ฝ่ายค้านเสนอญัตติด่วน #ตะวันแบม เห็นพ้องเร่งคืนสิทธิประกันตัวและใช้สภาหาทางออก

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 เวลาประมาณ 10.40 น. ณัฐวุฒิ บัวประทุม ตัวแทนพรรคก้าวไกลหารือเพื่อเสนอญัตติด่วนเรื่องการอดอาหารของนักกิจกรรมทางการเมืองในระหว่างที่ถูกคุมขังสามคนคือ ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ แบม-อรวรณ ภู่พงษ์ และแท็ค-สิทธิโชค เศรษฐเสวก ระบุว่า สิ่งที่นักกิจกรรมตั้งคำถามเป็นเรื่องสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมในภาพรวมทั้งหมด สิทธิการประกันตัวของผู้ต้องหา สิ่งที่พวกเราเป็นห่วงในนามของพรรคร่วมฝ่ายค้านคือ หากปล่อยให้สถานการณ์เดินไปแบบนี้ย่อมเกิดอันตรายต่อเยาวชนทั้งสองคน ย่อมส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของพี่น้องประชาชน อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมเป็นวงกว้าง 

พรรคร่วมฝ่ายค้านได้รับทั้งข้อท้วงติง ได้รับหนังสือ ได้ร่วมกันปรึกษาหารือและมีการพิจารณาแล้วมีมติเห็นร่วมกันว่า วันนี้จะขออนุญาตประธานรัฐสภาโดยอาศัยข้อบังคับในข้อ 54 (1) ในการเสนอญัตติด่วนด้วยวาจา เพื่อขอให้รัฐสภาพิจารณาสิทธิในการประกันตัวและรวมถึงเรื่องการใช้กฎหมายล้นเกินในกระบวนการยุติธรรมที่ส่งผลกระทบต่อผู้แสดงความคิดเห็น หรือแสดงออกในทางการเมืองเพื่อให้สภาแห่งนี้ได้ร่วมกันพิจารณาหาทางออกกับกรณีดังกล่าว ขอให้พิจารณาเรื่องนี้เป็นการเร่งด่วนและขอให้ประธานฯ ใช้ข้อบังคับ 54 (5) บรรจุวาระการประชุมตามที่ประธานฯ เห็นสมควร

ภูมิใจไทย : กังวลญัตติตะวันแบมทำให้ ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชงฯ ล่าช้า

วิรัช พันธุมะผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ตามวาระเป็นร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชงฯ การเลื่อนญัตติอื่นขึ้นมาจะทำให้กฎหมายตกไป จึงเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง ในนามพรรคภูมิใจไทย เราคัดค้านการยื่นญัตติแทรกเข้ามา ประธานฯ ระบุว่า ไม่ได้เป็นการเลื่อนระเบียบวาระ เป็นการเสนอญัตติด่วนด้วยวาจา ไม่ทำให้กฎหมายที่ค้างอยู่ตกไป แต่ว่าจะกินเวลาของกฎหมายฉบับนั้น จึงขอความเห็นชอบเพื่อไม่ให้มีความขัดแย้ง ด้านศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า เข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ แต่วันนี้เป็นการพิจารณากฎหมายซึ่งค้างมานาน ถามผมว่า เรื่องนั้นมีความสำคัญไหม ผมก็อยากเรียนยืนยันว่า พ.ร.บ.กัญชา กัญชงฯ เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จ การที่ท่านจะขอเวลาไป มันทำให้เวลามันเคลื่อนไปอีก แทนที่จะเป็นวันนี้ อยากให้จะให้เลื่อนไปเป็นวันพฤหัสบดีโดยจะพิจารณาอย่างไม่จำเป็นต้องจำกัดเวลา กัญชาของพวกเราโดนสกัดอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นวันนี้ “ได้โปรดกรุณาอย่าเพิ่งเสนอเข้ามา…ช้าอีกหนึ่งวันก็ไม่เป็นไรครับ เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นก็ไม่ใช่ว่าเกิดปัจจุบันทันด่วน มันมีหลายเรื่องที่มันผ่านพ้นจนคลี่คลายไปพอสมควรแล้ว ฉะนั้นถ้ารออีกวันเพื่อให้เดินหน้าร่วมกันในกฎหมายที่เราค้างอยู่”

อรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า วันนี้ได้รับการประสานจากเพื่อนสมาชิกในการเสนอญัตติด่วนเรื่องการอดอาหารของตะวันและแบมที่กำลังอยู่ในสภาวะสุ่มเสี่ยง นอกจากนี้มีการพูดคุยกับเพื่อนสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาล ต้องเรียนประธานฯว่า ความเห็นทั้งสองฝ่ายยังไม่ตรงกัน แต่อย่างไรก็ดีในฐานะที่เป็นตัวแทนในการประสานงานจากทั้งเพื่อนสมาชิกฝ่ายค้านและรัฐบาล เมื่อรองประธานวิปรัฐบาลทราบว่า มีความประสงค์จะยื่นญัตติจึงได้รีบประสานไปยังสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม วันนี้สมศักดิ์จึงเคลียร์ภารกิจมารอชี้แจงที่รัฐสภา แต่หากเป็นวันพรุ่งนี้สมศักดิ์จะติดภารกิจอื่นๆ ด้านจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ พรรคเพื่อไทยระบุว่า เวลาที่จะเลื่อนออกไปเป็นเวลาแห่งชีวิตของนักกิจกรรมที่อดอาหาร เสียชีวิตได้ทุกวินาทีจึงต้องขอความกรุณาต่อสมาชิกทุกท่านว่า วันนี้เท่านั้นและจากนั้นจะร่วมพิจารณาพ.ร.บ.กัญชา กัญชงฯ ต่ออย่างแน่นอน ท้ายที่สุด ชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ไม่ติดใจที่คัดค้านญัตติเร่งด่วนที่แทรกเข้ามา แต่มีเงื่อนไขว่า ขอให้ฝ่ายค้านเป็นองค์ประชุมในญัตติต่อไปด้วย เมื่อตกลงกันได้ผู้แทนจึงอภิปรายในประเด็นที่เกี่ยวข้อง และตอนท้ายที่ประชุมมีมติส่งญัตติด่วนให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป

เพื่อไทย ปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองทันที ส่วนปฏิรูป 112 ทำได้แต่ต้องใช้เวลา

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตะวันและแบมได้ใช้ชีวิตร่างกายของตนเองต่อสู้เรียกร้องขอความเป็นธรรม ข้อเท็จจริงปรากฏขึ้นคือ มีผู้คนเห็นด้วยแนวทางการเรียกร้องจึงไปร่วมที่ยืนหยุดขัง และยื่นขอประกันตนให้แก่จำเลยคดีทางการเมืองที่ถูกคุมขังอยู่ ข้อเรียกร้องที่ทั้งสองใช้ต่อสู้เป็นที่ทราบโดยทั่วไป แม้หลายคนจะเห็นว่า ข้อเรียกร้องเป็นไปได้น้อยมาก แต่ทั้งสองกลับเอาชีวิตเข้าแลกก็เพื่อหวังให้ทุกคนมีอนาคตที่ดี ในเรื่องข้อเรียกร้องประเด็นแรก การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ที่ไม่ได้เกิดขึ้นได้ง่ายๆ ต้องอาศัยเวลาและการมีส่วนร่วม แต่ข้อนี้สามารถเริ่มต้นได้เพื่อเป็นสัญญาณบอกกับทั้งสองว่า ข้อเรียกร้องมีการตอบรับบ้างแล้ว สอง การยุติการดำเนินความกับประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุม และการแสดงออกทางการเมือง แม้ที่ผ่านมาทั้งสองจะได้รับประกันตัวแต่มีเงื่อนไขตามมา เช่น การติดกำไลอีเอ็มและการจำกัดพื้นที่ 24 ชั่วโมง 

นพ.ชลน่าน กล่าวถึงกรณีการอนุญาตให้ปลดกำไลอีเอ็มจากเหตุไม่สะดวกในการประกอบอาชีพได้ ซึ่งลักษณะการใช้ดุลพินิจเช่นนี้น่าจะไม่มีมาตรฐาน ดังนั้นควรจะมีเกณฑ์ที่ชัดเจน  และข้อสาม พรรคการเมืองทุกๆ พรรค ต้องเสนอนโยบายเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพ และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน โดยการยกเลิก มาตรา 112 และมาตรา 116 เป็นหน้าที่ของนักการเมืองในการใช้ดุลพินิจเพื่อจะดูว่า จะสามารถตอบสนองต่อข้อเรียกร้องได้อย่างไร ความเห็นแต่ละพรรคอาจจะแตกต่างกัน พรรคการเมืองอาจจะประกาศในแนวทางได้ แต่การที่จะยกเลิกได้จะต้องเป็นอำนาจของรัฐสภาแห่งนี้ หรือการใช้อำนาจตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปรับปรุงกฎหมาย

“มาตรา 116 ก็ดีหรือมาตราอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องก็ดี มันมีการบังคับใช้มานาน หลายมาตราเป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายที่ไม่ประสงค์ดี ใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง กำจัดคู่แข่งทางการเมืองอย่างล้นเกินโดยเฉพาะมาตรา 116  ผมที่ยืนอภิปรายตรงนี้ถูกกล่าวหาเป็นภัยต่อความมั่นคง ประทับหน้าผากผมผิดมาตรา 116 ขันแดง 116 แค่มีขันอยู่ในมือก็เป็นภัยต่อความมั่นคง บ้านนี้เมืองนี้มันเป็นอย่างนี้ท่านประธานฯ บางพวกบางฝ่ายอาศัยกฎหมายเป็นเครื่องมือทำลายคู่ต่อสู้ ทำลายคู่แข่งทางการเมือง…มาตรา 112 เป็นประมวลกฎหมายอาญาก็จริง แต่เขาถืออยู่ในหมวดความมั่นคงฯ มันหมิ่นเหม่มาก ถ้าเอามาใช้ในทางที่ไม่ถูกเช่นปัจจุบันที่นำมาใช้อย่างล้นเกิน ขาดหลักนิติธรรม ขาดดุลพินิจที่พึงมีพึงชอบก็เกิดปัญหาขึ้น ผลกระทบเกิดกับพี่น้องประชาชน เกิดผลกระทบกับสถาบันฯ อันเป็นที่รักเคารพของพวกเรา ผมคิดว่า ใครมีพฤติการณ์แบบนี้ พวกเราต้องช่วยกันดู ปากบอกว่า จงรักภักดี แต่การกระทำมันไม่ใช่ ฉะนั้นสภาแห่งนี้มาช่วยกันหามาตรการว่า เราจะมีแนวทางอย่างไร ส่วนพรรคไหนพรรคใดจะรับข้อเสนอตรงนี้ไปก็เป็นดุลพินิจ”

ในส่วนของพรรคเพื่อไทยข้อเสนอข้อหนึ่งและข้อสองไม่มีเงื่อนไขใดเลย แต่ข้อสามในการแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายที่เกี่ยวข้องเป็นเรื่องของอนาคต แม้จะประกาศเป็นนโยบายถ้าพรรคเพื่อไทยไม่ได้รับการเลือกตั้งเป็นรัฐบาลก็ทำอะไรไม่ได้ สิ่งที่พรรคเพื่อไทยได้ออกแถลงการณ์ไปเห็นว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน มีความเห็นต่างที่สุดขั้ว อันจะสร้างความแตกแยกในสังคมไทย การที่จะรับว่าเป็นนโยบายจะต้องขจัดความเห็นต่างและเกิดความเห็นร่วมก่อนเพื่อไม่ให้เกิดวิกฤติ หากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลจะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านเราเห็นว่า เรื่องนี้สำคัญต้องพูดคุยกัน การพูดคุยเป็นสัญญาณสำคัญที่ทำให้นักกิจกรรมยอมที่จะดื่มน้ำและรับการรักษา

ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หากปล่อยเวลาเนิ่นช้าออกไปอาจเกิดความสูญเสียในชีวิตต่อนักกิจกรรมที่เรียกร้องและกระบวนการยุติธรรมจะตอบคำถามนี้ในสายตาโลกอย่างไร มันจะกลายเป็นกระบวนการฆาตกรรมได้ “ดิฉันรู้ถึงการที่ถูกจองจำโดยไม่มีความผิดดี เพราะดิฉันเคยถูกกระทำมาแล้วในกระบวนการยุติธรรมยุคคสช. จากประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ดิฉันถูกจองจำเกือบเดือนทั้งที่ไม่มีความผิดใดๆ และตอนนี้ศาลพิพากษายกฟ้อง แต่ไม่มีผู้มีอำนาจคนไหนมาเยียวยาบาดแผลในใจของดิฉันและไม่มีผู้มีอำนาจคนไหนออกมารับผิดชอบจากการที่ดิฉันถูกกลั่นแกล้งทางการเมือง ดิฉันต้องสูญเสียทั้งสภาพร่างกาย สภาพจิตใจและตอนนี้ยังมีคนที่ไม่ผิดที่ถูกจำคุกอยู่ในตอนนี้ เพียงเพราะมีความเห็นต่างทางการเมือง เขารอความยุติธรรมอยู่ การที่คนบริสุทธิ์ต้องไปอยู่ในเรือนจำเหมือนกับผู้ต้องขังที่มีคดีฉกรรจ์มากมายจะส่งผลต่อจิตใจขนาดไหน ต่อให้จิตใจเข้มแข็งขนาดไหนก็ตกอยู่ในภาวะจิตเสื่อมได้เหมือนกัน”

นักกิจกรรมทั้งสองคนใช้ชีวิตเป็นเดิมพันเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ประชาชนกำลังเสื่อมศรัทธาขนาดนี้ สังคมมันเกิดอะไรขึ้น การใช้กฎหมายอย่างรุนแรงเพียงเพื่อปิดปากประชาชน ขณะเดียวกันกระบวนการยุติธรรมก็ไม่ตระหนักว่า ตนเองกำลังอยู่ในกระบวนการที่ทำให้เกิดความไม่ยุติธรรม ซึ่งกระบวนการนี้ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เรียกว่า “นิติทรราช” การอดอาหารและน้ำเป็นการประท้วงต่อระบบที่ไม่เป็นธรรม พวกเราทุกคนควรกลับมามองว่า เราอยู่ในสังคมแบบนี้ได้อย่างไร ข้อเรียกร้องทั้งสามข้อที่ตะวันและแบมเรียกร้องจำเป็นต้องได้รับการตอบสนองโดยเร็วจากสภาผู้แทนราษฎร หากตอนนี้ขอเสนอทางออกเร่งด่วนคือ ต้องยกเลิกการตั้งเงื่อนไขการประกันตัวที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และปล่อยตัวผู้ต้องหาและจำเลยในคดีชุมนุมทางการเมืองที่ไม่มีหลักฐานว่าจะหลบหนีหรือยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน

วันนี้ถึงเวลาแล้วที่สภาจะเป็นสถานที่ทางออกในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและปัญหาการใช้กฎหมายที่ล้นเกินไป สมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกท่านต้องไปไม่ปล่อยให้เกิดการสูญเสียอย่างเลือดเย็นโดยที่ไม่คิดจะลงมืออะไรกันเลยเพื่อช่วยชีวิตน้องทั้งสองเพราะสิ่งที่เรียกร้องคือ ความยุติธรรมที่ควรมีในทุกสังคมตั้งแต่แรกอยู่แล้ว และเหตุใดที่ความยุติธรรมในบ้านเมืองนี้ต้องปล่อยให้เยาวชนมาแลกด้วยชีวิตถึงจะเกิดความยุติธรรมได้

สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ข้อเรียกร้องสามข้อเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์และตรงใจสังคมไม่น้อย ข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเกิดขึ้นมาไม่น้อยกว่าสิบปีที่ผ่านมา ข้อสอง การปล่อยตัวผู้ต้องขังและจำเลยทางการเมือง สอดคล้องกับหลักสากล การจับกุมคุมขังระหว่างการดำเนินคดีจะต้องทำเท่าที่จำเป็น อย่าได้คิดว่า เป็นการลงโทษ แต่ระยะหลังการจับกุมคุมขังถือว่า เป็นการลงโทษและใช้เป็นการลงโทษด้วย นี่ผิดถนัด ข้อเรียกร้องเหล่านี้ไม่ได้ก่อความเสียหาย ขอย้ำอีกทีว่า สิบปีที่ผ่านมาพวกเราอึดอัดกับกระบวนการยุติธรรม และข้อสุดท้าย การเรียกร้องเรื่องการยกเลิกมาตรา 112 และ 116 เป็นข้อเรียกร้องที่มีเหตุผล อะไรทำได้ อะไรต้องใช้เวลาเราก็อธิบายออกไป “116 เราเห็นด้วย 112 เราเห็นด้วยแต่ใช้เวลานิดนึง จะปฏิรูปหรือยกเลิก ถ้าเป็นการยกเลิกแก้ไขเพื่อปกป้องสถาบันฯ ก็โอเค” แต่ระวังอย่าเปิดช่องให้ใช้ประโยชน์ทางการเมืองและกลั่นแกล้งกัน

ก้าวไกล บันไดสามขั้นคืนสิทธิประกันตัว นิรโทษกรรมและปฏิรูปกฎหมาย

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ในรอบหลายปีที่ผ่านประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนเข้าไม่ถึงสิทธิการประกันตัว อาจเป็นการบังคับใช้กฎหมายหรือดุลพินิจรายกรณีจนถูกตั้งคำถามจากนักวิชาการ นักกฎหมาย ทนายความและภาคประชาสังคมอันนำมาซึ่งการแสดงอารยะขัดขืนของตะวัน-ทานตะวัน และแบม-อรวรรณ ที่ได้แสดงออกด้วยการอดอาหารระหว่างที่ถูกคุมขังเพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวผู้ต้องหาและจำเลยคดีทางการเมือง เรื่องดังกล่าวไม่ได้เป็นการแทรกแซงการใช้อำนาจของตุลาการ และข้อเท็จจริงวันนี้รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมก็ได้พูดถึงปัญหาดังกล่าวเช่นกัน เรื่องที่ตะวันและแบมกำลังเรียกร้องเป็นเรื่องของพวกเราทุกคน เรียกร้องในเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานที่สุดที่รัฐควรจะให้กับประชาชนคือ กระบวนการยุติธรรมที่อิสระ เที่ยงตรงและที่ผู้คนเชื่อถือเป็นที่พักพิงได้ อาการของทั้งสองคนนับถอยหลังกันเป็นชั่วโมง หลายคนเป็นห่วงเรื่องผลกระทบทางสุขภาพ แต่สำหรับนักสู้ทางการเมืองเรื่องเหล่านั้นไม่ใช่เรื่องหลัก สิ่งที่ทั้งสองเป็นห่วงคือ ระบบยุติธรรมของประเทศนี้และสิทธิการประกันตัว รวมถึงเพื่อนทั้ง 15 คนที่ควรจะได้รับสิทธิการประกันตัวโดยปราศจากเงื่อนไข 

“ทุกครั้งที่ผมไปหาคุณตะวัน คุณแบม ผมมองตาผมเห็นพิพิม ลูกสาวผมอยู่ในนั้น บูมเมอแรงปาออกไป มันกลับมาหา ผู้แทนราษฎรในนี้มีคุณพ่อ คุณแม่ที่เคยสู้มาก่อน มีเราที่กำลังสู้อยู่ ลูกหลานของท่านที่ไม่มีหลักประกัน อาจจะเป็นลูกหลานของเราในนี้ห้าร้อยกว่าคนก็ได้ที่จะต้องเป็นคนที่เอาชีวิตเข้าไปแลกกับอิสรภาพ เสรีภาพขั้นพื้นฐานของความเป็นพลเมือง ฉะนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องของพวกเราทุกคนในประเทศไทย ไม่มีอิสรภาพ เสรีภาพกับกลุ่มคนหนึ่งก็คือ ไม่มีอิสรภาพ เสรีภาพ ไม่มีความเที่ยงตรงกับคนไทยทุกคนเช่นเดียวกัน” 

เรื่องที่สอง คือ สมดุลของสามเสาหลักฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการในการแก้ไขปัญหา  ในระบอบประชาธิปไตยและในทุกสังคมต้องมีการเปลี่ยนแปลง ความรู้สึกของยุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ทุกคนจะมีความคิดที่เห็นต่างกันเรื่อยๆ ทั้งที่เรารู้สึกสบายใจและไม่สบายใจ อาจจะเป็นความจริงอันน่ากระอักกระอ่วนใจที่เราไม่อยากจะรับฟังและทนไม่ได้ แต่เราจะทำอย่างไรนอกจากการรับฟังและหาฉันทามติในความปกติใหม่ ความรู้สึกของยุคสมัยที่ต่างออกไป รัฐบาลใช้ความรุนแรงทางกายภาพกดขี่ กดดันความเห็นต่างของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ตุลาการใช้ความรุนแรงทางกฎหมายกดปราบ รัฐสภานิ่งเฉย พวกเขาพูดมาไม่ได้ยินถึงต้องตะโกน พอเขาตะโกนไม่ได้ผลถึงต้องอดอาหารมาจนถึงตรงนี้ แทนที่พวกเราจะใช้ดุลพินิจในการถ่วงดุล เรากลับเพิกเฉยเขา ใช้ความรุนแรงทางกายภาพ ทางกฎหมายกดขี่ กดปราบพวกเขาจนกว่าจะเชื่อง นี่คือความผิดพลาดล้มเหลวของสามเสาหลักในประเทศนี้

เรื่องที่สาม คือ การหาทางออก บันไดสามขั้นคือ หนึ่ง คืนสิ่งที่เขามีตั้งแต่แรกคือ คืนสิทธิการประกันตัวของผู้ต้องหาทางการเมืองโดยไม่มีเงื่อนไข พิจารณาอย่างเป็นอิสระโดยไม่ต้องขึ้นกับผู้บริหาร บันไดที่สอง คือ การนิรโทษกรรมผู้เห็นต่างทางการเมืองตั้งแต่ปี 2557 ไม่ว่าจะเป็นคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือ 116 ก็ตาม การนิรโทษกรรมในไทยกลับหัวกลับหาง ประเทศอื่นๆ จะค้นหาความจริง (Fact finding) หาผู้รับผิดรับชอบ (Accountability ) และปรองดองสมานฉันท์ (Reconciliation) แต่ประเทศไทยกลับด้านกันคือ ปรองดองก่อน ไม่ต้องรับผิดชอบเหตุความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทำให้กระบวนการนิรโทษกรรมวนอยู่ในอ่าง เดินไปข้างหน้าต่อไปไม่ได้ และสาม คือ การป้องกันไม่ให้เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นในอนาคตอีก การแก้ไขกฎหมายตั้งแต่ประมวลกฎหมาย มาตรา 112 ที่มีโทษหนัก ตีความกว้าง ผู้ใดจะร้องทุกข์ก็ได้ และมาตรา 116 รวมถึงพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งพรรคก้าวไกลเสนอตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณา

ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ญัตติวันนี้เรื่องการถอนประกันตัวของตะวันและแบมที่ใช้สิทธิและชีวิตของตนเองเป็นเดิมพันเพื่อให้เพื่อนนักกิจกรรมคนอื่นได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เรื่องนี้เป็นความกล้าหาญและเป็นความท้าทายกระบวนการยุติธรรมและโครงสร้างกระบวนการยุติธรรมในประเทศนี้อย่างรุนแรง มันหมายถึงว่า กระบวนการยุติธรรมของเรานั้นมีปัญหาหรือไม่ “ในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยโดยเฉพาะอำนาจตุลาการตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มาถึงปัจจุบัน ไม่เคยมีการตรวจสอบถ่วงดุลกับอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารเลย เป็นอำนาจที่แยกต่างหากออกจากการตรวจสอบถ่วงดุล คือ อำนาจอิสระจริงๆ อย่าลืมว่า ถ้าอำนาจที่ปราศจากการตรวจสอบก็มักจะเป็นอำนาจที่เกิดขึ้นใช้อำนาจโดยอำเภอใจได้” โครงสร้างตุลาการต้องเอื้อต่อความเป็นอิสระถึงจะพิจารณาคดีและให้ความเป็นธรรมได้ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนข้อที่สิบระบุถึงเรื่องนี้ไว้

            ผู้พิพากษาของไทยอิสระหรือไม่? รัฐธรรมนูญปี 2550 คุ้มครองความอิสระของผู้พิพากษาห้ามมิให้ย้ายผู้พิพากษาโดยมิยินยอม และรัฐธรรมนูญ 2540 ประกันความอิสระคือ การนั่งพิจารณาคดีของศาลต้องครบองค์คณะ หลักความเป็นอิสระไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาตามลำดับชั้น การจ่ายสำนวนคดีต้องไม่เป็นตามอำเภอใจ ห้ามเรียกคืนสำนวน แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่มีบัญญัติไว้ ที่ผ่านมามีกรณีการตรวจและเรียกคืนสำนวน ไม่มีข้อห้ามในการโยกย้ายผู้พิพากษาโดยไม่ยินยอม เมื่อเป็นแบบนี้ถามว่า ความอิสระของผู้พิพากษาอยู่ที่ใด ไม่มีความเป็นไปได้เลยถ้ามีการตรวจสำนวนและตัดสินไม่ตรงกับผู้บังคับบัญชาอาจถูกย้ายและไม่เติบโตในหน้าที่การงานได้ “ผมเชื่อว่า ผู้พิพากษาหลายคนในประเทศนี้อึดอัดกับสิ่งนี้ คดีทางการเมืองกับคดีปกติเราควรจะได้พิจารณาเหมือนกัน การพูดไม่ใช่อาชญากรรม คุณค่าไม่อาจทำลายเพียงการวิจารณ์ แต่อาจพัฒนาให้ล้ำค่ากว่าเดิมได้ แต่การพูดในคดีการเมืองนั้นถูกดำเนินคดีและไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวได้ นี่คือลักษณะการขาดความเป็นอิสระขององค์ตุลาการ ผมอยากให้องค์กรตุลาการได้ปรับปรุงตัวเอง”

            ในตอนท้ายเขาย้ำว่า เราสามารถใช้สภาเป็นพื้นที่ปลอดภัย เชิญผู้เกี่ยวข้องตัวแทนศาล ตำรวจ และผู้ที่เกี่ยวข้อง พูดคุยแบบมีวุฒิภาวะหาทางออกร่วมกัน

ยธ. แจงเดินหน้าปฏิรูปด่วนตามอำนาจกระทรวง

สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกล่าวว่า สิทธิของผู้ต้องขังมีการประกาศโตเกียว 1975 และกฎมอลตา 1991 ซึ่งเป็นตัวกำกับการใช้อำนาจของรัฐ กรณีการส่งทั้งสองคนไปรักษาที่โรงพยาบาลภายนอกเป็นความต้องการของทั้งสอง  จากการเข้าเยี่ยมพบว่า ทั้งสองคนน้ำหนักลดไปประมาณ 10 กิโลกรัม กระทรวงยุติธรรมพยายามเข้าแก้ปัญหาตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2566 มีการพูดคุยกับปลัดกระทรวงยุติธรรม พวงทอง ภวัครพันธุ์ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และแอมมี่-ไชยอมร แก้ววิบูลพันธุ์  “ถ้าปล่อยให้ทุกคนทำกันอยู่ในระยะเวลาเส้นทางไกลตรงนั้นผมคิดว่า ไม่ได้เรื่องได้ราวและจะทำให้น้องเขามีโอกาสเสียชีวิตได้ ผมรู้สึกสะเทือนใจมากเพราะว่า เห็นผู้คนและคนที่อดอาหาร เด็กอายุขนาด 21 22 ปีเขาทุ่มเทได้ขนาดนั้นและเขาไม่ได้อดอาหารแบบไม่จริงจังหรือหลอกๆ สิ่งที่ผมดีใจมากที่สุดคือเขาเริ่มดื่มน้ำได้บ้างจากการพูดคุยกัน จากการกระทำของส.ส. เป็นสิ่งที่น่ายินดีเพราะเป็นการยืดอายุและชีวิตให้กับน้องๆ เพื่อให้เรามีเวลาในการแก้ไข”

ล่าสุดในช่วงเช้าของวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 เขาได้พูดคุยกับวสันต์ ภัยหลีกลี้ สุชาติ เศรษฐมาลินี และสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และปริญญา เทวานฤมิตรกุล ที่ปรึกษาคณะกรรมสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยจะร่วมทำงานในกรอบงานที่กระทรวงเดินหน้าทำได้โดยลำพัง ซึ่งจะทำเลยโดยไม่รอช้า โดยผลจากการประชุมมีสี่ประเด็น ดังนี้ 

  1. กระทรวงยุติธรรมพร้อมพิจารณาดำเนินการปฏิรูปในประเด็นการปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อให้การปฏิบัติในปัจจุบันสอดคล้องกับหลักการในมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมากยิ่งขึ้น กล่าวคือ “ในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุด แสดงว่า บุคคลใดกระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้” และ “การจับกุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้หลบหนี”  
  2. กระทรวงยุติธรรมพร้อมพิจารณาทบทวนระเบียบปฏิบัติที่ใช้บังคับในปัจจุบันเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในคดีความแตกต่างทางความคิดหรือความเห็นต่าง ซึ่งไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดี และยังไม่มีการพิพากษาว่าเป็นผู้กระทำความผิดให้สามารถคุมขังในสถานที่อื่นซึ่งไม่ใช่เรือนจำได้ ซึ่งรวมถึงการคุมขังที่บ้าน (House Arrest) เพื่อไม่เป็นการปฏิบัติต่อบุคคลดังกล่าวเสมือนเป็นผู้กระทำความผิด
  3. กระทรวงยุติธรรมพร้อมให้การสนับสนุนหลักประกันในการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาผ่านกลไกของกองทุนยุติธรรม
  4. กสม. จะให้การสนับสนุนในการจัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนไปยังคณะรัฐมนตรี รัฐสภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป