เลือกตั้ง 66: ส.ว. “งดออกเสียง” ไม่ช่วยอะไร แต่อาจเปิดทาง “นายกฯ นอกบัญชี”

หลังการเลือกตั้งทั่วไป 2566 สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) แต่งตั้งทั้ง 250 คน มีอำนาจที่จะลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีคนต่อไปได้อีก ท่ามกลางการจับจ้องจากประชาชนว่า ส.ว. จะใช้อำนาจนี้เช่นไร จะกล้าฝืนคะแนนเสียงของประชาชนและลงมติสวนไปสืบทอดอำนาจให้ คสช. ต่ออีกหรือไม่

ซึ่งในช่วงเวลาสำคัญทางการเมืองครั้งนี้ เหล่า ส.ว. มีสามทางเลือกในการจะจัดการกับอำนาจในมือของตนเอง 

ทางแรก คือ การยกมือให้กับแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองที่รวบรวมเสียงข้างมากจาก ส.ส. ได้ 251 เสียง ซึ่งจะเป็นเหมือนการ “ปิดสวิชต์ตัวเอง” และการเคารพเสียงของประชาชนที่เลือกผู้แทนของตนเองมา หลังการเลือกตั้งปี 2562 ส.ว. เลือกพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีแบบ “เอกฉันท์” โดยหลายคนอ้างว่า เป็นการใช้ทางเลือกนี้เพื่อสนับสนุนพรรคที่ได้เสียงส.ส. มากกว่า แต่ในทางปฏิบัติการลงมติจะใช้วิธีขานชื่อที่ละคนเรียงลำดับตามตัวอักษร ทำให้ระหว่างที่ ส.ว. กำลังลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีก็ไม่อาจทราบได้จริงๆ ว่า ส.ส. ส่วนใหญ่จะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรี

ทางที่สอง คือ การดึงดันลงคะแนนให้กับแคนดิเดตที่ ส.ว. แต่ละคนต้องการเลือก ซึ่งอาจเป็นบุคคลสำคัญที่เลือกพวกเขาเข้ามาเป็นส.ว. ไม่ว่าจะเป็นพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แม้ว่า คนเหล่านี้อาจจะได้เสียง ส.ส. ไม่ถึงกึ่งหนึ่งก็ตาม กรณีเช่นนี้ ก็จะทำให้ได้รัฐบาลเสียงข้างน้อยที่มี ส.ส. ในสภาไม่ถึงครึ่งหนึ่ง กฎหมายที่รัฐบาลเสนอก็อาจถูกคว่ำ และนายกรัฐมนตรีก็อาจถูกลงมติไม่ไว้วางใจได้ทุกเมื่อ จึงเป็นรัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพและไม่สามารถบริหารประเทศได้

ทางที่สาม คือ การ “งดออกเสียง” ซึ่งอาจจะดูเหมือนเป็นทางออกเพื่อการ “ปิดสวิชต์” ตัวเองไม่ต้องมีบทบาทในการจัดตั้งรัฐบาลด้วย แต่ในความจริงแล้วการงดออกเสียงให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างไปมาก เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 กำหนดว่า ผู้ที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องได้รับเสียง “กึ่งหนึ่ง” ของทั้งจำนวนสมาชิก “สองสภา” รวมกันหรือต้องได้รับคะแนนเสียง 376 เสียง ไม่ใช่เพียงกึ่งหนึ่งของ ส.ส. หรือกึ่งหนึ่งของผู้ที่ออกเสียง ดังนั้น หาก ส.ว. ทั้ง 250 คน “งดออกเสียง” ก็มีโอกาสสูงที่จะทำให้ไม่มีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนใด ได้เสียงเพียงพอถึง 376 เสียง และจะส่งผลเป็นการ “วีโต้” ให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคที่ได้ ส.ส. เสียงข้างมาก ไม่อาจขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้

เลือกนายกต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาเท่าที่มีอยู่

กระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 159 ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบนายกรัฐมนตรีจากบรรดารายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองเสนอก่อนการเลือกตั้งพรรคละสามรายชื่อ โดยต้องเป็นแคนดิเดตจากพรรคการเมืองที่มีที่นั่ง ส.ส. ไม่น้อยกว่าร้อยละห้าหรือ 25 ที่นั่ง และมีผู้รับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบหรือ 50 เสียง ท้ายที่สุด เมื่อถึงเวลาลงคะแนนเสียง แคนดิเดตที่ได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะต้องได้รับเสียง “มากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกเท่าที่มีอยู่”

ยกตัวอย่างเช่น หลังการเลือกตั้งทั่วไป มีจำนวน ส.ส. ในสภาทั้งหมด 500 คน ผู้ที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีก็จะต้องได้รับเสียงจาก ส.ส. อย่างน้อย 251 เสียง ในกรณีที่ไม่มีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนใดได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ก็จะต้องลงคะแนนใหม่จนกว่าจะได้เกินกึ่งหนึ่ง โดยจะมีการเปลี่ยนไปเสนอชื่อบุคคลอื่นด้วยก็ได้จนกว่าจะได้เสียงครบ

ทั้งนี้ หลังการเลือกตั้งทั่วไป 2566 ประเทศไทยยังอยู่สถานการณ์ “ไม่ปกติ” แม้จะมีความพยายามเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 เพื่อ “ปิดสวิชต์ ส.ว.” แล้วมากกว่าหกครั้ง แต่ ส.ว. แต่งตั้งทั้ง 250 คนก็ยัง “ขวาง” ไม่ให้ข้อเสนอนี้เป็นจริง และรักษาอำนาจของตัวเองในการเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. เอาไว้ได โดยมาตรา 272 ยังคงใช้หลักการเดียวกับการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีในกรณีปกติ คือผู้ที่จะได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะ “ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา” ซึ่งหมายความว่าจะต้องได้เสียงอย่างน้อย 376 เสียงจากจำนวนสมาชิกทั้งสองสภาทั้งหมด 750 คน

“งดออกเสียง” เท่ากับการ “วีโต้” แคนดิเดตเสียงข้างมาก

ในการเลือกตั้งทั่วไป 2562 ส.ว. ลงคะแนนให้กับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชากันทั้งหมด เว้นแต่ประธาน ส.ว. คนเดียวเท่านั้นที่งดออกเสียง แต่ในการเลือกตั้งทั่วไป 2566 กระแสความนิยมที่ตกต่ำของประยุทธ์สวนทางกลับความนิยมของฝ่ายค้านที่มากขึ้นโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย จนทำให้มีคำถามว่า หากอดีตพรรคฝ่ายค้านเอาชนะในการเลือกตั้งได้ ส.ว. จะมีท่าทีในการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีอย่างไร

ก่อนหน้านี้ ส.ว. บางคนเริ่มแสดงจุดยืนต่อสาธารณะ เช่น วันชัย สอนศิริ ที่ยืนยันว่า ส.ว. จะต้องลงคะแนนตามเสียงข้างมากของ ส.ส. โดยอธิบายว่า เป็นการ “ลดความขัดแย้ง ไม่ก่อให้เกิดปัญหากับประเทศ”  ขณเดียวกันกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ให้สัมภาษณ์ในทางตรงกันข้าม โดยยืนยันปฏิเสธจะโหวตให้กับแพทองธาร ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย

อีกด้านหนึ่ง พญ.พรทิพย์ โรจนสุนันท์ ก็กล่าวว่า จะไม่ใช้อำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีหรือจะ “งดออกเสียง” 
หาก ส.ว. พร้อมใจกัน “งดออกเสียง” ตามพญ.พรทิพย์ ผลลัพธ์ที่ได้ไม่ใช่เป็นการคืนอำนาจให้ประชาชน และให้ ส.ส. จากการเลือกตั้งมีอิสระเต็มที่ในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี แต่กลับจะสร้างความเป็นไปได้อย่างมากที่จะทำให้ไม่มีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนใดได้คะแนนถึง 376 เสียง

ยกตัวอย่างเช่น หลังการเลือกตั้ง พรรคการเมืองแบ่งออกเป็นสองฝ่ายเพื่อแข่งกันเสนอแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ฝ่ายแรกรวบรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งของ ส.ส. ที่ 280 เสียง แต่ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสองสภา ในขณะที่อีกฝ่ายรวมเสียง ส.ส. ได้ 220 เสียง ส่วน ส.ว. นั้นงดออกเสียงทั้ง 250 คน ก็จะทำให้หานายกรัฐมนตรีไม่ได้ เนื่องจากไม่มีฝ่ายใดได้ถึง 376 เสียง

กรณีเช่นนี้จะนำไปสู่ “ทางตัน” และอาจเกิดกระบวนการต่อไปได้สองแนวทาง

  1. ทั้งสองสภาจะต้องลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่อีกครั้ง ซึ่งจะเป็นการบังคับให้พรรคการเมืองที่รวบรวม ส.ส. เสียงข้างมากได้ต้องเปลี่ยนชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในการเลือกรอบใหม่ โดยอาจจะเป็นอีกสองคนในรายชื่อแคนดิเดตของพรรค หรืออาจจะต้องหันไปเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองอื่น โดยมีเงื่อนไขสำคัญคือต้องเป็นคนที่ ส.ว. ยอมรับได้เพื่อที่จะได้คะแนนเสียงถึง 376 เสียง
  2. ทั้งสองสภาไม่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีได้ และหันไปใช้กลไก “นายกฯ นอกบัญชี” มาตรา 272 วรรคสองเปิดทางให้ในกรณีที่ไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอมาก่อนการเลือกตั้ง สมาชิกของทั้งสองสภารวมกันเกินกึ่งหนึ่งสามารถรวมตัวกันยื่นต่อประธานสภา ขอให้มีมติไม่ต้องเสนอชื่อแคนดิเดตจากบัญชีพรรคการเมือง จากนั้นจะต้องใช้เสียงอีกสองในสามของสภาเพื่ออนุมัติ และการเลือกนายกรัฐมนตรีหลังจากนั้นจะเสนอชื่อ “ใครก็ได้” โดยจะต้องได้รับเสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภาหรือ 376 เสียงเช่นเดิมเพื่อจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี

ดังนั้น การ “งดออกเสียง” ไม่ใช่การ “ปิดสวิตช์” ตัวเอง แต่คือการสร้างเงื่อนไขให้ ส.ว. มีอำนาจต่อรองในการกำหนดตัวผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี การงดออกเสียงในทางปฏิบัติจะเท่ากับการปฏิเสธแคนดิเดตของพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมาก และบีบบังคับ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งว่า หากไม่ต้องการนายกฯ คนนอก ตามแนวทางที่ 2 ก็ต้องเสนอเฉพาะชื่อบุคคลที่ ส.ว. ยอมรับได้เพื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามแนวทางที่ 1 เท่านั้น

ทางออกที่ถูกต้องที่ ส.ว. จะจำกัดอำนาจตัวเอง จึงไม่ใช่การที่พร้อมใจกันเท “งดออกเสียง” แต่หากหลังการเลือกตั้งมีพรรคการเมืองที่ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย ได้เสียง ส.ส. เกินครึ่งหนึ่งของสองสภา และชัดเจนว่า จะเป็นผู้ที่จัดตั้งรัฐบาลได้ ส.ว. ต้องลงคะแนนให้กับแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองที่รวบรวมเสียงส่วนใหญ่ของ ส.ส. ได้เท่านั้น

You May Also Like
อ่าน

ข้าราชการลาออกชั่วคราวเพื่อลงสมัคร สว. 67 ได้

กฎหมายหลายฉบับได้เปิดช่องให้ข้าราชการปัจจุบันสามารถลาออกเพื่อสมัครเป็น สว. ได้โดยมีผลทันทีนับแต่วันที่ยื่นลาออก และหากไม่ได้รับการเลือกเป็น สว. ก็ยังมีทางเลือกสามารถกลับไปรับราชการได้ตามเดิมเช่นกัน
อ่าน

รวมทริคลงสมัคร สว. เลือกกันเอง บทเรียนจากปี 61

จากการสัมภาษณ์ผู้ที่เคยเข้าร่วมกระบวนการในปี 2561 มีหลายกลเม็ดที่ผู้สมัครใช้ในการช่วยให้ตนเองได้เข้ารอบหรือรับเลือก โดยมีทั้งในรูปแบบที่ผิดกฎหมาย ไปจนถึงใช้ยุทธศาสตร์-เทคนิค จากช่องทางบางประการในกฎหมาย