APEC 2022: ย้อนดูความล้มเหลวด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลประยุทธ์ ก่อนเสนอแผน “เศรษฐกิจสีเขียว” ต่อนานาชาติ

ในวันที่ 18 และ 19 พฤศจิกายน 2565 ประทศไทยจะต้องทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation) หรือที่รู้จักกันในชื่อการประชุม APEC (เอเปค) โดยการประชุมครั้งนี้มีวาระสำคัญอยู่อย่างน้อยสองวาระ 

โดยวาระที่หนึ่ง คือ การหารือกันภายใต้หัวข้อ “Open. Connect. Balance.” ที่สื่อถึงความร่วมทางเศรษฐกิจในมุมมองใหม่ ที่เน้นการเชื่อมโยงและเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม รวมถึงการส่งเสริมการพัฒนาอย่างมีสมดุลและการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

ส่วนวาระที่สองเป็น ‘วาระซ่อนเร้น’ ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐบาลที่มาจากการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารที่ต้องการจะใช้เวทีการประชุมระดับนานาชาติเป็นเวทีนำเสนอโมเดลเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาลที่เรียกว่า “Bioeconomy – Circular Economy – Green Economy”  หรือ BCG ที่หมายถึง โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว 

แม้ว่าโมเดลเศรษฐกิจแบบ BCG จะดูเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่คำนึงถึงความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม แต่ทว่า เนื้อในของโมเดลดังกล่าวกลับชวนให้ตั้งคำถามว่า เป็นโมเดลเศรษฐกิจที่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนขนานใหญ่ที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลและเป็นการเอาเรื่องสิ่งแวดล้อมมาบังหน้าผลประโยชน์ของกลุ่มทุนหรือไม่

ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าย้อนดูแนวนโยบายและกฎหมายภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตลอดแปดปีที่ผ่านมา จะพบว่า รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ที่คุ้นชินแต่กับสีเขียวลายพราง ‘ไม่จริงใจ’ กับการปกป้องสิทธิของชุมชนและสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการขับไล่ชุมชนที่อยู่ร่วมกับป่ามาเป็นเวลานานออกจากป่า ผ่านนโยบาย “ทวงคืนผืนป่า” แต่ในขณะเดียวกันก็นำพื้นที่ป่ามาให้เอกชนเช่าใช้ รวมถึงมีการออกคำสั่งและกฎหมายที่งดเว้นหรือลดทอนมาตรการคุ้มครองชุมชนและสิ่งแวดล้อม เช่น งดเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมือง หรือ การแก้ไขกฎหมายโรงงานให้ตั้งโรงงานขนาดเล็กได้ง่ายขึ้น เป็นต้น

การจัดการป่าไม้แบบประยุทธ์: ยึดที่ทำกินจากคนจน ยกผืนป่าให้นายทุน

ย้อนกลับไปหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำการรัฐประหารในปี 2557 หนึ่งในนโยบาย “สีเขียว” ที่ดูเหมือนจะเป็นการ “ฟอกเขียว” หรือเพิ่มภาพลักษณ์ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ คือ “นโยบายทวงคืนผืนป่า” โดยรัฐบาลตั้งเป้าจะเพิ่มพื้นที่ป่าให้ถึงร้อยละ 40 จากพื้นที่ทั้งประเทศ และการจะไปถึงเป้าหมายนั้น คสช. ได้ใช้อำนาจพิเศษออกคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 เพื่อให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการกับผู้ที่บุกรุกป่าหรือกระทำการใดๆ ให้ป่าเสื่อมสภาพ

ผลของการใช้อำนาจพิเศษที่ไม่ต้องผ่านระบบตรวจสอบถ่วงดุลแบบกระบวนการออกกฎหมายตามปกติ ทำให้คำสั่งคสช. ที่ 64/2557 ที่เดิมต้องการจะยึดคืนที่ดินจากกลุ่มนายทุนที่เข้ามาบุกรุกใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าโดยมิชอบ เพื่อนำมาฟื้นฟูสภาพป่าหรือดำเนินการจัดที่ทำกินให้แก่ผู้ยากไร้ กลับกลายเป็นกลไกที่นับไปสู่การขับไล่และไล่รื้อที่อยู่อาศัยของชาวบ้านที่อาศัยและทำกินอยู่กับป่ามาเป็นเวลานาน จนชาวบ้านต้องกลายเป็นกลุ่มคนไร้ที่อยู่และไร้ที่ดินทำกิน

แม้ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้าคสช. จะออกคำสั่งคสช. ที่ 66/2557 มาเพื่อแก้ไขคำสั่งเดิม โดยการระบุเพิ่มไปว่า “การดําเนินการใดๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้  ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทํากิน  ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้นๆ ก่อนคําสั่งนี้มีผลบังคับใช้” แต่ในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่ก็มักจะใช้คำนิยามที่ไม่ชัดเจนนี้ในการจับกุมชาวบ้านโดยอ้างว่าชาวบ้านไม่ได้เป็นผู้ยากไร้และกระทำความผิดซึ่งหน้า

ทั้งนี้ หนึ่งในตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นปัญหานโยบายทวงคืนผืนป่า คือ “ชาวบ้านไทรทอง” ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง จังหวัดชัยภูมิ ที่ถูกไล่รื้อที่อยู่อาศัย แม้ชาวบ้านกลุ่มนี้จะเคยเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณอุทยานตั้งแต่ก่อนการประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่อุทยาน แต่จากปัญหาการสำรวจที่ดินทำกินของรัฐที่ไม่ครบถ้วน ทำให้ประชาชนหลายคนถูกตีตราเป็นผู้บุกรุกป่า และต้องมาถูกตั้งข้อหาดำเนินคดีฐานบุกรุกป่า

อีกทั้ง หลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภานิติบัญญัติที่มาจากการแต่งตั้งของคสช. ได้ผ่านกฎหมายอย่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อุทยานแห่งชาติ ปี 2562 และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี 2562 ผลปรากฏว่า กฎหมายดังกล่าวได้กลายเป็นเหมือน “ภาคต่อ” ของนโยบายทวงคืนผืนป่าที่ คสช. บังคับใช้อย่างเข้มงวด เพราะกฎหมายเพิ่มอำนาจให้กับฝ่ายรัฐอย่างมหาศาล และที่สำคัญ กฎหมายทั้งสองฉบับยังขีดเส้นว่า ชาวบ้านที่จะไม่มีความผิดต้องเป็นผู้ได้รับการผ่อนผันตามมติ ครม. ที่ 30 มิถุนายน 2541 หรือ เป็นผู้ยากไร้ตามคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 ซึ่งที่ผ่านมา ก็พบปัญหาแล้วว่า มีผู้ตกสำรวจจากการผ่อนผันตามมติ ครม. และเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการทวงคืนผืนป่า ได้เข้าไปกดดันให้ชาวบ้านเซ็นเอกสารคืนที่ให้แก่รัฐโดยไม่ได้สมัครใจ

ตลอดเวลาแปดปีที่ผ่านมา รอยแผลที่เกิดจากนโยบายทวงคืนผืนป่ายังคงสดใหม่ ประชาชนจำนวนมากที่ถูกหน่วยงานความมั่นคงไล่ออกจากที่ดินของตนเองยังคงต้องแบกรับภาระทางคดีความที่ตามมา โดยในเดือนกรกฎาคม 2565 ศาลฎีกาเพิ่งจะมีคำสั่งจำคุกชาวกะเหรี่ยงวัย 50 ปี ถึง 2 ปี 8 เดือน และปรับอีก 3.1 แสนบาท จากข้อกล่าวหาบุกรุกเขตป่าสงวนทั้งที่เป็นพื้นที่ทำกินของครอบครัวมาตั้งแต่รุ่นแม่ของตนเอง แม้จะมีความพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขและออกกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อของนโยบายทวงคืนผืนป่า แต่ก็ยังไม่เคยมีการตอบรับจากผู้นำในรัฐบาลประยุทธ์ 

อย่างไรก็ดี ความย้อนแย้งอย่างหนึ่งเกี่ยวกับนโยบายทวงคืนผืนป่า คือ ในขณะที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ดำเนินการทวงคืนผืนป่าครั้งใหญ่ แต่รัฐบาลคสช. กลับวางข้อยกเว้น อนุญาตให้เอกชนสามารถเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนได้ ยกตัวอย่างเช่น ปี 2562 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและเหมืองแร่อนุญาตบริษัทเอกชนทำเหมืองแร่ถ่านหินในเขตป่าอมก๋อย ตำบลอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ มีเนื้อที่ทั้งหมด 284 ไร่ 30 ตารางวา พื้นที่ดังกล่าวมีสภาพป่าที่สมบูรณ์ ตั้งอยู่ใกล้เคียงและเหนือแหล่งต้นน้ำ ขณะที่ก่อนหน้านี้ชาวบ้านจากพื้นที่ตำบลอมก๋อยกลับถูกปฏิบัติการทวงคืนผืนป่า

นอกจากนี้ ในเอกสารยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2569 หน้าที่ 67 ที่จัดทำโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ยังระบุว่า ภาครัฐมีแนวคิดที่จะให้เอกชนสามารถลงทุนปลูกป่าในที่ดินของรัฐ โดยจะนำค่าใช้จ่ายในการปลูกป่าไปหักค่าใช้จ่ายตามประมวลรัษฎากรของภาคเอกชน ซึ่งเข้าข่ายจะเป็นการ “ฟอกเขียว” ให้กับภาคเอกชนด้วยความสนับสนุนจากรัฐ ทั้งนี้ จากผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการ BCG สาขากฎหมาย ระบุว่า มีอย่างน้อยสามหน่วยงานที่ริเริ่มโครงการให้เอกชนลงทุนปลูกป่าในที่ดินของรัฐ ได้แก่ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งกรมป่าไม้ และ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

เศรษฐกิจสีเขียว? ย้อนดูผลงาน “ส่งเสริมทุน-ลดทอนสิ่งแวดล้อม” ของรัฐบาลประยุทธ์

ในโมเดลเศรษฐกิจแบบ BCG ระบุว่า รัฐบาลจะดำเนินการพัฒนาศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่คำนึงถึงความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม แต่เมื่อมองย้อนถึงผลงานในอดีตของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พบว่า รัฐบาลมีการใช้อำนาจพิเศษและช่องทางพิเศษในการออกกฎหมายเพื่อยกเว้นกฎเกณฑ์และแก้กฎหมายที่ให้ผลประโยชน์กับภาคธุรกิจโดยต้องแลกมากับผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของคนในชุมชน ดังนี้

๐ หนึ่ง ยกเว้นการทำ EIA – ยกเว้นผังเมือง เปิดทางสร้างโรงไฟฟ้าขยะ

หลังการรัฐประหาร คสช. และ หน่วยงานภาครัฐ พยายามผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิง หรือ “โรงไฟฟ้าขยะ” แต่ทว่า การทำโรงไฟฟ้าขยะที่ได้มาตรฐาน ถูกต้อง ปลอดภัยต่อชุมชน มีค่าใช้จ่ายสูง เพราะมีหลายขั้นตอนและต้องดำเนินการหลายขั้น ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลประยุทธ์ จึงตัดสินใจ ‘ตัดตอน’ กระบวนการบางอย่างออกไป เช่น ออกประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ 7) ปี 2558 ให้โครงการโรงไฟฟ้าขยะมูลฝอยทุกขนาดกำลังการผลิตไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA

นอกจากนี้ รัฐบาลยังเร่งรัดขั้นตอนต่างๆ ด้วยการใช้อำนาจตาม “มาตรา 44” ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ ปี 2557 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท ซึ่งคำสั่งดังกล่าวเป็นผลให้โรงงานอุตสาหกรรมไม่ต้องเจอข้อจำกัดทางกฎหมายเรื่องพื้นที่ตั้งโรงงานหรือกิจการที่เกี่ยวข้องการผลิตพลังงานและการจัดการขยะของเสียสิ่งปฏิกูล กล่าวคือ การอนุญาตให้โรงไฟฟ้าขยะ สามารถตั้งโรงงานในพื้นที่ไหนก็ได้ แม้จะตั้งอยู่ใกล้กับพื้นที่ของชุมชน สิ่งแวดล้อม หรือพื้นที่ทางการเกษตร

๐ สอง เร่งรัดทำ EIA – ยกเว้นผังเมือง เปิดทางสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ

หนึ่งในแผนเศรษฐกิจที่สำคัญของรัฐบาลประยุทธ์ คือ การสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่รู้จักกันในชื่อว่า “อีอีซี” และเพื่อให้แผนการนี้เดินหน้า พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้าคสช. ได้ใช้อำนาจพิเศษทลายข้อจำกัดต่างๆ อย่างเช่น การออกคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง และกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ อีกทั้ง ยังมีการออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 28/2560 ที่ให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) เร่งรัดการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชน (EIA/EHIA) ในพื้นทีอีอีซีให้เสร็จภายในหนึ่งปี

๐ สาม แก้กฎหมายแร่ ขยายเวลาสัปทาน ตัดการมีส่วนร่วมประชาชน

พ.ร.บ.แร่ ปี 2560 เป็นหนึ่งในมรดกที่สนช. สภาที่มาจากคสช. เป็นคนทิ้งไว้ โดยกฎหมายฉบับนี้มีหลายเรื่องที่พยายามจะทำให้มาตรการปกป้องสิ่งแวดล้อมที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น แต่ก็ยังมีจุดที่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง เริ่มจากสัดส่วนคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ และสัดส่วนคณะกรรมการแร่ ที่ยังเต็มไปด้วยตัวแทนจากภาครัฐและภาคธุรกิจ ในขณะที่ภาคประชาชนและท้องถิ่นกลับมีสัดส่วนน้อยมาก ส่งผลให้การตัดสินใจใด ๆ ยังขาดการมีส่วนร่วมภาคประชาชน 

อีกทั้ง บทเฉพาะกาลของกฎหมายยังไปลบล้างหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการบริหารจัดการแร่บางอย่าง เช่น การกำหนดให้ประทานบัตรที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายฉบับเก่าไม่ต้องดำเนินการจัดทำแนวพื้นที่กันชนการทำเหมือง ไม่ต้องจัดทำข้อมูลพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ไม่ต้องฟื้นฟูสภาพเหมืองแร่ รวมถึงไม่ต้องวางหลักประกันและจัดทำประกันภัย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นหลักเกณฑ์ที่สำคัญต่อการคุ้มครองคุณภาพชีวิต สุขภาพอนามัยและความปลอดภัยของประชาชนและชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบต่อการทำเหมืองแร่ 

๐ สี่ แก้กฎหมายโรงงาน ลดการตรวจสอบโรงงานขนาดเล็ก

พ.ร.บ. โรงงาน ปี 2562 เป็นอีกหนึ่งผลงานทิ้งท้ายของสนช. ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ได้ตัดลดกฎระเบียบข้อบังคับให้นายทุนเจ้าของโรงงานสามารถทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น เช่น การแก้ไขนิยามทำให้โรงงานขนาดเล็กจำนวนมากไม่ต้องถูกกำกับควบคุมโดย พ.ร.บ. โรงงาน และทำให้เจ้าของโรงงานสามารถลักไก่สร้างโรงงานก่อนได้รับใบอนุญาตได้ นอกจากนี้ ยังมีการแก้ไขให้เจ้าของโรงงานไม่ต้องขอต่อใบอนุญาตโรงงานอีก จากเดิมที่ต้องทำทุกห้าปี ทำให้เจ้าหน้าที่ผู้กำกับดูแลไม่สามารถตรวจสอบมาตรฐานของโรงงานได้อย่างทั่วถึง อีกทั้งยังเปิดช่องให้เอกชนสามารถเข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบโรงงานและเครื่องจักแทนเจ้าหน้าที่ได้ ส่งผลให้มีการตั้งคำถามถึงการ “ฮั้ว” กันระหว่างเอกชนผู้ตรวจสอบและเอกชนผู้เป็นเจ้าของกิจการ 

โดย พ.ร.บ.โรงงาน ปี 2562 กลายเป็นประเด็นมากขึ้น เมื่อเกิดเหตุโรงงานหมิงตี้เคมิคอลระเบิดในจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งมีผู้ให้ความเห็นว่าส่วนหนึ่งก็มีเหตุมาจากกฎหมายฉบับใหม่นี้ที่ยกเลิกการต่ออายุใบอนุญาตทุกห้าปีไป ทำให้เกิดความหละหลวมในมาตรฐานความปลอดภัย

๐ ห้า ลัดคิวให้เอกชนประมูลงานก่อน ทำรายงาน EIA ทีหลัง

ในสมัยที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคสช. รัฐบาลได้แก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ อย่างน้อยสองครั้ง โดยครั้งแรก ทำผ่านการคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2559 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยให้หน่วยงานรัฐสามารถเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาอนุมัติให้มีการจัดหาประมูลโครงการหรือผู้รับเหมาได้ ก่อนที่รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจะผ่านความเห็นชอบ ซึ่งหมายความว่า หน่วยงานรัฐสามารถเริ่มกระบวนการหาผู้รับเหมาได้ตั้งแต่ก่อนจะรู้ผล EIA ว่าจะเป็นอย่างไร เพียงแต่จะยังไม่สามารถทำข้อตกลงหรือเซ็นสัญญาได้จนกว่าจะมีผลการพิจารณารายงานออกมาเท่านั้น

ส่วนการแก้ไข พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ ครั้งที่สอง มาจากสนช. โดยมีการแก้ไขเฉพาะในส่วนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยให้หน่วยงานขอ ครม. อนุมัติคัดเลือกเอกชนมาดำเนินโครงการจำเป็นเร่งด่วนได้ก่อน แม้ยังไม่ทราบผลการพิจารณารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA/EHIA)  แต่ทั้งนี้ หน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจจะสามารถทำได้เพียงขั้นตอนของประกวดราคาหาผู้รับผิดชอบโรงการเท่านั้น จะยังไม่สามารถทำข้อตกลงหรือเซ็นสัญญาได้จนกว่าจะมีผลการพิจารณารายงานออกมา 

๐ หก ลบสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมที่เคยมีอยู่ให้หายไปจากรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญ ปี 2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่มีที่มาจากคสช. กล่าวคือ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมาจากการคัดเลือกของคสช. ที่นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยหนึ่งในบรรดาปัญหามากมายของรัฐธรรมนูญ 2560 คือ ประเด็นสิ่งแวดล้อม เพราะมีการเขียนเรื่องสิทธิทางสิ่งแวดล้อมไว้ต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ เริ่มจากการหายไปของถ้อยคำเกี่ยวกับสิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วม “ในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่อย่างปกติ และต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของคน” หรือ การไม่เขียนถึงสิทธิแสดงความคิดเห็นของบุคคลต่อการดำเนินโครงการต่าง ๆ ของรัฐ อีกทั้งยังตัดองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพออกไปจากรัฐธรรมนูญ จากเดิมที่เป็นกลไกหนึ่งในการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

เมื่อนักการเมือง-ประชาชน เสนอกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม รัฐบาลประยุทธ์ปัดตก

นอกจากจะผ่านกฎหมายที่ส่งผลด้านลบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว รัฐบาลของประยุทธ์หลังการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 ยังมีการขวางกฎหมายที่จะเป็นประโยชน์กับสิ่งแวดล้อมหลายฉบับ โดยส่วนใหญ่มาจากการเสนอของพรรคฝ่ายค้านหรือภาคประชาชน อย่างน้อยสองฉบับ ได้แก่

หนึ่ง ร่าง พ.ร.บ. การรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า PRTR (Pollutant Release and Transfer Registers) เป็นร่างกฎหมายที่จะเข้ามาเพิ่มความโปร่งใสของการทำธุรกิจที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนที่อยู่โดยรอบ โดยบังคับให้โรงงานหรือธุรกิจที่ปล่อยสารพิษต้องรายงานและเปิดเผยให้กับสาธารณชนทราบว่ามีการปล่อยมลพิษชนิดใดมากน้อยเพียงใด จากเดิมที่โรงงานเพียงต้องรายงานให้กับกรมอุตสาหกรรมทราบโดยไม่มีข้อบังคับว่าต้องเปิดเผยให้คนทั่วไปเข้าถึงได้ 

ทั้งนี้ ร่างกฎหมาย PRTR เคยถูกเสนอโดยพรรคก้าวไกลเพื่อเข้าไปสู่การอภิปรายและลงมติในสภา แต่ก็โดน พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะนายกรัฐมนตรีปัดตกไป โดยอาศัยอำนาจว่า เป็นร่างกฎหมายที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเงิน จึงต้องผ่านความเห็นชอบจากนายกฯ เสียก่อน 

ร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด และ  ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน โดยฉบับแรกเสนอภาคประชาชนผ่านการเข้าชื่อ ส่วนฉบับที่สองเสนอโดยพรรคภูมิใจไทย มีเนื้อหารับรองสิทธิในการได้รับอากาศสะอาดของบุคคล สิทธิทางศาลในการฟ้องร้องต่อผู้ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และกำหนดให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายเพื่ออากาศสะอาด กำหนดหน้าที่ของรัฐที่ต้องจัดระบบบริหารเพื่อให้เกิดอากาศสะอาด ผ่านการจัดนโยบายระดับชาติ การสั่งการหน่วยงานรัฐ การจัดสรรงบประมาณ กำหนดให้รัฐต้องพัฒนาระบบติดตาม ตรวจสอบ เฝ้าระวัง และเตือนภัยแก่ประชาชนเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ แต่สุดท้ายก็ต้องถูกประยุทธ์ปัดตกเช่นเดียวกับ ร่างกฎหมาย PRTR