ยุบสภา แต่ ส.ว. ชุดพิเศษยังอยู่ถึง พ.ค. 67 และมีอำนาจเลือกนายกฯ หลังเลือกตั้ง 66

วันที่ 20 มีนาคม 2566 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 แล้ว โดยระบุว่า ด้วยนายกรัฐมนตรีได้นำความกราบบังคมทูลฯ ว่า ตามที่สภาผู้แทนราษฎรได้ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ พ.ศ.2562 และบัดนี้ได้ปิดสมัยประชุมสามัญประจำปีที่สี่อันเป็นปีสุดท้ายของอายุสภาผู้แทนราษฎรแล้ว สมควรยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อันเป็นการคืนอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองให้แก่ประชาชนโดยเร็วเพื่อให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

การประกาศยุบสภาดังกล่าว ส่งผลให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องประกาศวัน #เลือกตั้ง66 ภายในห้าวันนับแต่มีการประกาศยุบสภา โดยกรอบระยะเวลากำหนดวันเลือกตั้ง ต้องไม่น้อยกว่า 45 วันแต่ไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับ จึงอาจกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ได้นานขึ้นกว่ากรณีสภาหมดอายุ กล่าวคือ กรณีสภาหมดอายุ จะมีกรอบเวลาเลือกตั้งภายใน 45 วัน ดังนั้นจะต้องเลือกตั้งภายใน ไม่เกินวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 ขณะที่กรณียุบสภา เมื่อกรอบเวลาขยายไว้นานกว่า จึงอาจกำหนดถึงวันเลือกตั้งได้ถึง 14 พฤษภาคม 2566

อย่างไรก็ดี การยุบสภาครั้งนี้ โดยหลักแล้วจะมีผลกับ “สภาผู้แทนราษฎร” ชุดปัจจุบันที่จะหมดหน้าที่และกระบวนการต่อไปคือการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดต่อไปเพื่อเข้ามาทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติต่อ อย่างไรก็ดี การยุบสภา มีผลต่อวุฒิสภาในเชิงปฏิบัติงานบางอย่างที่จะทำไม่ได้ระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ยังไม่เข้าทำงาน ขณะที่เชิงโครงสร้าง วุฒิสภา ชุดพิเศษ ตามบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ 2560 จะยังคงดำรงตำแหน่งต่อไป 

โดยในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 268 กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดพิเศษ 250 คน มีที่มา 3 ทาง คือ

  1. ส.ว. โดยตำแหน่งจากปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
  2. 194 คน มาจากการสรหาโดยคณะกรรมการ สรรหาจำนวน 400 คน เพื่อให้ คสช. คัดเลือกให้เหลือ 194 คน และคัดชื่อสำรองอีก 50 คน
  3. กกต. จัดให้กลุ่มอาชีพเลือกกันเอง 200 คนและให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คัดเลือกให้เหลือ 50 คน

วุฒิสภาชุดพิเศษ มีอายุห้าปีนับแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง ซึ่งการแต่งตั้งวุฒิสภาชุดพิเศษนี้ มีผลในวันที่ 11 พฤษภาคม 2562 ดังนั้น ส.ว. ชุดพิเศษ จึงจะทำงานไปจนถึง 11 พฤษภาคม 2567

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ 2560 ยังกำหนดให้วุฒิสภา ชุดพิเศษ มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี ร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรด้วย ดังนั้น การยุบสภาครั้งนี้ จึงส่งผลไปสู่การเปลี่ยนแปลงหน้าตาของสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น แต่วุฒิสภาชุดพิเศษ ไม่ได้รับผลกระทบในเชิงโครงสร้าง

อย่างไรก็ดี ในช่วงยุบสภา วุฒิสภาจะประชุมไม่ได้ (รัฐธรรมนูญ มาตรา 126) ยกเว้น

  1. กรณีที่เป็นการประชุมเพื่อลงมติให้ความเห็นชอบบุคคลมาดำรงตำแหน่งตามที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจวุฒิสภาไว้
  2. กรณีที่เป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก วุฒิสภาสามารถประชุมในนาม “รัฐสภา” ได้ คือกรณีที่เกี่ยวกับการตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 17 และมาตรา 19 การรับทราบร่างกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ตามมาตรา 20 การพิจารณาให้ความเห็นชอบผู้สืบราชสันตติวงศ์ที่องคมนตรีเป็นผู้เสนอ ตามมาตรา 21 การให้ความเห็นชอบในการประกาศสงคราม ตามมาตรา 177 
You May Also Like
อ่าน

ข้าราชการลาออกชั่วคราวเพื่อลงสมัคร สว. 67 ได้

กฎหมายหลายฉบับได้เปิดช่องให้ข้าราชการปัจจุบันสามารถลาออกเพื่อสมัครเป็น สว. ได้โดยมีผลทันทีนับแต่วันที่ยื่นลาออก และหากไม่ได้รับการเลือกเป็น สว. ก็ยังมีทางเลือกสามารถกลับไปรับราชการได้ตามเดิมเช่นกัน
อ่าน

รวมทริคลงสมัคร สว. เลือกกันเอง บทเรียนจากปี 61

จากการสัมภาษณ์ผู้ที่เคยเข้าร่วมกระบวนการในปี 2561 มีหลายกลเม็ดที่ผู้สมัครใช้ในการช่วยให้ตนเองได้เข้ารอบหรือรับเลือก โดยมีทั้งในรูปแบบที่ผิดกฎหมาย ไปจนถึงใช้ยุทธศาสตร์-เทคนิค จากช่องทางบางประการในกฎหมาย