เลือกตั้ง 66: ทิ้งทวนก่อนยุบสภา ครม. เพิ่มเงิน อบต. กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน และ อสม.

ก่อนถึงวันยุบสภาผู้แทนราษฎร 20 มีนาคม 2566 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรัฐมนตรี ใช้อำนาจในฐานะรัฐบาลซึ่งมีอำนาจเต็ม ในช่วงสามเดือนสุดท้ายของการบริหารประเทศดำเนินการเรื่องสำคัญๆ จนนำมาสู่การตั้งคำถามว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ในการเลือกตั้งของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งหรือไม่ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการปรับขึ้นเงินเดือนผู้บริหารและสมาชิก อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเจ้าหน้าที่ อสม.  ขณะที่บุคคลในรัฐบาลต่างออกมาปฏิเสธว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามขั้นตอนปกติ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นแต่อย่างใด

ขึ้นเงินเดือน อบต. ทั่วประเทศ “ทิพานันท์” ระบุเพิ่มตามขั้นตอนปกติ

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองแถลงว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการร่างระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเงินค่าตอบแทนนายกองค์การบริหารส่วนตำบล รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล รองประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลฯ ซึ่งมีสาระสำคัญคือให้จ่ายค่าตอบแทนผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามระเบียบนี้ในอัตราใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 โดยการกำหนดช่วงอัตราเงินค่าตอบแทนให้ขึ้นอยู่กับรายได้ของ อบต. ซึ่งมีอยู่ 5,300 แห่ง โดยแบ่งออกเป็นหกช่วงตามรายได้ เช่น

อบต.ที่มีรายได้ไม่เกิน 10 ล้านบาท ให้อัตราค่าตอบแทนของนายก อบต.รวม 25,800 บาทต่อเดือน อบต.ที่มีรายได้เกิน 10-25  ล้านบาท ให้อัตราค่าตอบแทนนายก อบต.รวม 35,600 บาทต่อเดือน และ อบต.ที่มีรายได้เกิน 25-50  ล้านบาท ให้อัตราค่าตอบแทนของนายก อบต. รวม 40,800  บาทต่อเดือน เป็นต้น  ขณะที่ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นๆ ก็ให้มีอัตราค่าตอบแทนลดหลั่นกันไป  ขณะที่ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเงินค่าตอบแทนนายกองค์การบริหารส่วนตำบลฯ พ.ศ. 2554 ซึ่งบังคับใช้อยู่ ก่อนที่ระเบียบฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้ ในเดือนตุลาคม 2566 กำหนดให้นายก อบต. ประจำ อบต.ที่มีรายได้เกินห้าล้านบาท แต่ไม่ถึงสิบล้านบาท มีเงินค่าตอบแทนรวม 22,880 บาท อบต.ที่มีรายได้ เกิน 10-25 ล้านบาท ให้มีเงินค่าตอบแทนรวม 23,900 บาท และอบต.ที่มีรายได้เกิน 25-50 ล้านบาท ให้นายกอบต.มีรายได้ต่อเดือนรวม 24,920 บาท 

ก่อนหน้าที่ ครม. จะเห็นชอบหลักการร่างระเบียบกระทรวงฯ ที่จะปรับเงินรายได้ให้นายก อบต.รวมถึงตำแหน่งอื่นๆ ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 วิระศักดิ์ ฮาดดา นายกสมาคม อบต.แห่งประเทศไทย เข้าพบพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และ ชัชวาลล์ คงอุดม ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เพื่อมาติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับการขอขึ้นค่าตอบแทนของผู้บริหารและสมาชิก อบต.ทั่วประเทศ ชึ่งเคยได้ยื่นเรื่องมานานแล้ว ซึ่งพีระพันธุ์ แจ้งว่าพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เห็นชอบในหลักการจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองกฎหมายในวัน 8 กุมภาพันธ์น เพราะ อบต.ไม่ได้ขึ้นค่าตอบแทนมาประมาณ 15 ปีแล้ว 

มีความน่าสนใจว่าในขณะที่รัฐบาลกำลังเตรียมขึ้นเงินเดือนให้นายก อบต.และตำแหน่งอื่นๆใน อบต. ก็มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรออกมาแสดงความคิดเห็นคัดค้านโดยที่หนึ่งในนั้นเป็นสมาชิกพรรครัฐบาลคือ วิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ระบุว่าควรจะขึ้นให้กับกำนัน ผู้ใหญ่บ้านมากกว่า เพราะกำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นคนที่อยู่ในหมู่บ้าน ดูแลประชาชนภายในหมู่บ้าน ภายในตำบล ซึ่งคนกลุ่มนี้เงินเดือนน้อย เงินเดือนผู้ใหญ่บ้าน 8,000 บาท กำนัน 10,000 บาทเท่านั้น ขณะที่ส.ส.ฝ่ายค้านอย่าง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยก็พูดถึงกรณีนี้ว่า พรรคเพื่อไทยไม่ต้องการปิดกั้นในสิ่งที่ท้องถิ่นพึงมีหรือพึงได้ เพราะพรรคเพื่อไทยมีนโยบายกระจายงบประมาณให้ท้องถิ่นอยู่แล้ว เพียงแต่อยากตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดต้องรีบอนุมัติการขึ้นเงินดังกล่าวในนามของเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค – หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ) ที่นำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ทั้งที่ประเด็นดังกล่าวมีการเรียกร้องมานานหลายปีแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่โดยตรงก็ขานรับประเด็นดังกล่าวแล้วด้วย นพ.ชลน่าน ระบุด้วยว่าต้องจับตาดูต่อไปด้วยว่า กรณีที่เกิดขึ้นจะเกี่ยวข้องกับการหาเสียงทางการเมืองหรือไม่ 

ซึ่งต่อมาในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์พล.อ.ประยุทธ์ ต่อกรณีขึ้นการเงินเดือนให้กับผู้บริหารอบต.ว่า เป็นเรื่องที่มีการดำเนินการตามขั้นตอน โดยสมาคมอบต.แห่งประเทศไทย ได้ยื่นข้อเสนอต่อ กระทรวงมหาดไทยมาตั้งแต่ปี 2562 แล้วเนื่องจากไม่ได้มีการปรับค่าตอบแทนให้สอดคล้องกับสถานการณ์มานานกว่า 10 ปี ซึ่งพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็เห็นด้วยในหลักการแล้ว  พร้อมระบุว่าพล.อ.อนุพงษ์เห็นชอบในหลักการการปรับค่าตอบแทนตั้งแต่ปี 2562 แล้ว แต่ระหว่างนั้นเกิดการแพร่ระบาดของโควิด19 จึงต้องชะลอไว้ก่อน

จากนั้นในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 วิระศักดิ์ พร้อมตัวแทน อบต.ประมาณ 50 คน ได้เข้ามาขอเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์เพื่อติดตามความความคืบหน้าของการขึ้นค่าตอบแทน นอกจากนั้นยังมอบดอกไม้ให้ พล.อ.ประยุทธ์ในโอกาสวันแห่งความรักด้วย พีระพันธ์ุ สาลีรัฐภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติในฐานะประธานคณะกรรมการเร่งรัดการปฏิบัติงานราชการเป็นผู้แทนนายกรัฐมนตรีมาพบกับกลุ่มตัวแทนสมาคม อบต.ฯ พร้อมระบุตอนหนึ่งว่า การดำเนินการเรื่องดังกล่าวเป็นไปตามขั้นตอนอย่างเงียบๆ แต่ก็มีการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองตามที่ทราบกันจึงอาจจะทำให้การดำเนินการสะดุด แต่ท้ายที่สุดก็น่าจะดำเนินการได้โดยไม่มีปัญหา  จากนั้นในวันที่ 14 มีนาคม 2566 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้ปรับขึ้นอัตราเงินเดือนนายก อบต.และตำแหน่งอื่นๆใน อบต. โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 

ขึ้นเงินเดือนกำนันผู้ใหญ่บ้านหลังมีข้อเรียกร้องตั้งแต่ปี 62

ในวันที่ 14 มีนาคม 2566 วันเดียวกับที่ ครม.มีมติเห็นชอบให้ปรับอัตราเงินรายได้ อบต. ครม.ยังมีมติให้ปรับอัตราเงินตอบแทนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล และตำแหน่งอื่นๆ โดยกำนันปรับเพิ่มจาก 10,000 บาทเป็น 12,000 บาท ผู้ใหญ่บ้านจาก 8,000 บาท เป็น 10,000 บาท แพทย์ประจำตำบลปรับเพิ่มจาก 6,000 บาท เป็น 7,000 บาท ต่อเดือน เป็นต้น นอกจากนั้นยังปรับอัตราค่าตอบแทนของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แบบขั้นวิ่งจากเดิมขั้นละ 200 บาท เป็นขั้นละ 300 บาท และกรณีที่ได้สองขั้นจะปรับเพิ่มจาก 400 บาท เป็น 600 บาท ต่อปี โดยอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่าอัตราเงินตอบแทนตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้านและตำแหน่งอื่นๆ ที่ปรับในคราวนี้เป็นอัตราที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2560 โดยไม่มีการปรับปรุง จึงต้องปรับเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ 

กระแสการเรียกร้องขอปรับเงินรายได้ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เริ่มมีมาตั้งแต่ช่วงปี 2562 แล้ว ในวันที่ 3 กันยายน 2562 ไพโรจน์ เพชรตีบ นายกสมาคมกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน จ.พัทลุง พร้อมตัวแทนกำนันผู้ใหญ่บ้านในจังหวัดประมาณ 50 คน ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ขอให้ปรับเพเดานค่าตอบแทน และสวัสดิการต่างๆ  เช่น ขอให้ปรับเงินตอบแทนกำนันจากเดือนละ 10,000 เป็น 15,000 บาท ปรับเงินตอบแทนผู้ใหญ่บ้านจาก 8,000 เป็น 13,000 บาท เป็นต้น 

ต่อมาในเดือนธันวาคม 2562 ยงยศ แก้วเขียว นายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย แจ้งให้ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านทุกอำเภอและทุกจังหวัดออกแถลงการณ์ถึงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และปลัดกระทรวงมหาดไทยผ่านทางผู้ใหญ่บ้าน เพื่อติดตามผลการดำเนินการพิจารณาสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ หลังจากได้ยื่นข้อเสนอไว้นานหลายเดือนแล้ว แต่ไม่มีความคืบหน้า  

ล่วงมาถึงเดือนสิงหาคม 2565 พรชัย อินทร์สุข ส.ส. พิจิตร พรรคเศรษฐกิจไทยยังเคยหารือในที่ประชุมสภาไปถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยด้วยว่า เขาได้พบปะกับหารือกับ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และแพทย์สารวัตร ถึงความเดือดร้อนเรื่องค่าใช้จ่าย เนื่องจากคนกลุ่มดังกล่าวได้รับค่าตอบแทนต่ำ เช่น ค่าตอบแทนกำนันเริ่มที่ 10,000 บาท ผู้ใหญ่บ้าน 8,000 บาท ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและแพทย์สารวัตร 5,000 บาท จึงเห็นควรให้กระทรวงมหาดไทย แก้ไขระเบียบและกฎกระทรวงเพื่อปรับเงินเดือนให้คนกลุ่มนี้ และนอกจากการขึ้นค่าตอบแทนแล้วยังขอให้พิจารณาบำเหน็จ บำนาญ และสวัสดิการอื่นๆ ด้วย 

ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 เมื่อมีกระแสข่าวว่ารัฐบาลจะปรับอัตราค่าตอบแทนให้นายก อบต. และสมาชิก อบต. วิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ ก็ระบุว่าไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าตอบแทนให้ อบต. แต่อยากให้ปรับขึ้นค่าตอบแทนกำนันผู้ใหญ่บ้านมากกว่า จนกระทั่งในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้ปรับค่าตอบแทนทั้งในส่วนของ อบต. และกำนันกับผู้ใหญ่บ้าน

ขึ้นเงิน อสม. สธ.ระบุปรับเพิ่มให้สอดคล้องกับสถานการณ์  

อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) คือบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกจากชาวบ้านในแต่ละกลุ่มบ้านและได้เข้ารับการอบรมจากกระทรวงสาธารณสุขเพื่อทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้ ประสานงานกิจกรรมพัฒนาสาธารณสุข รวมถึงให้บริการสาธารณสุขอื่นๆ เช่น การส่งเสริมสุขภาพ เฝ้าระวังและป้องกันโรค รวมถึงให้ความช่วยเหลือและรักษาพยาบาลขั้นต้น   

อสม. ไม่ได้รับค่าตอบแทนในรูปแบบเงินเดือน แต่ได้รับสวัสดิการในรูปแบบ “ค่าป่วยการ” เพื่อชดเชยการทำงาน โดยอัตราค่าป่วยการของ อสม. อยู่ที่ 600 บาทมาตั้งแต่ปี 2552  ต่อมาในวันที่ 20 มีนาคม 2562 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งขณะนั้นเป็นรัฐบาล คสช. เริ่มปรับเงินโอนให้ อสม. เป็น 1,000 บาท และให้มีผลย้อนหลังไปถึงเดือนธันวาคม 2561 ซึ่งเป็นเดือนที่รัฐบาลอนุมัติให้ปรับอัตราค่าป่วยการของ อสม. จาก 600 บาท เป็น 1,000 บาทต่อเดือน มีข้อน่าสังเกตว่าวันที่ 20 มีนาคมซึ่งเป็นวันที่รัฐบาลเริ่มโอนเงินค่าป่วยการด้วยอัตรา 1,000 บาทเป็นครั้งแรก เป็นห้วงเวลาสี่วันก่อนวันเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562

ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม 2563 ที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มทวีความรุนแรง รัฐบาลได้จ่ายค่าเสี่ยงภัยให้ อสม. เพิ่มเติมอีกคนละ 500 บาทต่อเดือน โดยเป็นการเพิ่มแบบเฉพาะกิจที่ต้องประกาศต่ออายุเป็นระยะ  ในเดือนมิถุนายน 2563 เฟซบุ๊กเพจของพรรคภูมิใจไทยเคยโพสต์ข้อความระบุว่า อนุทิน ชาญวีรกูล เป็นผู้ผลักดันให้มีการปรับเพิ่มเงินของ อสม. จาก 1,000 บาทต่อเดือน เป็น 1,500 บาทต่อเดือน ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่ยังมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประกาศระหว่างลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ อสม. ที่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ และที่ศูนย์การแพทย์เขาหลัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ว่าจะผลักดันให้ปรับค่าตอบแทน อสม. 1,500 บาท ที่เดิมเป็นการปรับเพิ่มแบบเป็นกรณีพิเศษที่ต้องต่ออายุ เป็นการปรับเพิ่มแบบตลอดชีพ  

ในเดือนสิงหาคม 2565 ระหว่างการเปิดตัวผู้สมัครส.ส.ของพรรคภูมิใจไทยที่จังหวัดลพบุรี อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยกล่าวตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ปรับเงิน อสม.จาก 1,000 บาท เป็น 1,500 บาทเป็นการชั่วคราวในช่วงที่มีสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งในอนาคตหากพรรคภูมิใจไทยได้เป็นรัฐบาลจะปรับเพิ่มเงิน อสม. อีก จาก 1,500 เป็น 2,000 บาท

ต่อมาในวันที่ 6 มีนาคม 2566 สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าในวันที่ 7 มีนาคม 2566 ทางกระทรวงจะเสนอต่อที่ประชุมครม. ให้เพิ่มค่าป่วยการ อสม.เพิ่มจาก 1,000 บาท เป็น 2,000 บาท พร้อมระบุว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ได้ดำเนินการมาเป็นเวลานานแล้ว ส่วนหากจะมีคนตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการหาเสียงหรือไม่ ถ้าอะไรที่ทำแล้วประชาชนได้ประโยชน์ก็เป็นเรื่องปกติทางการเมือง สาธิตระบุด้วยว่าหลังพ้นสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ค่าป่วยการของ อสม.ปรับลดลงมาเหลือ 1,000 บาท เท่าเดิมซึ่งเมื่อหักค่าณาปนกิจสงเคราะห์ซึ่งเป็นเงินออมที่หักให้ทายาทของ อสม. กรณีที่ อสม.เสียชีวิต ก็จะทำให้ อสม.แต่ละคนได้รับค่าป่วยการน้อยมาก ตัวสาธิตและอนุทินจึงได้ผลักดันให้มีการปรับเพิ่มค่าป่วยการ

จากนั้นในวันที่ 7 มีนาคม 2566 ที่ประชุมครม. ก็มีมติเห็นชอบให้เพิ่มค่าป่วยการ อสม.เป็น 2,000 บาท  โดยให้เริ่มต้นจ่ายค่าป่วยการในอัตราดังกล่าวตั้งแต่ในวันที่ 1 ตุลาคม 2566