แก้รัฐธรรมนูญภาคห้า: ร่างแก้รัฐธรรมนูญ #ปลดล็อกท้องถิ่น ไม่ได้ไปต่อ เสียงเห็นชอบไม่ถึงครึ่ง-ส.ว.เห็นชอบแค่ 6 เสียง

7 ธันวาคม 2565 ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีนัดลงมติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. ที่ประชาชนไม่น้อยกว่า 76,000 รายชื่อ ได้ร่วมกันเข้าชื่อเสนอ โดยมี ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ ประธานคณะก้าวหน้า เป็นผู้เชิญชวน หรือที่เรียกกันว่า ร่างแก้รัฐธรรมนูญปลดล็อกท้องถิ่น 

โดยผลการลงมติพบว่า รับหลักการ 254 เสียง ไม่รับหลักการ 245 เสียง งดออกเสียง 129 เสียง แบ่งเป็น

  • ส.ส. ลงมติรับหลักการ 248 เสียง ไม่รับหลักการ 56 เสียง งดออกเสียง 119 เสียง
  • ส.ว. ลงมติรับหลักการ 6 เสียง ไม่รับหลักการ 189 เสียง งดออกเสียง 10 เสียง

ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 กำหนดให้การพิจารณารับหลักการร่างแก้รัฐธรรมนูญ ต้องได้เสียงเห็นชอบจากรัฐสภาไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ ไม่น้อยกว่า 361 เสียง แต่ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. มีการลงมติรับหลักการแค่เพียง 248 เสียง ร่างแก้รัฐธรรมนูญปลดล็อกท้องถิ่นจึงต้องตกไป นอกจากนี้ ตามมาตรา 256 ยังระบุด้วยว่า ร่างแก้รัฐธรรมนูญต้องเสียงเห็นชอบหรือรับหลักการจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่า 81 เสียง แต่มี ส.ว. มาลงมติรับหลักการเพียงแค่ 6 เสียง จึงเป็นเหตุให้ร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวต้องตกไปอีกเช่นกัน

โดยก่อนจะมีการลงมติในวันนี้ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 รัฐสภาได้มีการนัดอภิปรายร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว โดยมี ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ และผู้นำเสนออีก 4 คน ได้นำเสนอและชี้แจงถึงเนื้อหาและที่มาของร่างแก้รัฐธรรมนูญ ปลดล็อกท้องถิ่น

โดย ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ กล่าวในสภาว่า ปลดล็อกท้องถิ่นคือเครื่องจักรทางเศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศไทย เราต้องให้อำนาจและอิสระกับท้องถิ่นในการบริหารจัดการตนเอง เพราะไม่มีใครรู้ปัญหามากกว่าคนในพื้นที่ รักบ้านของตัวเองมากกว่าคนในพื้นที่ และอยากเห็นบ้านของตัวเองพัฒนามากกว่าคนในพื้นที่ อีกทั้ง คนที่มาจากการเลือกตั้ง ย่อมมีแรงจูงใจในการตอบสนองประชาชนมากกว่าผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากส่วนกลาง

 “ถ้าจะมีชุดนโยบายสักชุดที่จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ยกระดับบริการสาธารณะให้ประชาชนดีกว่านี้ได้พร้อมกัน นั่นคือการกระจายอำนาจ ลดการรวมศูนย์ของส่วนกลาง” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้ากล่าว

ด้าน ปิยบุตร แสงกนกกุล กล่าวชี้แจงเนื้อหาของร่างแก้รัฐธรรมนูญปลดล็อกท้องถิ่นว่า ร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ร่างขึ้นเพื่อภายใต้สภาพปัญหาที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ยังมีอำนาจและภารกิจอย่างจำกัด และบางครั้งก็ซ้ำซ้อนกับอำนาจของราชการส่วนกลางจนไม่สามารถแก้ปัญหาของประชาชนได้ จึงต้องจัดความสัมพันธ์ใหม่ให้ท้องถิ่นดำเนินการทุกอย่างได้และให้ราชการส่วนภูมิภาคเป็นแค่พี่เลี้ยงสนับสนุน รวมถึงเพิ่มรายได้ของ อปท. ให้เพียงพอ และมีอิสระในการหารายได้ 

โดยสาระสำคัญของร่างแก้รัฐธรรมนูญปลดล็อกท้องถิ่น พอจะสรุปได้ดังนี้

  • ให้ท้องถิ่นมีอำนาจทำบริการสาธารณะทุกเรื่องยกเว้นเรื่องความมั่นคง
  • ให้ท้องถิ่นได้รับการจัดสรรงบประมาณร้อยละ 50 จากรายได้ทั้งหมดของรัฐ
  • สภา / ผู้บริหารท้องถิ่น ต้องมาจากการเลือกตั้ง
  • ห้ามส่วนกลางก้าวก่ายท้องถิ่น และการเพิกถอนคำสั่งต้องไปร้องศาลปกครอง
  • ให้สิทธิประชาชนสามารถเข้าชื่อกันเพื่อถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่นได้

ทั้งนี้ การชี้แจงของ ปิยบุตร แสงกนกกุล สอดคล้องกับงานศึกษาด้านการกระจายอำนาจหลายฉบับ เช่น งานศึกษาของ ‘101 PUB’ – 101 Public Policy Think Tank ระบุว่า ในสองทศวรรษของการกระจายอำนาจ ท้องถิ่นยังถูกควบคุมโดยส่วนกลาง ถูกมอบหมายภารกิจเยอะ แต่ทรัพยากรน้อย ทั้งงบประมาณ อำนาจหน้าที่ และกำลังคน อีกทั้ง ท้องถิ่นยังไม่มีอิสระในการจัดหารายได้ต้องพึ่งพางบจากส่วนกลางที่มาพร้อมเงื่อนไขหรือถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้น จนไม่ได้มีอิสระในการใช้งบประมาณเพื่อจะแก้ปัญหา

ด้าน วีระศักดิ์ เครือเทพ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในผู้ชี้แจงร่างแก้รัฐธรรมนูญปลดล็อกท้องถิ่น ยังระบุด้วยว่า ที่ผ่านมาท้องถิ่นมีงบไม่เพียงพอต่อการลงทุนพัฒนา โดย อปท. กว่าร้อยละ 60 มีงบพัฒนาพื้นที่ปีละไม่ถึง 10 ล้านบาท และได้รับส่วนแบ่งรายได้จากรัฐบาลแค่ร้อยละ 29 ต่อปี ในขณะที่งานวิจัยระบุว่า เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถจัดทำบริการสาธารณะได้ตามที่กฎหมายกำหนด จำเป็นที่จะต้องเพิ่มส่วนแบ่งรายได้จากรัฐบาลเป็นร้อยละ 45 ต่อปี ดังนั้น การที่ร่างแก้รัฐธรรมนูญเสนอให้ปรับสัดส่วนรายได้ระหว่างท้องถิ่นกับส่วนกลางเป็นร้อยละ 50 จึงไม่เยอะจนเกินไป สามารถทำได้จริง 

อย่างไรก็ดี ในการนำเสนอและชี้แจงร่างแก้รัฐธรรมนูญปลดล็อกท้องถิ่น มีส.ว. ได้เปิดอภิปรายพร้อมวิพากษ์วิจารณ์ว่าข้อเสนอดังกล่าวเป็นข้อเสนอสุดโต่ง หวังสร้างรัฐอิสระ ทำไม่ได้จริง และบางเรื่องเป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญบังคับให้รัฐบาลทำอยู่แล้ว และมีการพาดพิงถึงกรณีการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคที่จะกระทบต่อกำนันผู้ใหญ่บ้าน

ซึ่งในประเด็นข้างต้น ปิยบุตร แสงกนกกุล ได้ชี้แจงในทันทีว่า กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน อยู่ในการปกครองส่วนท้องที่ ดังนั้น การยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคจึงไม่เกี่ยวอะไรกัน และที่สำคัญ คือ การจะปฏิรูประบบราชการด้วยการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค ประชาชนจะต้องเป็นคนตัดสินผ่านการทำประชามติ

You May Also Like
อ่าน

ส่องวาระศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ สว. 67 เคาะเลือกคนใหม่ได้เกินครึ่ง

พฤษภาคม 2567 สว. ชุดพิเศษ จะหมดอายุแล้ว แต่ สว. ชุดใหม่ ยังคงมีอำนาจสำคัญในการเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ภายใต้วาระการดำรงตำแหน่งของ สว. ชุดใหม่ จะมีอำนาจได้ “เกินครึ่ง” ของจำนวนตำแหน่งทั้งหมด
อ่าน

กรธ. ชุดมีชัย ออกแบบระบบ สว. “แบ่งกลุ่มอาชีพ”-“เลือกกันเอง” สุดซับซ้อน!

ระบบ “เลือกกันเอง” สว. 67 ที่ให้เฉพาะผู้สมัคร ซึ่งต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 2,500 บาท มีสิทธิโหวต คิดค้นโดยคนเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 นำโดยมีชัย ฤชุพันธุ์