ยังไม่เคาะ! ส.ส. ส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยปมพ.ร.ก.เลื่อนบังคับใช้พ.ร.บ.อุ้มหายฯ

การตรา “พระราชกำหนด” นั้น เป็นข้อยกเว้นของกลไกการออกกฎหมายโดยปกติ ที่ปกติแล้วการออกกฎหมายใหม่ หรือการแก้ไขกฎหมายระดับ “พระราชบัญญัติ” (พ.ร.บ.) ก็จะต้องทำเป็นพ.ร.บ. ที่ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติและเป็นผู้แทนประชาชน กฎหมายนั้นจึงจะออกมาเพื่อใช้บังคับกับประชาชนได้ แต่พ.ร.ก. นั้น เป็นข้อยกเว้น  เพราะคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร สามารถออกพ.ร.ก. ได้ก่อน แล้วส่งรัฐสภาเพื่ออนุมัติในภายหลัง โดยการออกพ.ร.ก. นั้น มีเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ในมาตรา 172 หลักสำคัญคือ การออกพ.ร.ก. จะทำได้เมื่อครม. เห็นว่ามี “กรณีฉุกเฉินที่มีความจําเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้” และต้องกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ

28 กุมภาพันธ์ 2566 สภาผู้แทนราษฎรมีวาระพิจารณาอนุมัติพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2566 (พ.ร.ก. แก้ไขพ.ร.บ.ป้องกันทรมานอุ้มหายฯ) ที่ประกาศใช้ไปเมื่อ19 กุมภาพันธ์ 2566 โดยพ.ร.ก. ฉบับนี้ถูกประกาศใช้ออกมาเพื่อ “เลื่อน” การบังคับใช้พ.ร.บ.ป้องกันทรมานอุ้มหายฯ จากเดิมที่จะบังคับใช้ “ทั้งฉบับ” 120 วัน หลังประกาศใช้ (25 ตุลาคม 2566) ซึ่งจะตรงกับวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 แต่พ.ร.ก.ฉบับนี้ กลับออกมาเพื่อ “ยกเว้น” เลื่อนการบังคับใช้มาตรา 22 มาตรา 23 มาตรา 24 และมาตรา 25 ออกไป เป็นใช้บังคับวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ซึ่งบทบัญญัติที่ถูกเลื่อนใช้บังคับออกไปนั้น มีเนื้อหาเกี่ยวกับกลไกการป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เช่น การกำหนดให้ตำรวจต้องติดกล้องและบันทึกสภาพของผู้ต้องหาเมื่อจับกุม

เหตุผลของการออกพ.ร.ก. ฉบับนี้ ที่ออกมาเพื่อ “เลื่อน” การบังคับใช้พ.ร.บ.ป้องกันทรมานอุ้มหายฯ บางส่วนออกไป สืบเนื่องจากทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการปฏิบัติตามพ.ร.บ.ป้องกันทรมานอุ้มหายฯ ริเริ่มร้องขอให้ขยายเวลาการบังคับใช้ทั้งสี่มาตราออกไป โดยให้เหตุผลเรื่องความไม่พร้อมทั้งเชิงงบประมาณสำหรับกล้องที่ต้องใช้เพื่อปฏิบัติงานตามกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความละเอียด ซับซ้อน และมีผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายของประชาชนโดยตรง และอาจส่งผลให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อสาธารณะ รวมทั้งความไม่พร้อมเชิงบุคลากรที่ยังขาดความรู้และทักษะในการปฏิบัติงาน

ในระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หลายรายทั้งจากพรรคร่วมรัฐบาล และจากพรรคฝ่ายค้านที่ผลัดเปลี่ยนกันอภิปราย อย่างไรก็ดี สภาก็ยังไม่ได้ลงมติว่าจะอนุมัติพ.ร.ก. ดังกล่าวหรือไม่ เนื่องจาก ส.ส. จำนวน 100 คน ได้ใช้กลไกตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 173 เข้าชื่อกันเสนอต่อประธานสภา เพื่อส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยว่า พ.ร.ก. นั้นไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่มาตรา 172 กำหนดไว้ จึงต้องรอการพิจารณาพ.ร.ก. ไว้ก่อนจนกว่าจะได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ยังไม่ได้พิจารณาลงมติว่าอนุมัติหรือไม่ และยังไม่ได้ไปสู่กระบวนการส่งให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ลงมติ ซึ่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้องส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญภายใน 30 วัน และศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยภายใน 60 วัน

หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพ.ร.ก. ใดไม่เป็นไปตามมาตรา 172 ต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ หากมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน จะต้องมี 6 คนที่เห็นว่าพ.ร.ก. ดังกล่าวไม่สอดคล้องกับมาตรา 172 หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพ.ร.ก. ไม่เป็นไปตามมาตรา 172 วรรคหนึ่ง พ.ร.ก. นั้นไม่มีผลใช้บังคับมาแต่ต้น เท่ากับว่าการเลื่อนบังคับใช้พ.ร.บ.ป้องกันทรมานอุ้มหายฯ ทั้งสี่มาตรานั้น ก็จะไม่มีผล ดังนั้นพ.ร.บ.ป้องกันทรมานอุ้มหายฯ ก็จะมีผลใช้บังคับทุกมาตรา ตั้งแต่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป

You May Also Like
อ่าน

ผ่านฉลุย! สส. เห็นชอบร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม วาระสาม ส่งไม้ต่อให้ สว.

27 มีนาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีมติ “เห็นชอบ” ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในวาระสาม ส่งไม้ต่อให้วุฒิสภาพิจารณาสามวาระ
อ่าน

ทิ้งท้ายก่อนหมดอายุ สว. ชุดพิเศษเปิดอภิปรายทั่วไป ซักฟอกรัฐบาลเศรษฐา

ทิ้งท้ายก่อนหมดอายุ 25 มีนาคม 2567 สว. ชุดพิเศษเปิดอภิปรายทั่วไป ซักฟอกรัฐบาลเศรษฐา เป็นครั้งแรกในรอบห้าปีที่ สว. ชุดพิเศษใช้กลไกนี้ในการตรวจสอบรัฐบาล