RECAP2022: รวมไฮไลท์ความเคลื่อนไหวทางการเมืองแห่งปี

ในปี 2565 มีเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองเกิดขึ้นหลายอย่าง แต่มีอย่างน้อยแปดเรื่องที่เราอยากจะไฮไลท์เพื่อให้ทุกคนมองเห็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เกิดขึ้นตลอดปี ดังนี้ 

หนึ่ง คดี #8ปีประยุทธ์ ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ต่อ หลัง ส.ส. ยื่นคำร้องเป็นนายกฯ ครบวาระ 8 ปี

ในปี 2565 หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญทางการที่ต้องกล่าวถึง คือ การที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราว หลังถูกยื่นคำร้องเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากรัฐธรรมนูญ ปี 2560 กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯ จะดำรงตำแหน่งรวมกันเกินแปดปีไม่ได้

ทั้งนี้ ถ้านับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกฯ หลังการรัฐประหารในปี 2557 ก็ต้องถือว่า พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกฯ มาครบกำหนดแปดปี แต่ท้ายที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยให้ พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อ เพราะเห็นว่า วาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเริ่มนับในวันที่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ประกาศใช้

สำหรับที่มาที่ไปของคดีนี้ สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2565 ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน 171 คน ยื่นคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปีแล้วหรือไม่ เนื่องจากมาตรา 158 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ ผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯ จะดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม

ในคำร้องของฝ่ายค้านระบุว่า รัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 158 วรรคสี่มีข้อห้ามไม่ให้นายกฯ ดำรงตำแหน่งเกินแปดปี ทว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้ดำรงตำแหน่งนายกฯ มาตั้งแต่หลังการรัฐประหาร ปี 2557 หรือ ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 ดังนั้น วาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ต้องสิ้นสุดในวันที่ วันที่ 24 สิงหาคม 2565

ฝ่ายค้านระบุด้วยว่า จากบันทึกเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มีการกำหนดระยะเวลาแปดปีไว้เพื่อป้องกันการผูกขาดอำนางการเมืองอันจะเป็นต้นเหตุของวิกฤติทางการเมือง และบันทึกความเห็นของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ยังระบุ ให้นับวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตั้งแต่ก่อนรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ประกาศใช้เข้าไปด้วย

นอกจากนี้ ฝ่ายค้านยังอ้างถึงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3-5/2550 และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 24/2564 ซึ่งเคยนำบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไปบังคับใช้กับกรณีที่เกิดขึ้นก่อนรัฐธรรมนูญประกาศใช้มาก่อน เพื่อโต้แย้งข้อกล่าวอ้างที่ว่า การนำบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไปใช้กับเหตุที่เกิดก่อนรัฐธรรมนูญประกาศใช้ เป็นการบังคับใช้กฎหมายย้อนหลังซึ่งกระทำไม่ได้

ต่อมา เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์รับคำร้อง และมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ให้ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย ส่งผลให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ขึ้นเป็นนายกฯ รักษาการ

จนกระทั่ง ในวันที่ 30 กันยายน 2565 ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 วินิจฉัยว่า การดำรงตำแหน่งนายกฯ ของพล.อ.ประยุทธ์ ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญ 2560 มีผลใช้บังคับ คือ วันที่ 6 เมษายน 2560 ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ยังดำรงตำแหน่งนายกฯ ไม่ครบ 8 ปี ความเป็นรัฐมนตรียังไม่สิ้นสุดลง จึงสามารถดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อไปได้

ศาลรัฐธรรมนูญ ระบุด้วยว่า กฎหมายมีผลใช้บังคับนับแต่วันประกาศใช้ เว้นแต่จะมีบทเฉพาะกาลกำหนดไว้โดยชัดเจนว่าให้เรื่องใดยังไม่มีผลใช้บังคับ ดังนั้น การนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ มาตรา 158 วรรคสี่ จึงมีผลใช้บังคับและเริ่มนับทันทีเมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้ คือ ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560

อีกทั้ง การดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามมาตรา 158 วรรคสี่ ย่อมหมายถึง การดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 เท่านั้น ดังนั้น แม้พล.อ.ประยุทธ์ จะเริ่มเป็นนายกฯ ตั้งแต่ 24 สิงหาคม 2557 ก็ให้ถือว่า “เป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560” ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 เป็นต้นไป ซึ่งเมื่อนับถึงวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของพล.อ.ประยุทธ์ จึงยังไม่ครบ 8 ปี

สำหรับข้อกล่าวอ้างของ ส.ส. พรรคฝ่ายค้านที่ว่า คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3-5/2550 และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 24/2564 เป็นการใช้กฎหมายย้อนหลังเพื่อเพิกถอนสิทธิทางการเมือง ไม่ใช่โทษทางอาญาจึงสามารถทำได้ ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า เป็นเรื่องเพิกถอนสิทธิทางการเมืองเพราะพรรคการเมืองทำผิดกฎหมาย และเป็นเรื่องลักษณะต้องห้ามของ ส.ส. ที่ทำให้ความเป็น ส.ส. สิ้นสุดลง โดยทั้งสองกรณีมีกฎหมายเขียนชัดเจนว่าให้มีผลย้อนหลังได้ แต่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้กำหนดกรณีการดำรงตำแหน่งตามระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีผลย้อนหลังได้ ข้อเท็จจริงจึงเป็นคนละกรณีกัน ไม่สามารถเอามาเทียบเคียงกันได้

ส่วนประเด็นเอกสารการประชุมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 500 ที่ระบุว่า มาตรา 158 วรรคสี่ ให้รวมถึงการดำรงตำแหน่งนายกฯ ก่อนที่รัฐธรรมนูญ 2560 ใช้บังคับ เห็นว่า การประชุมดังกล่าวเป็นเพียงการประชุมเพื่อพิจารณาความมุ่งหมายของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญรายมาตรา แต่การอภิปรายของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่ได้ถูกนำไประบุใน “เอกสารความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญ 2560” แต่อย่างใด ดังนั้น มาตรา 158 วรรคสี่ จึงหมายถึง การดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 เท่านั้น

จากคำวินิจฉัยของรัฐธรรมนูญ พล.อ.ประยุทธ์ จึงได้กลับเข้าปฏิบัติหน้าที่นายกฯ หลังจากที่ต้องหยุดพักการปฏิบัติหน้าที่ไปกว่า 37 วัน โดยผลของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญข้างต้น ถือเป็นการ “ต่ออายุทางการเมือง” ให้พล.อ.ประยุทธ์ เนื่องจากในการเลือกตั้งครั้งหน้าในปี 2566 พล.อ.ประยุทธ์ จะยังมีโอกาสได้รับเลือกให้เป็นนายกฯ ได้อีก ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถอยู่ครบเทอมสี่ปีจนถึงปี 2570 ก็ตาม

ทั้งนี้ หากนับตั้งแต่ปี 2562 จนถึง ปี 2565 คดี 8 ปี ประยุทธ์ เป็นคดีที่สี่ต่อจาก “คดีถวายสัตย์” “คดีเจ้าหน้าที่รัฐ” และ “คดีพักบ้านหลวง” ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกฯ ถูกยื่นตรวจสอบผ่านกลไกศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งทุกครั้งศาลรัฐธรรมนูญได้แสดง “อภินิหารทางกฎหมาย” วินิจฉัยในทางที่เป็นคุณแก่ พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งสิ้น

หากย้อนดูสายสัมพันธ์ระหว่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะไม่แปลกใจกับคำวินิจฉัยเหล่านี้ เพราะถ้านับถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 (วันวินิจฉัยคดี 8 ปี ประยุทธ์) จะพบว่าที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 7 ใน 9 คน มาจากการเลือกตั้งโดยอ้อมของคสช. กล่าวคือ มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 คน มาจากการลงมติเห็นชอบในสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.ที่มาจากการแต่งตั้งของพล.อ.ประยุทธ์ และมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 5 คน ที่มาจาการลงมติเห็นชอบโดย ส.ว.แต่งตั้ง ซึ่งทั้ง สนช. และ ส.ว. แต่งตั้งก็ล้วนมีที่มาจากคสช. อีกต่อหนึ่ง

สอง ชัชชาติ แลนด์สไลด์ประชาธิปไตย กระแสเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ

ผลการเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร ครั้งแรกในรอบเก้าปี หลังจากต้องถูกแช่แข็งจากการรัฐประหาร คสช. ทำให้เกิดปรากฏการณ์ “ชัชชาติแลนด์สไลด์” ที่ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าในนามอิสระ สามารถชนะเลือกตั้งด้วยคะแนน 1,386,215 คะแนน หรือคิดเป็น 51.84% ของผู้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยสามารถชนะได้ครบทั้ง 50 เขต เรียกว่าทิ้งห่างคู่แข่งทุกคนอย่างไม่เห็นฝุ่น

ขณะที่การเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) จำนวน 50 เขต พรรคการเมืองฝ่ายค้านก็ครอบครองที่นั่งในสภากรุงเทพมหานครเกินครึ่งหนึ่งของสภา โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยได้ที่นั่ง ส.ก.มากที่สุด คือ 20 คน รองลงมาคือ พรรคก้าวไกลได้ที่นั่ง ส.ก. คือ 14 คน รวมแล้ว 34 คน ขณะที่พรรคการเมืองซีกรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ได้ 9 คน ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ ได้ 2 คน เท่านั้น

ปรากฏแลนด์สไลด์จากเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร ทำให้นักวิเคราะห์การเมืองจำนวนมากเห็นสอดคล้องกันว่า ชนะของชัชชาติ และพรรคร่วมฝ่ายค้านในสนามเลือกตั้งนี้ สะท้อนความเบื่อหน่ายของประชาชนต่อรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งไม่ใช่แค่ในกรุงเทพมหานครเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อการเมืองระดับชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นอกจากนี้การเลือกตั้งกรุงเทพมหานครยังจุดประกายให้ภาคประชาชนในนาม กลุ่ม We’re All Voters เริ่มต้นผลักดันให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ โดยมีกิจกรรมรวบรวมรายชื่อผ่านเว็บไซต์ change.org และนำรายชื่อได้ยื่นต่อรัฐสภา เพื่อผลักดันให้พรรคการเมืองบรรจุข้อเรียกร้องนี้ไปเป็นนโยบายในการหาเสียงครั้งต่อไป รวมทั้งมีการจัดกิจกรรมสาธารณะในจังหวัดหัวเมืองสำคัญ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย ขอนแก่น และภูเก็ต

ขณะเดียวกันยังมีความเคลื่อนไหว ผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปลดล็อกให้ท้องถิ่นสามารถมีอำนาจและใช้งบประมาณได้เอง นำโดยคณะก้าวหน้า ซึ่งรวบรวมรายชื่อถึง 80,772 รายชื่อ โดยใช้เวลารวบรวมรายชื่อประมาณสามเดือน อย่างไรก็ตามเมื่อร่างรัฐธรรมนูญปลดล็อกท้องถิ่นเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา แม้เสียงข้างมากของรัฐสภาจะเห็นชอบในหลักการแต่ร่างปลดล็อกก็ต้องตกไปเนื่องจากไม่ผ่านเงื่อนไขที่ต้องให้ ส.ว.เห็นชอบอย่างน้อย 84 คน ซึ่งมี ส.ว.เพียงหกคนเท่านั้นที่เห็นชอบ

สาม ศึกแย่งชิงระบบเลือกตั้งได้ข้อยุติ จบที่ “ใช้บัตรสองใบ-สูตรหารร้อย”

ในปี 2565 การเมืองไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หลังรัฐสภาได้เปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้งใหม่ มาใช้ระบบเลือกตั้งแบบผสมเสียงข้างมาก (Mix Member Majoritarian-MMM) หรือ “ระบบคู่ขนาน” โดยแยกที่มาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ด้วยบัตรเลือกตั้งสองใบ ใบหนึ่งใช้เลือก ส.ส.แบบแบ่งเขต ส่วนอีกใบใช้เลือกพรรคการเมืองเพื่อนำมาคำนวณเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ

การเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้ง เกิดขึ้นเมื่อพรรคการเมืองสามพรรค ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ เห็นตรงกันว่า ควรกลับไปใช้ระบบเลือกแบบคู่ขนาน เพราะระบบเลือกตั้งแบบเก่าหรือที่เรียกว่าระบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” (Mixed Member Apportionment-MMA) ถูกออกแบบมาไม่ให้มีพรรคการเมืองที่ครองเสียงข้างมากในสภาซึ่งส่งผลให้เกิดรัฐบาลผสมหลายพรรคที่อ่อนแอ ในขณะที่ระบบเลือกตั้งแบบคู่ขนานจะเพิ่มโอกาสในการเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ หรือ ครองเสียงข้างมากในสภาเพื่อจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวหรือรัฐบาลผสมน้อยพรรคได้

แม้ว่าระบบเลือกตั้งคู่ขนานดูจะเป็นความหวังทั้งของพรรคฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล แต่หนทางการเปลี่ยนระบบเลือกตั้งกลับเป็นไปอย่างทุลักทุเล ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความขัดแย้งระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

โดยฝ่าย พล.อ.ประวิตร ต้องการระบบเลือกตั้งที่เรียกว่า “สูตรหาร 100” หรือ ระบบเลือกตั้งที่แยกการคำนวณ ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ออกจากกัน โดยให้ ส.ส.เขต มาจากผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดในเขตเลือกตั้งนั้นๆ ส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ มาจากการเอาคะแนนเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองทั้งหมดมาหารด้วยจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ (100 คน) แล้วถึงคำนวณหา ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค

โดยวิธีการคำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ เบื้องต้น มีดังนี้

  1. นำคะแนนเสียงเลือกตั้งทั้งหมดมาหารด้วยจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อทั้งหมด (100) เพื่อคะแนนเฉลี่ย ต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อหนึ่งคน
  2. นำคะแนนเสียงของแต่ละพรรคการเมืองมาหารด้วยคะแนนเฉลี่ย ต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อหนึ่งคนเพื่อหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองได้รับ

ยกตัวอย่างเช่น คะแนนเสียงเลือกตั้งของทุกพรรคการเมืองรวมกันได้ 40,000,000 เสียง พรรคการเมือง A ได้คะแนนเสียงไป 10,000,000 เสียง พรรคการเมือง A จะมีจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ดังนี้

  1. 40,000,000 ÷ 100 = 400,000
  2. 10,000,000 ÷ 400,000 = 25

พรรคการเมือง A จะมี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 25 ที่นั่ง และเมื่อเอาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไปรวมกับจำนวน ส.ส.เขต ก็จะเป็นจำนวน ส.ส.ทั้งหมด ที่พรรคการเมืองได้รับ

จากสูตรคำนวณระบบเลือกตั้งดังกล่าว จะเห็นได้ว่า ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็น ‘ส่วนเพิ่ม’ จากจำนวน ส.ส.เขต ที่พรรคการเมืองได้รับ ยิ่งพรรคการเมืองได้รับคะแนนนิยมจากคนทั้งประเทศมากเท่าไร ก็ยิ่งได้รับจำนวน ส.ส. เพิ่มขึ้นจากจำนวน ส.ส.เขต จนมีโอกาสเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ พล.อ.ประวิตร และบรรดา ส.ส. ต้องการ เพราะจะทำให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลหรือมีอำนาจต่อรองในการร่วมรัฐบาลได้ แม้ไม่มีสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งมาช่วยเลือกนายกรัฐมนตรี

ในขณะที่ฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการระบบเลือกตั้งที่เรียกว่า “สูตรหาร 500” หรือ ระบบเลือกตั้งที่นำคะแนนของแต่ละพรรคการเมืองมาเป็นตัวกำหนดจำนวน ส.ส.ทั้งหมด โดยการเอาคะแนนเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองทั้งหมดมาหารด้วยจำนวน ส.ส. ทั้งหมด (500) จากนั้น ถึงมาคำนวณหาจำนวน ส.ส.พึงมีของแต่ละพรรค และหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตามลำดับ

โดยวิธีการคำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ เบื้องต้น มีดังนี้

  1. นำคะแนนเสียงเลือกตั้งทั้งหมดมาหารด้วยจำนวน ส.ส.ทั้งหมด (500) เพื่อคะแนนเฉลี่ย ต่อ ส.ส.หนึ่งคน
  2. นำคะแนนเสียงของแต่ละพรรคการเมืองมาหารด้วยคะแนนเฉลี่ย ต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อหนึ่งคนเพื่อหาจำนวน ‘ส.ส.พึงมี’ ของแต่ละพรรค
  3. นำจำนวน ส.ส.พึงมี ของแต่ละพรรค มาลบด้วยจำนวน ส.ส.เขต ที่พรรคการเมืองนั้นได้รับ เพื่อหา ‘ส.ส.บัญชีรายชื่อ’

ยกตัวอย่างเช่น คะแนนเสียงเลือกตั้งของทุกพรรคการเมืองรวมกันได้ 40,000,000 เสียง พรรคการเมือง A ได้คะแนนเสียงไป 10,000,000 เสียง พรรคการเมือง A จะมีจำนวน ส.ส. ดังนี้

  1. 40,000,000 ÷ 500 = 80,000
  2. 10,000,000 ÷ 80,000 = 125

หมายความว่า พรรคการเมือง A จะมี ส.ส.ทั้งหมด 125 ที่นั่ง ถ้าพรรคการเมือง A มี ส.ส. เขต 100 คน พรรคการเมือง A ก็จะมี ส.ส.บัญชีรายชื่อ 125-100 = 25 คน

จากสูตรคำนวณระบบเลือกตั้งข้างต้น จะพบว่า ถ้าพรรคการเมืองใดมี ส.ส.เขตมาก โอกาสที่จะได้รับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก็จะน้อยลง ดังนั้น พรรคขนาดใหญ่จึงได้รับผลกระทบจากระบบเลือกตั้งแบบนี้ และมีโอกาสน้อยลงที่จะครองเสียงข้างมากแบบเด็ดขาดในสภา เว้นแต่ได้รับเสียงจากประชาชนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งผลลัพธ์ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการคือ การทำให้พรรคเพื่อไทยไม่มีโอกาสแลนด์สไลด์ หรือ ครองเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งในสภา เพื่อให้ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้ง เป็นมีอำนาจต่อรองในการตั้งรัฐบาลอยู่ แม้จะชั่วคราวก็ตาม

ผลจากความขัดแย้งระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ทำให้เกิดศึกแย่งชิงระบบเลือกตั้งในระหว่างการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส.

โดยศึกแย่งชิงระบบเลือกตั้งยกแรก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นฝ่ายชนะ โดยระหว่างรัฐสภากำลังพิจารณา ร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. ในวาระที่สอง ในมาตรา 23 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ว่าด้วยวิธีการคำนวณที่นั่ง ส.ส. ผลปรากฎว่า เสียงข้างมากของรัฐสภาไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะกรรมธิการวิสามัญเสียงข้างมาก ที่กำหนดให้ใช้ “สูตรหาร 100” และเปลี่ยนมาใช้ “สูตรหาร 500”

ต่อมา พล.อ.ประวิตร ได้ทำการตอบโต้ด้วยการใช้เทคนิก “สภาล่ม” จนรัฐสภาไม่สามารถพิจารณาให้ความเห็นชอบ ร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. ได้ทันตามกรอบเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนด จนสุดท้าย ร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. ที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา จึงเป็นร่างที่กำหนดให้ใช้ระบบเลือกตั้งแบบคู่ขนาน “ใช้บัตรเลือกตั้งสองใบและสูตรหารร้อย” ในที่สุด

แม้ต่อมาจะมีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญว่า ร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. ที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาจะขัดรัฐธรรมนูญ และพยายามตีความให้กลับไปใช้ระบบเลือกตั้งแบบสูตรหารห้าร้อย แต่ทว่า ศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยว่า ร่างกฎหมายเลือกตั้งฯ ตราขึ้นโดยถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

สี่ กสทช. ตัดอำนาจตัวเอง เปิดทางควบรวมทรู-ดีแทค เสี่ยงผูกขาดโทรคมนาคมไทย

หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญของปี 2565 ที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือ การประกาศ “ควบรวมกิจการ” ระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ทรู (TRUE) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค (DTAC)

การที่สองบริษัทยักษ์ใหญ่ในธุรกิจด้านโทรคมนาคมประกาศควบรวมกัน ทำให้บรรดานักวิชาการ ภาคประชาสังคม ต่างแสดงความกังวลว่า “อภิมหาดีล” จะนำไปสู่การผูกขาดทางการค้าซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในฐานะผู้ใช้บริการที่อาจจะต้องจ่ายค่าบริการในราคาแพงขึ้นอย่างไม่มีทางเลือก

ในการควบรวมครั้งนี้ ฝ่าย ทรู-ดีแทค อ้างว่า การควบรวมจะทำให้ต้นทุนและค่าบริการถูกลง แต่เรื่องนี้ยังไม่มีอะไรมาการันตีว่าผู้บริโภคจะได้ประโยชน์จริง เพราะเมื่อการแข่งขันลดลง ผู้ให้บริการก็จะไม่มีแรงจูงใจในการลดต้นทุน หรือต่อให้สามารถลดต้นทุนได้จริง ผู้ให้บริการที่อยู่ในตลาดที่ปราศจากการแข่งขัน ก็ไม่มีความจำเป็นต้องลดค่าบริการตามไปด้วย

จากข้อมูลของ 101 PUB – 101 Public Policy Think Tank ระบุว่า ถ้าดีลการควบรวมนี้สำเร็จ ค่าบริการโทรศัพท์ที่คนไทยต้องจ่ายก็จะสูงขึ้น โดยขึ้นอยู่กับว่าหลังจากการควบรวมแล้วบริษัทใหม่จะแข่งขันกับเอไอเอสหรือไม่ หรือเลือกที่จะ “ฮั้วกัน” เพื่อตั้งราคาโดยไม่มีการแข่งขัน ซึ่งพอจะสรุปการประเมินค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่งสูงขึ้นได้ ดังนี้

  • ในกรณีที่แข่งขันกันรุนแรง ค่าบริการเพิ่มขึ้น 15-22 บาทต่อเดือน
  • ในกรณีที่แข่งขันกันตามปกติ ค่าบริการเพิ่มขึ้น 29-50 บาทต่อเดือน
  • ในกรณีที่ไม่แข่งขัน ค่าบริการเพิ่มขึ้น 145-260 บาทต่อเดือน

เมื่อการควบรวม ทรู-ดีแทค ไม่ใช่แค่การตัดสินใจทางธุรกิจ แต่เป็นเรื่องผลประโยชน์สาธารณะ คำถามถัดมาคือ หน่วยงานใดที่มีหน้าที่รับผิดชอบพิจารณาดีลทรู-ดีแทค ซึ่งองค์กรแรกที่ถูกคาดหมาย คือ คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ในฐานะองค์กรตาม พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ซึ่งดูแลการแข่งขันในตลาดไทย แต่ทว่า กขค. กลับรีบดีดตัวออกจากเรื่องนี้อย่างรวดเร็ว ซึ่งชวนให้คิดถึงผลงานในอดีตของ กขค. อาทิ การอนุมัติการควบรวมซีพี-เทสโก้โลตัส มาก่อน

สุดท้ายแล้ว “เผือกร้อน” มูลค่าหลักแสนล้านบาทจึงถูกโยนมาให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะผู้กำกับดูแล แต่ทว่า ยังมีข้อโต้แย้งสำคัญว่า กสทช. มีอำนาจในการพิจารณาเรื่องนี้หรือไม่

ฝ่ายทรู-ดีแทคและผู้สนับสนุนการควบรวม อ้างว่าประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561 ข้อ 5 ระบุเพียงให้ผู้ได้รับใบอนุญาต “รายงาน” ต่อ กสทช. อย่างน้อย 90 วันก่อนการดำเนินการ แต่ไม่มีอำนาจในปฏิเสธการควบรวม ทำได้เพียงกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมเพื่อเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นเท่านั้น

ด้านฝ่ายคัดค้านการควบรวมโต้แย้งว่า ภายใต้ประกาศ กสทช. ข้อ 9 ระบุเพิ่มเติมว่า “การรายงานตามข้อ 5 ข้อ 6 ข้อ 7 หรือข้อ 8 ให้ถือเป็นการขออนุญาตจาก กสทช. ตามข้อ 8” ของประกาศฯ พ.ศ. 2549 ดังนั้น การรายงานการควบรวมกิจการจึงไม่จบที่กระบวนการรายงาน แต่ถือเป็นการ “ขออนุญาต” ด้วย

นอกจากนี้ ภายใต้พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ยังระบุให้ กสทช. มีหน้าที่ต้อง “ป้องกันมิให้มีการแสวงหาประโยชน์จากผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรมหรือสร้างภาระแก่ผู้บริโภคเกินความจําเป็น” และมีอำนาจในการกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันการผูกขาดและการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมอีกด้วย

อย่างไรก็ดี ในวันที่ 20 ตุลาคม 2565 หลังการประชุมยาวนานกว่า 11 ชั่วโมง กสทช. ได้มีมติเสียงข้างมาก “รับทราบ” การควบรวมบริษัททรูและดีแทคแบบมีเงื่อนไข โดยบอร์ด กสทช. ที่ปฏิบัติงานอยู่ทั้ง 5 คนมีความเห็นแตกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายแรกเห็นว่า กสทช. ไม่มีอำนาจหยุดยั้งการควบรวมและทำได้เพียงรับทราบ ในขณะที่อีกฝ่ายเห็นว่า กสทช. มีอำนาจและไม่อนุญาตให้มีการควบรวม

ทั้งนี้ กสทช. ได้ทำการลงมติถึงสองครั้ง การลงมติครั้งแรก พบว่า ฝ่ายรับทราบ (ยอมให้มีการควบรวมกิจการ) ได้คะแนนเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่ง โดยเสมอกันกับผู้ที่เห็นว่าไม่ควรอนุญาตให้ควบรวมสองต่อสอง ในขณะที่มีผู้งดออกเสียงหนึ่งเสียง

เมื่อคะแนนเสียงเท่ากัน สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ในฐานะประธาน กสทช. จึงใช้อำนาจใช้เสียงตัวเองโหวตอีกครั้ง พร้อมชี้ขาดว่า กสทช. ไม่มีอำนาจค้านการควบรวมทรูและดีแทค และอ้างว่าทรู-ดีแทคไม่ได้เป็นธุรกิจประเภทเดียวกัน กสทช. จึงไม่มีอำนาจตามประกาศ กสทช.

หลังผลการลงมติของกสทช. เผยแพร่ออกมา พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. เสียงข้างน้อยผู้คัดค้านการควบรวม ได้ออกมาเขียนความเห็นของตนเองว่า ทั้งสองธุรกิจเป็นประเภทเดียวกันและการควบรวมจะก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบที่มาตรการต่าง ๆ ไม่สามารถบรรเทาได้ ในขณะที่ฝ่ายสภาองค์กรผู้บริโภคได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้ชะลอและเพิกถอนมติ “รับทราบ” ของ กสทช. เนื่องจากส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค แต่สุดท้ายศาลปกครองมีคำสั่งยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวให้ชะลอดีลควบรวมไว้ก่อน

ทั้งนี้ ตัวแทนจากองค์กรผู้บริโภคให้สัมภาษณ์ว่าเป็นการวินิจฉัยในประเด็นขอคุ้มครองชั่วคราวเท่านั้น ยังไม่เกี่ยวกับคดีแต่อย่างใด และจากนี้จะหาทางต่อสู่คดีต่อไป ด้าน ประธาน กสทช. สรณ ผู้ลงมติสองรอบให้ “รับทราบ” กล่าวว่า กสทช. จะมีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่องว่าผู้ควบรวมทำตามเงื่อนไขที่ กสทช. กำหนดหรือไม่ และ กสทช. จะเร่งหาผู้เล่นรายใหม่ให้เข้ามาในตลาด “เป็นทางเลือกให้ประชาชนมากขึ้น”

แม้มหากาพย์รอบแรกจะจบลงที่สองบริษัทยักษ์ใหญ่ควบรวมกันได้โดยไม่มีหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับโดยตรงขัดขวาง แต่ภาคประชาชนก็ยังใช้กลไกศาลในการตรวจสอบอยู่ ดังนั้น ในปีหน้าต้องมาจับตาดูว่า คำพิพากษาของศาลจะเป็นศาลอย่างไร รวมถึงบทบาทของ กสทช. ในการกำกับดูแลการควบรวมนั้นจะเข้มงวดเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบด้านลบกับประชาชนจะทำได้จริงหรือไม่ คงต้องให้เวลาเป็นตัวพิสูจน์

ห้า รัฐใช้เทคโนโลยีเพกาซัสสอดส่องผู้เห็นต่าง แอปเปิล-เฟซบุ๊คเตือนผู้ใช้งานให้ระวัง

ปี 2565 เป็นอีกปีที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามของรัฐในการละเมิดสิทธิของประชาชน ก่อนหน้านี้เราอาจจะพบเห็นการส่งเจ้าหน้าที่รัฐไปคุกคามหรือติดตามผู้เห็นต่างทางการเมือง แต่การเปิดโปงการใช้ “สปายแวร์เพกาซัส” ทำให้เห็นว่ารัฐพร้อมจะใช้เครื่องมือทุกอย่างในการสอดส่องและยิ่งทวีความรุนแรงในการทำลายความเป็นส่วนตัวของประชาชนมากขึ้น

สปายแวร์เพกาซัสถูกคิดค้นและผลิตโดยบริษัทสัญชาติอิสราเอล เอ็นเอสโอกรุ๊ป และจะขายให้กับลูกค้าที่เป็นหน่วยงานของรัฐผ่านการรับรองจากรัฐบาลอิสราเอลเท่านั้น เพกาซัสได้รับการขนานนามว่าเป็น “อาวุธไซเบอร์ที่ร้ายแรงที่สุดในโลก” เนื่องจากความสามารถในการเจาะเข้าสู่โทรศัพท์ของเป้าหมายโดยวิธีการ “ไร้การคลิ๊ก” (zero click) กล่าวคือ เพกาซัสสามารถเข้าไปได้โดยที่เป้าหมายไม่รู้ตัวและไม่จำเป็นต้องคลิ๊กลิงค์เหมือนสปายแวร์รูปแบบอื่น เมื่อเจาะเข้าไปแล้ว เพกาซัสมีความสามารถในการล้วงข้อมูลได้ทุกอย่างบนโทรศัพท์เป้าหมาย ตั้งแต่ รูปภาพ วิดีโอ ประวัติการโทรและการใช้งานอินเทอร์เน็ต แชท อีเมล ไปจนถึงการสั่งเปิดกล้องและไมโครโฟนบนเครื่องเพื่อรับฟังและดูสิ่งที่เกิดขึ้นโดยรอบ โดยที่มาตรการการรักษาความเป็นส่วนตัวอย่างการยืนยันตนสองชั้นหรือการเข้ารหัสไม่สามารถป้องกันเพกาซัสได้

ที่ผ่านมา เพกาซัสและเอ็นเอสโอกรุ๊ปกลายเป็นข่าวฉาวระดับโลกจากการเปิดโปงในช่วงกลางปี 2564 ของสำนักข่าวต่างประเทศ โดยเริ่มมาจากนักข่าวได้รับเอกสารหลุดซึ่งมีเบอร์โทรศัพท์ของคนที่ต้องสงสัยว่าโดนเพกาซัสเจาะโทรศัพท์อย่างน้อย 50,000 หมายเลข ซึ่งพบว่ามีบุคคลสำคัญทางการเมือง และคนที่ทำงานอยู่ในด้านสิทธิมนุษยชนหรือสื่อสารมวลชนจำนวนมาก เสียงวิพากษ์วิจารณ์ได้นำไปสู่การยื่นฟ้องร้องเอ็นเอสโอกรุ๊ปในเดือนพฤศจิกายน 2563 โดยบริษัทแอปเปิล และหลังจากนั้นไม่นานก็บริษัทสัญชาติอิสราเอลก็ถูกรัฐบาลสหรัฐขึ้นบัญชีดำอีกด้วย

ในช่วงเวลาเดียวกับที่บริษัทผู้ผลิตไอโฟนยื่นฟ้องเอ็นเอสโอในสหรัฐ ประชาชนไทยผู้ใช้งานไอโฟนหลายสิบคนก็ได้รับอีเมลจากแอปเปิลซึ่งเตือนว่าตนเองกำลังตกเป็นเป้าหมายของการโจมตีโดยผู้ที่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐ (state-sponsored attacker) ซึ่งต่อมาได้รับการเปิดเผยว่าเป็นเพกาซัส

จากนั้นในวันที่ 18 กรกฎาคม 2565 ไอลอว์ ร่วมกับ DigitalReach และ Citizen Lab จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวข้อค้นพบจากการสืบสวนการใช้สปายแวร์เพกาซัสในประเทศไทย โดยสามารถยืนยันได้ว่ามีนักกิจกรรม นักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักวิชาการ และนักการเมืองฝ่ายค้าน รวมกันอย่างน้อย 35 คน ถูกเพกาซัสเจาะโทรศัพท์มือถือส่วนตัว เหยื่อทั้งหมดมีประวัติในการแสดงความเห็นที่ตรงกันข้ามกับรัฐบาลและผู้มีอำนาจ หลายคนเป็นผู้นำในการชุมนุมทางการเมือง อีกทั้งช่วงเวลาในการโจมตีของเพกาซัสยังเกิดขึ้นในช่วงปี 2563-2564 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่การชุมนุมที่นำโดยนิสิตนักศึกษากำลังพุ่งขึ้นถึงสูงสุด การโจมตีทุกครั้งสอดคล้องกับเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญ เช่น การนัดหมายชุมนุม หรือการอภิปรายงบประมาณในสภา

การเปิดโปงเพกาซัสครั้งนี้ถูกนำเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดยมี ส.ส. จากพรรคฝ่ายค้านเป็นผู้อภิปราย อย่างไรก็ตาม คำตอบที่ได้จากผู้นำในรัฐบาลกลับขาดความชัดเจนและสม่ำเสมอ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวยอมรับว่า “ระบบนี้มีจริง” เพียงแต่ไม่ได้อยู่ในอำนาจของกระทรวงดิจิทัลฯ และใช้ในงานด้านความมั่นคงและยาเสพติดเท่านั้น ต่อมาอีกไปกี่วัน ชัยวุฒิก็ชี้แจงอีกครั้งว่าเป็นการเข้าใจผิด ตนเพียงบอกว่ามีสปายแวร์อยู่จริงในโลกนี้เท่านั้น ด้านพล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลางโหม กล่าวอย่างคลุมเครือว่า “รัฐบาลนั้นไม่มีนโยบายที่จะใช้หรือสปายแวร์หรือปฏิบัติข่าวสาร ที่จะไปกระทบต่อสิทธิของบุคคลหรือประชาชนทั่วไป” โดยไม่ได้ตอบว่ามีการใช้จริงหรือไม่ และใครที่ไม่นับเป็นประชาชนทั่วไปบ้าง

ในขณะที่นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา บอกปัดโดยสิ้นเชิง พร้อมกล่าวว่าไม่มีความจำเป็นต้องซื้อสปายแวร์

หลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็มีการเปิดเผยเอกสารของบประมาณจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่ามีการขอซื้อสปายแวร์ที่มีคุณสมบัติเหมือนกับเพกาซัสด้วยวงเงินงบประมาณกว่า 350 ล้านบาท โดยหนึ่งในผู้ที่เข้าเสนอราคาคือบริษัทคิวไซเบอร์ ซึ่งเป็นเหมือนบริษัทพี่น้องของเอ็นเอสโอกรุ๊ปด้วย อย่างไรก็ดี ท้ายที่สุดคณะกรรมาธิการงบประมาณสภาผู้แทนราษฎรก็ได้มีมติตัดงบประมาณส่วนนี้ออกไป

ต่อมาในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 เหยื่อของเพกาซัสจำนวน 8 คน ร่วมเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเอ็นเอสโอกรุ๊ปต่อศาลแพ่ง โดยเรียกร้องค่าเสียหายจากการถูกล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัวคนละ 1,000,000 บาท และค่าเสียหายจากการติดตามศึกษาตรวจสอบการใช้สปายแวร์อีก 500,000 บาท รวมทั้งหมด 8,500,000 บาท คำฟ้องกล่าวว่าการเจาะโทรศัพท์เข้ามาล้วงข้อมูลโดยเพกาซัสนั้นเป็นการทำลายความเป็นส่วนตัวของโจทก์โดยสิ้นเชิง โจทก์ทั้ง 8 คนได้รับความเสียหายต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งเป็นความเสียหายอันไม่ใช่ตัวเงิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 446

แต่ก็ดูเหมือนการสอดแนมโดยรัฐจะยังไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 นักกิจกรรมทางการเมือง ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน และผู้ลี้ภัยชาวไทย จำนวนรวมทั้งหมดเท่าที่เก็บข้อมูลได้ 44 คน ได้รับข้อความแจ้งเตือนจากบริษัทเมต้า ผู้ให้บริการเฟซบุ๊คว่า “ผู้โจมตีที่เชี่ยวชาญอาจสนใจบัญชีเฟซบุ๊คของคุณอยู่” และยังมีข้อความว่า “การแจ้งเตือนเกี่ยวกับผู้โจมตีที่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลหรือผู้โจมตีที่เชี่ยวชาญ” ข้อสังเกตุหนึ่งคือผู้ที่ได้รับการแจ้งเตือนในครั้งนี้หลายคนเป็นคนที่ไม่ได้ทำงานเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่เคยถูกเจ้าหน้าที่ติดตามหรือคุกคามมาก่อน ต่างจากเหยื่อในกรณีเพกาซัสที่ค่อนข้างเป็นที่รู้จักมากกว่า

หก ข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญ #ปิดสวิตช์สว #ปลดล็อคท้องถิ่น ไม่ได้ไปต่อ ถูก ส.ว. ปัดตกรวด

ในปี 2565 รัฐสภามีวาระพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญถึง 2 ครั้ง และมีร่างแก้รัฐธรรมนูญที่ถูกเสนอรวมกัน 5 ฉบับ แต่ร่างแก้รัฐธรรมนูญทุกฉบับต่างถูกปัดตกตั้งแต่การพิจารณาในวาระแรก เนื่องจาก ทุกฉบับได้รับเสียงเห็นชอบจากสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ไม่ถึงหนึ่งในสาม (ประมาณ 84 เสียง) ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการแก้รัฐธรรมนูญ แม้ว่าบางฉบับจะได้รับเสียงเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภาเกินกึ่งหนึ่ง (ประมาณ 365 เสียง) ก็ตาม

สำหรับการพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญครั้งแรกของปี 2565 คือ วันที่ 7 กันยายน 2565 โดยมีร่างแก้รัฐธรรมนูญที่ถูกเสนอมาทั้งสิ้น 4 ฉบับ ได้แก่

  1. ร่างแก้รัฐธรรมนูญเรื่องสิทธิชุมชน ที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทย
  2. ร่างแก้รัฐธรรมนูญเรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรม เสรีภาพในการแสดงออก และสิทธิทางสาธารณสุข ที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทย
  3. ร่างแก้รัฐธรรมนูญเรื่องผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯ​ ต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทย
  4. ร่างแก้รัฐธรรมนูญเรื่อง ยกเลิกอำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ ที่เสนอโดยภาคประชาชน

ในการเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ มีประเด็นสำคัญ คือ การเสนอยกเลิกอำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ เนื่องจากเป็นกลไกสำคัญในการสืบทอดอำนาจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ทว่า ร่างแก้รัฐธรรมนูญทุกฉบับ กลับถูกปัดตก เนื่องจากได้รับเสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ไม่ถึงหนึ่งในสาม อีกทั้ง ยังมีร่างแก้รัฐธรรมนูญถึงสามฉบับที่ได้รับเสียงเห็นชอบไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภา

โดยหนึ่งในร่างแก้รัฐธรรมนูญที่ได้รับเสียงเห็นชอบไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภา คือ ข้อเสนอยกเลิกอำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ หรือ ปิดสวิตซ์ ส.ว. เนื่องจาก มี ส.ส.บางส่วนที่ยังต้องการรักษากลไกในการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ไว้ นั่นก็คือ พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลัง (ชื่อใหม่ของพรรครวมพลังประชาชาติไทย) และพรรคเล็กอีกจำนวน 4 พรรค

ส่วนการพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญครั้งที่สองของปี 2565 คือ วันที่ 7 ธันวาคม 2565 โดยมีร่างแก้รัฐธรรมนูญที่ถูกเสนอมาเพียงฉบับเดียว หรือ ร่างแก้รัฐธรรมนูญ #ปลดล็อคท้องถิ่น ที่นำโดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า

โดยสาระสำคัญของร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ การปลดล็อคเพิ่มศักยภาพขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในการดูแลทุกข์สุขของประชาชน ด้วยการให้อำนาจองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นทำบริการสาธารณะแทบทุกเรื่อง ยกเว้น เรื่องความมั่นคง และให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับการจัดสรรงบประมาณนอัตราร้อยละ 50 จากรายได้ทั้งหมดของรัฐ รวมถึงเสนอให้มีการทำประชามติเพื่อยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคและถ่ายโอนมาให้ท้องถิ่นเป็นคนจัดการ

อย่างไรก็ดี จากผลการลงมติร่างแก้รัฐธรรมนูญ พบว่า มีสมาชิกรับหลักการ 254 ไม่รับหลักการ 245 คะแนน งดออกเสียง 129 คะแนน โดยแบ่งเป็น ส.ส. ลงมติรับหลักการ 248 เสียง ไม่รับหลักการ 56 เสียง งดออกเสียง 119 เสียง และ ส.ว. ลงมติรับหลักการ 6 เสียง ไม่รับหลักการ 189 เสียง งดออกเสียง 10 เสียง ดังนั้น ร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจึงเป็นอันต้องตกไป เนื่องจากได้รับเสียงเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภาไม่ถึงกึ่งหนึ่ง และได้รับเสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ไม่ถึงหนึ่งในสาม

แม้ในปี 2565 ประตูในการเสนอแก้รัฐธรรมนูญจะถูกปิดลงทุกครั้ง แต่หนทางในการผลักดันให้เกิดการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ยังคงไม่จบลง เพราะบรรดา ส.ส. ได้อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 เสนอให้มีการทำประชามติเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน แต่ขั้นตอนดังกล่าวอยู่ระหว่างการให้ ส.ว. ลงมติเห็นชอบ ก่อนจะเสนอเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการต่อไป

แต่ถึงแม้ ส.ว. จะปัดตกข้อเสนอการทำประชามติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ของ ส.ส. แต่ภาคประชาชนก็ยังมีช่องทางการเข้าชื่อเสนอทำประชามติเองได้ ตาม พ.ร.บ.ประชามติ ซึ่งปัจจุบันมีแคมเปญที่ชื่อว่า “Reset ประเทศไทย” ที่รวบรวมรายชื่อของประชาชนให้ครบ 50,000 ชื่อ เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการทำประชามติต่อไป

เจ็ด รัฐบาลไร้เสถียรภาพ คุมเสียงในสภาไม่ได้

ในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา “องค์ประชุมสภา” มีความสำคัญอย่างยิ่งในการดำเนินงานของฝ่ายนิติบัญญัติที่ต้องอาศัยความชอบธรรมเสียงข้างมากจากตัวแทนประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้แทนราษฎรจากฝ่ายรัฐบาลที่จำเป็นต้องรักษาองค์ประชุมเพื่อรักษาเสถียรภาพของรัฐบาลไม่ให้ฝ่ายค้านขัดขวางการแก้ไขกฎหมายสำคัญที่รัฐบาลเสนอ

ขณะเดียวกัน การอยู่ในห้องประชุมแต่ “ไม่แสดงตัว” หรือการวอล์กเอาท์จากห้องประชุม ดึงให้องค์ประชุมสภาไม่ถึงกึ่งหนึ่ง จน “สภาล่ม” ไม่สามารถดำเนินการประชุมต่อไปได้ ก็เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์สำหรับฝ่ายค้านในการกดดันให้ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลในฐานะเสียงข้างมากต้องเข้าประชุม และยังสามารถใช้เพื่อถ่วงดุลรัฐบาลฝั่งรัฐบาลได้การพิจารณากฎหมายต่างๆ แต่ถ้าหากส.ส. ฝั่งรัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายที่มีเสียงข้างมากเข้มแข็งพอ สามารถเข้ามาประชุมได้ถึงกึ่งหนึ่งของสภา การประชุมก็จะยังดำเนินต่อไปได้ การประคับประคองไม่ให้สภาล่ม จึงเป็นเครื่องชี้วัดกึ๋นของวิปรัฐบาลที่เป็นผู้ประสานงานให้ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลเข้าประชุม

ประเด็น “สภาล่ม” กลายเป็นประเด็นร้อนในระลอกปี 2564-2565 เมื่อเริ่มมีเหตุที่องค์ประชุมไม่ครบบ่อยครั้งขึ้น หากนับเฉพาะปี 2565 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เกิดสภาล่มไปแล้ว อย่างน้อยเก้าครั้ง ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วเกิดระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมาย เพราะจะต้องมีการตรวจสอบองค์ประชุมก่อนลงมติ ซึ่งเมื่อเกิดเหตุองค์ประชุมไม่ครบ ไม่สามารถลงมติได้ ร่างกฎหมายนั้นก็จะถูกยกยอดไปพิจารณาในสัปดาห์ถัดไป เท่ากับว่ากระบวนการยิ่งล่าช้ากว่าเดิม อย่างไรก็ดี บางกรณีก็ไม่ใช่การพิจารณาร่างกฎหมาย แต่เป็นการพิจารณาญัตติ โดยเหตุการณ์สภาล่มในรอบปี 2565 มีดังนี้

ล่มแบบ “ฉิวเฉียด” ขาดคนหลักสิบ-หลักหน่วย ก็ครบองค์ประชุม

  1. การประชุมสภา วันที่ 19 มกราคม 2565 ระหว่างพิจารณาร่างพ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) วาระหนึ่ง ซึ่งต้องการองค์ประชุมขั้นต่ำคือ 237 คน แต่มีผู้แสดงตนเป็นเป็นองค์ประชุม 226 คน แบ่งเป็น ฝ่ายรัฐบาล 187 คน ฝ่ายค้าน 39 คน ขาดอีกอย่างน้อย 11 คน ก็สามารถประชุมลงมติต่อไปได้
  2. การประชุมสภา วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 พิจารณาร่าง พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต #สุราก้าวหน้า วาระหนึ่ง ต้องการองค์ประชุมขั้นต่ำ 238 คน มีผู้แสดงตนเป็นองค์ประชุม 234 คน แบ่งเป็น ฝ่ายรัฐบาล 181 คน ฝ่ายค้าน 53 คน ขาดอีกอย่างน้อยสี่คน ก็สามารถประชุมลงมติต่อไปได้
  3. การประชุมสภา วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 ฝ่ายค้านเสนอญัตติขอนับองค์ประชุม หลังที่ประชุมรับทราบประกาศคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เรื่อง นโยบายการตรวจเงินแผ่นดิน ประจำปีงบประมาณ 2565 เสร็จสิ้น จำนวนองค์ประชุมขั้นต่ำคือ 237 คน ผู้แสดงตนเป็นองค์ประชุม 227 คน แบ่งเป็น ฝ่ายรัฐบาล 214 คน ฝ่ายค้าน 13 คน ขาดอีกอย่างน้อย 10 คน
  4. การประชุมสภา วันที่ 21 ธันวาคม 2565 ระหว่างพิจารณาพ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. วาระสอง ที่ประชุมได้พิจารณาจนถึงมาตรา 7/4 ที่กำหนดให้คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทำหน้าที่พัฒนาส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยเรื่องการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์

รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ได้ตรวจสอบองค์ประชุม จำนวนองค์ประชุมขั้นต่ำคือ 220 คน ปรากฏว่าองค์ประชุมไม่ครบ มีผู้แสดงตน 213 คน ขาดอีกอย่างน้อยเจ็ดคนก็จะครบองค์ประชุม โดยผู้แสดงตนเป็นองค์ประชุมส่วนใหญ่คือส.ส.จากพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทยที่เสนอร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่สภา ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ อย่างพลังประชารัฐ และประชาธิปัตย์ ก็ส.ส. ที่ไม่แสดงตนเป็นองค์ประชุม 29 คนและ 19 คนตามลำดับ ผู้ไม่แสดงตนส่วนใหญ่ คือส.ส. จากพรรคฝ่ายค้านโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยที่ไม่แสดงตนแทบยกพรรค ซึ่งก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทยก็เคยแสดงจุดยืนว่าไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าว โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการใช้เพื่อสันทนาการ

ล่มแบบงงๆ องค์ประชุมครบแล้ว แต่สภาล่มตอนลงมติ

ในการประชุมสภา วันที่ 15 กันยายน 2565 ส.ส. พรรคฝ่ายค้าน ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ จากพรรคก้าวไกล และจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ จากพรรคเพื่อไทย ญัตติด่วนด้วยวาจา เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรมีมติให้ความเห็นชอบเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการตามที่รัฐสภามีมติในการออกเสียงประชามติ เพื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชนต่อว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ตามที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2565 หากสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบญัตติดังกล่าว จะต้องส่งให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบอีกเช่นกัน หากวุฒิสภาให้ความเห็นชอบ ครม.จะต้องจัดให้มีประชามติในเรื่องดังกล่าว

ญัตตินี้ มีส.ส. อภิปรายหลายราย ก่อนการลงมติว่าจะเห็นด้วยกับญัตตินี้หรือไม่ ก็มีการตรวจสอบแล้ว จำนวนองค์ประชุมขั้นต่ำคือ 239 คน มีผู้แสดงตน 241 คน องค์ประชุมครบแล้ว แต่ต่อมาในขั้นตอนการลงมติ แม้เสียงข้างมากจะเห็นด้วยกับญัตติดังกล่าวด้วยคะแนน 217 เสียง แต่เมื่อดูจากจำนวนผู้ลงมติรวมทั้งหมด มี 229 เสียง ไม่ครบองค์ประชุม ขาดอีกอย่างน้อย 10 คนเท่านั้น จึงทำให้ญัตติดังกล่าวต้องถูกยกยอดไปพิจารณาในการประชุมครั้งถัดไป ทำให้ญัตตินี้ต้องนำมาลงมติในสมัยประชุมถัดไป ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565

โดยผู้ที่ไม่ได้ลงมติในวันที่สภาล่ม ส่วนใหญ่เป็นฝั่งพรรคร่วมรัฐบาลรวม 201 คน พรรคที่ไม่ลงมติเยอะสุดคือพลังประชารัฐ 82 คน ภูมิใจไทย 59 คน ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ มีจำนวนผู้ที่ลงมติและไม่ได้ลงมติพอๆ กันคือ 26 คน โดยฝั่งพรรคฝ่ายค้านมีผู้ไม่ลงมติประมาณ 50 คน ส่วนฝั่งผู้แสดงตน ส่วนใหญ่เป็นส.ส. พรรคฝ่ายค้าน

ร่างกฎหมายหนึ่งมาตรา เกิด “สภาล่ม” สามครั้งติด จากเหตุฝ่ายรัฐบาลขอให้ลงมติใหม่

ในการประชุมสภา วันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.การเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น วาระสอง ซึ่งกรรมาธิการ (กมธ.) เสียงข้างน้อย ได้เสนอแก้ไขเนื้อหา เพิ่มมาตรา 9/1 เรื่องการถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่นตามที่ประชาชนมาเสนอชื่อ ขึ้นมาใหม่ ปรากฏว่าที่ประชุมลงมติเห็นด้วยกับข้อเสนอนั้นไปแล้ว แต่ชินวรณ์ บุญยเกียรติ รองประธานกมธ. อภิปรายว่าทักท้วงว่าคำถามในการลงมติว่าจะเห็นด้วยกับมาตรา 9/1 ที่กมธ.ข้างน้อยเพิ่มขึ้นมาใหม่หรือไม่นั้น อาจทำให้ส.ส.เข้าใจคำถามคลาดเคลื่อน จึงขอให้ประธานสภาลงมติมาตรานี้อีกครั้ง ซึ่งก็มีส.ส.ทักท้วงเรื่องนี้ ทางฝั่งพรรคฝ่ายค้านมองว่าการให้ลงมติใหม่ เป็นการผิดข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ ลิดรอนสิทธิเสียงข้างน้อย ต่อมาประธานสภาให้ลงมติใหม่ ปรากฎว่ามีผู้แสดงตนทั้งสิ้น 228 คน จากจำนวนองค์ประชุม 237 คน โดยส.ส.พรรคฝ่ายค้าน 186 คน ไม่แสดงตนเป็นองค์ประชุม ประธานสภาจึงสั่งปิดการประชุม

ร่างกฎหมายดังกล่าวถูกยกยอดมาพิจารณาต่ออีกในสัปดาห์ถัดไป การประชุมสภา วันที่ 1 ธันวาคม 2565 ปรากฏว่าก่อนการลงมติมาตรา 9/1 ต่อจากคราวที่แล้ว ได้ตรวจสอบองค์ประชุมซึ่งต้องการ 237 คน ปรากฏว่ามีผู้แสงตน 222 คน ขาดไป 15 คน ไม่ครบองค์ประชุม ประธานจึงสั่งปิดการประชุม โดยฝั่งรัฐบาลส่วนใหญ่ 205 คน ยังมาแสดงตน มี 62 คนจากฝั่งรัฐบาลที่ไม่แสดงตน ขณะที่พรรคฝ่ายค้าน 190 คน ไม่แสดงตน

ร่างพ.ร.บ.การเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ถูกยกยอดมาพิจารณาต่อมาตรา 9/1 ในการประชุมสภา วันที่ 7 ธันวาคม 2565 องค์ประชุมที่ต้องการคือ 237 คน แต่ปรากฏว่ามีผู้แสดงคน 236 คนเท่านั้น ขาดไปเพียงหนึ่งคน ไม่ครบองค์ประชุม ประธานสภาจึงสั่งปิดการประชุม โดยฝั่งผู้ที่มาแสดงตนส่วนใหญ่ก็เป็นส.ส. จากพรรคร่วมรัฐบาล และฝั่งผู้ไม่แสดงตนส่วนใหญ่ก็เป็นส.ส. จากพรรคฝ่ายค้านเช่นเดิม

นอกจากกรณีที่องค์ประชุมขาดเพียงนิดหน่อยก็สภาล่ม กรณีที่ล่มแบบงงๆ ไม่ทันตั้งตัว หรือแม้แต่กรณีที่สภาล่มเพราะส.ส. ฝ่ายค้านต้องการแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับการให้ลงมติใหม่ ก็ยังมีการประชุมสภาอีกครั้งที่สภาล่ม วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 ขณะพิจารณารายงานการแก้ไขปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง องค์ประชุม 237 คน มีผู้แสดงตนเป็นองค์ประชุม 195 คน แบ่งเป็น ฝ่ายรัฐบาล 153 คน ฝ่ายค้าน 42 คน มีผู้ไม่แสดงตนเป็นองค์ประชุม 279 คน แบ่งเป็น ฝ่ายรัฐบาล 119 คน ฝ่ายค้าน 160 คน

“สภาล่ม” ไม่ใช่แค่เครื่องมือฝ่ายค้าน รัฐบาลก็อาจได้ประโยชน์เกมยื้อเวลา

แม้ว่าในหลายครั้ง เหตุสภาล่ม องค์ประชุมไม่ครบ หรือส.ส. วอล์กเอาท์ จะมีเหตุมาจากการที่ส.ส. พรรคฝ่ายค้าน ซึ่งเป็นเสียงข้างน้อย ต้องการโต้ตอบ หรือแสดงจุดยืนบางอย่าง แต่ในกรณี ส.ส. ฝั่งรัฐบาล ก็อาจได้ประโยชน์จากการที่สภาล่มติดๆ กัน จนการพิจารณากฎหมายไม่แล้วเสร็จภายในกรอบเวลา

โดยในรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 (1) กำหนดกรอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าต้องแล้วเสร็จภายใน 180 วัน ไม่เช่นนั้นจะถือว่ารัฐสภา เห็นชอบตามร่างที่เสนอมาในวาระหนึ่ง ซึ่งยังไม่ได้ถูกแก้ไขในวาระสอง

ระหว่างการพิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. หรือร่างกฎหมายเลือกตั้ง ก็เกิดเหตุพลิกล็อคสูตรคำนวณส.ส. บัญชีรายชื่อ จากเดิมถูกเสนอมาเป็นสูตรหาร 100 พลิกไปเป็นหาร 500 ตามข้อเสนอของส.ส. พรรคปัดเศษ หนทางที่จะพลิกกลับมาเป็นสูตรหาร 100 มีทางเดียวก็คือการเตะถ่วง ใช้กลยุทธ “สภาล่ม” จนพิจารณาร่างกฎหมายไม่แล้วเสร็จ ซึ่งในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่ประกอบด้วย ส.ส. และ ส.ว. เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565 องค์ประชุมรัฐสภาล่ม โดยผู้ไม่แสดงตนส่วนใหญ่ เป็นส.ส. จากพรรคใหญ่สองขั้ว คือเพื่อไทย และพลังประชารัฐ รวมไปถึงส.ว. บางส่วนด้วย ต่อมาในการประชุมรัฐสภา วันที่ 15 สิงหาคม 2565 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่จะครบกรอบเวลา 180 วันตามรัฐธรรมนูญ ก็เกิดเหตุสภาล่ม เนื่องจากมีผู้แสดงตน 355 คนจากองค์ประชุมที่ต้องการ 365 คน ขาดไป 10 คนเท่านั้น เป็นผลให้ร่างกฎหมายเลือกตั้ง พลิกกลับมาเป็นสูตรหาร 100 เหมือนเดิม

โดยผู้ไม่มาแสดงตนส่วนใหญ่ คือส.ส.พรรคเพื่อไทย และพรรคพลังประชารัฐ และมีส.ว. 99 คนที่ไม่ได้แสดงตน ซึ่งหากย้อนไปดูตอนลงมติพลิกล็อคสูตรคำนวณ หาร 100 : หาร 500 ในวาระสอง ส.ว. และส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ก็เห็นด้วยโหวตพลิกล็อคไปสูตรหาร 500 การที่พรรคพลังประชารัฐ และส.ว. มาดึงเวลาให้สภาล่ม ก็สะท้อนให้เห็นว่าฝั่งรัฐบาลเอง ก็อาจ “จงใจ” ทำให้สภาล่มได้ หากมีเรื่องราวที่ต้อง “เปลี่ยนใจ” ภายหลัง

แปด ส.ส. แห่ลาออกส่งท้ายปี เตรียมย้ายค่ายรับเลือกตั้ง 66

ปรากฏการณ์ “พลังดูด” ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีที่ได้รับแรงหนุนจากกลไกการสืบทอดอำนาจ ก่อนการเลือกตั้งปี 2562 พรรคพลังประชารัฐ ก็อาศัยพลังดูด ดึงเอาอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จากหลายขั้วพรรคการเมืองมาอยู่ในสังกัดเพื่อเสริมฐานเสียงในการเลือกตั้ง ต่อมาช่วงภายหลังการเลือกตั้งปี 62 กลไกพลังดูด ย้ายค่ายย้ายพรรค ก็ปรากฏให้เห็นเป็นระยะๆ หากยังจำกันได้ หลังเลือกตั้งไม่ครบหนึ่งปีเต็ม ก็มีกลุ่มส.ส. จากอดีตพรรคอนาคตใหม่ขั้วฝ่ายค้านก็ย้ายค่ายไปสังกัดพรรคต่างขั้วอย่างภูมิใจไทย จากพรรคที่มีส.ส 51 คนในปี 62 ก็มีที่นั่งส.ส. ในสภาดีดเพิ่มขึ้นมาอีก 14 คน เป็น 65 ที่นั่งในปี 2565 ขณะที่ฝั่งประชาชนก็วิพากษ์วิจารณ์ ตราหน้าส.ส. ที่ย้ายพรรคข้ามขั้ว เทพรรคเก่าไปซบพรรคใหม่ที่อุดมการณ์หรือนโยบายแตกต่างกัน ว่าเป็น “ส.ส. งูเห่า” เพราะไม่ได้ทำหน้าที่สะท้อนเจตนารมณ์ประชาชนที่เลือกให้เข้ามาทำงานในสภา

ปี 2566 จะครบรอบสี่ปีของสภา เข้าสู่โหมดการเลือกตั้งภายใต้กติกาแบบใหม่ที่แตกต่างจากการเลือกตั้งปี 62 ใช้บัตรเลือกตั้งสองใบแยกส.ส. เขตและส.ส.บัญชีรายชื่อ “เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ” ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง กลางเดือนธันวาคม 2565 ก็มีรายงานข่าวว่า ส.ส. หลากพรรคทั้งขั้วรัฐบาลและขั้วฝ่ายค้าน อย่างน้อย 31 คน พร้อมใจกันลาออก เพื่อจะได้เตรียมตัวย้ายค่าย เปลี่ยนสีเสื้อใหม่ทันการเลือกตั้งครั้งหน้า เพราะกฎหมายกำหนดว่ากรณีที่สภาอยู่ครบวาระ ผู้ที่จะลงสมัครส.ส. จะต้องเป็นสมาชิกพรรคติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วันนับถึงวันเลือกตั้ง

ส.ส. ที่ลาออก มาจากขั้วพรรคฝ่ายค้าน 14 คน ได้แก่ พรรคเสรีรวมไทยหนึ่งคน พรรคเพื่อไทยเจ็ดคน พรรคก้าวไกลห้าคน และพรรคเพื่อชาติหนึ่งคน และส.ส.จากขั้วรัฐบาล 17 คน แบ่งเป็น พรรคประชาธิปัตย์หนึ่งคน พรรคพลังประชารัฐ 11 คน พรรคเศรษฐกิจไทย สองคน พรรคชาติพัฒนา หนึ่งคน พรรคประชาภิวัตน์ หนึ่งคน คือ นันทนา สงฆ์ประชา และพรรครวมพลัง หนึ่งคน คือ อนุสรี ทับสุวรรณ โดยในกลุ่มส.ส. หลายคนพรรคฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาลที่ลาออก หลายคนเคยส่งสัญญาณชัดว่า “เปลี่ยนใจ” ไม่ไปต่อกับพรรคที่ตนสังกัด ผ่านการโหวตสวนแนวมติพรรค หรือบางรายก็ไม่ได้โหวตสวนแนวทางพรรค แต่เห็นสัญญาณว่าอาจโดน “พลังดูด” ไปพรรคภูมิใจไทย จากการโผล่ร่วมงานครบรอบวันเกิด 64 ปี เนวิน ชิดชอบ ประธานบริหารสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อดีตส.ส. และรัฐมนตรีหลายสมัย

ฟากพรรคฝ่ายค้าน มีส.ส. ที่ลาออก เกือบทั้งหมดเคยโผล่ร่วมงานวันเกิดเนวินเมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคม ได้แก่ ห้าส.ส. จากพรรคก้าวไกล 1.เกษมสันต์ มีทิพย์ 2.ขวัญเลิศ พานิชมาท 3.คารม พลพรกลาง 4.พีรเดช คำสมุทร 5.เอกภพ เพียรวิเศษ เจ็ดส.ส.จากพรรคเพื่อไทย คือ 1.จักรพรรดิ ไชยสาส์น 2.ธีระ ไตรสรณกุล 3.นิยม ช่างพินิจ 4.วุฒิชัย กิตติธเนศวร 5.สุชาติ ภิญโญ 6.ประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ 7.นพ ชีวานันท์ และอารี ไกรนรา จากพรรคเพื่อชาติ

ขณะที่ส.ส. ใหม่อย่าง เดชทวี ศรีวิชัย ส.ส.จังหวัดลำปาง จากพรรคเสรีรวมไทย ซึ่งได้เข้ามานั่งในสภาจากการเลือกตั้งซ่อมเมื่อ 10 กรกฎาคม 2565 นั้น ไม่ได้มีสัญญาณที่ชี้ชัดแต่แรกว่าจะ “ย้ายค่าย” เหมือนส.ส.พรรคฝ่ายค้านรายอื่นๆ อีกทั้งยังไม่เคยโผล่ร่วมงานวันเกิดเนวิน ชิดชอบ แต่ก็ถูกพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ออกมาประณามว่าไม่มีจุดยืน ย้ายพรรคพรรคเพราะอำนาจเงิน จากปากคำของอดีตเพื่อนร่วมพรรคของเดชทวี คาดว่าส.ส. หน้าใหม่รายนี้ก็อาจเป็นหนึ่งในผู้ที่โดด “พลังดูด” เช่นกัน

ฟากพรรคร่วมรัฐบาล ก็มีส.ส. ไม่น้อยที่แห่ร่วมงานวันเกิดเนวิน และทยอยลาออก ได้แก่ แนน บุณย์ธิดา สมชัย จากพรรคประชาธิปัตย์ ธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ และธนัสถ์ ทวีเกื้อกิจกุล จากพรรคเศรษฐกิจไทย สมัคร ป้องวงษ์ พรรคชาติพัฒนา และหกส.ส. จากพรรคพลังประชารัฐ ได้แก่ 1.กฤษณ์ แก้วอยู่ 2. ปฐมพงศ์ สูญจันทร์ 3.ประทวน สุทธิอำนวยเดช 4.มณเทียร สงฆ์ประชา 5.สัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ 6.อนุชา น้อยวงศ์ คาดว่าส.ส. กลุ่มนี้ก็อาจย้ายค่ายไปสังกัดภูมิใจไทย ขณะที่ส.ส. อีกห้าจากพรรคพลังประชารัฐ แม้ไม่เคยโผล่ร่วมงานวันเกิดเนวิน แต่ก็มีกระแสข่าวว่าจะย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย คือ 1. กษิเดช ชุติมันต์ 2. จักรพันธ์ พรนิมิต 4. พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ 3. ธรรมวิชญ์ โพธิพิพิธ 5. อัฏฐพล โพธิพิพิธ

ในระยะสั้น ปรากฏการณ์ที่ส.ส. ย้ายค่ายย้ายพรรค อาจยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อ สัดส่วนที่นั่งของส.ส. ในสภาโดยตรง แต่ก็อาจส่งผลให้วิปรัฐบาลและฝ่ายค้าน ควบคุมเสียงในสภาได้ยากขึ้น เป็นแรงกดดันนำไปสู่การยุบสภาเพื่อเร่งเครื่องสู่การเลือกตั้งครั้งหน้า ขณะที่ระยะยาว ปรากฏการณ์ พลังดูด ย้ายค่ายย้ายพรรค ปรับตัวให้เข้ากับกติกาการเลือกตั้งใหม่ ก็อาจส่งผลต่อฐานเสียงและที่นั่งส.ส. ของแต่ละพรรค สัดส่วนที่นั่งของแต่ละพรรคในสภา จากปี 62 จนถึง 66 จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ก็ต้องติดตามกันต่อไป

You May Also Like
อ่าน

ส่องวาระศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ สว. 67 เคาะเลือกคนใหม่ได้เกินครึ่ง

พฤษภาคม 2567 สว. ชุดพิเศษ จะหมดอายุแล้ว แต่ สว. ชุดใหม่ ยังคงมีอำนาจสำคัญในการเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ภายใต้วาระการดำรงตำแหน่งของ สว. ชุดใหม่ จะมีอำนาจได้ “เกินครึ่ง” ของจำนวนตำแหน่งทั้งหมด
อ่าน

กสม.ชี้หน่วยงานรัฐไทยเอี่ยวใช้สปายแวร์เพกาซัส ชงครม.สั่งสอบ-เรียกเอกสารลับ

กสม. เชื่อว่า มีการใช้สปายแวร์ เพกาซัสละเมิดสิทธิจริง โดยพิจารณาจากความน่าเชื่อถือของการตรวจสอบทางเทคนิคคอมพิวเตอร์ และบริบทแวดล้อมในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า หน่วยงานรัฐไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้สปายแวร์