สิทธิ์ได้ด้วยตนเองที่สถานเอกอัครราชทูต หรือสถานกงสุลใหญ่เท่านั้น จะไม่สามารถลงทะเบียนผ่านทางออนไลน์ได้ รวมทั้งยังสามารถใช้เป็นหลักฐานแสดงตนตอนไปเลือกตั้งได้

รายละเอียดการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าในแต่ละประเทศ 

9) เดทไลน์หมดเขตลงทะเบียนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร นับตามเวลาของประเทศไหน?

ตอบ: นับตามเวลาของ “ประเทศไทย” เท่านั้น โดยการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรจะเปิดให้ลงทะเบียนวันสุดท้ายวันที่ 9 เมษายน 2566 ใครที่อยู่ต่างประเทศ อย่าลืมตั้งนาฬิกาตามเวลาของประเทศไทยเผื่อเอาไว้ด้วยนะ!

10) สะดวกไปเลือกตั้งทั้ง 7 และ 14 พฤษภาคม 2566 เลย ไปเลือกวันไหนดีกว่ากันนะ?

ตอบ: ควรไปเลือกวันจริง 14 พฤษภาคม 2566 เนื่องจากการเลือกตั้งล่วงหน้า/เลือกตั้งนอกราชอาณาจักร มีความโปร่งใสน้อยกว่าและมีโอกาสเกิดปัญหาขึ้นได้มากกว่า

การเลือกตั้งล่วงหน้าในปี 2562 พบว่าสถานที่เลือกตั้งหลายแห่งยังออกแบบระบบไม่ดี ทำให้ผู้มาใช้สิทธิต้องต่อแถวรอเป็นระยะเวลานานกว่าจะได้ใช้สิทธิ บางคนใช้เวลารอคิวถึงเกือบสองชั่วโมง หรือบางสถานที่มีทางเข้าประตูเดียว ผู้มาใช้สิทธิจึงต้องเบียดกันเข้าท่ามกลางอากาศร้อน

นอกจากนี้ในบางสถานที่ การติดประกาศรายชื่อผู้สมัครพร้อมหมายเลขยังมีปัญหามาก เช่น เจ้าหน้าที่ยังไม่ได้รับเอกสารรายชื่อผู้สมัครจาก กกต. จึงติดรายชื่อผู้สมัครไม่ครบถ้วน หรือติดไว้แล้วในตอนเช้าแต่มาแกะออกในตอนบ่ายเนื่องจากติดผิดเขต รวมทั้งในบางเขตยังมีการติดประกาศรายชื่อผู้สมัครจากพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งถูกสั่งยุบพรรคไปแล้วอยู่ครบทุกจังหวัด โดยเจ้าหน้าที่อธิบายว่า ทาง กกต. จัดทำรายชื่อไว้เช่นนี้และให้ใช้ชุดเดิมที่มีไป

แต่ปัญหาใหญ่ที่สุด คือการแจกบัตรเลือกตั้งให้ผู้ใช้สิทธิไม่ตรงกับเขตของผู้ใช้สิทธิคนนั้นๆ ซึ่งบางคนทักท้วงและมีการปรับเปลี่ยนแก้ไขได้ทัน แต่หลายคนที่ไม่ได้ทักท้วง หรือเจ้าหน้าที่ไม่แก้ไขให้ ก็กากบาทไปในบัตรที่ผิดเขต และมีแนวโน้มว่าเมื่อเปิดกล่องมานับก็จะถูกนับเป็นบัตรเสีย โดยจากการเก็บข้อมูลของไอลอว์ในปี 2562 พบว่ามีผู้แจ้งเรื่องการได้รับบัตรเลือกตั้งผิดอย่างน้อย 35 กรณี ในหน่วยเลือกตั้งแตกต่างกัน

>> ย้อนดูปัญหาเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อปี 2562 https://ilaw.or.th/node/5227

ส่วนการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในปี 2562 ก็พบปัญหามากเช่นกัน อาทิ ในประเทศมาเลเซีย เกิดปัญหาคูหาไม่เพียงพอจนสถานเอกอัครราชทูตฯ ต้องทำการขยายเวลาเปิดคูหาเพิ่มจนกว่าผู้ใช้สิทธิจะได้ลงคะแนนกันครบทุกคน รวมทั้งต้องเปิดให้ลงคะแนนเพิ่มอีกหนึ่งวัน โดยเพิ่มช่องคูหาที่ทำจาก “ลังกระดาษ” ให้ออกเสียงเพิ่มอีกจำนวน 4 ช่อง

ในประเทศจีน พบว่ามีประชาชนบางส่วนไม่ได้รับบัตรเลือกตั้งมากกว่า 500 คน สืบเนื่องจากการประสานงานจัดส่งระหว่างสถานกงสุลเซี่ยงไฮ้และบริษัทผู้จัดส่ง หรือที่ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา พบว่ามีบัตรเลือกตั้งถูกตีกลับไปหาผู้ส่ง ขณะที่แคนาดา มีผู้ไม่ได้รับบัตรเลือกตั้ง เนื่องจากสถานเอกอัครราชทูตฯ เลือกส่งไปรษณีย์แบบธรรมดาที่ใช้เวลาในการจัดส่งประมาณหนึ่งสัปดาห์

สำหรับปัญหาร้ายแรงที่สุด คือการกรณีการขนส่งบัตรเลือกตั้งจากนิวซีแลนด์กลับมานับคะแนนไม่ทัน ซึ่ง กกต. ก็ได้ตีความให้บัตรเลือกตั้งดังกล่าวที่มีมากกว่า 1,500 ใบนั้นเป็น “บัตรเสีย”

>> ย้อนดูปัญหาการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรเมื่อปี 2562 https://ilaw.or.th/node/5219