ร่างพ.ร.บ.จริยธรรมสื่อฯ: ห้ามรายงานขัดศีลธรรมอันดี ตั้งสภาสื่อสอบจริยธรรมสื่อนอกแถว

กลับมาอีกครั้งกับความพยายามควบคุมเนื้อหาในสื่อมวลชน หลังจากที่ความพยายามรอบแรกต้องเผชิญกับแรงต่อต้านอย่างหนักจากองค์กรวิชาชีพสื่อและผู้เกี่ยวข้องจนรัฐบาลยุค คสช. ต้องยอมถอย มาในยุคสภาเลือกตั้งครึ่งหนึ่งแต่งตั้งครึ่งหนึ่ง ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. … (ร่างพ.ร.บ.จริยธรรมสื่อฯ) ก็ถูกบรรจุเข้าวาระการพิจารณาของรัฐสภาในฐานะ “กฎหมายปฏิรูป” ให้ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาพิจารณาและลงมติร่วมกัน 

กลับมารอบที่สองนี้ปรับเปลี่ยนเนื้อหาจากร่างแรกไปหลายประการ ทำให้ดูอ่อนโยนลงมาก จากเดิมที่สร้างช่องทางให้รัฐเข้ามามีอำนาจโดยตรงในการ “ตีทะเบียนสื่อ” และกำหนดโทษทางอาญาที่ทำให้สื่อต้องหวาดกลัวจากการทำงาน

และก็ดูเหมือนว่ารอบนี้จะได้ผล เพราะองค์กรวิชาชีพสื่อต่างขานรับเห็นด้วยกับร่างกฎหมาย พ.ร.บ. จริยธรรมสื่อฯ มากขึ้น

ร่างพ.ร.บ.จริยธรรมสื่อฯ เวอร์ชั่นนี้ จะสร้างระบบกฎหมายรองรับองค์กรวิชาชีพสื่ออย่างเป็นทางการหลังแยกกันทำงานมีหลากหลายสมาคมมาหลายสิบปี หากพิจารณาเนื้อหาของกฎหมายแล้วก็ดูจะไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อจำนวนไม่น้อยจะเห็นด้วย เพราะในทางหลักการก็ยังให้สื่อกำกับดูแลกันเอง รวมถึงได้รับเงินสนับสนุนโดยรัฐหลักหลายสิบล้านบาทต่อปีให้ไปบริหารได้เอง แถมยังได้อำนาจในการกำหนดว่าจริยธรรมสื่อคืออะไร และควรอยู่ตรงไหน ในขณะที่ “สื่อพลเมือง” ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งที่ประชาชนทั่วไปเลือกรับข่าวสารในปัจจุบัน กลับหายไปจากโครงสร้างใหม่นี้

สภาแต่งตั้งของ คสช. เริ่มชง ก่อนเจอแรงต้านจากองค์กรสื่อ

การควบคุมสื่อมวลชนดูจะเป็นสิ่งแรกๆ ในลิสต์ที่ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ความสำคัญตั้งแต่ก่อการยึดอำนาจในปี 2557 ประกาศและคำสั่ง คสช. จำนวนมากออกมาเพื่อเพิ่มอำนาจให้กับภาครัฐในการเข้าไปก้าวก่ายและลงโทษสื่อที่ไม่ได้นำเสนอเนื้อหาตามแนวทางของผู้มีอำนาจ

ในด้านของกฎหมาย สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งเป็นองค์กรที่ คสช. แต่งตั้งขึ้นมาเพื่อจัดทำข้อเสนอปฏิรูประเทศ ได้นำเสนอ ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. …. ขึ้นเป็นครั้งแรก  แต่ก็ยังไม่เสร็จดีเนื่องจาก สปช. หมดวาระไปก่อน ต่อมาเมื่อมีการแต่งตั้ง สภาปฏิรูปประเทศ (สปท.) ขึ้นมาทำงานต่อ ก็มีการหยิบร่างกฎหมายคุมสื่อขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง

เนื้อหาของร่างกฎหมายที่มีการเปิดเผยออกมาในปี 2560 เชื้อเชิญเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากคนทำงานสื่อ ประเด็นหลักประการหนึ่งก็คือการเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาควบคุมการทำงานของสื่อ ผ่านการมีที่นั่งในคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ โดยมีเครื่องมือหลักสองประการ คือ “การตีทะเบียนสื่อ” ให้สื่อมวลชนจำเป็นต้องขอใบอนุญาตจากองค์กรวิชาชีพมีเจ้าหน้าที่รัฐนั่งอยู่ด้วย รวมถึงให้อำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตได้หากไม่ปฏิบัติตามองค์กรวิชาชีพที่กำหนด และยังกำหนดโทษทางอาญากับสื่อมวลชนที่ไม่ทำงานตามกฎหมาย ซึ่งคนทำงานสื่ออาจจะเกิดความกลัวจนไม่สามารถทำงานนำเสนอข้อมูลได้อย่างเสรี

แม้ว่าจะเจอกับแรงต่อต้านจากองค์กรวิชาชีพสื่อ แต่ สปท. ก็ “ดัน” ร่างกฎหมายจนได้เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2560 แต่เมื่อมาถึงในชั้น ครม. ก็มีการส่งร่างกลับไปให้แก้ไขถึงสองครั้ง กว่าที่ร่างกฎหมายจะผ่าน ครม. ได้ในชื่อใหม่ว่า ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ก็ต้องรอถึงวันที่ 11 มกราคม 2565 โดยได้มีการนำเนื้อหาเรื่องการตีทะเบียนสื่อและการกำหนดโทษทางอาญาออกไปเพื่อลดแรงเสียดทาน ทำให้ร่างนี้ได้รับ “ดอกไม้” มากกว่า “ก้อนหิน” 

ด้านมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ว่าร่างกฎหมายนี้มีเนื้อหาตรงกับที่ตนเองเคยผลักดันมาก่อน แต่ก็ยังต้องจับตาการแก้ไขเนื้อหากฎหมายในกระบวนการรัฐสภาต่อไป

นิยาม “สื่อมวลชน” กว้างขวาง ขายของออนไลน์ ไลฟ์เฟซบุ๊คก็อาจคลุมหมด

มาตรา 3 ของร่างพ.ร.บ.จริยธรรมสื่อฯ กำหนดนิยามของ “สื่อมวลชน” ที่อยู่ภายใต้การกำกับของกฎหมายฉบับนี้ว่า

สื่อหรือช่องทางที่นำข่าวสาร สาร หรือเนื้อหาสาระทุกประเภทไปสู่ประชาชนเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อดิจิทัล หรือในรูปแบบอื่นใดที่สามารถสื่อความหมายให้ประชาชนทราบได้เป็นการทั่วไป ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการจัดทำสื่อหรือช่องทางดังกล่าวที่ดำเนินการเพื่อใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของตนโดยมิได้มุ่งแสวงหากำไร

นิยามดังกล่าวมีความเปลี่ยนแปลงจากร่างกฎหมายที่ผ่าน สปท. โดยได้มีการเพิ่มข้อยกเว้นให้กับประชาชนทั่วไปที่แสดงความคิดเห็นโดยไม่ได้แสวงหากำไร ทำให้นิยามของสื่อมวลชนนั้นแคบลง แต่ก็ยังไม่คลายความกังวลสำหรับประชาชนส่วนอื่นๆ ที่ใช้ช่องทางออนไลน์ในการทำมาหากิน ตามนิยามสื่อมวลชนของร่างพ.ร.บ. จริยธรรมสื่อฯ ประชาชนที่ขายของโดยใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียเพื่อการค้าแสวงหากำไร ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์ข้อความ วีดีโอ หรือการไลฟ์สดที่เป็นที่นิยมมากขึ้นในหมู่นักช็อป ก็อาจจะเข้าข่ายเป็นสื่อมวลชนและถูกกำกับควบคุมด้วยเช่นกัน

นิพนธ์ นาคสมภพ ส.ว. และประธานอนุกรรมาธิการสิทธิเสรีภาพด้านสื่อสารมวลชนและสื่อสารธารณะ ผู้มีส่วนในการร่างพ.ร.บ. จริยธรรมสื่อฯ ชี้ว่าความท้าทายสำคัญอยู่ที่การแยก “สื่อแท้และสื่อเทียม” จึงได้มีการกำหนดนิยามสื่อมวลชนขึ้น “เมื่อขึ้นศาลจะได้ไม่ต้องมาถามว่าคนนี้เป็นสื่อหรือไม่เป็นสื่อ” แต่ก็ยังมีเครื่องหมายคำถามว่านิยามในมาตรา 3 ของร่างพ.ร.บ. จริยธรรมสื่อฯ จะมีความชัดเจนมากเพียงใด เพราะคงไม่มีใครบอกว่าแม่ค้าออนไลน์เป็นสื่อ หรือหากใช้เกณฑ์รายได้ ก็ยากที่จะวัดในบางกรณีว่าได้รายได้มาจากการเป็นตัวกลางของข้อมูลหรือมาจากการทำงานอื่น

เสรีภาพสื่อต้องไม่ขัดหน้าที่ของปวงชนชาวไทย ศีลธรรมอันดี

แม้ว่าเสรีภาพสื่อจะได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 35 แต่ก็ได้รับการเน้นย้ำอีกครั้งในข้อความที่คล้ายกันในร่างพ.ร.บ. จริยธรรมสื่อฯ มาตรา 5

ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมสื่อมวลชน แต่การใช้เสรีภาพนั้นต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยต้องเคารพและไม่ปิดกั้นความเห็นต่าง

สิ่งที่น่าสนใจคือการแถมข้อความ “แต่การใช้เสรีภาพนั้นต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยต้องเคารพและไม่ปิดกั้นความเห็นต่าง” ซึ่งไม่ได้เป็นเงื่อนไขที่ใช้จำกัดเสรีภาพสื่อได้ในมาตรา 35 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 หากพิจารณาจากแนวทางการใช้และการตีความกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐไทย ก็จะพบว่าข้อความ “ศีลธรรมอันดีของประชาชน” นั้นค่อนข้างเป็นปัญหา เนื่องจากเป็นถ้อยคำที่เปิดโอกาสให้ผู้ถืออำนาจสามารถตีความไปได้ไกลสุดขอบแห่งความเป็นไปได้ โดยผู้ที่ยืนอยู่อีกข้างของเส้น “ศีลธรรมอันดี” ก็มักเป็นผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ

นอกจากนี้ ในวรรคสองของมาตรา 5 ก็มีการรับรองให้สื่อมวลชนที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถปฏิเสธไม่ปฏิบัติตามคำสั่งได้หากคำสั่งนั้นเป็นการฝ่าฝืนจริยธรรมสื่อ พูดอย่างง่ายก็คือให้จริยธรรมสื่อนั้นอยู่สูงกว่าคำสั่งตามระบบราชการ ในกรณีที่สื่อไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ร่างพ.ร.บ. จริยธรรมสื่อฯ ก็ให้ถือว่าไม่ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา

ตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชน นักวิชาการและตัวแทนสื่อเลือกกันเอง รับเงินจากรัฐหลายสิบล้าน

คำถามที่ตอบยากเสมอ คือ ใครจะเป็นผู้กำหนดจริยธรรมสื่อมวลชน? 

ตามมาตรา 5 หน้าที่นี้ตกเป็นของ สภาวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งเป็นองค์กรจัดตั้งขึ้นใหม่ และจะกลายเป็นองค์กรหลักตามกฎหมายที่จะเข้ามากำกับดูแลสื่อตามร่างพ.ร.บ. จริยธรรมสื่อฯ ในร่างฉบับแรกที่โดนคัดค้าน สัดส่วนคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อคือประเด็นปัญหา เพราะมีการเขียนให้ตัวแทนจากภาครัฐจำนวนสี่คนเข้ามานั่งเป็นกรรมการควบคุมสื่อด้วย แม้ว่าจะมีการนำไปแก้ให้เหลือสัดส่วนตัวแทนจากภาครัฐแค่สองคนในเวลาต่อมา แต่ก็ไม่ได้ทำให้แรงต้านร่างกฎหมายผ่อนลงแต่อย่างใด

เมื่อร่างกฎหมายถูกนำไปตัดแต่งจนกลายเป็นร่างพ.ร.บ. จริยธรรมสื่อฯ ที่ ครม. ให้ความเห็นชอบ ก็พบว่าสัดส่วนตัวแทนจากภาครัฐในคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อได้หายไปแล้ว สภาวิชาชีพสื่อโฉมใหม่ประกอบไปด้วย

  1. ผู้แทนจากองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนห้าคน
  2. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิห้าคน สรรหาจากผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารมวลชน ด้านกฎหมาย ด้านสิทธิมนุษยชน ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และผู้เคยประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน
  3. กรรมการโดยตำแหน่งหนึ่งคน คือ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

โดยกระบวนการการสรรหาจะใช้กรรมการที่ประกอบไปด้วยคณบดี หัวหน้าภาควิชา หรือตัวแทนจากคณะนิเทศศาสตร์หรือสื่อสารมวลชนจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชน ผู้แทนจากองค์กรวิชาชีพสื่อ สภาทนายความ สหพันธ์คุ้มครองผู้บริโภค และจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) คัดเลือกตัวแทนจากตัวแทนสื่อทั้งหมดห้ากลุ่ม ได้แก่ หนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ สื่อออนไลน์ สมาคมวิชาชีพระดับชาติ และสมาคมวิชาชีพระดับท้องถิ่น ซึ่งคัดเลือกกันเองก่อนให้เหลือสองคน และให้กรรมการสรรหาเลือกให้เหลือหนึ่งคนเป็นผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิห้าตำแหน่งนั้นก็ให้กรรมการสรรหาเป็นผู้คัดเลือกเช่นเดียวกัน

เมื่อได้รับการคัดเลือกแล้ว คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนจะมีวาระสี่ปี่ ดำรงตำแหน่งได้ไม่เกินสองวาระติดต่อกัน และมีอำนาจในการกำกับดูแลสื่อมวลชนอย่างกว้างขวาง โดยอำนาจที่สำคัญ เช่น

  • กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมสื่อมวลชนของสภาที่เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล
  • พิจารณาการจดแจ้งหรือเพิกถอนขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน
  • พิจารณาการละเมิดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนและกำหนดมาตรการเยียวยา
  • ออกข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศของสภา เพื่อบริหารงาน เช่น ค่าตอบแทนของกรรมการ ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ

อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สภาวิชาชีพสื่อมวลชนเป็นที่สนใจ และทำให้ตัวแทนองค์กรสื่อ “กลับลำ” มาเห็นด้วยกับร่างกฎหมายนี้ก็คือเงินสนับสนุน มาตรา 9 แห่งร่างพ.ร.บ. จริยธรรมสื่อฯ กำหนดให้ กทปส. ต้องจัดสรรเงินให้กับสภาวิชาชีพสื่อมวลชนอย่างน้อยปีละกว่า 25 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมถึงเงินตามมาตรา 8 ที่รัฐจะจ่ายให้กับสภาวิชาชีพสื่อมวลชนเป็นทุนเดิม เงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐจัดสรรให้จากงบประมาณรายจ่าย รวมถึงรายได้อื่นๆ ที่รวมแล้วอาจจะมากถึงหลายสิบล้านไปจนถึงหลักร้อยล้านบาทต่อปี

แม้ว่าในทางกฎหมายจะเขียนให้สภาวิชาชีพสื่อมวลชนเป็นอิสระจากรัฐ แต่เมื่อมีงบประมาณที่รัฐจัดสรรให้เข้ามาเกี่ยวข้อง ก็ทำให้เกิดเครื่องหมายคำถามว่าสภาวิชาชีพสื่อจะเป็นอิสระในทางปฏิบัติได้ในเพียงใด ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเข้ามาบริหารเป็นกรรมการ ก็ย่อมมีอำนาจในการบริหารและใช้เงินก้อนโตนี้ รวมถึงการเลือกให้การสนับสนุนองค์กรวิชาชีพอื่นที่ขอเข้ามาจดแจ้งกับสภาวิชาชีพสื่อมวลชนตามมาตรา 11

อีกหนึ่งข้อวิพากษ์วิจารณ์ร่างพ.ร.บ. จริยธรรมสื่อฯ ก็คือการขาดการมีส่วนร่วมของ “สื่อพลเมือง” คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนลักษณะการรวมศูนย์ ล้วนแล้วแต่ประกอบขึ้นจาก “ผู้เชี่ยวชาญ” แต่ในยุคที่สื่อพลเมือง หรือประชาชนคนธรรมดาก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญสำหรับการรับข่าวสารต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ กลุ่มสื่อพลเมืองเหล่านี้ก็ดูจะไม่ได้มีพื้นที่ในสภาวิชาชีพสื่อที่เต็มไปด้วย “สื่ออาชีพ” และนักวิชาการต่างๆ ท่ามกลางข้อถกเถียงระหว่างสื่ออาชีพและสื่อพลเมือง ร่างพ.ร.บ. จริยธรรมฯ ก็ดูจะให้น้ำหนักกับอย่างแรกในการกำหนดเส้นจริยธรรมของสื่อเป็นหลัก

คณะกรรมการจริยธรรมเป็นตำรวจสอบสื่อนอกแถว

สภาวิชาชีพสื่อมวลชนมีหน้าที่สำคัญต้องจัดทำจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งจะเป็นเหมือนแผนแม่บทให้องค์กรสื่ออื่นๆ ต้องนำไปร่างเป็นจริยธรรมขององค์กรตนเองเพื่อให้สมาชิกปฏิบัติตามต่อไป หรือหากเป็นคนทำงานสื่อที่ไม่ได้สังกัดองค์กรวิชาชีพหรือองค์กรของตนเองไม่ได้จดแจ้งกับสภาวิชาชีพสื่อมวลชน ก็ต้องปฏิบัติตามจริยธรรมของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแทน โดยร่างกฎหมายนี้กำหนดกรอบกว้างๆ ว่า มาตรฐานทางจริยธรรมสื่อที่สภาจัดทำนั้นต้องมีเนื้อหาที่ครอบคลุมถึงการเสนอข่าวเพื่อประโยชน์สาธารณะ การรายงานที่ถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นธรรม การเคารพสิทธิมนุษยชน ความซื่อสัตย์สุจริต การปฏิบัติต่อแหล่งข่าวอย่างเป็นธรรม และมาตรการกรณีที่สื่อละเมิดมาตรฐานทางจริยธรรม

ส่วนหน้าที่การตีความและบังคับใช้ตกเป็นของคณะกรรมการจริยธรรมตามมาตรา 32 ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบและรับเรื่องร้องเรียนการละเมิดจริยธรรมสื่อ โดยกรรมการจริยธรรมมาจากการสรรหาตามข้อบังคับที่ออกโดยสภาวิชาชีพสื่อมวลชน มีสมาชิกทั้งหมดเจ็ดคน ได้แก่ กรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภาวิชาชีพสื่อมวลชน นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน ผู้แทนองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค สภาทนายความ อย่างละหนึ่งคน และผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนสองคน

อำนาจของคณะกรรมการจริยธรรมโดยหลักแล้วก็คือการสอบสวนข้อกล่าวหาการฝ่าฝืนจริยธรรมของสื่อมวลชนและลงโทษหากพบว่าผิด ในกรณีที่เกิดความเสียหายจากสื่อที่ทำหน้าที่ไม่ถูกต้องตามจริยธรรม ผู้เสียหายสามารถร้องเรียนได้ โดยมีทางเลือกร้องเรียนกับองค์กรวิชาชีพที่สื่อนั้นสังกัดอยู่ตามมาตรา 38 ก่อนหรือส่งเรื่องไปที่คณะกรรมการจริยธรรมโดยตรงได้ตามมาตรา 40 เพื่อพิจารณาแล้ว หากคณะกรรมการจริยธรรมพบว่ามีความผิดจริง สามารถดำเนินการให้สื่อแก้ไขหรือใช้อำนาจตามมาตรา 31 คือ ตักเตือน ภาคทัณฑ์ หรือตำหนิโดยเปิดเผยต่อสาธารณะชน โดยไม่มีโทษจำคุกหรือโทษปรับ และอาจสั่งให้สื่อเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม หากคณะกรรมการจริยธรรมเห็นว่าสื่อนั้นละเมิดกฎหมายอื่นด้วย ก็สามารถส่งเรื่องไปให้กับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการเพิ่มเติมได้

ในทางกลับกัน ก็มีบทบัญญัติที่คุ้มครองสื่ออยู่ในมาตรา 45 ในกรณีที่สื่อมวลชนปฏิบัติตามจริยธรรมแล้วถูกละเมิดสิทธิ ร่างพ.ร.บ.จริยธรรมสื่อฯ ก็ให้อำนาจคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนเป็นผู้พิจารณาและออกคำสั่งเยียวยาแก้ไข รวมถึงสั่งให้ผู้ละเมิดสิทธิสื่อมวลชนนั้นปฏิบัติตามได้ โดยถือเป็นคำสั่งทางปกครอง